เผยแพร่ |
---|
เปิดโลก “วิทยาการ” ที่แฝงตัวใน “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิกในอดีตของไทย พลิกโฉมสังคม วัฒนธรรม และธุรกิจ อย่างไรบ้าง
“ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิกของไทยคับคั่งไปด้วยกิจการห้างร้านทางการเกษตรและสินค้าหลากหลายประเภทท่ามกลางแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยอันเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ด้วยบรรยากาศและความเป็น “ศูนย์กลาง” ทางการค้าและชุมชนด้วยจึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดสิ่งของต่าง ๆ เข้ามา ซึ่งรวมถึงเรื่องวิทยาการที่คนสมัยนั้นยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน
ย่านสำเพ็งและถนนทรงวาดยุคเฟื่องฟูสูงสุดถือเป็นศูนย์กลางการค้าของไทยในอดีตก็ว่าได้ และเป็นที่ทราบกันว่ามีชุมชนชาวจีนในบริเวณนี้ และปรากฏกิจการที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักซึ่งมีรูปแบบและคุณลักษณะแตกต่างจากสินค้าเดิมในตลาดจนได้รับความนิยมแพร่หลาย
ไม่เพียงแค่ด้านการเกษตร ในย่านใกล้เคียงกันยังเคยเป็นแหล่งที่ตั้งห้างร้านกิจการค้าผ้าของชาวมุสลิมจากอินเดียในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งกิจการเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อการค้าโดยรวมและส่งผลต่อแวดวงที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นอย่างมีนัยสำคัญ
หรือหากนึกถึงวิทยาการจากฝั่งตะวันตก ละแวกถนนทรงวาดคือจุดแรกที่บุคคลซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพิมพ์ในไทยเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเริ่มต้นทำกิจกรรมในช่วงแรก ความหลากหลายของวิทยาการแขนงต่างๆ ที่ปรากฏในละแวกถนนทรงวาดคือหลักฐานสำคัญที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของศูนย์กลางการค้าแห่งนี้
ตามไปดูวิทยาการ(ใหม่)ในอดีตที่พลิกโฉมวิถีชีวิตและรูปแบบการค้าของผู้คนสมัยก่อนและยังมีร่องรอยให้เห็นกันถึงในปัจจุบันจากซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” ตอนที่ 5 ว่าด้วยเรื่องวิทยาการสมัยใหม่ในอดีตที่ปรากฏอยู่ในย่านทรงวาด
และติดตามซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” จากศิลปวัฒนธรรมและช่องทางต่างๆ ในเครือมติชน เผยแพร่เดือนละ 2 ตอน ในวันศุกร์ (ศุกร์เว้นศุกร์) เวลา 19.00 น.
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไม “ถนนทรงวาด” กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกิจการ-นักธุรกิจในยุคบุกเบิก
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ถนนทรงวาด” ย่านการค้ายุคบุกเบิก มีทั้งวัด ศาลเจ้า มัสยิด มิชชันนารี ได้อย่างไร
เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2325 พระองค์ โปรดฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น แต่พื้นที่ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างนั้น เดิมทีแล้วเป็นที่อยู่ของชาวจีนจำนวนหนึ่ง พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ชุมชนชาวจีนย้ายมาอยู่นอกกำแพงพระนครบริเวณวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส ไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง หรือคลองวัดปทุมคงคาฯ
ภายหลังการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยในครั้งนั้น พื้นที่สำเพ็งถูกขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่ใช้ที่พักอาศัยเป็นร้านค้าด้วย
เมื่อมีผู้ย้ายถิ่นไปพักอาศัยมากขึ้น พื้นที่เริ่มแออัด เวลาเกิดอัคคีภัย เพลิงจึงลุกลามไปวงกว้างเพราะสร้างบ้านเรือนชิดติดกันเกินไป ไฟลามติดกันง่าย การตัดถนนใหม่จึงเป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหาที่จำเป็น
ถนนทรงวาด คือถนนตัดใหม่ในบริเวณสำเพ็งที่เกิดขึ้นภายหลังเพลิงไหม้สำเพ็งครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2449 กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริเรื่องแนวถนน และทรงวาดแนวลงบนแผนที่ ลักษณะแนวถนนเชื่อมกับถนนเส้นอื่นในบริเวณใกล้เคียง เช่นถนนราชวงศ์ และถนนจักรวรรดิ ถนนนี้จึงมีชื่อ “ถนนทรงวาด” (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2546)
ถนนทรงวาดที่เกิดขึ้นใหม่ในย่านสำเพ็งเป็นถนนซึ่งตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ การคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นเส้นทางสำคัญต่อการค้าอย่างมาก ด้วยทำเลที่ตั้งอันเอื้ออำนวยต่อการขนส่ง ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนที่ทำการค้า ผสมผสานกับทักษะการปรับตัวและความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมโดยรวม ทำให้ย่านสำเพ็งและถนนทรงวาดกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่รุ่งเรืองอย่างมาก
ชื่อเสียงของย่านนี้ส่งผลตามมาประการหนึ่งคือ ช่วยดึงดูดโอกาสและสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาสู่พื้นที่ในช่วงย่านสำเพ็งเฟื่องฟูมาจนถึงยุคที่ปรากฏถนนทรงวาดขึ้น วิทยาการใหม่ในอดีตที่เข้ามามีหลากหลายแขนง ตั้งแต่ด้านการเกษตรจากกลุ่มชาวแต้จิ๋วซึ่งโด่งดังเรื่องความเชี่ยวชาญสายนี้อยู่แล้ว มีวิทยาการจากตะวันตกที่นำเข้ามาโดยกลุ่มมิชชันนารี และสินค้าจากชาวมุสลิม
ตามไปดูที่มาที่ไปของวิทยาการแขนงต่าง ๆ ไปพร้อมกัน
เมล็ดพันธุ์พลิกโฉมการเกษตร
กิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญอันดับต้นของไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์หนีไม่พ้นเรื่องการเกษตร ไทยผลิตและส่งออกผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากโดยเฉพาะข้าว มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมายบ่งชี้ว่าข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง สมัยรัชกาลที่ 4 อันส่งผลทำให้ไทยเปิดเสรีทางการค้า
ระบบเกษตรอย่างการทำไร่และสวนล้วนเป็นการเกษตรที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวไทยควบคู่ไปกับการทำนา(ข้าว) จากการศึกษาประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตรในอดีตพบว่า ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 231-2397) วิถีชีวิตของเกษตรกรไทยในระยะนั้นเป็นการเกษตรเพื่อบริโภคในครัวเรือน มีเพียงส่วนน้อยที่ผลิตแบบการตลาด นั่นคือ “ผลิตเพื่อขาย” (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2548)
ขณะที่คนจีน(ซึ่งเป็นเกษตรกร)ในยุคเดียวกัน ทำการเกษตรแบบ “ผลิตเพื่อขาย” พืชที่ผลิตมีตั้งแต่ อ้อย พริกไทย ยาสูบ กาแฟ และผักชนิดต่างๆ อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญในยุคต้นรัตนโกสินทร์ อาทิ ไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลล้วนพบคนจีนเข้าไปมีบทบาทสำคัญทั้งด้านผู้ประกอบการและแรงงาน
ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมหลากหลายแง่มุม ชาวจีนที่ย้ายถิ่นเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนถึงกรุงธนบุรี และสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สามารถใช้ทักษะความเชี่ยวชาญด้านการค้าขาย การเกษตร หรือแม้แต่การใช้แรงงาน นั่นทำให้พวกเขามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยหลากหลายด้าน
ท่ามกลางชาวจีนจากหลายภูมิภาคที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้าไทยเพื่อทำมาหากิน ชาวต่างชาติจากฝั่งตะวันตกที่เข้ามาในไทยในอดีตและนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเอกสารในอดีตล้วนบ่งชี้ว่า ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ชาวจีนแต้จิ๋วเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในไทย
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าลักษณะเด่นของชาวจีนคือทักษะทางการค้า สำหรับชาวแต้จิ๋วก็ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน แต่ยังมีทักษะอีกด้านที่พ่วงเข้ามาด้วย ชาวแต้จิ๋วเชี่ยวชาญด้านการเกษตร จี วิลเลียม สกินเนอร์ นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับชาวจีน ตั้งข้อสังเกตว่า ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรของชาวแต้จิ๋วคืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนชาวแต้จิ๋วในไทยเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประมาณ พ.ศ. 2353 ความต้องการผลผลิตการเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเกษตรทางตะวันออกเฉียงใต้และตอนล่างของไทยก็เริ่มพัฒนา
ช่วงเวลานั้นชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นในสยามอยู่แล้วเริ่มนำอ้อยมาปลูก เวลาผ่านไป 2-3 ปี อ้อยเริ่มเป็นพืชส่งออกที่สำคัญอีกชนิด ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 พื้นที่แถบที่เป็นถิ่นฐานของชาวแต้จิ๋วในจีนก็มีเสียงร่ำลือเรื่องการผลิตน้ำตาลส่งออก
การเพิ่มผลผลิตของน้ำตาล พริกไทย และผลิตผลการเกษตรอื่นๆ ที่ชาวจีนปลูกกันในสยามภาคกลางระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 คืออีกหนึ่งปัจจัยซึ่งดึงดูดชาวแต้จิ๋วให้เข้ามากรุงเทพฯ
บรรดาชาวแต้จิ๋วที่เคลื่อนย้ายเข้ามาค้าขายในไทย หลายคนเข้ามาในไทยด้วยสถานะการเงินเริ่มต้นจากศูนย์ และมาตั้งตัวทำกิจการ ขยับขยายธุรกิจให้เติบโตกันได้หลายกลุ่ม ตัวอย่างที่นักประวัติศาสตร์บันทึกไว้มีกรณีของเฉิน ฉือหง ที่เดินทางมากรุงเทพฯ ประมาณ พ.ศ. 2408 เมื่อมาถึงยังไม่มีทรัพย์สินติดตัวด้วยซ้ำ พอทำงานจนมีประสบการณ์ และมีโอกาสเปิดกิจการของตัวเอง พัฒนามาเป็นโรงสี ในช่วงกลางทศวรรษ 2410 และเดินทางกลับซัวเถาหลังปลดเกษียณแล้ว
ขณะที่บางกลุ่มยังสามารถพัฒนาธุรกิจมาสู่บริษัทซึ่งเติบใหญ่ถึงปัจจุบัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กิจการเจียไต๋ ซึ่งมีเจี่ย เอ็กชอ และเจี่ย จิ้นเฮี้ยง น้องชายที่มีชื่อไทยว่า ชนม์เจริญ เจียรวนนท์ ร่วมกันบุกเบิก โดยเจี่ย เอ็กชอ ท่านนี้ก็คือบิดาของธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ นั่นเอง
ข้อมูลเกี่ยวกับเจี่ย เอ็กชอ ปรากฏในบทสัมภาษณ์ของธนินท์ เจียรวนนท์ เรื่อง “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)” ที่ระบุว่ามาจากการบอกเล่าของ ธนินท์ เจียรวนนท์ แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยคุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) และมร.หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (ตำแหน่งในขณะนั้น) ในเนื้อหาระบุที่มาของเนื้อหาว่ามาจากหนังสือพิมพ์ “นิกเคอิ” แต่ไม่ได้ระบุวันที่และปีที่หนังสือพิมพ์เผยแพร่ เมื่อสืบค้นเพิ่มเติมจึงพบว่า มีบางแหล่งเชื่อว่าเป็นบทสัมภาษณ์ใน “Nikkei Asian Review” ราวช่วงปี พ.ศ. 2559
ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าภูมิหลังของบิดาไว้ว่า
“บ้านเกิดคุณพ่อของผมอยู่ที่อำเภอเถ่งไฮ่ เมืองแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก ของเมืองกวางตุ้ง ทางใต้ของเมืองแต้จิ๋วอยู่ติดกับท่าเรือเมืองซัวเถา เมืองแต้จิ๋วกับเมืองซัวเถา เรียกรวมกันว่า ‘แต้ซัว’…”
ในบทความเดียวกัน ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าเสริมไว้ว่า ประมาณปี พ.ศ. 2462 บิดาเดินทางมาไทยและอาศัยอยู่กับญาติในระยะแรกเริ่ม
ธนินท์ เจียรวนนท์ ยังเล่าถึงบิดาไว้ในหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ว่า บิดาไม่ได้เรียนถึงระดับสูง แต่ถนัดด้านเทคโนโลยี โดยสนใจเรียนรู้ด้วยตัวเอง ประกอบกับเป็นคนช่างสังเกตและวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้อย่างดี ความสามารถอีกอย่างของบิดาคือด้านเมล็ดพันธุ์ หากเป็นศัพท์ในปัจจุบันก็ใช้ว่า “นักพัฒนาเมล็ดพันธุ์” จากที่ศึกษาทดลองเรื่องเมล็ดพันธุ์ผักที่ซัวเถามานาน ธนินท์ อธิบายไว้ว่า
“คุณพ่อทำธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์ที่เมืองจีนแล้วขยายมาที่ต่างประเทศ สมัยนั้นรัฐบาลไทยสนับสนุนให้ชาวจีนเป็นเจ้าของกิจการได้ เมื่อคุณพ่อสะสมทุนได้แล้ว ท่านจึงตัดสินใจลงเรือที่ซัวเถาข้ามน้ำข้ามทะเลมาพร้อมกระสอบ ‘เมล็ดพันธุ์ผัก’ มาเปิดตลาดใหม่ที่เมืองไทย”
กิจการที่ “เจี่ย เอ็กชอ” ดำเนินการยุคแรก จากการบอกเล่าของธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นลักษณะ “…คุณพ่อนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก ท่านค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ เมื่อได้เงินก้อนหนึ่งในปีพ.ศ. 2464 คุณพ่อจึงเปิด ‘ร้านเจียไต๋จึง’ ” (ธนินท์ เจียรวนนท์, 2559)
ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือกำเนิดบนอาคารที่ติดป้ายด้านหน้าว่า “ห้างเจียไต๋จึง” ที่มีเจี่ย เอ็กชอ ผู้เป็นบิดามาบุกเบิกนั่นเอง แหล่งข้อมูลบางแห่งยังอธิบายว่า กิจการเมล็ดพันธุ์ผักของเจียไต๋ ถือเป็นกิจการค้าเมล็ดพันธุ์รายแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นในไทยด้วย
กิจการของ “เจียไต๋” ในยุคแรกเริ่มโดยเจี่ย เอ็กชอ ดำเนินการคัดพันธุ์ผักที่มีผลผลิตสูงนำมาบรรจุในซองกระดาษและกระป๋องซึ่งทำจากสังกะสีเพื่อรักษาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์แรกเริ่มใช้เครื่องหมายการค้า “ตราเรือบิน” เปลี่ยนมาใช้ “ตราเครื่องบิน” ในภายหลัง สำหรับเมล็ดพันธุ์ในยุคแรก บิดา “นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก…”
จากคำบอกเล่าของธนินท์ เจียรวนนท์ ยังระบุว่า “เจี่ย เอ็กชอ” ผู้เป็นบิดาริเริ่มพิมพ์ “วันหมดอายุ” ลงบนบรรจุภัณฑ์ หากหมดอายุแล้ว ลูกค้าสามารถนำมาเปลี่ยนใหม่ได้ฟรี โดย “เจี่ย เอ็กชอ” มองว่า เกษตรกรหารายได้อย่างยากลำบาก จึงให้นำสินค้ามาเปลี่ยนได้
หากย้อนกลับไปนึกถึงคำเล่าลือบอกต่อกันมาเกี่ยวกับชาวจีน(แต้จิ๋ว) ตระกูลเจียรวนนท์และกิจการเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ผักคืออีกหนึ่งภาพสะท้อนที่สอดคล้องกับคำเล่าลือเรื่องทักษะความสามารถของชาวจีนแต้จิ๋วที่โดดเด่นเรื่องทักษะการค้าขายและความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องชาวจีนในไทยอย่าง จี วิลเลียม สกินเนอร์ ยังระบุว่า ลักษณะความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรของชาวแต้จิ๋วคืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนชาวแต้จิ๋วในไทยเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดย ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประมาณ พ.ศ. 2353 ความต้องการผลผลิตการเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเกษตรทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และตอนล่างของไทยจึงเริ่มพัฒนา โดยการเพิ่มผลผลิตของน้ำตาล พริกไทย และผลิตผลการเกษตรอื่นๆ ที่ชาวจีนปลูกกันในภาคกลางระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ล้วนดึงดูดชาวแต้จิ๋วให้มากรุงเทพฯ
ในฟากของตระกูลเจียรวนนท์ ที่เข้ามาบุกเบิกกิจการค้าเมล็ดพันธุ์ในไทยมีเรื่องเล่าในหมู่ญาติว่า ความสามารถด้านการคัดสรรและเพาะพันธุ์เมล็ดพืชมีที่มาจากฝั่งย่าทวดในตระกูลซึ่งรักการเพาะปลูก พืชที่ย่าทวดปลูกมักงอกงามได้ผลดี พืชที่ท่านชอบปลูกคือเก๊กฮวย พืชพื้นบ้านในจีน
ว่ากันว่า ความสามารถนี้ตกทอดมาสู่ทายาทรุ่นหลัง โดยกรณีของเจี่ย เอ็กชอ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในแง่การศึกษาทดลองเมล็ดพันธุ์ผัก เมื่อมาทำการค้าก็ประสบความสำเร็จ เมล็ดพันธุ์ขายดีมาก บางช่วงต้องอาศัยญาติในครอบครัวมาช่วยกันบรรจุเมล็ดพันธุ์ใส่ซองในยามราตรี ทายาทของคุณแม่เจียร เจียรวนนท์ ภรรยาของ “เจี่ย จิ้นเฮี้ยง” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเจียไต๋ เล่าว่า ช่วงที่ขายดีจนทำไม่ทัน เมื่อตื่นมาตอนเช้าแล้วก็ต้องรีบทำต่อด้วย
ภายหลังจากเจียไต๋ ลงหลักปักฐานได้ดีในไทยแล้ว ตระกูลเจียรวนนท์ยังขยายกิจการต่อมาสู่ “เจริญโภคภัณฑ์” เป็นกิจการจำหน่ายอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทยในสมัยนั้น “ร้านเจริญโภคภัณฑ์” มีจรัญ เจียรวนนท์ และมนตรี เจียรวนนท์ พี่ชายทั้งสองของธนินท์ เจียรวนนท์ ร่วมกันก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496
ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้ว่า ในยุคที่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ เรศานนท์) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ริเริ่มพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ในไทย เมื่อการเลี้ยงไก่ไข่ได้รับความนิยม แน่นอนว่า ความต้องการอาหารเลี้ยงไก่ก็ตามมา โดยยี่ห้อสตางค์ผลิตอาหารไก่ไข่ตามหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจมาเป็นรายแรก ตามด้วยรวงทอง และร้านเจริญโภคภัณฑ์เป็นรายที่ 3 ซึ่งผลิตอาหารไก่ไข่ แม้จะเป็นรายที่ 3 แต่ด้วยการยึดมั่นในคุณภาพตามคำสอนของบิดา จึงทำให้กิจการพัฒนาเติบใหญ่และขยายต่อเนื่องมาจนวันนี้
จากวิทยาการด้านการเกษตรด้วยความสามารถของเจี่ย เอ็กชอ ผู้บุกเบิกกิจการเจียไต๋ในไทย ร่วมกับเจี่ย จิ้นเฮี้ยง จุดแรกเริ่มที่ทำให้กิจการชาวจีนแต้จิ๋วก่อรากฐานมั่นคงในไทยได้ก็ด้วยการค้าเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ค้าขายด้วยความซื่อตรง ทำให้ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรสามารถทำผลผลิตออกมาได้ตามใจหวัง ตามความหมายของชื่อร้านที่คำว่า เจีย หมายถึง ซื่อตรง ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ส่วน ไต๋ แปลว่า ยิ่งใหญ่ไพศาล
หากนับจากปีที่เจียไต๋ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2464 มาจนถึงวันนี้ (พ.ศ. 2564) กิจการมีอายุ 100 ปีพอดี แต่เส้นทางของธุรกิจที่เริ่มต้นจากการค้าเมล็ดพันธุ์ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดมาจากจุดเริ่มต้นในอดีตที่ผู้ร่วมก่อตั้งนำผลิตภัณฑ์การเกษตรเข้ามาบุกเบิกในไทยขยับขยายกิจการมาเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอีกหลากหลายประเภท
การพิมพ์และการแพทย์น่าฮือฮา
คนส่วนใหญ่รู้จักย่านถนนทรงวาดในภาพจำหลายรูปแบบ มีทั้งเป็นย่านค้าส่ง ศูนย์กลางการค้า(ในอดีต) นำเข้า-ส่งออกสินค้านานาชนิด ไปจนถึงย่านเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมอันหลากหลาย สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปอาจมองข้ามคือบริเวณละแวกถนนทรงวาดยังเป็นย่านที่มีโรงพิมพ์ยุคแรก ผลิตสิ่งพิมพ์มาตอบสนองความต้องการอย่างคึกคัก
บนถนนทรงสวัสดิ์ซึ่งอยู่ติดกับถนนทรงวาด ปรากฏพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร หรือ “วัดเกาะ” ที่เรียกกันแบบนี้เพราะในอดีตเคยมีคูคลองล้อมรอบวัด ย่านวัดเกาะแห่งนี้เองเป็นจุดที่พักแห่งแรกของมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ในสมัยรัตนโกสินทร์
มิชชันนารีโปรเตสแตนท์คนแรกที่เดินทางมาถึงไทยคือศาสนาจารย์คาร์ล กุตสลาฟฟ์ (Karl Friedrich August Gützlaff) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “หมอกิสลับ” เป็นชาวเยอรมัน มาถึงเมือง “บางกอก” เมื่อ พ.ศ. 2371 เมื่อมาถึงก็แจกหนังสือสอนศาสนาที่นำมาจากเมืองจีน เนื่องด้วยกลุ่มมิชชันนารียุคแรกที่เข้ามานั้นมักแจกหนังสือและยา คนไทยจึงเรียกมิชชันนารีว่า “หมอ” โดยเริ่มจาก “หมอกิสลับ”
เนื่องด้วยการเผยแพร่ศาสนา ทางคริสตจักรให้ความสำคัญกับการใช้หนังสือประกอบการเผยแพร่ จึงไม่แปลกที่มิชชันนารีที่เข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสนใจด้านการพิมพ์ไปด้วย และบางรายก็ศึกษาเรียนรู้การพิมพ์ไปโดยปริยาย
“หมอกิสลับ” แปลหนังสือทางศาสนาเป็นภาษาไทยจำนวนมาก และยังต้องเดินทางไปมาระหว่างสิงคโปร์กับกรุงเทพฯ เพื่อจัดการพิมพ์หนังสือ โดยในยุคนั้นสิงคโปร์ และมะละกาถือเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้
หลังจาก “หมอกิสลับ” ยังมีมิชชันนารีทยอยเดินทางเข้าไทยหลายราย คนที่มีบทบาทสำคัญในไทยและคนทั่วไปคุ้นชื่อกันดีคือ มิชชันนารีอเมริกันชื่อ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ซึ่งเดินทางมาไทยเมื่อ พ.ศ. 2378
เมื่อเดินทางถึงไทยแล้ว หมอบรัดเลย์ มาพักอาศัยอยู่ที่วัดเกาะเป็นแห่งแรก น่าจะด้วยเหตุว่าเป็นชุมชนที่มีชาวจีนอาศัยเป็นจำนวนมาก (จีนเป็นเป้าหมายใหญ่สำหรับเผยแพร่ศาสนาของกลุ่มโปรเตสแตนท์ในยุโรปและอเมริกา) พักร่วมกับศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน (Stephen Johnson) โดยหมอบรัดเลย์ เปิดห้องจำหน่ายยาและให้คำแนะนำที่ใต้ถุนบ้านพัก (ส.พลายน้อย, 2555)
มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในยุคนั้นนำเอาความรู้สมัยใหม่และเทคโนโลยีทั้งด้านการแพทย์และการพิมพ์เข้ามาให้ “ชาวสยาม” ได้รู้จัก สำหรับกรณีของหมอบรัดเลย์ อาจกล่าวได้ว่า คือ ผู้ริเริ่มใช้ “วัคซีน” ในไทย โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 เขาปลูกฝีสร้างภูมิคุ้มกันไข้ทรพิษครั้งแรกในไทยได้สำเร็จเมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2378 และหมอบรัดเลย์คนเดียวกันนี้ยังถือกันว่าเป็นผู้ “ผ่าตัดใหญ่” ครั้งแรกในไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2380 เป็นการผ่าตัดรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปืนใหญ่ระเบิด (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2561)
ทั้งนี้ การแพทย์และการพิมพ์ที่มาจากมิชชันนารีนั้น เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลักของมิชชันนารี นั่นก็คือการเผยแพร่ศาสนา การรักษาผู้ป่วยต่างๆ เมื่อเสร็จกระบวนการแล้ว มิชชันนารีจะแจกเอกสารใบเผยแพร่ทางศาสนาพร้อมยา ให้ไปสวดท่อง ทานยา ขอพรพระเจ้าแล้วจะหาย ซึ่งก็มีผู้รับการรักษาแล้วหาย ทำให้คนอยากได้เอกสารมาก (แม้ว่าในเวลานั้นผู้อ่านหนังสือไม่ออกยังมีอยู่มากก็ตาม)
สำหรับ “เอกสาร” ที่มิชชันนารีแจกในสมัยนั้นก็ถือเป็นของใหม่เช่นกัน เดิมทีแล้ว ในยุคก่อนจะมีโรงพิมพ์เกิดขึ้น คนไทยมีหนังสือที่จารลงในใบลานและเขียนในสมุดข่อย เรียกกันว่า “สมุดไทย” การพิมพ์ในยุคแรกของไทยคาดว่าเป็นการพิมพ์แบบใช้แกะตัวพิมพ์จากบล็อกไม้ (Xylograph) ราวสมัยรัชกาลที่ 1 แต่สมัยนั้นยังไม่มีแท่นพิมพ์(ในลักษณะเครื่องจักร)และตัวพิมพ์ (ส.พลายน้อย, 2548)
ตัวพิมพ์ภาษาไทยยุคแรกมักเป็นที่รับรู้กันว่ามาจากนางแอนน์ ฮาเซลไทน์ จัดสัน มิชชันนารีในพม่าที่สนใจการพิมพ์หนังสือไทยจนจัดให้แกะตัวพิมพ์ภาษาไทยสำหรับพิมพ์หนังสือสอนศาสนาแจกจ่ายเชลยไทยในพม่าราว พ.ศ. 2362 เชื่อกันว่าตัวพิมพ์ภาษาไทยที่เกิดขึ้นในพม่าถูกนำมาใช้พิมพ์หนังสือไทยที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย โดยรอ. เจมส์ โลว์ เมื่อ พ.ศ. 2371 (ปรามินทร์ เครือทอง, 2561)
หลังจากนั้น เชื่อกันว่า ตัวพิมพ์ชุดนี้ถูกนำมาที่สิงคโปร์โดยมิชชันนารีจากลอนดอน หมอบรัดเลย์ ซึ่งขึ้นท่าที่สิงคโปร์ก่อนเข้ามาไทยเป็นผู้ได้รับตัวพิมพ์ต่อมาและนำเข้ามาที่ไทยเพื่อใช้ในกิจการเผยแพร่ศาสนา
กลับมาที่เส้นทางของหมอบรัดเลย์ ภายหลังจากเข้ามาพำนักที่วัดเกาะแล้ว หมอบรัดเลย์ย้ายที่พักอาศัยไปอีกหลายครั้ง กระทั่งมาตั้งโรงพิมพ์ที่ตรอกกัปตันบุช เป็นโรงพิมพ์ของคณะอเมริกันบอร์ด ซึ่งเชื่อกันว่าโรงพิมพ์แห่งนี้เป็นโรงพิมพ์แรกในประเทศไทย พิมพ์คำสอนศาสนาเป็นภาษาไทย ข้อมูลหลายแห่งบอกตรงกันว่า โรงพิมพ์ตั้งอยู่ที่นี่ตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2378 ถึง พ.ศ. 2381 จากนั้นก็ย้ายไปตั้งหน้าวัดประยุรวงศ์ อันเป็นบ้านของหมอบรัดเลย์
การพิมพ์หนังสือภาษาไทยชุดแรกของไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2379 โดยหมอบรัดเลย์ และหมอโรบินสัน (Robinson) ร่วมกับนายดาเวนพอร์ต (Davenport) ที่เป็นช่างพิมพ์เดินทางมาไทยปี พ.ศ. 2379 พิมพ์บัญญัติสิบประการพร้อมคำนำและคำอธิบายคำอธิษฐานสั้นๆ พิมพ์ 1,000 เล่ม ตัวพิมพ์ที่ใช้หล่อในเซรัมปัวร์ อินเดีย ที่หมอบรัดเลย์ติดตัวมาจากสิงคโปร์
เวลาต่อมา คณะมิชชันนารีได้รับแท่นพิมพ์ใหม่ หมอบรัดเลย์ พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นเมื่อ พ.ศ. 2482 และเมื่อ พ.ศ. 2484 หมอบรัดเลย์ ได้ช่างพิมพ์มาช่วยประดิษฐ์ตัวพิมพ์ภาษาไทยใหม่ จัดทำเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2485 หมอบรัดเลย์นำไปถวายเจ้าฟ้ามงกุฎ 1 ชุด พร้อมกับตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษ 1 ชุด
เมื่อได้ตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดใหม่แล้ว หมอบรัดเลย์เริ่มจัดพิมพ์หนังสือที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา ได้ออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 คือหนังสือจดหมายเหตุ Bangkok Recorder (บางกอกรีคอร์เดอร์) ฉบับแรกออกเมื่อ พ.ศ. 2387
กล่าวได้ว่า หมอบรัดเลย์ อาศัยโรงพิมพ์สำหรับบำรุงกิจการเผยแพร่ศาสนาและหาเลี้ยงชีพไปด้วย โดยทั้งรับจ้างพิมพ์ และซื้อลิขสิทธิ์นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัยมาพิมพ์ พิมพ์นิยายอย่างสามก๊กจากต้นฉบับของเจ้าพระยาคลัง ไปจนถึงพงศาวดารไทยออกวางขาย เรียกได้ว่าเป็นยุคที่การพิมพ์ช่วยผลิตแหล่งเรียนรู้และแหล่งศึกษาหาข้อมูลออกมาทำให้การศึกษาออกสู่สังคมวงกว้างก็ว่าได้
อิทธิพลของหมอบรัดเลย์ ต่อการพิมพ์ในไทยทำให้เวลาต่อมาเมื่อหมอบรัดเลย์ เลิกผลิตหนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์เมื่อ พ.ศ. 2409 มี “ครูสมิท” (Samuel Jones Smith) มาตั้งโรงพิมพ์ที่บางคอแหลมบ้างใน พ.ศ. 2411 ออกหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาไทยชื่อ จดหมายเหตุสยามไสมย เมื่อ พ.ศ. 2425 และมีพิมพ์หนังสือบทกลอนขาย จนกลายเป็นต้นแบบของหนังสือบทกลอนยุคต่อมา มีผู้ตั้งโรงพิมพ์ออกหนังสือบทกลอนมากมายเพราะเห็นว่าขายดี
ครูสมิทพิมพ์หนังสือบทกลอนขายดีจนถูกฝรั่งไปฟ้องศาลกงสุลอังกฤษ กล่าวหาว่าพิมพ์หนังสือนอกรีต ผิดวิสัยมิชชันนารี จนศาลสั่งห้าม ครูสมิทเดือดร้อนถึงขั้นขายเลหลังหนังสือ มีโรงพิมพ์อื่นมารับซื้อไว้
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสมัยของเรื่องนิทานคำกลอนได้รับความนิยม มีผู้จัดพิมพ์เนื้อหาใหม่ๆ กันหลายเจ้า มีคนอ่านกันมาก เรื่องเหล่านี้เองที่เรียกกันภายหลังว่า “จักรๆ วงศ์ๆ”
ส.พลายน้อย คาดว่า ที่เรียกจักรๆ วงศ์ๆ เพราะชื่อเรื่องส่วนมากมักลงท้ายว่า “จักร” หรือ “วงศ์” ความนิยมของเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ในแง่หนึ่งคือให้ความบันเทิง อีกด้านหนึ่ง ในแง่มุมทางธุรกิจ เรื่องราวที่คนนิยมอ่านก็ทำให้เกิดโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือกลอนวางขายกันแพร่หลาย ขยายไปสู่เรื่องนิราศต่างๆ อีกด้วย ประจวบเหมาะกับช่วงที่โรงพิมพ์ฝรั่งเลิกกิจการไปหลายแห่ง ผู้ที่รู้วิชาการพิมพ์ทั้งที่เป็นชาวจีนและคนไทยที่มีฐานะดีก็มักซื้อแท่นพิมพ์มาประกอบกิจการในช่วงที่วิชาการพิมพ์แพร่หลายแล้ว ส.พลายน้อย นักเขียนอาวุโสเล่าไว้ว่า ยุคนั้นปรากฏตำราการพิมพ์โดยครูสมิทชื่อ “ตำราการโรงพิมพ์” เกิดขึ้นแล้ว จึงคาดว่ามีผู้รู้วิชาการพิมพ์จำนวนไม่น้อยแล้ว
ในบรรดาผู้พิมพ์นิทานคำกลอนที่มีชื่อเสียง มีชื่อของโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ตั้งอยู่ย่านวัดเกาะรวมอยู่ด้วย โรงพิมพ์แห่งนี้นิยมเรียกกันว่า โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ เจ้าของคือ “นายสิน” (ต่อมาใช้นามสกุลว่า ลมุลทรัพย์) ว่ากันว่าเป็นคนมีน้ำใจไมตรี จึงมีผู้แต่งกลอนมาเสนอขายผลงานกันมากหน้าหลายตา
เดิมทีโรงพิมพ์แห่งนี้ใช้ชื่อว่า “โรงพิมพ์นายสิน” อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลปรากฏแน่ชัดว่านายสินก่อตั้งโรงพิมพ์แห่งนี้เมื่อใด จากคำโฆษณาที่ปรากฏในหนังสือรุ่นเก่าจะมีเขียนบนปกว่า “โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ” แล้วก็เขียนว่า “ร.ศ. 108” ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432) หมายถึงอะไร แต่คาดกันว่าโรงพิมพ์แห่งนี้น่าจะมีมาไม่ต่ำกว่าพ.ศ. 2432 แล้ว
ในสมัยนั้นเกิดโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงขึ้นหลายแห่งในย่านสำเพ็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านวัดเกาะ เช่น โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หรือโรงพิมพ์ห้างสมุด จนมีคำเรียกกันในหมู่คนนิยมหนังสือเก่าว่า “วรรณกรรมวัดเกาะ” หรือหนังสือวัดเกาะ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ “โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ” อย่างเดียว แต่หมายถึงประเภทหนังสือขนาดเล็กที่เป็นขนาดเดียวกันแต่เป็นของโรงพิมพ์อื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง เป็นหนังสือตั้งแต่เรื่อง จักรๆ วงศ์ๆ นิราศ พงศาวดาร เพลงพื้นบ้าน หรือแม้แต่หนังสือบทสวดมนต์
ปัจจุบันหนังสือเก่าเหล่านี้กลายเป็นหนังสือหายากแล้ว ที่พอจะหาอ่านและได้ก็จากแหล่งหนังสืออย่างห้องสมุดต่างๆ บางแห่งมีบันทึกข้อมูลจัดเก็บในระบบสืบค้นออนไลน์ เช่นของสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/)
หากย้อนกลับไปพิจารณาเส้นทางวิทยาการการพิมพ์และการทำสื่อ(ใหม่)ในอดีต ย่อมเห็นได้ว่า หมอบรัดเลย์ผู้เริ่มต้นการพิมพ์ยุคแรกในไทยก็มาตั้งต้นพักอาศัยในย่านวัดเกาะแถบถนนทรงวาด เมื่อการพิมพ์ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นในเวลาต่อมา มีผู้พิมพ์หนังสือหลายชนิดมากขึ้น ทั้งในด้านการศึกษา ข้อมูลข่าวสาร และที่สุดก็คือความบันเทิงที่เข้าถึงวิถีชีวิตผู้คนได้ง่าย
โอกาสที่ปรากฏขึ้นทำให้เกิดผู้สนใจเข้ามาดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายบทกลอน นิทาน นิราศ และหนังสือต่างๆ โดยจุดที่ตั้งของโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงก็มาอยู่ในย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตอย่างแถบถนนทรงวาด สะท้อนความสำคัญในแง่ศูนย์กลางทั้งทางการค้าและในเชิงวัฒนธรรมของถนนทรงวาดในอดีต
อิทธิพลของผ้าจากชาวมุสลิม
อิทธิพลของผ้าจากชาวมุสลิม
ดังที่กล่าวมาในช่วงต้นและในเนื้อหาหัวข้ออื่นของซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” ซึ่งเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ว่าเสน่ห์อีกประการของย่านถนนทรงวาดคือความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันโดยมีจุดเชื่อมโยงกันระหว่างความแตกต่างของแต่ละกลุ่มชนคือกิจกรรมทางการค้า
คนแต่ละกลุ่มที่เข้ามาอาศัยในแถบถนนทรงวาดในอดีตล้วนประกอบอาชีพตามทักษะและความเชี่ยวชาญของตัวเอง ปัจจุบัน หากเดินลัดเลาะไปในถนนวานิช 1 (หรือถนนสำเพ็ง) ที่ตั้งอยู่ติดกับถนนทรงวาดจะพบกิจการห้างร้านของชาวมุสลิมเป็นร้านขายอัญมณี เพชรพลอย และเครื่องประดับอยู่ด้วย นอกเหนือจากห้างร้านที่พบเห็นได้ในปัจจุบันแล้ว ในอดีตกิจการของชาวมุสลิมที่เคยได้รับความนิยมยังมีสินค้าประเภทผ้าด้วย
หรือหากเดินเที่ยวชมถนนทรงวาดไปในฝั่งที่อยู่ติดกับถนนราชวงศ์ จะพบอาคารเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แบบชาวมุสลิมตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนพอดี
นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียและข้อมูลของชาวอินเดียในไทยตั้งข้อสังเกตว่า สถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้น่าจะมาจากอินเดีย อ้างอิงจากลักษณะของอาคารรูปทรงแบบอินเดียตะวันตก โดยอาคารบางส่วนที่ตั้งอยู่ในเมืองสุรัต (Surat) แคว้นกุจราด (Gujarat) และในเมืองมุมไบ (Mumbai) ก็มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้ท่าน้ำราชวงศ์ เป็นย่านของกลุ่มเชื้อชาติที่ชาวไทยเรียกว่า “แขก” ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ในแถบพาหุรัดกันเป็นส่วนใหญ่ ถึงอาคารแห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งร่องรอยของบทบาทกิจการของชาวอินเดียในย่านทรงวาดครอบคลุมไปถึงบทบาทของชาวอินเดียในสยามในอดีต และมีแหล่งข้อมูลหลายแห่งและเสียงบอกเล่าต่อกันมาบางส่วนบอกว่า อาคารแห่งนี้เป็นตึกเก่าของกิจการมัสกาตี (Maskati) กิจการผ้าเก่าแก่ของชาวอินเดียในไทย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเชิงลึกของประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ พบว่า อาคารแห่งนี้ไม่ได้มีประวัติความเป็นมาตามที่หลายคนคิดในลักษณะที่เอ่ยถึงข้างต้น
ก่อนจะกล่าวถึงกิจการมัสกาตี ในที่นี้จำเป็นต้องชี้แจงข้อมูลอีกด้านจากนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ว่า แม้มัสกาตี จะเป็นกิจการเก่าแก่ในสยามที่มีอายุร่วม 165 ปี มีอาคารหลายแห่งที่มัสกาตี ถือครองในอดีตและปัจจุบัน แต่อาคารเก่าที่หัวมุมถนนทรงวาดไม่ใช่อาคารของมัสกาตี ตามที่เข้าใจกัน
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าอินเดียอ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทายาทที่สืบทอดกิจการมัสกาตีในยุคปัจจุบันประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่บ่งชี้ว่า อาคารแห่งนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจการมัสกาตี
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ให้สัมภาษณ์โดยเล่าว่า จากการตรวจสอบข้อมูล โดยรวมแล้วอาคารดังกล่าวมีเจ้าของเดิมชื่อ “ราชา ราชา” (Raja Raja) เป็นชาวอินเดียที่ทำธุรกิจในไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งเมื่อเกิดสงคราม คาดว่าเจ้าของเดิมเดินทางกลับอินเดีย หลังจากนั้นก็ไม่พบข้อมูลอีก
จากการศึกษาข้อมูลทำให้พบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มปะทุขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจส่งผลให้นักธุรกิจอินเดียในไทยขายกิจการและเดินทางกลับอินเดียไปหลายตระกูล เชื่อว่า ในบรรดานักธุรกิจที่กลับอินเดียไปในสมัยนี้รวมถึง “ราชา ราชา” ด้วย
แม้อาคารดังกล่าวจะไม่ใช่อาคารของกิจการมัสกาตี แต่ในอีกด้านหนึ่ง กิจการของตระกูลมัสกาตี ก็เคยปรากฏในแถบย่านทรงวาดด้วย
งานวิจัยโดยประภัสสร โพธิ์ศรีทอง อ้างอิงการสัมภาษณ์ ราชีด มัสกาตี (Mr. Rasheed Maskati) ทายาทรุ่นที่ 3 ของกิจการที่ให้ข้อมูลว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทมัสกาตีคือ อับดุลไตอิบเอศมันยี [Abdultyeb Esmailji (A.T.E.) Maskati] (พ.ศ. 2375-2441/ค.ศ.1832-1898) ตระกูลมัสกาตีเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์เชื้อสายอินเดียกลุ่มโบราห์จากเมืองสุรัต เดินทางเข้ามาประกอบการค้า ตั้งถิ่นฐานในเขตธนบุรี เริ่มต้นทำธุรกิจในกรุงเทพฯ ร่วมกับญาติรายหนึ่งเมื่อพ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) ระยะแรกนำเข้า “ผ้าลาย” และเริ่มมีชื่อเสียงในตลาดผ้าที่ไทยในเวลาต่อมา
โรงงานของบริษัทในอินเดียตั้งอยู่ที่เมืองอาห์เมดาบาด (Ahmedabad) แคว้นกุจราด นำวัตถุดิบเป็นผ้าขาวจากบอมเบย์ไปฟอกและพิมพ์ลวดลายที่เมืองอาห์เมดาบาด จากนั้นก็ตากแห้งและลงแป้ง เมื่อเสร็จกระบวนการจึงบรรจุแล้วส่งทางรถไฟกลับไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ (ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง, 2550)
จากการสืบค้นของประภัสสร โพธิ์ศรีทอง พบว่า มีพ่อค้ามุสลิมจากสุรัตที่นำผ้าจากอินเดียเข้ามาในไทยอีกหลายราย อาทิ ห้างวาสี มีอับดุล กาดอร์ ฮูเซนอลี มุสลิมจากอินเดียเป็นเจ้าของห้าง กลุ่มนี้ทำธุรกิจผ้าลาย ตั้งร้านค้าผ้าลายแถบมัสยิดที่เรียกกันว่า “ตึกขาว” (มัสยิดเซฟี) หลังจากนั้นก็ย้ายมาที่ท่าน้ำราชวงศ์ซึ่งอยู่ในแถบสำเพ็ง(ที่เป็นย่านศูนย์กลางการค้า)และถือว่าอยู่ในละแวกใกล้เคียงถนนทรงวาดในปัจจุบัน เช่นเดียวกับมัสกาตี และฮัจยี อาลี อะหะหมัด นานา ซึ่งเข้ามาไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพิเชตสรรพานิช (หรือบางเอกสารเขียนเป็นพระพิเทศาตระพานิช) ผู้เป็นต้นตระกูลนานา (ชื่อสกุลเดิมใช้ว่า เทปาเดีย) ผ้าที่นำเข้ามาขายเป็นผ้าทอดิ้นเงินดิ้นทองจากเมืองสุรัตที่อินเดียเรียกกันว่า เซอรี (Zeri)
หากพูดถึงชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียร่วมสมัยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับผู้ก่อตั้งมัสกาตี เอกสารบางกอก คาเลนดาร์ ราวช่วงปลายทศวรรษ 2400 ปรากฏชื่อพ่อค้ามุสลิมนิกายสุหนี่จากอินเดียรายหนึ่งคืออาลี อะหะหมัด นานา (เทปาเดีย) ปรากฏอยู่ด้วย ซึ่งภายหลังคือต้นตระกูลนานา ในเอกสารระบุชื่อพ่อค้ารายนี้เปิดร้านในจัตุรัสมุสลิมด้วย
ขณะที่เอกสารบางกอก คาเลนดาร์ (Bangkok Calendar) เมื่อปี พ.ศ. 2404 (ค.ศ. 1861) ปรากฏรายชื่อพ่อค้ามุสลิมที่อยู่ในย่านการค้าซึ่งมีพ่อค้ามุสลิมในกรุงเทพฯ (เอกสารต้นฉบับใช้คำเรียกว่า Mussulman Square แปลเป็นไทยได้ว่า จัตุรัสมุสลิม) ไว้หลายรายเช่นกัน และมีชื่อของอับดุลไตอิบด้วย แต่สะกดเป็น “Abdool Teeap”
กิจการมัสกาตีหลังจากผ่านยุคผู้ก่อตั้งมาแล้วก็ยังอยู่ในการดูแลของคนในตระกูลอยู่ ทายาทรุ่นหลังของกิจการมัสกาตีเคยริเริ่มตั้งสำนักงานในประเทศต่างๆ โดยในปี พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935) มัสกาตีมีสำนักงานใหญ่ที่บอมเบย์ จากนั้นก็ขยายออฟฟิศของบริษัทไปตั้งที่สิงคโปร์, เมียนมา และกัมพูชา
ธุรกิจค้าผ้าในช่วงปลายทศวรรษ 2470 จนถึงต้น 2480 มีคู่แข่งในตลาดมากขึ้น กลยุทธ์ทางธุรกิจของกิจการก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ใช้การโฆษณา ออกร้านในงานฉลองวาระสำคัญเช่นงานฉลองรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้สนับสนุนต่างๆ เช่น เป็นผู้สนับสนุนผ้าลายให้พิศมัย โชติวุฒิ สวมใส่ในการประกวดนางสาวสยาม เมื่อ พ.ศ. 2481 ซึ่งถือเป็นนางสาวสยามคนสุดท้ายก่อนเปลี่ยนเป็น “นางสาวไทย”
หากพูดถึงบทบาทของผ้าอินเดียแล้ว นับตั้งแต่สมัยอยุธยา ผ้าจากอินเดียได้รับความนิยมมายาวนาน ยุคหนึ่งเคยเป็นสินค้าที่นิยมกันในหมู่ชนชั้นสูง ลักษณะการนุ่งห่มในอดีตใช้ผืนผ้าที่ไม่มีการตัดเย็บ ความพิถีพิถันในการทอผ้าและลวดลายของผ้าจึงเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะของผู้สวมใส่ ผ้าอินเดียที่มีเอกลักษณ์พิเศษจึงถูกจำกัดเฉพาะในหมู่ราชสำนัก
อีกหนึ่งสิ่งที่พ่อค้าอินเดียนำเข้ามาด้วย นั่นคือรูปแบบการแต่งกายของเปอร์เซียและอินเดีย ภายหลังได้กลายมาเป็นรูปแบบฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ไปจนถึงเครื่องแต่งกายของขุนนาง และข้าราชการในราชสำนักอยุธยา บางส่วนสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และยังพบเห็นได้ในเครื่องแต่งกายในพระราชพิธีสำคัญในปัจจุบัน (ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง, 2550)
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการแต่งกายแบบตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในสังคมมากขึ้น การผูกขาดผ้าเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงเริ่มลดลง คนทั่วไปเข้าถึง “ผ้าลาย” จากอินเดียกันมากขึ้น นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องผ้าอินเดียตั้งข้อสังเกตว่า ผ้าลายจากอินเดียที่จำหน่ายโดยกิจการมัสกาตี และกิจการผ้าอินเดียกลุ่มอื่นในเวลาไล่เลี่ยกันในย่านราชวงศ์อย่าง ห้างมัลบารี และห้างวาสี ลักษณะลวดลายมีขนาดเล็ก สำหรับ “ผ้าลาย” แบบมัสกาตี มีลักษณะเป็นลวดลายขนาดเล็ก พิมพ์ลงบนผ้าฝ้ายที่ย้อมสี ลวดลายบนผ้าเกิดจากการใช้แม่พิมพ์ไม้ประทับลงบนผ้าพิมพ์ ซึ่งลวดลายต่างจากผ้าลายของพระมหากษัตริย์หรือเครื่องยศของขุนนางในอดีตที่มักมีลวดลายขนาดใหญ่กว่าและประณีต
จึงคาดว่า ผ้าลายจากอินเดียในยุคหนึ่งที่ยังปรากฏห้างมัสกาตี มัลบารี และวาสี มีแนวโน้มเป็นผ้าลายสำหรับคนทั่วไปในช่วงที่สามัญชนนิยมผ้าลายมากขึ้น ขณะที่ราชสำนักก็ผ่อนคลายการจำกัดผ้าลายลง และหันไปรับรูปแบบการแต่งกายจากตะวันตกเข้ามา
ความนิยมของผ้าลายจากอินเดียเริ่มลดลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะคนไทยพัฒนาผ้าลายไทยขึ้นมาเป็นคู่แข่ง เมื่อผ้าลายไทยได้รับความนิยมมากขึ้น ผ้าลายจากอินเดียได้รับผลกระทบ ยอดขายลดลงถึงขั้นพ่อค้าค่อยๆ เลิกสั่งสินค้าเข้ามา
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายรัฐนิยม ให้ประชาชนนุ่งผ้าถุงแทนผ้าโจงกระเบน บริษัทค้าผ้าจากอินเดียได้รับผลกระทบมาก บางแห่งหันไปทำกิจการอย่างอื่น กรณีกิจการมัสกาตีก็ลดนำเข้าผ้าลายและมายุติธุรกิจด้านผ้าลายในช่วง พ.ศ. 2493-2498 เปลี่ยนไปดำเนินธุรกิจอื่น (ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง, 2550)
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ล้วนส่งผลเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตเสมอ ย่านราชวงศ์ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของกิจการห้างร้านค้าขายลายหลายแห่ง อาทิ ห้างมัลบารี ห้างวาสี ไปจนถึงห้างร้านสินค้าประเภทเครื่องเขียน ของใช้ในครัวเรือน และเครื่องถ้วยแก้ว หลายแห่งเคลื่อนย้ายที่ตั้งไปแล้ว แต่กิจการมุสลิมอินเดียบางแห่งก็ยังหลงเหลือร่องรอยมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ว่า บริเวณซอยวานิช 1 (แถววัดเกาะ) มีร้านขายเพชรพลอยอยู่ด้วย
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ร่องรอยแห่งกาลเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ บางครั้งจางหายไปตามยุคสมัย บางสิ่งยังหลงเหลือให้ได้เชยชมกันอยู่ และหากพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆในยุคสมัยนี้ ร้อยเรียงย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในอดีต ข้อมูลที่พบล้วนสะท้อนของสภาพในอดีตว่า ย่านทรงวาดคือพื้นที่ของความทรงจำหลากหลายมิติอย่างแท้จริง ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องการคมนาคม การค้า ความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนสถาน และ “วิทยาการใหม่” ในอดีตที่ล้วนส่งอิทธิพลต่อสังคมไทย บางอย่างยังพบเห็นร่องรอยได้ในปัจจุบัน
อ้างอิง
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย ในวาระ 100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ.2461-2561).
จี. วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ภรณี กาญจนัษฐิติ และคณะ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548
ธนินท์ เจียรวนนท์. ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562.
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง. “พ่อค้ามุสลิมกับการค้าผ้าอินเดียในหน้าประวัติศาสตร์ไทย, ” ใน วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2550.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546.
สุกัญญา ตีระวนิช. หมอบรัดเลกับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2528.
ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2555.
ส.พลายน้อย. สำนักพิมพ์สมัยแรก. กรุงเทพฯ : คอหนังสือ, 2548.
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.
เว็บไซต์
ธนินท์ เจียรวนนท์. “จากเมืองแต้จิ๋ว สู่การตั้งรกรากที่กรุงเทพฯ (2)”. แปลและเรียบเรียงโดย ภรณี จิรวงศานนท์, มร.หวง เหวยเหว่ย. ใน กรุงเทพธุรกิจ. ออนไลน์. เผยแพร่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559. เข้าถึง 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562. <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/720073>
ปรามินทร์ เครือทอง. เสวนา “หมอบรัดเลย์ : นายแพทย์ – นักหนังสือพิมพ์ ผู้สร้าง ‘มีเดียใหม่’ ในสยาม”. เมื่อ 19 กรกฎาคม 2561. สืบค้นย้อนหลังเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2564. < https://www.silpa-mag.com/on-view/article_19954>
ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง. “ชุมชนอินเดียย่านตึกแดงตึกขาว : ประวัติศาสตร์การค้าผ่านภาพถ่ายเก่า”. Thai Tribune. เว็บไซต์. อัปเดตเมื่อ 9 มิถุนายน 2558. เข้าถึงเมื่อ4 พฤศจิกายน 2564. <http://www.thaitribune.org/contents/detail/331?content_id=11858&rand=1467337163>
“เรื่องเล่าของอาม่า ตำนานที่มา…ตระกูล ‘เจียรวนนท์’ ”. Brand Buffet. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 14 มกราคม 2559. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2564. <https://www.brandbuffet.in.th/2014/01/chearavanont-family-behind/>
เรื่องเล่าของอาม่า คุณแม่เจียร เจียรวนนท์ 107 ปี แห่งความทรงจำ ความเป็นมาของบรรพชนแห่งสกุล “เจียรวนนท์” ที่น้อยคนจะได้ยิน. สืบค้นออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 18 กันยายน 2564. https://youtu.be/JLpDK1-N0a4
Maskati Celebrates 160 Years. ATEMS. Access 4 NOV 2021. < https://atems.com/maskati-celebrates-160-years/
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564