ตำรวจจับเจ้าของร้านขนมปังทั้งฮ่องกง ข้อหาวางยาพิษ เซอร์จอห์น เบาริ่ง

ตำรวจอังกฤษกำลังสอบสวนเจ้าของร้านขนมปัง และมีการตั้งข้อหาวางยาพิษเพื่อสังหารชาวอังกฤษ (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEWS วันที่ 28 มีนาคม 1857/ภาพสะสมของไกรฤกษ์ นานา)

15 มกราคม 1857 ชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนชาวอังกฤษ 400 คน รวมทั้งครอบครัวของ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ล้มป่วยกะทันหันจากการถูกวาง “ยาพิษ” ที่ใส่ไว้ในขนมปัง แต่เนื่องจากฆาตกรต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็ว จึงใช้ปริมาณยาพิษจำนวนมาก ผู้ที่กินขนมปังจึงเกิดอาการคลื่นไส้รุนแรง อาเจียนยาพิษบางส่วนออกมา ร้านขนมปังทุกแห่งบนเกาะฮ่องกงถูกจับและตั้งข้อหา

นี่ถือเป็นข่าวอุกอาจ ที่ช็อคโลกจริงๆ มันเกิดอะไรขึ้น

ย้อนไปกลับดูเหตุการณ์ก่อนหน้าว่า มันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เริ่มตั้งแต่ปี 1852 เซอร์จอห์น เบาริ่ง เดินทางไปเกาะฮ่องกง เพื่อรับตำแหน่งเจ้าเมืองฮ่องกง และรักษาการราชทูตอังกฤษคนใหม่ประจำประเทศจีน ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ค่อยคุกรุ่น อันเนื่องจากความพยายามของเซอร์จอห์น ในการแก้ไขสนธิสัญญานานกิงใน 3 ประเด็นปัญหาหลัก คือ

  1. คนอังกฤษทำการในเมืองกวางตุ้ง เฉพาะที่นอกกำแพงเมืองเท่านั้น

2. เมืองท่าเพื่อการค้ามีเพียง 5 แห่ง แต่อังกฤษต้องการมากกว่านั้น

3. อังกฤษต้องการให้จีนยอมรับ “ฝิ่น” เป็นสินค้าถูกกฎหมาย

การแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ร่วมมือกันเจรจาเพื่อให้จีนแก้ไขสนธิสัญญานานกิง แต่เย่หมิงเจิ้น-ข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลกวางตุ้ง ที่มีทีท่าต่อต้านชาวต่างชาติอย่างเปิดเผยอยู่เดิม ปฏิเสธการเจรจา เพราะเห็นว่าจะทำให้จีนเสียเปรียบมากขึ้น ขณะที่อังกฤษก็พยายามเดินหน้ากดดันจีน

8 ตุลาคม 1856 เรือสินค้าแอร์โรว์ ของอังกฤษ ที่จอดเทียบท่าอยู่ถูกตรวจค้น ทหารจีนจับลูกเรือ 12 คน ในข้อหาเป็นสมาชิกกบฏไต้ผิง พบว่าลูกเรือ 3 เป็นพวกกบฏจริง นอกจากนี้ทะเบียนยังไม่ได้ต่ออายุ จึงเท่ากับเป็นเรือไร้สัญชาติ หากฝ่ายอังกฤษยังพยายามเรียกร้องค่าเสียหายจากจีน แต่เย่หมิงเจิ้นไม่ได้สนใจกับข้อเรียกร้องดังกล่าว

23 ตุลาคม ปีเดียวกัน เซอร์จอห์น เบาริ่ง โต้ตอบด้วยการออกคำสั่งให้พลเรือเอกซีมอร์ ระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองกวางตุ้ง ทหารจีนเสียชีวิต 5 นาย กระสุนปืนใหญ่ลูกหนึ่งตกลงบนบนหลังคาบ้านเย่หมิงเจิ้น สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

เย่หมิงเจิ้น สั่งระดมพล และประกาศตั้งค่าหัวทหารอังกฤษ 30 ดอลลาร์/คน อังกฤษก็โต้ตอบด้วยการตั้งค่าหัวทหารจีน 20 ดอลลาร์/คน การปะทะกันทำให้เกิดผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จากการยิงปืนใหญ่ของอังกฤษอย่างต่อเนื่อง เย่หมิงเจิ้น ประกาศให้คนจีนฆ่าคนอังกฤษทุกคนเพื่อล้างแค้น และประกาศตั้งค่าหัวแม่ทัพอังกฤษ 5,000 ดอลลาร์ ส่วนเซอร์จอห์นและกงสุลอยู่ที่คนละ 30,000 ดอลลาร์ ไม่ว่าจับเป็นหรือจับตาย สถานการณ์ลุกลามไปทั่วฮ่องกงและมาเก๊า ชาวจีนเผาโกดังสินค้า และบ้านพักของชาวอังกฤษ ผู้ช่วยกงสุลตายในกองเพลิง รัฐบาลอังกฤษเปิดประชุมสมัยวิสามัญเป็นการด่วน

ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่เหตุการณ์วางยาพิษใน “ขนมปัง” ข้างต้น

หลังการลอบวางยาพิษ ความวิตกจริตในหมู่ชาวตะวันตกทั่วเกาะฮ่องกง ตำรวจและหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษค้นหาและจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยไปไมกว่า 500 คน

เซอร์จอห์นผู้ใช้เหตุการณ์ลอบสังหารชาวอังกฤษเป็นข้ออ้างในการโจมตีกวางตุ้งอย่างจริงจัง เขาระบุในจดหมายลงวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1857 ถึงลอร์ดแคนนิ่ง ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย ขอให้กองทัพเรือทั้งหมดเท่าที่จะระดมได้ เข้ามายังฮ่องกงเป็นการด่วน เพื่อยึดกวางตุ้งซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีน

ขณะที่ในประเทศอังกฤษเอง กรณีพิพาทจากเรือแอร์โรว์ และคดีลอบวางยาพิษ ต้นปี ค.ศ. 1857 เอิร์ลแห่งดาร์บี้-หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ขอให้เปิดสภาเป็นวาระฉุกเฉินเพื่อโหวตลงมติไม่ไว้วางใจพรรครัฐบาล ซึ่งดูแลกิจการด้านอาณานิคม

24 กุมภาพันธ์ 1857 เอิร์ลแห่งดาร์บี้ประณามเซอร์จอห์นว่า การกระทำของเย่หมิงเจิ้น เป็นการปกป้องตนเองและอธิปไตยของชาวจีน เซอร์จอห์นต่างหากที่กระทำเกินเลย และยืนยันที่จะไม่สนับสนุนความพยายามของเซอร์จอห์น เบาริ่ง ที่ของบประมาณ เรือรบ อาวุธ และทหารหาญเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ไกรฤกษ์ นานา. “‘กรณีลอบสังหาร’ เซอร์จอห์น เบาริ่ง คดีอึกทึกที่ต้องปิดเงียบไว้” ใน, สยามกู้อิสรภาพตนเองฯ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2564