ทำไม “ถนนทรงวาด” กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกิจการ-นักธุรกิจในยุคบุกเบิก

ย้อนรอย ถนนทรงวาด ที่ตั้งสถานศึกษาซึ่งผลิตเจ้าสัวมากสุดในไทย แหล่งบ่มเพาะนักธุรกิจ กิจการท้องถิ่น สู่ธุรกิจที่พัฒนาเป็นบริษัทระดับนานาชาติ

สำหรับผู้สนใจทำธุรกิจ ในยุคนี้มีแหล่งข้อมูลให้ศึกษาเรียนรู้และฝึกฝนทักษะมากมาย มีคอร์สเรียน มีสถาบันการศึกษา และอีกหลายช่องทางให้เลือก แต่ในอดีต ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เข้าถึงกันง่าย ๆ

การศึกษาเรียนรู้เรื่องธุรกิจการค้าในอดีตยังอยู่ภายในพื้นที่เฉพาะ ต้องเข้าไปถึงแหล่ง ไปสัมผัส ไปเรียนรู้และซึมซับด้วยตัวเอง ยังไม่นับปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ และหากพูดถึงศูนย์กลางการค้าในอดีตยุคบุกเบิกในไทยที่มีบทบาทสำคัญต่อผู้คนมากมาย “ถนนทรงวาด” ในย่านสำเพ็งย่อมติดอยู่ในรายชื่อด้วย

บรรยากาศของ “ถนนทรงวาด” ศูนย์กลางการค้าในยุคบุกเบิกของไทยในอดีตมีกิจการห้างร้านหลากหลายประเภทดำเนินการอย่างคึกคัก มีการคมนาคมขนส่งสินค้าที่ครบครันทั้งทางบกและทางน้ำ และยังเป็นแหล่งชุมชนประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันผ่านสายสัมพันธ์ทางการค้า น่าเหลือเชื่อว่า ถนนที่มีความยาวแค่ 1.2 กิโลเมตร ยังมีความสำคัญในด้านอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้อีก

บนถนนทรงวาดมีสถาบันการศึกษาซึ่งกล่าวกันว่า เป็นแหล่งให้การศึกษาแก่เศรษฐีระดับเจ้าสัวมากเป็นอันดับต้น ๆ ในไทย หลายคนอาจไม่ทราบว่านักธุรกิจระดับมหาเศรษฐีหลายท่านเข้าศึกษาในโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่บนถนนเส้นเล็ก ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้เอง

ซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” ตอนที่ 4 จะพาไปสำรวจ “แหล่งบ่มเพาะทางธุรกิจ” บนถนนทรงวาดจากแง่มุมทางพื้นที่ สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา

ติดตามซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” จากศิลปวัฒนธรรม และช่องทางต่างๆ ในเครือมติชน เผยแพร่เดือนละ 2 ตอน ในวันศุกร์ (ศุกร์เว้นศุกร์) เวลา 19.00 น.

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

แต่ละประเทศล้วนมีย่านธุรกิจการค้า เขตเศรษฐกิจของตัวเอง แน่นอนว่าแต่ละแห่งมีภูมิหลังความเป็นมาแตกต่างกันไปตามประวัติศาสตร์และบริบทหลากหลายมิติตามยุคสมัยนั้น สำหรับประเทศไทย ย่านธุรกิจการค้าในปัจจุบันอาจเป็นภาพของสีลม สาทร หากย้อนอดีตไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ย่านการค้ายุคบุกเบิกเริ่มต้นจากสำเพ็ง ก่อนจะเริ่มตัดถนนทรงวาดในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้

การก่อตัวของ “ย่านการค้า” ยุคแรกในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มต้นจากเหตุการณ์เมื่อพ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังในช่วงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี แต่บริเวณที่จะสร้าง พื้นที่เดิมในเวลานั้นมีชาวจีนจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่
พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ชุมชนชาวจีนย้ายมาอยู่นอกกำแพงพระนคร บริเวณที่ให้ชาวจีนย้ายมาอยู่นั้น เรียกกันว่า “สำเพ็ง” นั่นเอง ชาวจีนที่ย้ายมาก็มาสร้างที่พักอาศัยและใช้สำหรับค้าขายไปด้วย พื้นที่บริเวณนั้นพัฒนาขึ้นตามลำดับ ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนประชากรของชาวจีนที่เคลื่อนย้ายเข้ามามากขึ้น

เหตุการณ์ที่ทำให้สำเพ็งเปลี่ยนแปลงอีกครั้งคืออัคคีภัยครั้งใหญ่ในสำเพ็งเมื่อ พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปรับปรุงสำเพ็งที่มีสภาพแออัด บ้านเรือนตั้งชิดกันด้วยการตัดถนน และจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่ จึงเกิดการตัด “ถนนทรงวาด” ขึ้น

เดิมทีแล้ว “ถนนทรงวาด” เป็นส่วนหนึ่งของสำเพ็ง เมื่อเกิดถนนทรงวาดขึ้น บริเวณนี้มีปัจจัยเอื้อต่อการค้าหลายประการ อาทิ ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา สะดวกต่อการคมนาคมขนส่งทางเรืออย่างมาก กิจการการค้าหลายแห่งมาตั้งที่ทำการบนถนนทางวาด กลายเป็นศูนย์กลางการค้า นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอีกหลายชนิด เมื่อมาถึงยุคการคมนาคมทางบกและทางรางพัฒนาขึ้น ถนนทรงวาดจึงเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองในช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว

กิจการห้างร้าน ธุรกิจต่างๆ ในละแวกถนนทรงวาด หลายแห่งสามารถพัฒนามาสู่บริษัทเติบใหญ่ระดับประเทศจนถึงระดับนานาชาติได้ และยังมีกิจการเก่าแก่บางแห่งเปิดร้านจนถึงปัจจุบัน

ด้วยลักษณะทางสังคมในอดีตที่สายสัมพันธ์และการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ จึงมักปรากฏผู้นำชุมชนซึ่งมากด้วยทรัพย์สินและบารมี เป็นที่เคารพในกลุ่มเดียวกันเข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชน ดังนั้น จึงพบเห็นนักธุรกิจและผู้มากบารมีทั้งชาวจีน และเชื้อชาติต่าง ๆ มีบทบาทในย่านนี้มากมาย ตัวอย่างหนึ่งคือ การสร้างและบูรณะศาสนสถานไปจนถึงสถาบันการศึกษาเก่าแก่อย่าง “โรงเรียนเผยอิง” ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่มีมหาเศรษฐีระดับเจ้าสัวในไทยเข้ารับการศึกษามากที่สุดแห่งหนึ่ง

ภาพวาด อาคารบนถนนทรงวาด

ปัจจัยแวดล้อมภายในและภายนอก

บริเวณสำเพ็งซึ่งรวมถึงถนนทรงวาดด้วย มักถูกจดจำในภาพย่านการค้าและชุมชนชาวจีน แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ละแวกนั้นมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยภายในบริเวณนั้น นอกเหนือจากชาวจีนแล้วยังมีกลุ่มมุสลิมจากหลากหลายพื้นที่ และชาวไทยปะปนกัน แต่ปฏิเสธได้ยากว่า บทบาทที่เด่นชัดในแง่มุมทางการค้า ข้อมูลส่วนใหญ่ล้วนบ่งชี้ไปถึงกลุ่มชาวจีน

สภาพแวดล้อมด้านการค้าของไทยในอดีตปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยภาพรวมแล้ว ช่วงอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ. 2173-2231) เป็นการค้าผูกขาดใต้ระบบพระคลังสินค้า เมื่อมาถึงปลายสมัยอยุธยา (พ.ศ. 2231 – 2310) การค้ากับต่างประเทศอยู่ในมือของขุนนางท้องถิ่นและพ่อค้าจีน (นันทนา กปิลกาญจน์, 2532)

ภายหลังจากชุมชนชาวจีนย้ายมาตั้งรกรากในบริเวณสำเพ็งเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ชุมชนชาวจีนทำการค้าก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในพื้นที่ตามลำดับ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนที่สนธิสัญญาเบาวร์ริงเมื่อ พ.ศ. 2398 จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจการค้าในไทย ลักษณะทางการค้าช่วงนั้นในแง่การค้ากับต่างประเทศยังมีโครงสร้างและรูปแบบการค้าลักษณะใกล้เคียงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ล้วนผูกสัมพันธ์กับขุนนางไทย

เมื่อมาถึงช่วงการค้าเฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 3 สืบเนื่องต่อมาจนถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเกิดสนธิสัญญาเบาว์ริง ส่งผลทำให้เกิดการค้าเสรี ผลที่ตามมาคือมีผู้อพยพ(ชาวจีน)เข้ามาทำการค้าสร้างเนื้อสร้างตัวมากขึ้นตามไปด้วย

ช่วงหลังจากนี้เป็นต้นไปจึงมักปรากฏชื่อพ่อค้าชาวจีนที่มีสถานะมั่งคั่งมีบทบาททางการค้า เศรษฐกิจ และที่ปฏิเสธไม่ได้คืออิทธิพลทางสังคมของคนกลุ่มนี้ที่มีต่อชุมชนโดยรวมก็เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าสภาพการค้าเปิดเสรีจากผลของสนธิสัญญาเบาว์ริง แต่หากกล่าวอย่างครอบคลุมแล้ว กลุ่มคนที่มีบทบาทหรืออิทธิพลทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกเหนือจากพ่อค้าชาวจีน ก็คือกลุ่มขุนนางไทยด้วย

จี วิลเลียม สกินเนอร์ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องชาวจีนในไทยวิเคราะห์ไว้ว่า คนไทยในอดีตทำงานด้านเกษตร รับราชการ และทำงานส่วนตัวเป็นอันดับต้นๆ ส่วนผู้อพยพชาวจีนและลูกหลานของชาวจีนทำงานด้านการค้าทุกประเภท ทำอุตสาหกรรม ทำงานด้านการเงิน เหมือง และงานทั่วไปที่ได้รับค่าจ้าง

จริงอยู่ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับชาวจีนจำนวนมากที่ค้าขายประสบความสำเร็จ เมื่อมีฐานะแล้ว บางทีก็ไปถึงเป็นเจ้าภาษีนายอากร แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเลื่อนสถานะทางการเงินขึ้นเป็นผู้มั่งคั่งได้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว จี วิลเลียม สกินเนอร์ อธิบายว่า ในช่วงพ.ศ. 2423-2453 ปรากฏการเลื่อนสถานะทางสังคมในสังคมจีนในไทยสูงมาก

ห้วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังยุครุ่งเรืองทางการค้ากับต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 3 และต่อเนื่องมาด้วยการเปิดเสรีทางการค้าอันเป็นผลจากสนธิสัญญาเบาว์ริงที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2398 ประกอบกับอิทธิพลของเรือกลไฟที่ขนส่งชาวจีนมากขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2408-2429 มีบทบาททั้งการขนส่งบุคคลและสินค้า ข้าวของไทยได้เรือกลไฟขนส่งสู่ตลาดโลก โดยมีสำเพ็งเป็นเครือข่ายค้าข้าวขนาดใหญ่ ปรากฏบริษัทการค้าตั้งอยู่ในละแวกสำเพ็งอันมีท่าเรือราชวงศ์ และท่าน้ำสำเพ็ง พื้นที่ซึ่งจะเป็นถนนทรงวาดในเวลาต่อมา

ผู้อพยพที่เข้ามาไทยบางรายไม่ได้มีทรัพย์สินติดตัวเพียบพร้อมกันทุกคน แต่ด้วยลักษณะของชาวจีนที่ขยันและมุ่งมั่น ประกอบกับสภาพทางสังคมของชาวจีนที่มักช่วยเหลือญาติพี่น้องหรือผู้ที่เห็นว่ามาจากภูมิลำเนาละแวกเดียวกัน อย่างน้อยก็ต้องช่วยให้มีงานทำมาหาเลี้ยงชีพในเบื้องต้นก่อน

เมื่อได้ทำงานก็ถือเป็นการสั่งสมบ่มเพาะทักษะและประสบการณ์ ทันทีที่สามารถตั้งตัวทางการเงินได้แล้ว ก็มีโอกาสก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากปัจจัยที่เหมาะสมเรื่องเครือข่ายความสัมพันธ์ในหมู่ชาวจีนกันเองและชาวจีนกับขุนนาง เหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ชาวจีนหลายรายประสบความสำเร็จทางการค้าในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับชุมชนหรือสังคมอื่นๆ เมื่อมีชาวจีนที่ประสบความสำเร็จทางการค้าเกิดขึ้น พวกเขาก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ผนึกกำลังทางธุรกิจรับมือกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่ถาโถมเข้ามา ดังเช่น กรณีของ “ยี่กอฮง” (พระอนุวัติราชนิยม) ชาวจีนที่ถือกำเนิดในครอบครัวจีนอพยพและสามารถยกระดับฐานะตัวเองมาเป็นผู้นำชุมชนหรือหัวหน้าสมาคมชาวจีน (ซึ่งต้องมั่งมีทั้งทรัพย์สิน อำนาจ และบารมี คอยช่วยเหลือคนในชุมชนได้) นำพ่อค้าชาวจีนมารวมตัวกันก่อตั้งบริษัทเรือเมล์จีนสยาม เพื่อรับมือการผูกขาดการขนส่งทางเรือของชาวตะวันตก

ยังมีตัวอย่างอื่นอีกจากที่ จี วิลเลียม สกินเนอร์ ยกข้อมูลตัวอย่างกรณีเฉิน ฉือหง หนุ่มชาวแต้จิ๋วมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณ พ.ศ. 2408 ช่วงที่มาถึงมีอายุ 20 ปี ไม่มีทรัพย์สินติดตัว เมื่อทำงานจนมีประสบการณ์พอ สามารถเปิดบริษัทการค้าของตัวเอง และตั้งโรงสีโรงแรกเมื่อ พ.ศ. 2417 ในช่วงวัยชราก็ปลดเกษียณกลับไปอยู่ซัวเถา (จี วิลเลียม สกินเนอร์, 2548)

หรือกรณีของจางติง ผู้ก่อตั้งบริษัทจิ้นเฉิงหลี (กิมเซ่งหลี) มีข้อมูลว่าเขามาจากเฉาอัน (บ้างก็ว่าเป็นชาวจีนแต้จิ๋วจากกวางตุ้ง) เป็นหนี้ค่าเดินทางด้วยซ้ำ กระทั่งตั้งตัวได้จึงทำร้านส่งออกสินค้าเล็ก ๆ และได้แต่งงานกับหญิงสาวมีตระกูลทางเหนือของสยาม หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้รับสัมปทานป่าไม้สัก เป็นผู้เช่าช่วงบ่อนการพนัน โรงกลั่นสุรา และมีโรงสีในช่วงประมาณทศวรรษ 2440-2450 (ประมาณทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20)

สำหรับกรณีของพื้นที่บริเวณถนนทรงวาด มีลักษณะของชุมชนชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยลักษณะทางสังคมดังที่กล่าวมาแล้ว ประกอบกับปัจจัยเกื้อหนุนด้านพื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับการค้าขายนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้สะดวก มีชาวจีนก่อตั้งกิจการมากมาย กิจการที่ยังปรากฏหลงเหลือมาก็มีไม่น้อย

กรณีที่ชัดเจนอีกตัวอย่างคือกิจการเจียไต๋ ซึ่งภายหลังขยายออกมาเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ตามที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน เจียไต๋เริ่มต้นกิจการเมื่อ พ.ศ. 2464 เริ่มจากร้านขายเมล็ดพันธุ์ มีเจี่ย เอ็กชอ และน้องชายคือเจี่ย จิ้นเฮี้ยง หรือชื่อไทยว่า ชนม์เจริญ เจียรวนนท์ ร่วมกันบุกเบิก โดยเจี่ย เอ็กชอ ก็คือบิดาของธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้ในหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ว่า ตัวเขาเองกำเนิดในชั้น 3 ของอาคารแห่งหนึ่งย่านถนนทรงวาด ตัวอาคารมีป้ายติดด้านหน้าที่เขียนไว้ว่า “เจียไต๋จึง” (อ่านออกเสียงว่า “เจียไต้จึง”) ซึ่งก็คือกิจการขายเมล็ดพันธุ์ที่เจี่ย เอ็กชอ และเจี่ย จิ้นเฮี้ยง ร่วมกันบุกเบิก ภายหลังก็ปรากฏเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ประกอบกิจการหลากหลายประเภทในเวลาต่อมา จึงกล่าวได้ว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ คืออีกหนึ่งนักธุรกิจสัญชาติไทยที่มีรากฐานมาจากตระกูลคนเชื้อสายจีนซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในไทยช่วงทศวรรษ 2460

บนถนนทรงวาดยังเป็นจุดกำเนิดของกิจการแป้งมันสำปะหลังที่คนไทยรู้จักกันดีอีกแห่งคือกิจการของตระกูลกาญจนชูศักดิ์ กิจการแรกเริ่มก่อตั้งโดยนายฮั่งตง แซ่เอี๊ยบ เริ่มต้นเปิดเป็นร้านค้าโดยใช้ห้องแถวสองห้องในย่านทรงวาดค้าขายสินค้าการเกษตร ภายหลังพัฒนาไปสู่การค้าส่งออกในประเทศใกล้เคียง

ไม่ใช่แค่ชุมชนชาวจีน ย่านถนนทรงวาดมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือด้านความหลากหลายทางเชื้อชาติ ปรากฏชุมชนเชื้อชาติอื่น ๆ อยู่ในย่านใกล้เคียงด้วย มีทั้งที่เป็นชาวซิกข์ หรือชาวอินเดียที่เป็นชาวมุสลิมจากรัฐคุชราตอยู่ในบริเวณถนนเจริญกรุง

ในซอยวานิช 1 หรือถนนสำเพ็ง มีกิจการห้างร้านส่วนหนึ่งเป็นกิจการของชาวอินเดียที่เป็นอิสลาม อีกทั้งมุสลิมเชื้อสายปากีสถานและบังกลาเทศ (สุนิติ จุฑามาศ, 2561) ลักษณะของกิจการเป็นกลุ่มค้าขายเพชรพลอยและอัญมณี ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ล้วนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ กลุ่มที่ขายผ้าในแถบพาหุรัด ห่างจากถนนทรงวาดไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร หรือค้าขายนำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทต่าง ๆ

ทั้งนี้ นักวิชาการบางรายมองว่า ชุมชน “แขก” ขยายมาตั้งห้างร้านในฝั่งพาหุรัดเมื่อโครงสร้างการคมนาคมในกรุงเทพฯ ถูกพัฒนา โดยเฉพาะช่วงที่การเดินทางบกด้วยถนนพัฒนามากขึ้นนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, 2562) ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับช่วงที่ถนนทรงวาดก่อกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงที่เกิดการตัดถนนขึ้นหลายสาย ภายหลังเกิดเพลิงไหม้สำเพ็งครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2449

จากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการการค้าช่วงต้นรัตนโกสินทร์ของไทย มีข้อสังเกตว่า หลังทศวรรษ 2400 เป็นต้นมา กิจการการค้าและพ่อค้าที่มีสถานะทางการเงินมั่งคั่งเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ หากประกอบข้อมูลแวดล้อมหลากหลายมิติซึ่งซีรีส์ ทรงวาดศตวรรษ” นำเสนอใน 3 ตอนก่อนหน้านี้ว่า ภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้การค้าเปิดเสรีมากขึ้น ผนวกกับปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ ลักษณะของ “เมืองท่า” ในอดีตที่มีแม่น้ำสายใหญ่ผ่าน เอื้อต่อการคมนาคมทางน้ำ ขณะที่พื้นที่สำเพ็งในฐานะย่านการค้าซึ่งถือกำเนิดภายหลังรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ก็มีพื้นที่ส่วนหนึ่งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เมื่อการคมนาคมทางเรือพัฒนามาสู่ยุคเรือกลไฟ ยิ่งขับดันบรรยากาศทางการค้าและการเดินทางไปมาหาสู่ให้คึกคัก

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้

ในด้านสังคมภายในพื้นที่เอง ดังที่กล่าวแล้วว่า สังคมชาวจีนมีลักษณะเกื้อหนุนกันในหมู่ชน ประกอบกับสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับขุนนางไทย เมื่อแรงงานที่เข้ามาหาเลี้ยงชีพในไทยสามารถตั้งตัวได้และมีประสบการณ์มากพอก็อาศัยโอกาสและปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ก่อร่างสร้างตัว หลายคนยกระดับสถานะทางสังคมและการเงินขึ้นมาเป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก

บรรดาพ่อค้าและผู้มีฐานะมักแสดงน้ำใจและช่วยเหลือสังคม จึงมักเห็นกิจการเป็นร่องรอยจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น คณะเก็บศพไต้ฮงกง (กลายเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในภายหลัง) เริ่มจากพ่อค้าชาวจีน 12 รายรวมตัวกัน เรี่ยไรจัดตั้งคณะเก็บศพไม่มีญาติเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์เมื่อราว พ.ศ. 2452 และโรงเรียนเผยอิง ที่ก่อตั้งเมื่อพ.ศ. 2459 โดยทั้งสองกิจกรรมนี้มีข้อมูลบอกเล่ากันว่า “ยี่กอฮง” ล้วนมีบทบาทร่วมดำเนินการจัดตั้งด้วย

หากมองในบริบทเชิงพื้นที่ ความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าในย่านทรงวาดเสมือนเป็นปัจจัยหนึ่งในการบ่มเพาะทางธุรกิจ ทำให้กิจการหลายแห่งที่ตั้งตัวขึ้นในละแวกนั้นสามารถก่อร่างสร้างตัวพัฒนาจากกิจการในห้องแถวกลายมาเป็นบริษัทเติบใหญ่ บางแห่งดำเนินการค้าระดับประเทศ บางแห่งขยายไปสู่ระดับนานาชาติจนถึงวันนี้

กิจการหนึ่งซึ่งผู้คนจดจำกันได้ว่าเริ่มต้นมาจากห้องแถวบนถนนทรงสวัสดิ์ ย่านถนนทรงวาด ก็คือกิจการเจียไต๋ ซึ่งมีเจี่ย เอ็กชอ และ เจี่ย จิ้นเฮี้ยง ร่วมก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2464 โดยเริ่มต้นจากเช่าที่ของวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและร้านค้าขายเมล็ดพันธุ์

แม้ว่ากลุ่มคนจีนในยุคนั้น บางรายจะมีทุนจำกัด แต่ด้วยทักษะการค้าขายที่เฉลียวฉลาด และการเก็บออมกลับเป็นจุดเด่นของคนจีนบางกลุ่ม โดยเรื่องนี้เป็นชื่อเสียงของชาวจีนแต้จิ๋วเสมอมา ในหนังสือ “เรื่องเล่าของอาม่า” ซึ่งบอกเล่าความเป็นมาของตระกูลเจียรวนนท์ ส่วนหนึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับ “อาม่า” สตรีท่านหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของตระกูลเจียรวนนท์ไว้ด้วย โดย “อาม่า” ในหนังสือ มีอ้างถึงชื่อไทยไว้ว่า “คุณแม่ เจียร เจียรวนนท์” อาม่าท่านนี้คือภรรยาของ “เจี่ย เซี่ยวฮุย” (เจี่ย จิ้นเฮี้ยง) หนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกกิจการ “เจียไต๋” ในไทย

ส่วนหนึ่งในหนังสือเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ช่วงบุกเบิกกิจการในไทยไว้ว่า เจียไต๋ ยุคแรกมีสมาชิก 2 ครอบครัวช่วยกันคือ เจี่ย เอ็กชอ (บิดาของธนินท์ เจียรวนนท์) และเจี่ย จิ้นเฮี้ยง กิจการมีญาติมาช่วยกันทำ มีลูกจ้างไม่กี่คนเท่านั้น เจี่ย เอ็กชอ เดินทางไปติดต่อเดินเรื่องเมล็ดพันธุ์และหาตลาดในต่างประเทศ ส่วนเจี่ย จิ้นเฮี้ยง ดูแลงานหน้าร้านและขยายกิจการในเมืองไทย

ในหนังสือเล่าไว้ว่า ลูกหลานในครอบครัวล้วนต้องช่วยกันทำงาน หลังจากลูกหลานวัยเด็กในบ้านไปเรียนที่โรงเรียนเผยอิง (จะเล่าถึงความเป็นมาของเผยอิงในเนื้อหาประกอบภาพต่อไป) เมื่อกลับมาจากโรงเรียน ทำการบ้านเสร็จ ราว 1 ทุ่ม หลังกินข้าวแล้ว สมาชิกทั้งหมดจะนั่งล้อมวงช่วยกันบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงซอง

ทัศนีย์ พุ่งกุมาร ลูกสาวของ “อาม่า” เล่าไว้ว่า “ตอนนั้นที่อยู่ช่วยกันในเจียไต๋ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวด้วยกัน กลางคืนก็มาช่วยกันใส่ซองเมล็ดพันธุ์ผัก เด็กๆ นั่งรวมกลุ่มกัน อาม่าตัดซองเมล็ดพันธุ์ผัก อาม่ากิมกี่ คุณแม่ธนินท์ อาอี๊น้องสาวคุณแม่คุณธนินท์ก็ทำกัน คุณหญิงเอื้อปรานีตอนนั้นก็มาแล้ว มาช่วยกันทำ ตักเมล็ดพันธุ์ผักใส่ซองแล้วก็ปิดซอง ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี เฮฮาสนุกสนานกันมาก ทำงานเสร็จสี่ห้าทุ่มก็ต้มข้าวมากินกัน บางคืนทำกันเป็นหมื่น ๆ ซองก็มี ช่วงไหนขายดีทำไม่ทัน ตื่นเช้าขึ้นมากินข้าวเสร็จแล้วก็ต้องรีบทำต่อตั้งแต่เช้าจนค่ำ กว่าจะได้เงินยากมาก ๆ”

บทบาทของ “อาม่า” อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของครอบครัวโดยตรง แต่มีน้ำหนักในเรื่องสนับสนุนครอบครัวอยู่เบื้องหลัง จัดหาอาหารให้ครอบครัวอย่างครบถ้วน โดยเนื้อหาในหนังสือ “เรื่องเล่าของอาม่า” ระบุว่า ช่วงที่สมาชิกบรรจุเมล็ดพันธุ์ อาม่าทำหน้าที่ตัดเป็นหลัก เพราะทำได้เร็วและสวยงาม

ด้วยลักษณะการทำงานแบบครอบครัวใหญ่ซึ่งมีสมาชิกมากหน้าหลายตา แต่สมาชิกล้วนอุตสาหะร่วมด้วยช่วยกัน โดยมีคนในครอบครัวสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เรียกได้ว่า บริหารจัดการกิจการภายในครอบครัวอย่างเป็นระบบ ประกอบกับทักษะความสามารถเฉพาะ กรณีของครอบครัวตระกูลเจี่ย ก็คือเรื่องเมล็ดพันธุ์ เมื่อผนึกกำลังกันในครอบครัว ผสานกับความอดทนมุ่งมานะ จึงทำให้ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

จากเนื้อหาที่บอกเล่าสภาพเบื้องหลังกิจการ “เจียไต๋” ในยุคบุกเบิกคงเป็นภาพสะท้อนและเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการค้าขายของกิจการที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในอดีตและสามารถพัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นบริษัทเติบใหญ่มาถึงปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า กิจการจำนวนไม่น้อยบนถนนทรงวาดก็ไม่ต่างจากวงการธุรกิจอื่นที่มีทั้งเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจการรูปแบบอื่น หรือบางแห่งก็สืบทอดกันมาสู่คนรุ่นหลัง แต่โดยรวมแล้ว หากลองเดินสำรวจถนนทรงวาดในยุคปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2564 ยังสามารถพบเห็น “ร่องรอย” ของความรุ่งเรืองทางการค้าอยู่บ้าง มีโกดังเก็บสินค้า กิจการร้านค้าจำหน่ายสินค้าเกษตร เมล็ดพืช เครื่องเทศ ผสมไปกับกิจการห้างร้านสมัยใหม่ แต่ต้องยอมรับว่า สภาพโดยรวมย่อมแตกต่างจากอดีต ขณะที่บรรยากาศในปัจจุบันอยู่ท่ามกลางสถานะอีกแบบที่เพิ่มเข้ามาเป็น “เส้นทางเดินท่องเที่ยวย่านเยาวราช”

ภาพวาด อาคารไปรษณีย์กลาง ย่านบางรัก

สถาบันและการสนับสนุนทางการเงิน : “ธนราชันย์” ผู้ติดปีกมังกรทรงวาด

“ระวังให้ดีคนไทยทำแบงค์ จะไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าจะใส่”

คือ คำสบประมาทของนายแบงก์ของสาขาธนาคารฝรั่ง ที่มีต่อกรรมการของ ธนาคารกรุงเทพ ในยุคก่อตั้ง

“สภาพคล่อง” และ “หลักประกัน” คือเส้นเลือดของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศที่คู่ค้าต้องอาศัยระบบธนาคารในการชำระเงิน รวมถึงการหมุนเงิน ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบโดยแบงก์ฝรั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจตะวันตกที่มาแสวงหาผลกำไรในอีกซีกโลกในยุคอาณานิคม รวมทั้งประเทศไทย พร้อม ๆ กับกีดกันไม่ให้ พ่อค้าไทยสามารถเข้าถึง บริการที่เท่าเทียมกันนั้น

เมื่อไม่สามารถเข้าถึง “บริการทางเงิน” ในระดับสากลก็ยากที่จะขยายกิจการอย่างอิสระให้เติบใหญ่ต่อไปได้ ประดุจมังกรที่ไร้ปีก

นั่นคือหนึ่งใน แรงบันดาลใจ “ชาตินิยม” ของ “ชิน โสภณพนิช” ที่ร่วมก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ ในปี พ.ศ.2487 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดในปีต่อมา เช่นเดียวกับธนาคารไทย อีกจำนวนหนึ่งที่เปิดตัวในช่วง “สุญญากาศทางการเงิน” ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อันประกอบด้วย ธนาคารมณฑล จำกัด(2485) ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (2487) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(2488)และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (2488)

สงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยน “ผู้เล่น” ในเกมการเงินครั้งสำคัญ การรุกไล่ของกองทัพญี่ปุ่นทั่วทั้งเอเชียส่งผลให้กิจการธนาคารตะวันตกที่ครอบงำตลาดเงินของไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จำต้องถอนตัวออกไปหลังจากทำหน้าที่ “สร้างแต้มต่อ” ให้กับธุรกิจตะวันตก จนครั้งหนึ่งนักธุรกิจไทยยากที่จะลืมตาอ้าปากในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้เลย ดังคำอธิบายของ ชิน โสภณพนิช ผู้ซึ่งในกาลต่อมา ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานกรรมการ และประธานกิตติมศักดิ์ ธนาคารกรุงเทพ พร้อมสมญานามที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “ธนราชันย์” (King of the Bank)

“ในสมัยก่อน การธนาคารเป็นอาชีพที่สงวนสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ เขาเป็นผู้ควบคุมการเงิน ชอบใครก็ให้คนนั้นกู้ซึ่งก็เป็นคนต่างชาติทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ผมเท่านั้นที่เดือดร้อน กับการเลือกที่รักมักที่ชังของธนาคารต่างชาติ นักธุรกิจไทยเกือบทุกคนก็ยุ่งยาก ลำบากกว่าจะได้รับเงินมาทำทุน ธนาคารเป็นหัวใจของการค้าทั้งส่งออกและนำเข้า ถ้าไม่มีธนาคารแล้วแย่ พ่อค้าคนไทยในสมัยนั้น ไม่มีโอกาสเข้าไปในธนาคารฝรั่ง เพราะเขาช่วยแต่พวกบริษัทฝรั่งของเขา”

ชิน โสภณพนิช ยกตัวอย่างสิ่งที่เรียกว่าเป็น “หัวใจ” ของการค้า นำเข้า-ส่งออก นั่นก็คือ การออกเอกสาร เลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ซึ่งเป็นเอกสารที่มีขึ้นเพื่อยืนยันการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยมีธนาคารผู้เปิด L/C เป็นตัวกลางในการชำระเงินแทน

กรณีนำเข้า หากบริษัทฝรั่งขอเปิดแอลซี แบงก์ฝรั่งจะไม่เรียกมัดจำ แถมเมื่อสินค้ามาถึงแบงก์ยังออก ทรัสต์รีซีท (Trust Receipt) หรือสินเชื่อระยะสั้นเพื่อนำไปใช้ในการสั่งซื้อสินค้ารอบใหม่ได้อีก ส่วนสินค้าที่สั่งเข้ามาก็ขายให้เอเย่นต์ไทย

ตรงกันข้ามถ้าเป็นพ่อค้าคนไทยเข้าไปขอเปิดแอลซี กับแบงก์ฝรั่งเพื่อสั่งสินค้าเข้ามา กลับต้องวางมัดจำ 100% ซึ่งกว่าสินค้าจะเข้ามาต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน ไหนจะต้องเสียเวลาเอาสินค้าออกจากท่าเรือไปขายก่อนจึงเริ่มได้เงินค่อยๆเข้ามา

“คนไทยจึงไม่มีทางสั่งสินค้าเข้ามาโดยตรง เราต้องเป็นเอเย่นต์ หรือซับเอเย่นต์ หรืออะไรของบริษัทฝรั่ง เราไม่มีทางได้ทรัสต์รีซีท ไม่มีทางได้แอลซี นี่พูดถึงอิมพอร์ต”

กรณีส่งออก ถ้าเป็นบริษัทฝรั่ง หากขายข้าวหรือขายสินค้าพื้นเมืองอย่างอื่นให้ต่างประเทศได้ แบงก์ฝรั่ง ที่อยู่ต่างประเทศจะเปิดแอลซีมาให้ลูกค้าฝรั่งในไทย เมื่อลูกค้าในไทยได้รับ แอลซี สามารถนำไปทำแพ็คกิ้งเครดิต (Packing Credit : P/C) หรือสินเชื่อเพื่อการส่งออก (P/C) เพื่อนำมาเป็นเงินหมุนเวียนในการผลิตสินค้าในล็อตต่อไป

“ตรงกันข้ามถ้าเป็นพ่อค้าไทย เราก็ไม่มีทางได้สิทธิ์นี้ แล้วเขาก็ไม่เชื่อถือ เพราะฉะนั้น ทั้งอิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต เราเป็นเบี้ยรองบ่อนเขาเรื่อยไป ไม่มีทางจะได้กำไรแม้แต่นิดเดียว อย่างดีก็เป็นแต่เอเย่นต์ขายหรือเอเย่นต์ซื้อก็กำไรนิดเดียวเพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่าถ้าธนาคารยังอยู่ในมือฝรั่ง คนไทยไม่มีทางสั่งซื้อหรือส่งขายโดยตรงได้เราจึงตกลงเปิดแบงก์ขึ้นมาเพื่อเปิดบริการให้คนไทยเหมือนแบงค์ฝรั่งเปิดบริการให้บริษัทฝรั่งแบบเดียวกัน”

1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 วันเปิดทำการวันแรกของธนาคารกรุงเทพ สถานที่ทำการหรือสำนักงาน เป็นตึกแถว 2 ชั้น 2 คูหาเลขที่ 235-237 ถนนราชวงศ์ มุมถนนทรงวาด ปากตรอกอาเนียเก็งซึ่งเช่ามาจากนายห้างเกียนซิงห์นานซิงห์ มีพนักงานรุ่นแรกจำนวน 23 คน หนึ่งในพนักงานรุ่นแรกหรือฟื้นความหลังให้ฟังว่า

“ธนาคารเปิดทำการเวลาบ่าย 2 โมง นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มาทำพิธีเปิด มีแขกมากมายจนเต็มหน้าธนาคารพอเปิดป้ายแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีก็เดินเข้ามาเปิดตู้เซฟที่อยู่ข้างในโดยใช้กุญแจดอกจริง ก่อนจะคืนกุญแจดอกจริงให้ท่านผู้จัดการคือ คุณหลวงรอบรู้กิจ ได้มอบกุญแจทองคำยาวประมาณ 3- 4 นิ้วให้ท่านนายกรัฐมนตรีก่อนแล้วจึงรับลูกจริงคืนมา”

ก่อนการก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ ได้มีธนาคารพาณิชย์ของคนไทยและจากการร่วมทุนระหว่างพ่อค้าชาวจีนกับคนไทยเปิดดำเนินการมาแล้วหลายธนาคาร แต่ก็มักประสบกับความล้มเหลวหรือไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ขนาดว่าเมื่อธนาคารกรุงเทพก่อตั้งใหม่ใหม่โดยมีผู้ก่อตั้งและกรรมการทั้งขุนนาง ข้าราชการคหบดีชาวไทยและพ่อค้าจีนรวมกันกว่า 10 คน กรรมการของธนาคารคนหนึ่ง ยังเคยถูกนายธนาคารของสาขาธนาคารจากประเทศตะวันตกกล่าวคำสบประมาทว่า “ระวังให้ดีคนไทยทำแบงค์จะไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าจะใส่”

หลังธนาคารกรุงเทพก่อตั้งมาได้ปีเศษ สงครามโลกครั้งที่สองก็ยุติลงในปี พ.ศ.2488 นำมาซึ่งความต้องการข้าวไทยเพิ่มขึ้นอย่างเอกอุในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวเร่งความเจริญเติบโตของธนาคารในประเทศและผลักดันให้ก้าวสู่อาณาจักรการเงินระหว่างประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในช่วงนั้น แม้ ชิน โสภณพนิช ยังไม่ได้เข้ามาบริหารแบงก์อย่างเต็มตัว เขาได้ดำเนินการธุรกิจค้าเงินตราโดยการก่อตั้งบริษัทเอเชียทรัสต์ จำกัดในปี 2493 ซึ่งเป็นฐานทุนและฐานความรู้เพื่อเข้าสู่ธุรกิจการเงินและการธนาคารอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตาของเอเชียทรัสต์ได้รับการยอมรับว่าเป็นอัตรามาตรฐาน แม้แต่ธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาเปิดกิจการใหม่ขณะนั้นยังยอมใช้อัตราที่เอเชียทรัสต์ กำหนดไม่ว่าเงินตราสกุลไหนก็ตาม

“อย่าว่าแต่แบงค์ไทยด้วยกันเลย แบงค์จีน แบงค์ฝรั่ง ตอนเช้าต้องมาดูที่เอเชียทรัสต์ ว่าเขาโค้ดอัตราแลกเปลี่ยนกันอย่างไร คือที่บริษัทมีกำแพงใหญ่ขึ้นป้ายเลย วันนี้ดอลล่าร์เท่าไหร่ ปอนด์เท่าไหร่ เขาต้องเอาของเราเป็นบรรทัดฐานได้”

มีผู้ขยายความให้ฟังว่าสาเหตุที่ ชิน โสภณพนิช สามารถรู้และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของบริษัทเอเชียทรัสต์ได้แต่เช้าตรู่ก่อนธนาคารพาณิชย์ เพราะส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทไปคอยติดตามฟังข่าวความเคลื่อนไหวของราคาเงินตราต่างประเทศที่กรมไปรษณีย์โทรเลข หรือ ไปรษณีย์กลาง บางรัก ตลอดเวลา

การให้ความสำคัญ “ข้อมูลข่าวสาร” เพื่อการตัดสินใจของ ชิน โสภณพนิช ยังมีตัวอย่างให้เห็นเมื่อ ผลการประชุมลับระหว่างไทย-อังกฤษ ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม ถูกเรียกร้องถึง 25 ข้อนั้น ปรากฎว่า ชิน โสภณพนิช มีสำเนารายละเอียดข้อเรียกร้องทั้ง 25 ข้อในมือในวันรุ่งขึ้นหลังการประชุม รวดเร็วกว่าที่คณะรัฐบาลไทยจะได้รับรู้ หรือหน่วยข่าวของรัฐบาลจะหาข้อมูลได้เสียอีก

พื้นฐานความเชี่ยวชาญด้านปริวรรตเงินตรา และข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วแม่นยำของ ชิน โสภณพนิช ส่งผลต่อการสนับสนุนภาคส่งออกของพ่อค้าไทย เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2495 เช่นเดียวกับการรุกหาลูกค้าจากถนนทรงวาด-ราชวงศ์ ครอบคลุมอีกหลายสายสำคัญ ดังคำให้สัมภาษณ์ของปิยะ ศิวยาธร อดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ด้านสินเชื่อในประเทศว่า

“ถ้าเราจะเอาลูกค้าให้อยู่กับเรา เราก็ต้องพยายามทำตัวเป็นกันเองกับลูกค้า และต้องหมั่นไปเยี่ยมเขาอยู่บ่อยๆ วันเสาร์วันอาทิตย์ก็ต้องไป ตอนนั้นได้มีการวางแผนกันว่าถนนแต่ละสายมีร้านค้าที่เราควรดึงมาเป็นลูกค้าอยู่ที่ไหนบ้างเราเขียนแผนที่ขึ้นมาเลยเช่น ถนนทรงวาดมีกี่บริษัทเราจดไว้หมดเลยแล้วจึงนำมาเลือกเฟ้นที่จะเอามาเป็นลูกค้า ถนนราชวงศ์ก็เช่นกัน เรียกว่าถนนสายสำคัญที่อยู่ในย่านธุรกิจการค้าและมีบริษัทห้างร้านแล้ว เราต้องทำแผนที่และชื่อร้านเอาไว้ทั้งหมดแล้วค่อยมาคัดเลือกซึ่งโดยวิธีด้วยวิธีการนี้ทำให้เราได้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เราจะเจาะเข้าไปหาลูกค้ารายใหม่โดยวิธีการเข้าถึงตัวโดยตรงหรือถ้าไปหาโดยตรง แล้วเขาเกิดไม่มาหา เราก็ต้องพยายามสืบให้ได้ว่าพวกของเรามีใครที่สนิทใกล้ชิดกับเขาบ้างเพื่อจะได้ส่งคนสนิทไปชักชวนอีกครั้ง ด้วยวิธีนี้ทำให้เราได้ลูกค้าใหม่ใหม่อยู่ตลอดเวลาในขณะที่ลูกค้าเก่าเราก็ต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีและด้วยบริการที่ประทับใจไว้เสมอที่สำคัญอีกอย่างคือวิธีการของเราง่ายเพราะเรารู้จักลูกค้าดีอยู่แล้วพอเขามาทำธุรกิจกับเราทุกอย่างก็เลยสะดวก”

เมื่อได้ลูกค้ามาแล้ว “คุณภาพการให้บริการ” ที่พ่อค้าไทยในยุคนั้นไม่เคยได้รับจากแบงก์ฝรั่ง เป็นสิ่งที่แบงก์ไทยนำเสนอตามมา ดังคำกล่าวของ ชิน โสภณพนิช ผู้เป็น “ธนราชันย์” ว่า

“เราภูมิใจในความสัมพันธ์ที่เรามีต่อลูกค้าของเราประชาชนเข้ามาหาเราไม่เพียงแต่เพื่อจะฝากเงินหรือกู้เงินเท่านั้นแต่เพื่อมาขอรับคำแนะนำว่าควรจะลงทุนในด้านไหนดีและทำอย่างไรจึงจะดำเนินธุรกิจได้ถ้าลูกค้าคนใดมีปัญหาเรื่องเงินทุนธนาคารกรุงเทพก็จะหาทางแก้ปัญหาให้ถ้าเขาต้องการ ทำธุรกิจธนาคารก็สอนกลเม็ดเด็ดพลายให้ นี่เป็นบริการที่ซึ่งไม่เคยมีธนาคารไทยแห่งใดเสนอแก่ลูกค้าเลยในยุคนั้น ในสมัยโน้นเราทำงานกันสัปดาห์ละ 7 วันลูกค้าก็มาขอคำแนะนำกันใหญ่มาจนเรารับแทบไม่ไหวแต่เราก็ไม่ต้องการให้ลูกค้าผิดหวังเพราะเราตั้งใจช่วยเหลือให้บริการด้านการเงินแก่เขาเพื่อให้เขาเติบโตคู่ไปกับเรา คุณภาพแห่งบริการนั่นแหละที่ทำให้ธนาคารเด่นขึ้นมา”

เมื่อ “หลักประกัน” และ “สภาพคล่อง” เพื่อพ่อค้าไทยไม่เสียเปรียบฝรั่งอีกต่อไป ด้วยการเกิดขึ้นของ “แบงก์คนไทย” มังกรทรงวาด ก็ติดปีกผงาดทะยาน เป็นขุมพลังการส่งออกภาคเกษตรสำคัญของไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา

ภาพวาด อาคารโรงเรียนเผยอิง

สถาบันการศึกษา : โรงเรียนเผยอิง

ท่ามกลางบรรยากาศกิจการร้านค้าบนถนนทรงวาด มีอาคารแห่งหนึ่งที่ดูค่อนข้างแปลกตาแตกต่างจากบรรยากาศในย่านนั้นอยู่บ้าง อาคารแห่งนี้ดูภายนอกแล้วมีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หากใช้คำแบบง่าย ๆ ก็เรียกว่าภายนอกดูเป็น “ฝรั่ง” ก็ว่าได้

อาคารแห่งนี้คือ “โรงเรียนเผยอิง” สถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งโดยกลุ่มชาวจีนช่วงปลายทศวรรษ 2450 โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางถนนทรงวาด ด้านหน้าอาคารโรงเรียนเผยอิงคือที่ตั้งศาลเจ้า “เล่าปูนเถ้ากง” ซึ่งก็ได้ชาวจีนช่วยบูรณะเช่นกัน

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนเผยอิง ส่วนใหญ่เขียนไว้สอดคล้องกันว่า โรงเรียนเผยอิงเริ่มต้นก่อตั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2459 โดยมี “ยี่กอฮง” หรือ พระอนุวัติราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) [บางแห่งสะกดเป็น พระอนุวัตน์ราชนิยม] ร่วมกับพ่อค้าชาวจีนอีกจำนวนหนึ่งระดมทุนจากชาวจีนแต้จิ๋วเพื่อจัดตั้งสถานศึกษาให้ลูกหลายชาวจีนในไทย ได้ทุนประเดิมการก่อสร้าง 3 แสนบาท (ยุวดี ศิริ, 2557) แต่กว่าที่โรงเรียนจะสร้างแล้วเสร็จก็ต้องไปถึง พ.ศ. 2463

เหตุที่ใช้เวลาก่อสร้างหลายปี คาดว่าการก่อสร้างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ช่วงเวลานั้นอุปกรณ์การก่อสร้างน่าจะราคาแพงขึ้นหรือถึงขั้นขาดแคลนวัสดุด้วยซ้ำ นับเป็นอุปสรรคอีกประการในการก่อสร้าง

หากเทียบว่า “ถนนทรงวาด” ถือกำเนิดขึ้นภายหลังไฟไหม้สำเพ็งครั้งใหญ่เมื่อพ.ศ. 2449 ช่วงต้นทศวรรษ 2450 ถนนทรงวาดน่าจะปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว กล่าวได้ว่า หลังปรากฏถนนทรงวาดขึ้นได้เกือบทศวรรษ โรงเรียนเผยอิงจึงเริ่มก่อร่างขึ้นมาตามลำดับดังที่กล่าวข้างต้น

การก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้กล่าวกันว่ามาจากเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ลูกหลานชาวจีนได้เรียนรู้ภาษาจีน ขนบธรรมเนียมจีน และเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับติดต่อกันและพึ่งพากัน (ยุวดี ศิริ, 2557) ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ชาวจีนในไทยสามารถประสบความสำเร็จทางการค้าได้ ดังที่กล่าวในหัวข้อก่อนหน้านี้ว่า ชาวจีนที่เข้ามาในไทยมีลักษณะการรวมกลุ่มกันในชุมชนเพื่อช่วยเหลือกันและสร้างเครือข่ายขึ้นมา เครือข่ายทางสังคมนี้มีส่วนสำคัญทำให้กลุ่มชาวจีนได้เข้าถึงโอกาสและช่องทางต่างๆ

ในทางสังคมแล้ว เป็นเรื่องปกติที่มักพบเห็นได้โดยทั่วไปว่า การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง บ่อยครั้งที่มักพบเห็นสิ่งปลูกสร้างรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เชิงความเชื่ออย่างศาสนสถาน เชิงการคมนาคมก็มีท่าน้ำ ท่าเรือทั้งในรูปแบบของส่วนบุคคลไปจนถึงสาธารณะ และในกรณีนี้คือสถาบันทางการศึกษาเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของชุมชน โดยที่สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ตอบสนองต่อการใช้ชีวิต และกระชับความสัมพันธ์ภายในชุมชนให้มั่นคง หากจะทำกิจการหรือขยายการค้าก็อาศัยเครือข่ายทางสังคมช่วยเกื้อกูลกัน

เดิมทีแล้วโรงเรียนแห่งนี้เมื่อก่อตั้งขึ้น ใช้ชื่อว่า “ป้วยเอง” (ชื่อตามภาษาแต้จิ๋ว) สอนภาษาแต้จิ๋วเต็มวัน ปีต่อมาปรับเป็นสอนภาษาจีนกลาง ชื่อของโรงเรียนเมื่อเรียกตามภาษาจีนกลางคือ “เผยอิง” หมายความว่า “ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถ” ระยะแรกไม่เก็บค่าเล่าเรียน และเปิดรับเฉพาะนักเรียนชาย ยุคแรกมีนักเรียนชายมากถึง 500 คน (โรงเรียนแต้จิ๋วในละแวกใกล้เคียงยุบตัวลง ส่วนนักเรียนมารวมกันที่โรงเรียนเผยอิง) โรงเรียนเคยมีนักเรียนมากที่สุดถึง 1,300 คน (อรุณี หงส์ศิริวัฒน์, 2559)

ภายหลังเริ่มเก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 3 บาท ผู้เข้าศึกษาในโรงเรียนจึงกลายเป็นผู้มีฐานะทางการเงินค่อนข้างดีไปโดยปริยาย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงและการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนผ่านไปแล้ว กล่าวได้ว่า ชาวจีนในไทยตื่นตัวทางการศึกษามากขึ้น โดยระหว่าง พ.ศ. 2369-2470 ปรากฏการจัดตั้งโรงเรียนจีนขึ้นหลายแห่ง โรงเรียนจีนยุคนี้จึงเฟื่องฟูมาก

โรงเรียนเผยอิงดำเนินการมาถึง พ.ศ. 2476 ถึงเปลี่ยนระบบเป็นสหศึกษา และรับนักเรียนหญิงเข้าศึกษา โรงเรียนเคยปิดการศึกษาไปเมื่อ พ.ศ. 2478 แต่คณะกรรมการสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยยื่นเรื่องขอให้เปิดโรงเรียนขึ้นใหม่ในพ.ศ. 2479 ใช้ชื่อใหม่ว่า “เฉาโจวกงสวย” (เตียจิกกงฮัก) โดยปรับการสอนให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงธรรมการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2482 โรงเรียนต้องปิดลง สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการโรงเรียนแห่งนี้ นำอาคารเรียนไปใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว กระทั่ง พ.ศ. 2489 โรงเรียนได้รับอนุญาตให้เปิดสอนอีกครั้ง ภายหลังคณะกรรมการฯ มีมติให้ฟื้นฟูโรงเรียนและใช้ชื่อโรงเรียนเผยอิงตามเดิมจนถึงปัจจุบัน และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา ก็เข้าสู่ระเบียบตามกฎหมายและระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ

โรงเรียนเผยอิงที่กลับมาเปิดสอนใหม่ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 อีกหลายปีต่อมาจึงขยายการศึกษาไปถึงชั้นประถมปีที่ 5 และปีที่ 6 ตามลำดับ

โรงเรียนเผยอิงเปิดสอนมายาวนานร่วมร้อยปีแล้ว และเปิดสอนชั้นก่อนประถมศึกษาด้วย ใช้ชื่อว่า “เผยเหมียว เนอสเซอรี่” ขณะที่โรงเรียนในปัจจุบันเปิดสอนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สอนวิชาสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง

อีกแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรงเรียนแห่งนี้คือเรื่องตัวอาคารโรงเรียนจีนที่มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “แบบฝรั่ง” ตัวอาคารมี 3 ชั้น ด้านในมีพื้นที่เปิดโล่งในรูปแบบโคโลเนียลซึ่งพบได้ในยุโรปช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นลักษณะก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ผนังหนา มีลวดลายปูนปั้นแบบยุคฟื้นฟูศิลปะโรมัน ทั้งนี้ อาคารสถานศึกษาที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีโรงเรียนกำเนิดขึ้นหลายแห่งนั้น เป็นเรื่องของสมัยนิยม

ลักษณะของอาคารสถานศึกษาเวลานั้นมักปรากฏเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเน้นโถงทางเข้าตรงกลาง ด้านบนมีหน้าบันขนาดใหญ่ หากมองในภาพรวมซึ่งมีอาคารสถานศึกษาหลายแห่งในยุคไล่เลี่ยกันมีลักษณะการวางผังอาคารคล้ายกันก็ถือว่าคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรงเรียนในชุมชนจีนมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกตามสมัยนิยมด้วย (ยุวดี ศิริ, 2557)

หากย้อนกลับไปในอดีต โรงเรียนแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่ “ให้การศึกษามหาเศรษฐีระดับเจ้าสัวมากที่สุดในไทย” เพราะศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้มีตั้งแต่ เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ, ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนคร และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง, ดร. สม จาตุศรีพิทักษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย พี่ชายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปจนถึงไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

ดังที่กล่าวถึงกิจการเจียไต๋ ยุคบุกเบิกในเนื้อหาข้างต้น โรงเรียนเผยอิงมีคนในครอบครัวที่ประกอบกิจการ “เจียไต๋จึง” (ออกเสียงว่า “เจียไต้จึง”) เข้าไปศึกษาในสถาบันแห่งนี้ด้วย เมื่อเลิกเรียนแล้ว สมาชิกในครอบครัวก็มาร่วมกันบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงซอง คนรุ่นใหม่ยุคนั้นใช้เวลากลางวันเล่าเรียนองค์ความรู้พื้นฐานด้านภาษา และวิชาอื่น ๆ ที่จำเป็นในการใช้ชีวิต หลังเลิกเรียนก็มาช่วยกิจการของครอบครัว

เหล่านี้คือกระบวนการศึกษาและซึมซับทักษะทางการค้าของบุคคลในอดีต สัมผัสจากในสถาบันที่ก่อตั้งโดยกลุ่มชนเดียวกัน และเรียนรู้ด้านการค้าจากประสบการณ์ที่สัมผัสในช่วงหลังเรียนไปจนถึงเวลาที่ต้องช่วยครอบครัวทำงาน

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เวลาที่คนรุ่นหลังก้าวขึ้นมาดำเนินกิจการด้วยตัวเองมาถึง ด้วยรากฐานที่จำเป็นทั้งหลายในเรื่ององค์ความรู้พื้นฐาน ทักษะทางการค้าที่เรียนรู้และซึมซับมาจากในครอบครัวและชุมชน เครือข่ายทางสังคมของกลุ่มชนทั้งในมิติเชิงพื้นที่และชาติพันธุ์ ไปจนถึงลักษณะนิสัยบุคลิกเฉพาะตัวที่ถูกบ่มเพาะมาจากพื้นฐานทางครอบครัวและสังคมแวดล้อมที่ทำให้ต้องขยันมุ่งมานะและรู้จักเก็บออมต้นทุนต่างๆ ล้วนมีส่วนผลักดันให้กิจการในยุคต่อมาเติบโตได้ไม่มากก็น้อย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร


อ้างอิง :

จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ และคณะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548

ชิน โสภณพนิช. จัดพิมพ์โดย ธนาคารกรุงเทพ, 2531.

นันทนา กปิลกาญจน์. “ผลกระทบของระบบผูกขาดทางเศรษฐกิจที่มีต่อสังคมเกษตรกรรมไทย : สมัยอยุธยาจนถึงสนธิสัญญาเบาริง พ.ศ. 2398,” ใน ว.เกษตรศาสตร์ (สังคม) ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (2532), น. 201-212.

ยุวดี ศิริ. ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.

เสถียร จันทิมาธร. ธนราชันย์ ชินโสภณพนิช KING OF THE BANK. กรุงเทพฯ : มติชน, 2531.

อรุณี หงส์ศิริวัฒน์. “โรงเรียนเผยอิง, ” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

เว็บไซต์

“เรื่องเล่าของอาม่า ตำนานที่มา…ตระกูล ‘เจียรวนนท์’ ”. Brand Buffet. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 14 มกราคม 2559. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2564. <https://www.brandbuffet.in.th/2014/01/chearavanont-family-behind/>

เรื่องเล่าของอาม่า คุณแม่เจียร เจียรวนนท์ 107 ปี แห่งความทรงจำ ความเป็นมาของบรรพชนแห่งสกุล “เจียรวนนท์” ที่น้อยคนจะได้ยิน. สืบค้นออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2564. <https://youtu.be/JLpDK1-N0a4>

สุนิติ จุฑามาศ. “มัสยิดหลวงโกชา, ” ใน Read The Cloud. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561. เข้าถึงเมื่อ 29 กันยายน 2564. < https://readthecloud.co/luang-kocha-itsahak-mosque/>

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “แขกไปใครมา : ประวัติศาสตร์ของ ‘แขก’ และ ‘เจ๊ก’ ในประเทศไทย จากนิทรรศการงานศิลปะ, ” ใน มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 20 – 26 ธันวาคม 2562. สืบค้นออนไลน์. https://www.matichonweekly.com/column/article_259400


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2564