“ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร

ถอดรหัส “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิกในฐานะ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่เปิดกว้างให้ผู้คนไม่ว่าเชื้อชาติใด ศาสนาใด ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ มาร่วมสร้างธุรกิจ สร้างเศรษฐกิจไทย

“ความเปิดกว้าง” ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนไปไกลกว่าคำว่า “พหุวัฒนธรรม” คือไม่เพียง “อยู่ร่วมกันได้” แต่ยัง “หลอมรวม” เข้าหากันอย่างผสมกลมกลืน อันเป็นเอกลักษณ์ไทยที่ชาวโลกล้วนชื่นชม

ที่ใดมีการค้า ที่นั่นมี “ความหวัง” และ “ความเสี่ยง” พลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อไปสู่ความสำเร็จจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ตลอดความยาว 1.2 กิโลเมตรของถนนทรงวาด นอกจากจะมีร้านรวงตั้งเรียงรายแล้ว จึงปรากฏศาสนสถานทั้งวัดพุทธ ศาลเจ้าจีน และมัสยิดอิสลาม อยู่ในย่านนี้ด้วย

ด้วยปัจจัย “โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ” ผลักดันให้ ถนนทรงวาด กลายเป็นศูนย์กลางการค้ายุคบุกเบิก แต่สำหรับ ศาสนสถาน ย่อมเปรียบได้กับ “โครงสร้างพื้นฐานด้านจิตวิญญาณ” อันเป็นสัญลักษณ์และแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจเพื่อขับเคลื่อนความฝันและความหวังในการก่อร่างสร้างตัว

ค้นหานัยเบื้องหลังเรื่องราวบนถนนทรงวาดจากการสำรวจ “ถนนทรงวาด” ศูนย์กลางการค้า ในมิติความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เป็นภาพสะท้อนแค่มิติทางเศรษฐกิจ แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย และติดตามซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” จากศิลปวัฒนธรรมและช่องทางต่างๆ ในเครือมติชน เผยแพร่เดือนละ 2 ตอน ในวันศุกร์ (ศุกร์เว้นศุกร์) เวลา 19.00 น.

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไม “ถนนทรงวาด” กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกิจการ-นักธุรกิจในยุคบุกเบิก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

ความเป็นมาของถนนทรงวาด

พื้นที่ถนนทรงวาดในปัจจุบันมีระยะทางไม่ถึง 2 กิโลเมตร สองฟากฝั่งของถนนเป็นที่ตั้งของกิจการร้านค้าจำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด มีตั้งแต่สินค้าการเกษตร เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องเทศ ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงเมนูจานเด็ดจากร้านอาหารท้องถิ่นตามอาคารริมถนน

ท่ามกลางตัวอาคารที่เป็นกิจการการค้าเรียงรายไปตามริมถนน พื้นที่บริเวณละแวกถนนทรงวาดยังมีศาสนสถานหลากหลายความเชื่อปรากฏอยู่ระหว่างทางตามจุดต่าง ๆ ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาอาจตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นมาของสิ่งปลูกสร้างทางความเชื่อเหล่านี้

ก่อนจะทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของความหลากหลายทางความเชื่อและกลุ่มชนบนถนนทรงวาด คงต้องกล่าวถึงบริบทโดยรวมของถนนทรงวาดเป็นข้อมูลพื้นฐานซึ่งจะช่วยร้อยเรียงความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ง่ายขึ้น

เดิมทีแล้ว ถนนทรงวาดเป็นส่วนหนึ่งของย่านสำเพ็งมาก่อน ความเป็นมาของย่านสำเพ็งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2325

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังในช่วงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี แต่บริเวณที่จะสร้างขึ้น พื้นที่เดิมในเวลานั้นเป็นที่อยู่ของชาวจีนจำนวนหนึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ชุมชนชาวจีนย้ายมาอยู่นอกกำแพงพระนครในบริเวณวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส ไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง หรือคลองวัดปทุมคงคาฯ บริเวณที่ให้ชาวจีนย้ายมานั้น เรียกกันว่า “สำเพ็ง” นั่นเอง

ชาวจีนที่ย้ายมาอยู่บริเวณนี้ได้ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและใช้ค้าขายไปด้วย และอาศัยคลองรอบกรุง และคลองในบริเวณสำเพ็งสำหรับขนส่ง เดินทางทั่วไป และขนส่งสินค้าผ่านคลองไปจนถึงใช้ตรอกซอกซอยเล็ก ๆ เดินทางลัดเลาะเชื่อมต่อถึงกันในยุคต่อมา

ทักษะการค้าของชาวจีนเป็นที่เลื่องลือมานาน ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 การค้าและการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวจีนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ บริเวณสำเพ็งที่ชาวจีนมักเข้ามาอาศัยและประกอบอาชีพทางการค้าจึงเริ่มมีสภาพแออัด ปัญหาที่ตามมาไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องสุขอนามัย ยังมีเรื่องอัคคีภัยด้วย เมื่อตั้งบ้านเรือนชิดติดกัน หลายครั้งที่เพลิงไหม้ในละแวกนี้ เพลิงจะลุกลามออกไปจนเสียหายในวงกว้าง

เมื่อพ.ศ. 2449 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในสำเพ็ง “ถนนทรงวาด” เป็นถนนอีกหนึ่งเส้นซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปรับปรุงสำเพ็งด้วยการตัดถนน และจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่

ถนนทรงวาดที่ตัดขึ้นใหม่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตยุคที่การเดินทาง-ขนส่งทางน้ำเป็นการคมนาคมที่สำคัญ ลักษณะพื้นที่แบบนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญทำให้กิจการหลายชนิดเข้ามาตั้งที่ทำการหรือโกดังเก็บสินค้าในแถบถนนทรงวาด

ในอดีตเมื่อ 60 กว่าปีก่อน บรรยากาศบนถนนทรงวาดยุคเป็นศูนย์กลางการค้านำเข้า-ส่งออกสินค้านานาชนิดแบบเต็มตัวโดยเฉพาะสินค้าการเกษตรเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้คนสัญจรไปมา รถบรรทุกขนส่งสินค้าสลับกันเข้า-ออกลำเลียงสินค้ากันขวักไขว่ ท่าเรือที่ใช้เดินทางสำหรับแบบบุคคลและขนส่งมีการขนถ่ายสินค้ากันตลอด

แม้ว่าสภาพของถนนทรงวาดในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปหลายประการตามยุคสมัย แต่ร่องรอยความรุ่งเรืองหลายอย่างยังคงปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้ ตัวอาคารเก่าอันสวยงามยังตั้งตระหง่านให้เห็นอยู่ ที่ตั้งของกิจการร้านค้าและโกดังเก่าแก่ยังทำการเช่นเดียวกับวันวาน นอกเหนือจากนี้ สิ่งปลูกสร้างอีกหนึ่งชนิดที่สะท้อนสภาพย่านการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ยุคแรกเริ่มซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึงคือ “ศาสนสถาน” ในพื้นที่โดยรอบถนนทรงวาดนั่นเอง

ในยุคที่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ต่าง ๆ ให้ผู้คนไปทำกิจกรรมตามวิถีชีวิตซึ่งแตกต่างและหลากหลายได้ วัดหรือศาสนสถานอื่นล้วนมีบทบาทสำคัญในแง่ศูนย์รวมจิตใจและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตผู้คนอย่างลึกซึ้ง วัดและศาสนสถานแต่ละรูปแบบจึงส่งอิทธิพลทางสังคมอย่างมาก (จะกล่าวถึงในเนื้อหาต่อไป)

ละแวกถนนทรงวาดมีวัดตั้งอยู่ที่แต่ละหัวมุมฝั่งของถนน ฝั่งที่ติดกับถนนราชวงศ์ ใกล้ ๆ กันมีวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) ส่วนอีกฝั่งของถนนทรงวาดที่ติดกับถนนเจริญกรุงมีวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง) ใกล้ ๆ กันก็มีวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งล้วนเป็นวัดเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

ใจกลางถนนทรงวาดมีมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดแห่งเดียวในย่านชุมชนจีน ห่างจากมัสยิดไม่กี่ร้อยเมตรปรากฏศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง ศาลเจ้าจีนสมัยรัชกาลที่ 5

ศาสนสถานเหล่านี้หลายแห่งมีมาก่อนถนนทรงวาด บางแห่งเกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน แต่โดยรวมแล้ว ศาสนสถานเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งของถนนทรงวาดหรืออาจเป็นลักษณะสำคัญในภาพรวมของสังคมไทยด้วยก็ว่าได้ นั่นคือเรื่องการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายท่ามกลางสังคมที่ยึดโยงกันผ่านกิจกรรมในเชิงพาณิชย์

แล้วความเป็นมาเบื้องหลังของความหลากหลายและศาสนสถานจากแต่ละกลุ่มความเชื่อในย่านถนนทรงวาดมีที่มาที่ไปและเชื่อมโยงกันกับย่านการค้าและชุมชนชาวจีนอย่างไรบ้าง…

คลิกอ่านเพิ่มเติม : กำเนิด “ถนนทรงวาด” ศูนย์กลางการค้า-เกษตรไทยยุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม)

ดังที่เกริ่นก่อนหน้านี้ว่า ถนนทรงวาดเดิมทีเป็นส่วนหนึ่งของสำเพ็งมาก่อน หากย้อนกลับไปก่อนหน้ากำเนิดของสำเพ็งในฐานะย่านชุมชนจีนที่ก่อรากขึ้นมาควบคู่กับช่วงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา พื้นที่ของสำเพ็งเดิมทีเดียวแล้วบริเวณใกล้เคียงก็น่าจะพอมีชุมชนตั้งอยู่บ้าง หากพิจารณาจากสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดเก่าแก่หลายแห่งในละแวกนั้น

วัดเก่าแก่ซึ่งตั้งอยู่ละแวกถนนทรงวาด ในที่นี้จะกล่าวถึงวัด 4 แห่งด้วยกัน คือ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม), วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง), วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

เมื่อสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับ “วัด” ในย่านทรงวาด ข้อสังเกตเบื้องต้นอย่างหนึ่งคือ วัดทั้ง 4 แห่งที่กล่าวถึงในที่นี้ไม่พบหลักฐานบ่งชี้แบบชัดเจนว่าวัดแต่ละแห่งเริ่มสร้างในสมัยใด และสร้างโดยบุคคลใด

เอกสาร “จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านร่วมกันจัดทำขึ้นในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ. 2525 และข้อมูลที่นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งรวบรวมได้ส่วนใหญ่แล้วสันนิษฐานกันว่า วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม), วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง) และวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ) มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ขณะที่วัดไตรมิตร ก็สันนิษฐานว่า สร้างมาไม่ต่ำกว่า 180 ปี เทียบเท่ากับช่วงสมัยรัชกาลที่ 3

วัดในอดีตถือเป็นสิ่งปลูกสร้างสำคัญซึ่งจะช่วยบ่งชี้ข้อมูลได้หลายมิติ ข้อสำคัญคือวัดช่วยบอกลักษณะทางสังคมในยุคสมัยนั้นได้ กล่าวคือการสร้างวัดในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 การสร้างวัดสามารถสร้างในสถานที่หรือที่ดินส่วนตัว ผู้สร้างวัดขึ้นมาได้ย่อมบ่งบอกถึงอำนาจและบารมี (ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์, 2542)

ในแถลงการณ์ของคณะสงฆ์ก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายไว้ในแถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องการสร้างวัดว่า “การนิมนต์พระสงฆ์ไปอยู่ในวัดที่ตนสร้างขึ้นก็ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ที่ปกครองตําบลนั้น…” (ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์, 2542)

กรณีนี้มาสอดคล้องกับข้อมูลสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาส่วนหนึ่งของวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร ซึ่งแหล่งข้อมูลหลายแห่งมักบอกกันว่าวัดนี้เดิมทีแล้วเป็นวัดราษฎร์ ชื่อ “วัดนางปลื้ม” หรือวัดแม่นางปลื้ม บางส่วนคาดว่าอาจเป็นชื่อผู้สร้างวัดก็เป็นได้ (มีวัดชื่อเดียวกันนี้อยู่ที่อยุธยาอีกแห่ง)

ส่วนชื่อ “วัดสามปลื้ม” เริ่มมาปรากฏการเรียกด้วยชื่อนี้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาเหตุที่มาของชื่อก็ไม่ชัดเจนเช่นกัน บ้างก็สันนิษฐานว่า อาจเป็นนางสามคนร่วมกันสร้างวัดขึ้น หรือเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “สามเพ็ง” เนื่องจากวัดอยู่ใกล้ “สามเพ็ง” (สะกดตามการออกเสียงคำที่เป็นอีกหนึ่งสันนิษฐานกันในอดีต) และริมวัดนี้ยังมีคลองชื่อ “สามปลื้ม” อยู่ด้วย (ภายหลังคลองถูกถมเป็นถนนมหาจักร)

เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเริ่มปรากฏชื่อ “วัดจักรวรรดิราชาวาส” สืบเนื่องจากเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) บิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) บูรณะปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้ม และน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 1 พระองค์พระราชทานนามวัดใหม่เป็น “วัดจักรวรรดิราชาวาส” (พระราชธรรมมุณี, 2541 อ้างถึงใน ศิริพงษ์ เพียศิริ)

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) บูรณะวัดสามปลื้มขึ้นใหม่ทั้งหมด และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง วัดได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร” และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต ทั้งสองสิ่งนี้ใกล้ชิดกันมาก แน่นอนว่าวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหารมีบทบาทในกิจทางศาสนามากมายนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันอิทธิพลต่อสังคมและชุมชนในแง่มุมทางการค้าก็ปรากฏชัดไม่แพ้กัน

ตัวอย่างหนึ่งคือนอกจากบริเวณวัดจะเป็นย่านที่คนไทยและคนจีนพำนักอยู่ร่วมกันแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาสยังทำให้เกิดกิจการที่มีอิทธิพลต่อชุมชนอย่าง “ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ” ซึ่งดำเนินกิจการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นับมาถึงปัจจุบันก็ยาวนานกว่าร้อยปีแล้ว

ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อตั้งอยู่บนถนนจักรวรรดิ ร้านเช่าที่ดินของวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหารมาตั้งแต่เริ่มตั้งร้าน กิจการขายยาเก่าแก่แห่งนี้เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ระหว่างนายเป๋อ สุวรรณเตมีย์ ซึ่งรับใช้เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดคือสมเด็จพระพุฒาจารย์มา (หลวงปู่มา) ช่วยดูแลงานต่าง ๆ ในวัด หลวงปู่มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทยจึงถ่ายทอดความรู้ด้านการใช้สมุนไพรไทยรักษาโรค เมื่อเห็นว่าชำนาญแล้วจึงแนะนำให้เปิดร้านโดยเช่าที่ของวัด

ร้านขายยาแห่งนี้มีทั้งคนไทยเชื้อสายจีนในสำเพ็ง ชาวจีน และคนไทยจากที่อื่นมาหาซื้อยา ถวัลย์ สุวรรณเตมีย์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของกิจการเล่าไว้ว่า ในอดีตมีลูกค้าชาวจีนที่มาใช้บริการจำนวนมาก ปัจจุบันอาจลดน้อยลงบ้างเนื่องจากคนจีนในละแวกใกล้เคียงลดจำนวนลง

ลูกค้าบางรายซื้อยาไทยนำไปใช้ร่วมกับยาจีน ส่วนคนไทยที่นำยาจีนมาใช้กับยาไทยก็มีเช่นกัน โดยยาของจีนมียี่ปั๊วนำเข้าของจากจีนมาขายให้ร้านทำให้มีร้านยาจีนมาซื้อของจากร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อไป ในทางกลับกัน หากลูกค้ามาหาซื้อแล้วร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อไม่มี ร้านจะแนะนำลูกค้าให้ไปซื้อจากร้านยาจีน อย่างไรก็ตาม ทายาทของร้านยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าชาวจีนกับร้านขายยาไม่ได้แนบแน่นเหมือนสมัยก่อนเพราะสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป (สัมภาษณ์ ถวัลย์ สุวรรณเตมีย์ 2547-48 อ้างถึงใน ขนบพร วัฒนสุขชัย)

ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงได้ ที่ทำได้คือปรับตัวเพื่อเผชิญหน้ากับมัน แต่สำหรับร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อแล้ว ถวัลย์ สุวรรณเตมีย์ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ไม่โฆษณา ไม่ต้องการอะไรเกี่ยวกับเงินทอง ไม่ขยายกิจการ ต้องการรักษาควบคุมกิจการเดิม “ให้ชื่อเสียงของร้านต่อไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ ชั่วคน ถ้าเป็นไปได้…เราจะต้องควบคุมที่นี่ให้อยู่อย่างนี้ได้ตลอดไปก็พอใจแล้ว เอาไว้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองไทยสักอย่าง…”

ในแง่สถานะตำนานของกิจการร้านขายยาที่เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งของเมืองไทย ไม่มีใครปฏิเสธชื่อร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อได้ ในอีกด้านหนึ่ง เบื้องหลังของตำนานนี้ยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน และชาวจีนกับชาวไทยภายในย่านสำเพ็งละแวกถนนทรงวาดซึ่งล้วนส่งอิทธิพลต่อกันและกัน อีกทั้งเชื่อมโยงภาพความสัมพันธ์แง่วิถีชีวิตความเป็นอยู่จากบทบาทของความเชื่อทางศาสนาและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตในด้านการประกอบอาชีพและการค้าเข้าหากันด้วย

วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ)

วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร มีอีกชื่อที่ผู้คนเรียกกันคือ “วัดเกาะ” จากลักษณะพื้นที่สมัยก่อนซึ่งเคยมีคูคลองล้อมรอบวัดโดยคลองยังเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา วัดตั้งอยู่บนถนนทรงสวัสดิ์ เชื่อมระหว่างถนนทรงวาดกับถนนเยาวราช ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างวัดอย่างชัดเจน แต่หลายแห่งบอกตรงกันว่าเป็นวัดตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

คูคลองรอบวัดเกาะยังเคยมีคลองที่เป็นเส้นทางไปถึงวัดปทุมคงคาฯ ได้ ภายหลังถมเป็นถนนและปลูกสร้างเป็นอาคารตึกแถว สภาพพื้นที่ในปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิมที่ปรากฏในบันทึกค่อนข้างมาก ในอดีต พื้นที่ของวัดสัมพันธวงศ์มีบริเวณกว้างขวาง แต่ไม่มีจัดทำโฉนด มีผู้มาปลูกบ้านเรือนตามใจชอบ กระทั่งตัดถนนทรงสวัสดิ์จึงต้องย้ายกุฏิมาปลูกรวมกัน ขณะที่ศาลาท่าน้ำซึ่งเคยกล่าวกันว่ามีอยู่ 3 หลังในบริเวณเขตวัดจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อไม่ได้บูรณะจึงไม่ปรากฏในภายหลัง

ในสมัยรัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณ พ.ศ. 2339 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (ต้นราชสกุล มนตรีกุล) พระโอรสในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) รับสนองพระบรมราชโองการ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งพระอาราม ทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ไปจนถึงหอระฆัง และกุฏิสงฆ์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเกาะแก้วลังการาม”

ทั้งนี้ ย่านวัดเกาะยุคต้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของสำเพ็ง เมื่อสำเพ็งขยายตัว จึงเริ่มมีย่านอื่นเกิดขึ้นตามมาเช่นถนนเจริญกรุง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถนนเยาวราชในสมัยรัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดสัมพันธวงศาราม” ตามพระนามพระสัมพันธวงศ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี และเปลี่ยนจากมหานิกายเป็นธรรมยุติกนิกาย

ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ย่านสำเพ็งเป็นทั้งย่านชุมชนชาวจีนและย่านการค้า ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวจีนแต้จิ๋วเป็นกลุ่มชาวจีนส่วนใหญ่ในไทย กิจการการค้าของชาวแต้จิ๋วที่เดินทางเข้ามาในไทยและสามารถขยายกิจการจนเติบโตได้มีมากมายหลายแห่ง

ในช่วงทศวรรษ 2400-2450 ตัวอย่างของชาวจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาในไทยและสามารถยกระดับการเงินได้ อาทิ เฉิน ฉือหง หนุ่มแต้จิ๋ววัย 20 ปีที่มาถึงกรุงเทพฯ ประมาณ พ.ศ. 2408 โดยไม่มีทรัพย์สินติดตัว เมื่อทำงานจนมีประสบการณ์พอก็มาเปิดบริษัทการค้าของตัวเอง ตั้งโรงสีโรงแรกเมื่อ พ.ศ. 2417 เมื่อเข้าสู่วัยชราก็ปลดเกษียณกลับไปอยู่ซัวเถา (จี. วิลเลียม สกินเนอร์, 2548)

ที่ชัดเจนอีกกรณีคือตระกูลเจียรวนนท์ ที่ก่อตั้งเจียไต๋ขึ้นในแถบทรงวาด ภายหลังก็ปรากฏเครือเจริญโภคภัณฑ์ในเวลาต่อมาคือกลุ่มที่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับพื้นที่แต้จิ๋ว

บทความชื่อ “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)” ที่ระบุว่ามาจากการบอกเล่าของ ธนินท์ เจียรวนนท์ แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) และมร.หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (ตำแหน่งในขณะนั้น) ระบุที่มาว่ามาจากหนังสือพิมพ์ “นิกเคอิ” แต่ไม่ได้ระบุวันที่และปีที่เผยแพร่ โดยมีบางแหล่งเชื่อว่าเป็นบทสัมภาษณ์ใน “Nikkei Asian Review” ราวช่วงปี 2559

ธนินท์ เจียรวนนท์ บอกเล่าภูมิหลังของตัวเองไว้ว่า

“บ้านเกิดคุณพ่อของผมอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ เมืองแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก ของเมืองกวางตุ้ง ทางใต้ของเมืองแต้จิ๋วอยู่ติดกับท่าเรือเมืองซัวเถา เมืองแต้จิ๋วกับเมืองซัวเถา เรียกรวมกันว่า ‘แต้ซัว’…”

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้เป็นบุตรชายของเจี่ย เอ็กชอ เล่าว่า บิดาเดินทางเข้ามาในไทยประมาณปี พ.ศ. 2462 เมื่อเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงเปิดร้าน “เจียไต๋จึง” (ออกเสียงว่า “เจียไต้จึง”) เมื่อ พ.ศ. 2464 เริ่มกิจการจากร้านขายเมล็ดพันธุ์ มีเจี่ย เอ็กชอ และน้องชายคือเจี่ย จิ้นเฮี้ยง หรือชื่อไทยว่า ชนม์เจริญ เจียรวนนท์ ร่วมกันบุกเบิก หลังจากนั้นธุรกิจก็พัฒนาต่อเนื่องและมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ในเวลาต่อมา

ธนินท์ เจียรวนนท์ ยังเล่าว่า ตัวเขาเองเกิดในชั้น 3 ของอาคารแห่งหนึ่งย่านถนนทรงวาด ป้ายที่ติดอยู่ด้านหน้าอาคารปรากฏอักษรว่า “เจียไต๋จึง” (ออกเสียงว่า “เจียไต้จึง”) เป็นร้านขายเมล็ดพันธุ์ที่เจี่ย เอ็กชอ บิดาของเขาเข้ามาบุกเบิกธุรกิจเมล็ดพันธุ์

สภาพความเป็นอยู่ร่วมกันระหว่างวัดกับชาวจีนในย่านนั้นมีเรื่องเล่าอีกว่า วัดช่วยเหลือให้ที่พักพิงโดยปลูกตึกแถวให้เช่า ชาวจีนส่วนหนึ่งก็มาอาศัยเป็นที่ทำการค้า พระครูปลัดสัมพิพัฒน์วิทยจารย์ เคยเล่าไว้ว่า กิจการเจียไต๋ ของตระกูลเจียรวนนท์ ช่วงเริ่มกิจการก็เช่าตึกแถวของวัดสัมพันธวงศ์ค้าขายเมล็ดพันธุ์จนขยายกิจการเติบโตอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา ปัจจุบันกลุ่มการค้ายังมีบทบาทช่วยทำนุบำรุงวัด (พระครูปลัดสัมพิพัฒน์วิทยจารย์, 2547 อ้างถึงใน วราภรณ์ แย้มทิม)

แต่ย่านนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวจีนเท่านั้น บริเวณสำเพ็งมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายทั้งไทย แขก และฝรั่ง กระทั่งในปัจจุบันก็มีชาวพม่าด้วย นักเขียนและผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์จึงบอกกันว่า “ความเป็นไทยที่แท้จริง” อยู่ตรงนี้นี่เอง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2563)

ที่กล่าวถึงชาติพันธุ์หนึ่งไปข้างต้นมี “แขก” รวมอยู่ด้วย ข้อมูลส่วนนี้ปรากฏว่าถูกกล่าวถึงใน “นิราศหลวงบุรุษ” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2418 ใจความตอนหนึ่งมีว่า

“ถึงห้างหอหน้าวัดเกาะพิเคราะห์ดู
ล้วนตึกห้างอย่างแขกทำแปลกเพศ จรัญเขตตรงแน่วแนวผลู
พวกแผนกแขกชวามลายู มาตั้งอยู่เรียงเรียดร้านเหยียดยาว
สินค้าขายก่ายกองล้วนของเทศ งามวิเศษสลับสีพื้นที่ขาว
เครื่องเงินทองก่องแก้วดูแวววาว ของระนาวผูกระโยงห้อยโตงเตง”

จากการสัมภาษณ์ดร. สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตเอกอัครราชทูต และผู้เชี่ยวชาญด้านจีน มีผลงานเขียนหนังสือ “จิ้มก้องและกำไรการค้าไทย-จีน 2195-2396” ดร.สารสิน เล่าประสบการณ์ในวัยเด็กซึ่งย้ายไปพักอาศัยบนถนนทรงวาดตอนอายุ 8 ขวบ ประมาณพ.ศ. 2497 โดยอาศัยอยู่ในละแวกนี้ 5 ปี ก่อนไปเรียนต่อในต่างประเทศ ดร.สารสิน เล่าความทรงจำว่า ย่านทรงวาดในยุคนั้นมีคนจากอีสานที่มาทำงาน ขณะที่แถวท่าน้ำราชวงศ์ก็พบเห็นชาวซิกข์ และแขกจากอินเดีย ไปจนถึงแถบวังบูรพา โดยสามารถอยู่ร่วมกันได้ผ่านกิจกรรมทางการค้าที่ร้อยเรียงความสัมพันธ์เข้าด้วยกัน

พอกล่าวได้ว่าข้อมูลข้างต้นเหล่านี้บ่งชี้ร่องรอยความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันระหว่างชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ภายใต้ความแตกต่างระหว่างชาวไทย จีน และ “แขก” สิ่งที่เชื่อมโยงกลุ่มชนเข้าด้วยกันคือการค้า ชาวจีนสามารถค้าขายกับใครก็ได้ ถึงแม้ภายในกลุ่มชาวจีนด้วยกันเองจะพบการแบ่งแยกกันเองบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับรุนแรง ยังอยู่ร่วมกันได้

ส่วน “ฝรั่ง” ที่เอ่ยถึงไว้ สามารถขยายความได้ว่า ย่านวัดเกาะเคยเป็นแหล่งที่พักและเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์โดยมิชชันนารีอเมริกัน เป็นแห่งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ มิชชันนารีกลุ่มนี้เดินทางเข้าไทยในพ.ศ. 2371 สมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากนั้นก็มีผู้มาเปิดเป็นจุดรักษาโรค เรียกกันว่า “โอสถศาลาวัดเกาะ”

กลุ่มแรกที่เข้ามามีชื่อศาสนาจารย์คาร์ล กุตสลาฟฟ์ (Karl Friedrich August Gützlaff) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์ ยาคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษ กิจกรรมแรกเริ่มคือแจกจ่ายหนังสือเกี่ยวกับศาสนา และจ่ายยารักษาโรคให้ชาวไทยและชาวจีน ขณะที่ศาสนาจารย์กุตสลาฟฟ์ มีความรู้ทางการแพทย์ เลยรับรักษาโรคแก่คนทั่วไป (ชรัตน์ สิงหเดชากุล, 2563) ทั้งนี้ ชาวบ้านมักเข้าใจกันว่าต่างชาติที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาเป็นหมอกันทุกคน (ส. พลายน้อย, 2555) คนในอดีตจึงเรียกมิชชันนารีที่มาเผยแพร่ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ว่า “หมอ”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีมิชชันนารีเดินทางเข้ามาไทยอีกหลายครั้ง ชาร์ล โรบินสัน (Charles Robinson) และสตีเฟน จอห์นสัน (Stephen Johnson) มาถึงกรุงเทพฯ พ.ศ. 2377 เช่าที่แปลงเล็กเหนือวัดเกาะและอยู่ทางท้ายตลาด สร้างเรือนที่พักแบบง่าย ๆ 2 หลัง แต่บางแห่งบอกว่า มิชชันนารีขอเช่าที่นายกลิ่น น้องชายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) หรือบางแห่งก็บอกว่า เช่าบ้านไม้ 2 ชั้นข้างวัด ซึ่งเป็นของนายกลิ่น

กระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2378 มีมิชชันนารีอเมริกันชื่อ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เข้ามาในไทย มาพักกับครอบครัวของศาสนาจารย์จอห์นสัน โดยหมอบรัดเลย์ เปิดห้องจำหน่ายยาและให้คำแนะนำที่ใต้ถุนบ้านของศาสนาจารย์จอห์นสัน (ส.พลายน้อย, 2555)

หมอบรัดเลย์ อธิบายว่า มิชชันนารีที่เข้ามาในไทย แรกทีเดียวตั้งใจจะสอนศาสนาคริสต์แก่ชาวจีนที่มาอยู่ในไทย เลยเตรียมหนังสือศาสนาที่พิมพ์เป็นภาษาจีนเข้ามาติดต่อขอรัฐบาลเพื่อสอนศาสนาชาวจีน และเลือกจุดที่ตั้งแถบวัดเกาะเพราะมีคนจีนจำนวนมากตั้งถิ่นฐานที่นี่ เมื่อตั้งโอสถศาลาที่วัดเกาะก็แจกหนังสือสอนศาสนาพร้อมรักษาโรคให้ทั้งชาวจีนและชาวไทยเพื่อแสดงน้ำใจแรกเริ่ม (ส.พลายน้อย, 2555)

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมิชชันนารีในวัดเกาะดำเนินมาระยะหนึ่งก็ต้องย้ายที่ทางไปเนื่องจากเหตุวิวาทระหว่างชาวต่างชาติกับพระสงฆ์ในวัดเกาะ แม้มิชชันนารีจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุโดยตรง แต่ที่สุดแล้วครอบครัวของจอห์นสัน และนายบรัดเลย์ ต้องย้ายออกจากย่านวัดเกาะเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2378 โดยมาอยู่ที่กุฎีจีน แถววัดซางตาครูส ย่านฝั่งธนบุรี (ส.พลายน้อย, 2555)

ย่านวัดเกาะยังมีชื่อเสียงอีกประการคือเป็นแหล่งผลิตวรรณกรรมสำคัญในเวลาต่อมา มีโรงพิมพ์หน้าวัดเกาะพิมพ์นิยายจักรๆ วงศ์ๆ จำนวนมากและได้รับความนิยมจากผู้อ่าน หนังสือไทยได้รับความนิยมมากขึ้น มีประโยชน์ต่อแง่มุมด้านการศึกษา หนังสือที่พิมพ์จากโรงพิมพ์ในย่านนี้ไม่ได้มีเพียงนิยาย ยังมีหนังสืออีกหลายประเภท ตั้งแต่พงศาวดาร วรรณคดี เพลงพื้นบ้าน บทสวดต่างๆ โรงพิมพ์ที่โด่งดังคือ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หรือโรงพิมพ์วัดเกาะ แต่ภายหลังช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมาก็ไม่ค่อยพบเห็นโรงพิมพ์ในย่านนี้แล้ว

เมื่อพูดถึงบทบาทในแง่การศึกษา วัดสัมพันธวงศ์ยังมีบทบาทสำคัญในด้านนี้ต่อชุมชน ในอดีตเคยมีพระครูสุวรรณรังสีตั้ง “โรงเรียนราตรีสัมพันธวงศ์” เป็นโรงเรียนกลางคืนที่เปิดสอนฟรีโดยใช้สถานที่เดียวกับการสอนปริยัติธรรมในเวลากลางวัน ลูกศิษย์วัดและลูกชาวบ้านในละแวกวัดทั้งชาวไทยและจีนล้วนมาศึกษาได้

ในความเห็นของส.พลายน้อย นักเขียนอาวุโสและนักวิชาการที่ศึกษาด้านประวัติศาสตร์หลากหลายแง่มุมเชื่อว่า ความเจริญในด้านการค้าของกรุงเทพฯ ยุคแรกเริ่มเกิดขึ้นในเขตของคนจีนเป็นส่วนใหญ่ จากลักษณะของพื้นที่อันมีผู้คนหนาแน่นและเป็นย่านการค้า ดังนั้น เมื่อพูดถึงความเจริญในด้านการค้าในกรุงเทพฯ ยุคแรกย่อมต้องยกให้บริเวณวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม), วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง) และวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ) ซึ่งเชื่อมต่อกันอยู่ในละแวกถนนทรงวาด ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำเพ็งในอดีต

ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้ บริบทของย่านสำเพ็งที่มีชุมชนชาวจีนซึ่งประกอบการค้าโดยใช้ประโยชน์จากการคมนาคมที่เอื้ออำนวยเพราะสำเพ็งแถบถนนทรงวาดอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นในเมืองได้โดยสะดวกเมื่อการคมนาคมพัฒนาขึ้นตามลำดับ อีกทั้งมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ได้คาดคิด คือย่านสำเพ็งและถนนทรงวาดไม่ได้เป็นย่านการค้าที่มีแค่ชาวจีน แต่ยังปรากฏความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม พวกเขามีปัจจัยหลักที่เชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกันนั่นคือกิจกรรมทางการค้า

ในขณะเดียวกัน พื้นที่ทางศาสนาในอดีตมีบทบาทที่ส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนและในด้านการค้า โดยช่วยยึดเหนี่ยวทั้งทางจิตใจและบางครั้งยังช่วยส่งเสริมเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านการเปิดโอกาส ผ่านแง่มุมทางการค้า และผ่านการศึกษา กล่าวได้ว่า พื้นที่เหล่านี้มีบทบาทสำคัญตั้งแต่เบื้องหลังความหลากหลายทางเชื้อชาติในชุมชนแสนพิเศษนี้ไปจนถึงฉากหน้าของกิจกรรมทางการค้าในย่านชุมชนจีนอย่างมีนัยสำคัญ

ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง

นับตั้งแต่โบราณกาล มนุษย์ต้องการที่พึ่งทางใจเสมอมา บุคคลในแวดวงต่างๆ มักมีที่พึ่งทางใจตามที่กลุ่มชนของตนเคารพนับถือและคิดว่าจะช่วยปกป้องรักษา ดลบันดาลความผาสุขมาสู่ชีวิตได้ ชาวจีนที่เดินทางย้ายถิ่นฐานเข้ามาประกอบการค้าในกรุงเทพฯ ก็ไม่แตกต่างกัน

ขณะที่ฝั่งหัวถนนแต่ละฟากของถนนทรงวาดเป็นที่ตั้งของวัดพุทธเก่าแก่ ภายในบริเวณถนนทรงวาดมีศาลเจ้าที่เรียกกันว่า “ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง” (สะกดตามอักษรในป้ายหน้าศาลเจ้า) ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของถนน ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนส่วนใหญ่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ความเป็นมาของศาลเจ้าแห่งนี้มีข้อมูลชี้ไปหลายทิศทาง หากพิจารณาจากจารึกที่อยู่บนระฆังในศาลเจ้า สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2367 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 (ต้วน ลี่ เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ อ้างถึงใน อมราภรณ์ หมีปาน, 2559) แต่บางแหล่งก็สันนิษฐานว่าอาจสร้างราว พ.ศ. 2411 (พรพรรณ จันทโรนานนท์, 2546)

จากข้อมูลของผศ.ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ชี้ว่า ศาลเจ้าที่ปรากฏในปัจจุบันไม่ใช่หลังแรกที่สร้าง พิจารณาจากข้อมูลจุดที่เกิดเพลิงไหม้สำเพ็งเมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2449 ศาลเจ้าเดิมตั้งอยู่ด้านหลังของศาลในปัจจุบัน ส่วนศาลปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2460 และสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงจากเว็บไซต์ประวัติศาลเจ้าที่จัดทำโดยผู้ดูแลศาล
ทิศเหนือของศาลเจ้าติดกับโรงเรียนเผยอิง โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นโดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีน 5 ราย หนึ่งในนั้นคือ พระอนุวัติราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) หรือที่เรียกกันว่า ยี่กอฮง ชาวจีนผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น

ขณะที่ตัวศาลเจ้ามีลักษณะสถาปัตยกรรมสวยงาม คาดว่าอาจเป็นผลมาจากที่ได้รับการดูแลโดยพ่อค้าชาวจีนผู้มีฐานะในละแวกใกล้เคียงและสมาคมแต้จิ๋วจากการรวมกลุ่มของพ่อค้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มียี่กอฮงเป็นนายบ่อนหวยตามกฎหมาย มาบูรณะศาลเจ้าและโรงเรียนทำให้ทั้งสองอาคารอยู่ในสภาพดี ภายนอกดูสวยงาม (อมราภรณ์ หมีปาน, 2559)

สำหรับข้อมูลเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับ “ปูนเถ้ากง” ในหมู่ชาวจีนค่อนข้างซับซ้อนทั้งในแง่ประวัติความเป็นมาในประเทศโซนเอเชีย เพราะมีรายละเอียดบางจุดที่คล้ายกันและแตกต่างกันในหมู่ประเทศต่าง ๆ หรือแม้แต่แง่มุมทางภาษา การสะกดชื่อและอ่านออกเสียงก็แตกต่างกันไปหลายแบบ

ในเบื้องต้น คำว่า ปูนเถ้ากง ปุนเถ้ากง หรือสะกดตามที่ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการผู้ศึกษาวัฒนธรรมจีนเขียนว่า “ปุนเถ้าก๋ง” โดยรวมแล้วเป็นชื่อของเทพเจ้าผู้คุ้มครองในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลแถบเอเชียอาคเนย์ ใช้แพร่หลายที่สุดในไทย และพบได้ทั่วไปในเวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และปีนัง ในมาเลเซีย (ถาวร สิกขโกศล, 2562) แต่ไม่พบชื่อเทพเจ้านี้ในทำเนียบเทพเจ้าในประเทศจีน

ทั้งนี้ คำว่า “ปุนเถ้าก๋ง” ในภาษาไทย พบหลักฐานว่าปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยในหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม มีข้อความว่า กรุงศรีอยุธยามีตลาดน้ำใหญ่ 4 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ “ตลาดปากคลองวัดเดิม ใต้ศาลเจ้าปุนเถ้าก๋ง”

ถึงแม้จะเป็นเทพที่นิยมในหมู่ชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว แต่ถ้าถามไปถึงที่มาที่ไปและประวัติความเป็นมาแรกเริ่ม กลับไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างชัดเจนเพียงพอ แต่ละแห่งล้วนมีข้อสันนิษฐานแตกต่างกันและมีมากมายหลายข้อด้วย

เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จึงไม่สามารถยกคำอธิบายเกี่ยวกับความหมายของคำมาได้อย่างครบถ้วน พอจะกล่าวได้โดยคร่าวว่า ปุนเถ้าก๋ง (本頭公 ) เป็นเสียงภาษาจีนฮกเกี้ยน-แต้จิ๋ว โดยจีนสองกลุ่มนี้ออกเสียงคำนี้เหมือนกัน ส่วนภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “เปิ่นโถวกง” แต่เมื่อเขียนหรือสะกดเป็นภาษาไทยก็เริ่มคลาดเคลื่อนไปตามการใช้คำและการออกเสียง

เมื่อถามว่าเทพองค์นี้คือใคร มาจากไหน คำตอบก็มีข้อมูลแตกต่างหลากหลายเช่นกัน จากการสรุปของถาวร สิกขโกศล ซึ่งประมวลความเห็นของนักวิชาการหลายท่านนำมาสรุปได้ว่า “ปุนเถ้าก๋ง (สะกดตามต้นฉบับ) มีที่มาจากเทพแห่งที่ดิน (เจ้าที่) เทพประจำท้องถิ่น และผู้นำหรือบุคคลสำคัญของจีนผู้มีคุณูปการต่อถิ่นโพ้นทะเลซึ่งล่วงลับไปแล้วและได้รับยกย่องเป็นเทพ”

คำอธิบายเพิ่มเติมของถาวร สิกขโกศล ยังระบุว่า เมื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองอีก พอจะสรุปได้ว่า “รากเหง้าเก่าแก่ที่สุดของปุนเถ้าก๋งคือ เทพประจำชุมชนของจีนโบราณซึ่งมีพื้นฐานจากเทพแห่งที่ดิน แล้วพัฒนาไปตามยุคสมัย ตามถิ่น เมื่อมาถึงถิ่นโพ้นทะเลได้พัฒนาต่อไปเป็นปุนเถ้าก๋ง โดยได้โยงเอาคนจีนในอดีตผู้มีคุณูปการต่อถิ่นโพ้นทะเลของตน รวมทั้งเทพท้องถิ่นของคนพื้นเมืองในถิ่นนั้นๆ เข้ามาร่วมด้วย” (ถาวร สิกขโกศล, 2562)

ชาวจีนเชื่อเรื่องที่ดินว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ในสมัยโบราณมีเทพแห่งดิน และเรียกเจ้าแห่งดินว่า “เสื้อ” หรือ “เส้อ” หรือ “เสีย” (เสียงแบบจีนแต้จิ๋ว) เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป สังคมผ่านยุคสงคราม ผู้คนไม่ได้อยู่ติดกับที่ดินเดิม ความเชื่อแบบเดิมเปลี่ยนแปลง มีเทพที่คนจีนสร้างมาแทน “เส้อ” อย่าง “ถู่ตี้กง” พอมาถึงยุคที่ระบบแซ่แพร่หลาย ชาวจีนให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษเพิ่มมากขึ้น เทพเดิมเริ่มจางหาย

เมื่อชาวจีนออกเดินทางไปแผ่นดินอื่น ถาวร สิกขโกศล อธิบายว่า หาก “เส้อและถู่ตี้คือเทพผู้คุ้มครองชุมชน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคน ศาลของท่านเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปุนเถ้าก๋งในถิ่นจีนโพ้นทะเลก็มีบทบาททางสังคมเหมือนกับเทพสององค์นี้ จึงกล่าวได้ว่าเทพสององค์นี้คือที่มาดั้งเดิมของเทพปุนเถ้าก๋ง แต่ก็มีผู้มีความเห็นต่างออกไป เทพที่มีผู้เชื่อว่าเป็นที่มาสำคัญของเทพปุนเถ้าก๋งอีกก็คือ เฉิงหวง (成隍) และซันซันกั๋วหวัง (三山国王)”

แม้ว่า “ปูนเถ้ากง” ในถนนทรงวาดจะไม่มีหลักฐานผู้สร้างแบบชัดเจน หากพิจารณาจากบริบทความเป็นมาของเทพ ผนวกเข้ากับการย้ายถิ่นของชาวจีนเข้ามาในทรงวาดจึงเกิดคำบอกเล่าที่กล่าวกันทำนองว่า ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงบนถนนทรงวาดเกิดจากความศรัทธาและความเชื่อของชาวจีนที่อพยพเข้ามาขึ้นที่ท่าน้ำในย่านทรงวาด ชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากินต้องการที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและกำลังใจซึ่งจะช่วยผลักดันการทำงานนอกถิ่นเกิด จึงเป็นที่มาของการตั้งศาลขึ้น (อมราภรณ์ หมีปาน, 2559)

เป็นธรรมดาที่ผู้คนแต่ละกลุ่มจะมีความเชื่อเป็นของตัวเอง ตั้งแต่โบราณกาลมา มนุษย์มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยดลบันดาลให้คุณและโทษแก่สังคมเสมอ เมื่อสังคมพัฒนาไปสู่ยุคแห่งการค้าและเทคโนโลยี บริบทข้างต้นนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากงในถนนทรงวาดสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ทำการค้ากับความเชื่อทางจิตวิญญาณ ในกรณีนี้ก็คือเทพใน “ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง” อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับชุมชนท้องถิ่นในดินแดนที่ห่างไกลบ้านเกิดเพื่อช่วยขับเคลื่อนความฝันและความหวังในการก่อร่างสร้างตัวดังที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้

นอกเหนือจากบทบาทแค่ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจจากที่ชาวจีนกราบไหว้บูชา ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองช่วยเหลือชีวิตประจำวันและในทางการค้า พื้นที่ของศาลเจ้ายังถูกใช้จัดกิจกรรมรวมตัวคนในชุมชนชาวแต้จิ๋วในวาระต่าง ๆ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมมอบความบันเทิงอย่างเช่นแสดงงิ้ว คณะงิ้วแต้จิ๋วที่เดินทางมาจากกวางตุ้งในอดีต เมื่อเข้ามาถึงกรุงเทพฯ มักเข้ามากราบไหว้ขอพรเทพปูนเถ้ากงบนถนนทรงวาด และแสดงงิ้วถวาย 1 คืน ก่อนเดินทางกลับก็มากราบลาขอพรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เดินทางโดยปลอดภัย (พรพรรณ จันทโรนานนท์, 2546 อ้างถึงใน อมราภรณ์ หมีปาน)

แม้ว่าข้อมูลความเป็นมาในเชิงประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าและเทพตามความเชื่อของกลุ่มชนจะไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่ปฏิเสธได้ยากว่าการดำรงอยู่ของความเชื่อและศาลเจ้าเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตผู้คนแถบทรงวาดโดยเฉพาะในแง่มุมทางการค้า ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนสถานในท้องถิ่นย่านทรงวาดที่เอ่ยถึงมาล้วนแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์ที่อยู่เบื้องหลังวิถีชีวิตประจำวันและสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตและยังหลงเหลือร่องรอยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงจนสภาพบทบาทในปัจจุบันไม่เหมือนอดีตแล้วก็ตาม

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก

ถัดมาจากศาลเจ้าจีนในย่านทรงวาดไม่กี่ร้อยเมตร ในตรอกติดกับตึกผลไม้ อาคารเก่าอันสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของถนนทรงวาด เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะพบศาสนสถานของกลุ่มชนอีกเชื้อชาติหนึ่งคือมัสยิดที่เรียกว่า “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก”

ความเป็นมาของศาสนสถานแห่งนี้ หลายแหล่งบอกเล่าข้อมูลสอดคล้องกัน กล่าวกันว่า หลวงโกชาอิศหาก (เกิด บินอับดุลลาห์) คือผู้ก่อตั้งมัสยิด หลวงโกชาอิศหาก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2350 (บางแห่งบอก 2349) บิดาของหลวงโกชาอิศหาก เป็นชาวไทรบุรี ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของไทยอยู่ (วิษณุ ทรัพย์สมบัติ, 2559)

หลวงโกชาอิศหากรับราชการตำแหน่งกรมท่าขวาล่ามมลายู ติดต่อชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในไทย และเป็นเจ้าหน้าที่รับเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองจากประเทศราชแถบแหลมมลายู

เอกสารประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 55 พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกว่าเมื่อครั้งจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) ทูตจากอังกฤษเข้ามาในสยามเพื่อเจริญไมตรีระหว่างประเทศพร้อมเจรจาทางการค้าเมื่อพ.ศ. 2365 เอกสารนี้ระบุว่า ล่ามฝ่ายไทยที่แปลภาษามลายู (ครั้งนั้นไม่มีไทยที่พูดอังกฤษได้ และไม่มีอังกฤษที่พูดไทยได้ ใช้แปลเป็นภาษาโปรตุเกสบ้าง มลายูบ้าง แล้วแปลเป็นไทยและอังกฤษอีกทอดหนึ่ง) ใช้แขกชื่อ “นะกุด่าอุลี” ตำแหน่งเป็นหลวงโกชาอิศหากในเวลานั้น

ด้วยตำแหน่งและหน้าที่ล่ามมลายูซึ่งเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ หลวงโกชาอิศหากเลยเป็นที่รู้จักหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ฝ่ายเจ้าประเทศราช ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในไทยและเป็นกลุ่มนับถือศาสนาอิสลาม

ในเนื้อหาหัวข้อเรื่องคมนาคมก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงสภาพการซื้อขายทางน้ำในกรุงเทพฯ ช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่า มีเรือมาจอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะบริเวณสำเพ็ง ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายมีหลากหลายกลุ่ม สำหรับกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามจะพบปัญหาบริเวณแถบสำเพ็งสมัยที่ไม่มีถนนทรงวาดยังไม่มีมัสยิด การเดินทางไปประกอบศาสนกิจก็ไม่สะดวก ชาวต่างชาติร้องขอให้จัดหาที่สำหรับทำศาสนกิจในบริเวณใกล้เคียง

หลวงโกชาอิศหากจึงหาซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ใช้เป็นจุดสร้างมัสยิด กล่าวกันว่าพื้นที่เดิมส่วนใหญ่ในบริเวณที่ดินนี้เป็นท้องร่องสวนหมากและสวนมะม่วง น้ำท่วมถึงตลอดปี ดินเปียกแฉะตลอด ไม่ค่อยมีราคาเท่าใด แต่ทำเลติดริมฝั่งแม่น้ำนั้นใกล้กับท่าเรือที่ชาวต่างชาติจอดเรือขนถ่ายสินค้าในการค้าขาย (วิษณุ ทรัพย์สมบัติ, 2559)

มัสยิดที่สร้างในยุคแรกเริ่มเป็นเรือนไม้ขนาดเล็ก เรียกกันว่า “บ้านแล” เวลาต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มัสยิดเริ่มผุกร่อน พื้นที่เล็กไม่เพียงพอรองรับชาวต่างชาติและลูกหลาน จึงคิดสร้างมัสยิดถาวรสำหรับระยะยาวต่อไป

วิษณุ ทรัพย์สมบัติ เขียนเล่าไว้ในบทความประวัติ “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก” อ้างอิงคำบอกเล่าของผู้ใหญ่รุ่นก่อนว่า หลวงโกชาฯ ให้ลูกหลานช่วยกันขนอิฐและหินจากตึกเก่า 3 หลังของท่านที่บางลำพูล่าง ฝั่งธนบุรี มาสร้างเป็นแบบทรงยุโรปตามสมัยนิยม เมื่อสร้างเสร็จสิ้น หลังจากนั้นค่อยปรากฏการตัดถนนทรงวาดตามมา

ดังที่กล่าวแล้วว่า ถนนทรงวาดไม่ได้เป็นแค่ย่านชุมชนชาวจีน บริเวณสำเพ็งและเยาวราชมีชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่ด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในซอยวานิช 1 หรือในอดีตเรียกกันว่า “ถนนสำเพ็ง” มีร้านขายเพชรพลอย ส่วนหนึ่งเป็นกิจการของชาวอินเดียที่เป็นอิสลาม อีกทั้งมุสลิมเชื้อสายปากีสถานและบังคลาเทศ หรือชาวจีนที่เป็นมุสลิมซึ่งอาศัยในพื้นที่อื่นก็มักจะเข้ามาร่วมละหมาดในมัสยิดด้วย (สุนิติ จุฑามาศ, 2561)

ซอยวานิช 1 หรือถนนสำเพ็งอยู่ใกล้กับถนนทรงวาดและวัดสัมพันธวงศ์มาก คำบอกเล่าของดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตเอกอัครราชทูต และผู้เชี่ยวชาญด้านจีน มีผลงานเขียนหนังสือ “จิ้มก้องและกำไรการค้าไทย-จีน 2195-2396” ผู้เคยพักอาศัยในถนนทรงวาดช่วงวัยเด็กประมาณ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2497 เป็นต้นไป บอกเล่าถึงบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย มีชาวจีนและผู้ประกอบการค้ากลุ่มมุสลิม ย่านทรงวาดในยุคนั้นก็เริ่มมีคนจากอีสานที่มาทำงาน ขณะที่แถวท่าน้ำราชวงศ์สามารถพบเห็นชาวซิกข์ และแขกจากอินเดีย ไปจนถึงแถบวังบูรพา

สิ่งที่ยึดโยงความหลากหลายเข้าด้วยกัน คือกิจกรรมทางการค้า

หรือแม้แต่ความคิดเห็นของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่นิยามถึงความหลากหลายในย่านสำเพ็งซึ่งมีทั้งไทย จีน แขก ว่า “ความเป็นไทยที่แท้จริง” อยู่ตรงนี้นี่เอง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2563) คล้ายกับเป็นเครื่องฉายภาพสะท้อนเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทยซึ่งมีมาแต่โบราณนั่นคือความเชื่อมโยงกันระหว่างความหลากหลายท่ามกลางพื้นที่ทางการค้า

อันที่จริงแล้วภาพนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น คำอธิบายที่ช่วยให้เห็นภาพการปฏิสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นปรากฏมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำ ดังเช่นในเอกสาร “Histoire du Royaume de Siam” โดย ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (François-Henri Turpin) ชาวฝรั่งเศสที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยจากพระสังฆราชแห่งตาบรากา ประมุขมิสซังกรุงสยาม และสิ่งที่มิชชันนารีผู้เคยเข้ามาไทยได้จดบันทึกไว้รวบรวมมาเขียนขึ้นเมื่อพ.ศ. 2314 เนื้อหาตอนหนึ่งเอ่ยว่า

“การที่ชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์พากันหลั่งไหลมา เพราะการค้าชักนำให้เข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามนั้น ทำให้เกิดการคมนาคมไปมาอย่างสะดวกและกว้างขวาง…เมื่อมีพ่อค้าทุกชาติมาในพระราชอาณาจักรสยามเช่นนี้ ก็เป็นการง่ายที่ชาวยุโรปจะเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี และภาษาของชนชาติต่างๆ ในภาคตะวันออก…”

หากมองสำเพ็งและทรงวาดในฐานะพื้นที่การค้ายุคบุกเบิกของเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ภูมิประเทศ สภาพเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ ประกอบกับลักษณะทางประชากรที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ดังที่กล่าวมา องค์ประกอบเหล่านี้เป็นตัวตนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่ซึ่งในปัจจุบันอาจเปรียบเสมือนภาพของ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” แต่ในกรณีนี้คือเขตเศรษฐกิจพิเศษในอดีตเมื่อกว่าร้อยปีก่อนและยังคงหลงเหลือร่องรอยเป็นภาพสะท้อนมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

วัดปทุมคงคาราชวรวิหารในปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนทรงวาด เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งในละแวกนี้ที่ไม่ปรากฏข้อมูลความเป็นมาแบบชัดเจน ข้อมูลจากหลายแหล่งบอกคล้ายกันว่าวัดแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บางแห่งระบุช่วงด้วยว่าตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และอธิบายสภาพวัดในช่วงแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ว่าอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและขึ้นครองราชย์ เมื่อพ.ศ. 2325 บริเวณที่โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐี และชาวจีนจำนวนหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชุมชนชาวจีนไปนอกกำแพงพระนคร โดยในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีข้อความระบุถึงชื่อ “วัดสามเพ็ง” ว่า

“ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง…”

คำว่า “สามเพ็ง” เป็นทั้งชื่อคลองและชื่อวัด โดยทั่วไปแล้วคนจะคุ้นกับคำเรียกว่า “วัดสำเพ็ง” มากกว่า
ข้อมูลส่วนใหญ่บอกเล่ากันว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปฏิสังขรณ์วัดใหม่ รัชกาลที่ 1 พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดปทุมคงคา” ภายหลังสมัยรัชกาลที่ 1 วัดแห่งนี้ถูกบูรณะอีกหลายหน

ความเปลี่ยนแปลงของวัดปทุมคงคาฯ เกิดขึ้นหลายประการและหลายมิติ ในแง่ทางกายภาพเชิงพื้นที่ วัดปทุมคงคาในอดีตเคยมีคลองในบริเวณใกล้เคียงเขตวัด การสัญจรทางเรือยังปรากฏให้เห็นในอดีต กระทั่งเมื่อตัดถนนทรงวาดแล้วในช่วงราวพ.ศ. 2450 คลองเขตวัดก็เริ่มลดบทบาทลงเรื่อยๆ และตื้นเขินไป กลายเป็นการสัญจรทางบกได้รับความนิยมมาจนถึงวันนี้

ในหนังสือ “ประวัติวัดปทุมคงคา” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพปริยัติ (อาภารํสีเถระ ดำ ป.ธ.4) อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เมื่อพ.ศ. 2514 เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อตัดถนนทรงวาดแล้วทำให้มีทางเข้าวัดสะดวกขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อก่อนจะตัดถนนทรงวาด หากจะมาวัด ต้องมาทางถนนราชวงศ์ หรือท้องสำเพ็ง ถ้ามาทางถนนเจริญกรุง ต้องเข้าตรอกข้าวหลาม วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) หรือกรมเจ้าท่าแล้วข้ามคลองวัดปทุมคงคาจึงจะเข้ามาถึงวัด นอกจากนี้ ก่อนที่มีถนนทรงวาด ยังมีคลองเขตวัดรอบไปจดคลองผดุงกรุงเกษม

ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับสำเร็จโทษเจ้านายหลายพระองค์นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา วิเคราะห์กันว่าส่วนหนึ่งคือเรื่องที่ตั้งของวัดซึ่งอยู่ห่างไกลออกมาจากกำแพงพระนคร ภายในวัดมีแท่นหินสำเร็จโทษเจ้านายอยู่ โดยส่วนใหญ่แล้วการสำเร็จโทษมักใช้ “ท่อนจันทน์” โดยพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีบันทึกเรื่องการสำเร็จโทษกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) ด้วยท่อนจันทน์ที่แท่นหินประหารเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2391

วัดปทุมคงคายังเป็นจุดที่ลอยพระอังคารของพระบรมศพเจ้านาย ภายหลังจากพระราชพิธีพระบรมศพในสมัยก่อน เมื่อเก็บพระบรมอัฐิแล้ว จะอัญเชิญพระอังคารลงเรือ มีกระบวนแห่มาลอยพระอังคารที่หน้าวัดปทุมคงคา ไม่ใช่แค่ลอยพระอังคารเท่านั้น ในสมัยอยุธยา เมื่อเกิดช้างเผือกล้ม จะมีพิธีแห่ลากช้างเผือกมาถ่วงน้ำที่วัดปทุมคงคาตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร กรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ในช่วงทศวรรษ 2470 วัดปทุมคงคา เป็นที่จำพรรษาของท่านพุทธทาสหรือพระธรรมโกศาจารย์ ท่านเคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการบิณฑบาตโดยเล่าว่า

“…เด็กวัดปทุมคงคาที่ไปอาศัยเรียนทางโลกก็มีคนหลายคนรอบวัดปทุมคงคามีคนหนาแน่น เป็นคนไทยพุทธ ถือพุทธถือศาสนาจัด ๆ ก็แยะ เป็นตระกูลใหญ่ ๆ ตระกูลโบราณหลายตระกูล ตรุษจีนปีใหม่ เณรบางองค์ไปขนมาวันละ 4-5 บาตร คือพอเต็มกลับมาวัดแล้วไปขนมาอีก กว่าจะสิ้นเวลาบิณฑบาตมันได้ตั้ง 4-5 ครั้ง เพราะว่าออกบิณฑบาตตั้งแต่ตี 4 ตี 5 วันนั้น ๆ พระไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้” (อ้างถึงใน อริยพร คุโรดะ, 2559)

ทั้งนี้ หากมองภาพกว้างของจุดที่ตั้งวัดปทุมคงคา วัดตั้งอยู่ในย่านชุมชนชาวจีน แน่นอนว่าเป็นย่านการค้า หนังสือ “ประวัติวัดปทุมคงคา” เมื่อปีพ.ศ. 2514 ยังระบุว่า พื้นที่ของวัดส่วนหนึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ โดยกำหนดเป็น “เขตจัดผลประโยชน์”

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า วัดเริ่มจัดเก็บค่าเช่าในสมัยพระเทพปริยัติ (อาภารํสีเถระ ดำ ป.ธ.๔) (อริยพร คุโรดะ, 2559) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาระหว่าง พ.ศ. 2476-2513

จากข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กับย่านการค้า (ที่มีลักษณะเป็นชุมชนชาวจีน) พบการปลูกสร้างห้องแถวรอบวัด และมีส่วนหนึ่งถูกอธิบายโดยใช้คำว่า “อาคารเชิงพาณิชย์” มีเก็บค่าเช่า ภายหลังยังมีบริการให้เช่าที่จอดรถในบริเวณวัดรองรับผู้คนที่มาติดต่อค้าขายในย่านเยาวราชซึ่งต้องการจุดจอดรถ

รายได้เหล่านี้สามารถนำมาช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาและช่วยด้านรายจ่ายต่าง ๆ ภายในวัด (อริยพร คุโรดะ, 2559) กล่าวได้ว่า กรณีของวัดปทุมคงคาสะท้อนว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ศาสนสถานกับชุมชนโดยรอบล้วนส่งผลเชื่อมโยงกันท่ามกลางความหลากหลายทางสังคมในพื้นที่ มีทั้งชุมชนชาวจีน และกลุ่ม “ไทยพุทธ”

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

อีกหนึ่งวัดโบราณในบริเวณสำเพ็งที่ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ผู้สร้างและเวลาที่สร้างอย่างชัดเจน เอกสารหลายชิ้นมักยึดกับข้อมูลคำบอกเล่าว่า วัดนี้มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีนใต้” (ประวัติวัดไตรมิตรวิทยาราม, ม.ป.ป.) หรือบางแห่งระบุว่า “วัดสามจีน” และมีเรื่องเล่าถึงที่มาของชื่อ “วัดสามจีน” ว่ามาจากชาวจีน 3 คนช่วยกันสร้าง

เกี่ยวกับเรื่องชาวจีน 3 คนนี้ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเป็นท่านใดบ้าง สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นญาติกันหรือไม่ก็ได้ แต่อย่างน้อยคงต้องสนิทสนมกันระดับหนึ่งถึงจะร่วมสร้างพระอารามกันได้ ข้อมูลบางแหล่งมีบ่งบอกตัวตนชาวจีนทั้ง 3 ท่านว่าเป็นพ่อค้าชื่อ เจ้าสัวหยง (ย้ง), เจ้าสัวเนียม (เนี้ยว) และเจ้าสัวเพ็ง (เพ้ง) (เจริญ ตันมหาพราน, 2548 และเฉลิมศักดิ์ รามโกมุท อ้างถึงใน จิรัฐกาล พงษ์ภคเธียร) แต่จากการสืบค้นแล้วยังไม่พบแหล่งอื่นที่อธิบายถึงตัวตนของชาวจีนทั้ง 3 ท่านเพิ่มเติม

ไม่ว่าผู้สร้างแรกเริ่มแท้จริงแล้วจะเป็นพ่อค้าชาวจีน 3 ท่าน หรือเป็นญาติกันจริงหรือไม่ ภายหลังปรากฏว่า เมื่อ พ.ศ. 2482 วัดเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไตรมิตรวิทยาราม”

คำถามอีกประการหนึ่งคือเรื่องช่วงเวลาที่ก่อสร้างวัดขึ้น ข้อมูลด้านนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นการสันนิษฐานจากหลักฐานแวดล้อม และคาดการณ์ขึ้นมา เอกสาร “จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” เมื่อพ.ศ. 2525 ระบุข้อมูลโดย “อนุมาน” ว่าสร้างมาประมาณ 150 ปีเศษ หากบวกปีตามเวลายุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) เข้าไปด้วยจะกลายเป็นประมาณ 189 ปีเศษ คำนวณแล้วย้อนกลับไปได้ราว พ.ศ. 2375 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3

ขณะที่ ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ไว้ว่า วัดสามจีนใต้เป็นศูนย์กลางของชุมชนมานาน อย่างน้อยย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 อ้างอิงจากหลักฐานเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมของ “พระอุโบสถหลังเดิม” ซึ่งเป็นแบบไทยผสมจีนสมัยปลายรัชกาลนั้น

ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง อธิบายว่า พระอุโบสถหลังเดิมเป็นแบบไทยผสมจีนสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ในพระอุโบสถมีพระพุทธทศพลญาณ พระประธานซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามเลื่องลือจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเคยเสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง

เมื่อเวลาผ่านไป สมัยรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานว่า สภาพของวัดทรุดโทรมลง เรื่องนี้ปรากฏในเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงสุขลักษณะวัดสามจีนใต้ เมื่อ 3 มิถุนายน 2478 ซึ่งเล่าถึงสภาพที่คณะกรรมการได้พบเห็นระหว่างการตรวจดูสถานที่ บางบริเวณเช่นพื้นที่ซึ่งวัดให้ผู้เช่าตัดตอนไปปลูกห้องแถวชั้นเดียว ห้องแถวแออัด ชำรุดทรุดโทรม ไม่ถูกสุขลักษณะ

หลังจากนั้นจึงดำเนินการปรับปรุงบริเวณวัด สร้างกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญในปี พ.ศ. 2480 การสร้างเมรุถาวรในปี พ.ศ. 2482 และการสร้างพระอุโบสถใหม่ในปี พ.ศ. 2490 (ประวัติวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร, 2539)

ในช่วงการปรับปรุงมีเหตุการณ์น่าสนใจประการหนึ่งคือเรื่อง “หลวงพ่อทองคำ” ที่เดิมทีเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นจากวัดพระยาไกร บริเวณถนนตก วัดแห่งนี้ร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเมื่อปี พ.ศ. 2478 คณะกรรมการปรับปรุงวัดสามจีนใต้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มา คณะกรรมการวัดประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ในเพิงสังกะสีชั่วคราว รอประดิษฐานในวิหารที่จะสร้างขึ้นต่อไป

กว่าที่วิหารจะสร้างแล้วเสร็จก็ผ่านไปจนถึงปี พ.ศ. 2498 แล้ว เมื่อวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมากลับเกิดเหตุปูนที่พระอุระกะเทาะออก เห็นเป็นเนื้อทองภายใน หลังจากกะเทาะปูนออกทั้งองค์ ปรากฏเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัย ทำด้วย “ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา” ทั้งองค์ (พีรศรี โพวาทอง, 2550) ประเมินมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำในขณะนั้น (พ.ศ. 2498) แตะหลัก 294 ล้านบาท (น้ำหนักทองคำ 25,000 ปอนด์)

ชื่อเสียงของพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (กินเนสส์บุ๊ค ฉบับ ค.ศ. 1991/พ.ศ. 2534) ซึ่งได้นามว่าพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เริ่มแพร่หลายไปไกล วัดสามจีนใต้ (เปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรฯ เมื่อพ.ศ. 2482) จึงกลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสนใจเข้าชมมากที่สุดอีกแห่งในกรุงเทพฯ

ระยะทางจากถนนทรงวาดไปวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารประมาณ 1 กิโลเมตร ถือว่าไม่ไกลกันมาก เป็นเรื่องบังเอิญทีเดียวที่พระพุทธรูปทองคำมาประดิษฐานในวัดใกล้กับย่านเยาวราช แหล่ง(การค้า)ทองคำขนาดใหญ่อีกที่ในไทย นั่นทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา

กล่าวได้ว่า ผู้มีจุดหมายมาที่สำเพ็ง ที่หมายแรกของพวกเขามักขึ้นต้นด้วยวัดไตรมิตรฯ ขณะเดียวกัน วัดก็เป็นแหล่งที่พึ่งทางใจของชาวจีนย่านสำเพ็ง มักพบเห็นชาวจีนมาสะเดาะเคราะห์ ขอโชคลาภให้ค้าขายรุ่งเรือง ล้วนเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ในมิติวิถีชีวิตของผู้คน การค้า และความเชื่อทางศาสนา

ภาพแผนที่โดยคร่าวของถนนทรงวาด จะเห็นจุดที่ตั้งของศาสนสถานต่าง ๆ ในละแวกนั้น ขณะที่โอสถศาลาที่ “หมอบรัดเลย์” ตั้งนั้นบันทึกหลายแห่งบอกแค่ว่า ตั้งอยู่ข้างวัดเกาะ

“วัดเกาะ” ในอดีตมีคลองล้อมรอบต่างจากพื้นที่ในปัจจุบัน จึงคาดว่าน่าจะอยู่ในบริเวณแถบริมแม่น้ำเจ้าพระยา

หน้าปกหนังสือ “แก้วหน้าม้า” จากโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ

หน้าปกหนังสือ “แก้วหน้าม้า” พิมพ์โดยโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ โรงพิมพ์ย่านวัดเกาะที่โด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในหนังสือยุค “วรรณกรรมวัดเกาะ” ที่ทรงคุณค่าในหลายแง่มุม

สำหรับ “แก้วหน้าม้า” เล่มนี้คาดว่าพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2492-2500 ไฟล์ภาพหน้าปกจากระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/)

 

 

 

อ้างอิง

ขนบพร วัฒนสุขชัย. “ร้านขายยาเจ้ากรมเป๋อ,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

คณะอนุกรรมการประมวลเอกสาร โครงการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ และคณะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548

จิรัฐกาล พงษ์ภคเธียร. “วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

เฉลิมศักดิ์ รามโกมุท. เกิดกลางกรุง (ชุดถนนหนทาง). กรุงเทฯ : อมรินทร์พรินติ้ง, 2537.

ถาวร สิกขโกศล. “ปุนเถ้าก๋ง เทพผู้คุ้มครองชุมชนจีนโพ้นทะเล, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2562.

ธนินท์ เจียรวนนท์. ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 55 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงรุจิ ศรีวรรณวัฑฒ์. พระนคร : โรงพิมพ์เทียนทองวัฒนา, 2512.

ประวัติวัดไตรมิตรวิทยาราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ม.ป.ป.

ประวัติวัดปทุมคงคา. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพปริยัติ (อาภารํสีเถระ ดำ ป.ธ.4) อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ณ เมรุวัดปทุมคงคา พระนคร 21 พฤศจิกายน 2514. โรงพิมพ์การศาสนา.

ไพฑูรย์ บรรลือทรัพย์. “วัดร้างกับปริศนาพระพุทธรูปทองคำ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2542.

พรพรรณ จันทโรนานนท์. วิถีจีน. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2546. อ้างถึงใน อมราภรณ์ หมีปาน. “ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง”.

พีรศรี โพวาทอง. “เมรุถาวรวัดไตรมิตรฯ : หน้าหนึ่งที่หายไปของ ‘วิชาผูกแบบ,’ ” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550.

ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง. ปอล ซาเวียร์ แปล. ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2539.

วราภรณ์ แย้มทิม. “วัดสัมพันธวงศาราม,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

ศุภกาญจน์ สุจริต. “คติความเชื่อและรูปแบบเทพเจ้า ‘ปุนเถ้ากง’ ของชาวจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ : กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2559.

ศิริพงษ์ เพียศิริ. “วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

วิษณุ ทรัพย์สมบัติ. “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก, ” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2555.

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.

อมราภรณ์ หมีปาน. “ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

อริยพร คุโรดะ. “วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง),” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

เว็บไซต์

“ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องวัดสัมพันธวงศ์ เปิดปูมหนังสือวัดเกาะ เขย่าวรรณกรรมกระแสหลัก”. มติชนออนไลน์. เว็บไซต์. เผยแพร่เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2563. เข้าถึงเมื่อ 29 กันยายน 2564. < https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_2438639 >

ชรัตน์ สิงหเดชากุล. (2563, 30 มีนาคม) “การแพทย์ไทยสมัยโบราณ”. [Status Update]. Facebook. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2886149994766917&id=346438995404709

สุนิติ จุฑามาศ. “มัสยิดหลวงโกชา, ” ใน Read The Cloud. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561. เข้าถึงเมื่อ 29 กันยายน 2564. < https://readthecloud.co/luang-kocha-itsahak-mosque/>

“ ‘หลวงโกชาอิศหาก’ มัสยิดหนึ่งเดียวในชุมชนจีนย่านสำเพ็งมาจากไหน?, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 2 ธันวาคม 2563. เข้าถึงเมื่อ 29 กันยายน 2564. < https://www.silpa-mag.com/songwad-century/article_58944>

สัมภาษณ์

เจริญ ตันมหาพราน. 6 มีนาคม 2548. อ้างถึงใน จิรัฐกาล พงษ์ภคเธียร. “วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

ดร. สารสิน วีระผล. 20 กันยายน 2564.

พระครูปลัดสัมพิพัฒน์วิทยจารย์. 28 ธันวาคม พ.ศ. 2547 อ้างถึงใน วราภรณ์ แย้มทิม. “วัดสัมพันธวงศาราม”.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2564