“ฝิ่น” หมัดเด็ดที่อังกฤษใช้แก้ลำจีนที่กีดกันการค้า และยึดเมืองจีน

คนอังกฤษ (นั่งซ้าย) สอนคนจีนให้ต้มฝิ่นดิบจนชาวจีนติดฝิ่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง (ภาพจาก THE BRITISH IN THE FAR EAST)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 18 เป็นมูลเหตุที่ผลักดันให้อังกฤษเกิดความทะเยอทะยานที่จะเป็นเจ้าโลก และหันมาสะสมอาณานิคม ขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมสร้างความได้เปรียบเชิงการผลิตแก่อังกฤษด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

ทว่าความเจริญทางอุตสาหกรรมก็ทำให้อังกฤษต้องการแหล่งระบายสินค้าใหม่ และทรัพยากรสำหรับเป็นวัตถุดิบที่จำเป็น ทวีปเอเชียจึงเป็นพื้นที่เป้าหมาย โดยมีอินเดีย ตัวอย่างความภาคภูมิใจของอังกฤษ ทั้งการเมือง การค้าของอินเดียถูกอังกฤษครอบงำใน ค.ศ. 1818 เป็นเมืองขึ้นแห่งแรกในเอเชีย

หากอังกฤษพบเป้าหมายที่ “ท้าทาย” กว่าอย่าง “จีน” พี่ใหญ่ในภูมิภาค แต่ปัญหาที่อังกฤษต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นการกีดการค้า, การขาดดุลการค้ากับจีน, การขับไล่บาทหลวงนิกายเจซูอิตที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ฯลฯ ก่อนที่จะจบลงด้วย “ฝิ่น” เครื่องมือทรงพลังที่ได้ผล ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ใน “ฉากหลัง เซอร์จอห์น เบาริ่ง ตอนที่ 1 แผนยึดเมืองจีน โดยใช้ฝิ่นครอบงำ” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2553 แต่ในที่นี้ขอนำมาเสนอเพียงบางดังนี้

ที่ผ่านมา การติดต่อระหว่างอังกฤษกับจีนไม่ได้เป็นการติดต่อเจริญทางพระราชไมตรีกับทางราชสำนักทั่วไปตามปกติเหมือนการติดต่อระหว่างประเทศเอกราชทั้งหลายที่มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่เป็นการติดต่อทางการค้าระหว่างนายหน้า (ยี่ปั๊วหรือพ่อค้าคนกลาง) ของทั้ง 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายจีนตั้งหน่วยงานทางราชการ เป็นสำนักงานกลาง ผูกขาดตัดตอนทางการค้าขึ้น (ในสยามเรียกกรมพระคลังสินค้า – ผู้เขียน) ส่วนฝ่ายอังกฤษ ก็ใช้บริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) ซึ่งรัฐบาลอังกฤษตั้งขึ้นไว้ค้าขายกับอินเดีย ตั้งแต่ ค.ศ. 1600 ให้มาค้าขายกับจีนด้วย

เรียกได้ว่าทั้งจีนและอังกฤษก็ตั้งหน้าแต่จะทำการค้า กันโดยไม่พะวงถึงการพระราชไมตรีของราชสำนัก หมายถึงไม่มีจุดศูนย์กลาง คือกษัตริย์ของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นตัวเชื่อม ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและเกรงใจกัน ดังนั้น การติดต่อที่มุ่งเน้นไปที่ความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นสำคัญจึงนำไปสู่ความขัดแย้งได้โดยง่าย หากการจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัวจนเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นที่มาของความไม่ไว้ใจกันในที่สุด

และเนื่องจากการค้าของชาวยุโรปกับจีนจำกัดอยู่เฉพาะที่กวางตุ้ง จึงเกิดระบบการค้าที่รู้จักกันว่า ระบบกว่างโจว (Canton System) ซึ่งจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ทรงมอบหมายให้พวกเจ้าหน้าที่จีนที่เรียกว่า พวกฮอปโป (Hoppo) มีหน้าที่ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เก็บภาษี ท่าเรือ ฯลฯ เป็นผู้ดูแลการค้าขายกับพ่อค้าต่างชาติโดยเคร่งครัด โดยการกำหนดให้ชาวต่างชาติมาค้าที่กวางตุ้ง ในฤดูหนาวเท่านั้น ถ้ามาในฤดูอื่นให้จอดเรือรอคอยอยู่ที่มาเก๊า (Macao) ก่อน เมื่อมาถึงเมืองกวางตุ้ง ก็กำหนดให้พักอยู่นอกเมืองด้านตะวันตกเฉียงใต้ที่มีโรงงานขนาดย่อมตั้งอยู่ 13 แห่ง และไม่อนุญาตให้พ่อค้าต่างชาติเข้ามาในกำแพงเมือง

พ่อค้าต่างชาติติดต่อค้าขายได้กับกลุ่มพ่อค้าจีนสิบกว่าคนที่เรียกว่า พวกโคฮง (Cohong) พวกเหล่านี้คือ กลุ่มพ่อค้าจีนมีหน้าที่ดูแลการค้ากับต่างชาติในนามของรัฐบาลจีน ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มพ่อค้าจีนนี้ เรียกว่า หัวกัว (Howguo) พ่อค้าต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับข้าราชการอื่นๆ ด้วย หากพ่อค้าต่างชาติตั้งผู้แทนเข้าไปก็ต้องผ่านโคฮงผู้ผูกขาดการติดต่อค้าขาย ของจีนกับต่างประเทศเสียก่อน ข้าราชการจีนก็ต้องฟังความคิดเห็นและเชื่อตามข้อเสนอของพวกโคฮง

รัฐบาลจีนจัดตั้ง “โคฮง” ขึ้นที่เมืองกวางตุ้งก่อน แต่พอถึง ค.ศ. 1759 ก็ไม่อนุญาตให้พ่อค้ายุโรปค้าขายที่เมืองอื่นๆ นอกจากกวางตุ้งเท่านั้น ทั้งเริ่มวางกฎที่เข้มงวดควบคุมความประพฤติและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยุโรป เช่น บังคับให้คนต่างชาติพักอาศัยได้เฉพาะในเขตพิเศษของตัวเมืองเท่านั้น และจะไม่ออกใบอนุญาตให้ชาวต่างชาติพักอยู่นานเกินกว่าเมื่อติดต่อการค้าสำเร็จลงแล้ว การกระทำของจีนเช่นนี้ทำให้ชาวต่างชาติออกมาประท้วง แต่ทางการก็ไม่ยอมรับฟังใดๆ ชาวต่างชาติจึงหาทางออกกันเองโดยเมื่อค้าขายเสร็จก็จะหลบออกไปพักอยู่ที่มาเก๊าซึ่งเป็นเขตของโปรตุเกสแทน

แต่ความต้องการสินค้าจีนในตลาดโลกก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สินค้าจำพวกผ้าไหมจีนและเครื่องถ้วยชาม กระเบื้องเคลือบ หรือกังไส เป็นที่นิยมในยุโรปและเป็นแฟชั่นของสะสมตามพระราชวังต่างๆ ดังนั้น ถึงแม้ว่าทางการจีนจะไม่เต็มใจค้าขายกับชาวต่างชาติ แต่สินค้าจีนก็ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดยุโรป ทำให้ชาวจีนเกิดความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง คิดว่าวิธีทำการค้าของตนนั้นฉลาดรอบคอบแล้ว และในระยะนี้เองจีนก็มีสินค้าตัวใหม่ซึ่งชาวต่างประเทศกำลังต้องการและทำกำไรให้กับจีนได้มาก นั่นคือ “ใบชา” ในระยะคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดมีความต้องการใบชาในประเทศอังกฤษเป็นการใหญ่ เพราะเกิดมีความนิยมดื่มชากันแทนที่การดื่มสุรา ซึ่งเคยนิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ใน ค.ศ. 1684 พ่อค้าอังกฤษลองนำใบชาเพียง 5 หีบ ไปทดลองความนิยมของตลาด ครั้นถึง ค.ศ. 1720 ปรากฏว่าต้องนำเข้าใบชาเข้าไปในประเทศอังกฤษถึง 4 แสนปอนด์ พวกผู้ดีอังกฤษก็ทดลองปรุงใบชาแบบต่างๆ เช่น เอาใส่เครื่องเทศด้วย หรือไม่ก็เอาใบชาจากศรีลังกา ไปผสมกับใบชาจากจีน ฯลฯ พวกสมาคมในอังกฤษสนใจดื่มน้ำชากันจนกลายเป็นการแสดงออกถึงรสนิยมในสังคม พอถึง ค.ศ. 1800 อังกฤษก็ต้องนำเข้าใบชาจากจีนถึง 23 ล้านปอนด์

จีนได้เงินเข้าคลังจากการขายใบชาให้อังกฤษไม่น้อยเลย มีสถิติบันทึกไว้ว่าในทศวรรษ 1780 จีนได้เงินแท่งเป็นจำนวนถึง 16 ล้านออนซ์ จากการขายใบชา ตัวเลขนี้ไม่น่าจะทำความชื่นชมให้อังกฤษ เพราะปรากฏว่าจีนไม่ได้ซื้อสินค้าที่เป็นชิ้นเป็นอันจากอังกฤษ สินค้าประเภทอุปโภคบริโภคนั้นจีนก็ซื้อไม่ได้อยู่แล้ว เพราะประชากรของจีนไม่มีเงินทองมากพอที่จะซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศ นอกจากนั้นชาวยุโรปยังมีความรู้สึกว่าจักรพรรดิจีนทรงกีดกันการเผยแผ่คริสต์ศาสนาของชาวตะวันตก โดยเฉพาะภายหลังที่บรรดาบาทหลวงนิกายเจซูอิตถูกขับไล่ออกนอกประเทศ ความรู้สึกกดดันสร้างความระหองระแหงมากขึ้นกลายเป็นการดูถูกเหยียดหยามต่อคนต่างชาติต่างศาสนา

คนอังกฤษซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นชาติที่กระทบกระเทือนที่สุด เพราะนอกจากจะรู้สึกเสียเปรียบจีนในกฎเกณฑ์ที่รัดตัวแล้ว ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปค้าขายโดยสะดวก พ่อค้าอังกฤษต้องการหาวิธีให้จีนซื้อสินค้าอังกฤษมากขึ้น โดยให้จีนเปิดเมืองท่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแหล่งผลิตใบชา อังกฤษดูถูกจีนว่ายังล้าหลัง ในเรื่องการแสดงยศศักดิ์ และบ้าอำนาจโดยเฉพาะวิธีเรียกร้องให้ต่างชาติทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชบรรณาการถ้าต้องการติดต่อกับจีน ก็ต้องแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนให้เห็น หรือที่เรียก “จิ้มก้อง” ให้เปลี่ยนมาเป็นการรับรองแบบให้เกียรติกัน โดยวิธีการเจรจาการค้าและแลกเปลี่ยนราชทูตหรือสนธิสัญญาการค้าตามแบบประเทศที่มีเกียรติทัดเทียมกัน แต่ดูจีนจะไม่ค่อยสนใจนัก

ใน ค.ศ. 1893 รัฐบาลอังกฤษส่ง ลอร์ดแมคาร์ตนีย์ (Lord Macartney) ไปประเทศจีนเพื่อเจรจาขออนุญาต ให้เรือสินค้าอังกฤษมาค้าได้ในท่าเรืออื่นๆ นอกเหนือจากที่กวางตุ้ง และขอให้จัดระบบภาษีใหม่ ให้ลดอัตราภาษี และเลิกเก็บภาษีรวมแบบ “ขูดรีด” ดังที่เคยปฏิบัติมา นอกจากนั้นลอร์ดแมคาร์ตนีย์ยังนำผลิตผลต่างๆ จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษมาโฆษณาหาตลาดด้วย แต่ลอร์ดแมคาร์ตนีย์ก็ไม่ประสบผลสำเร็จทั้งการเจรจา และการหาตลาด จักรพรรดิเฉียนหลง (Qianlong) ทรงพระชราแล้ว ไม่โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการค้าของจีนที่เป็นอยู่และไม่ทรงสนพระทัยกับตัวอย่างผลิตผลจากโรงงานอุตสาหกรรมของอังกฤษเลย

หลังจากลอร์ดแมคาร์ตนีย์กลับไปแล้ว ระบบกว่างโจวดำเนินต่อไปอีกเพียงไม่กี่ปี การค้าแบบเดิมของจีนก็สิ้นสุดลงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจีนเอง กล่าวคือ อังกฤษนำฝิ่นจากอินเดียเข้ามาขายในจีน ในระยะปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฝิ่นได้ถูกนำเข้าไปในประเทศจีนเพื่อประโยชน์ในการปรุงยารักษาโรค แต่ชาวจีนนิยมสูบฝิ่นและติดฝิ่นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ยังปลูกฝิ่นไม่เป็น อังกฤษเลยถือโอกาสนำฝิ่นที่อังกฤษให้ปลูกในอินเดีย แต่ห้ามขายในอินเดียมาขายในเมืองจีน เพื่อแก้ดุลการค้า

ในทศวรรษ 1830 อังกฤษขนฝิ่นจากอินเดียเป็นมูลค่าถึง 2 ใน 3 ของราคาสินค้าทั้งหมดที่อังกฤษนำเข้าจีน จีนจึงซื้อฝิ่นเข้าประเทศมากกว่าขายสินค้าออก ดุลการค้าจึงเปลี่ยนไป เงินแท่งที่อังกฤษเคยขนเข้ามาซื้อสินค้าจีน อังกฤษกลับได้คืนไป เพราะจีนใช้ซื้อฝิ่นเข้าประเทศ ชาวจีนทุกหมู่เหล่าติดฝิ่นกันอย่างงอมแงม เข้าทางของอังกฤษที่ต้องการเปิดตลาดเสรีในจีนแบบไร้พรมแดน

อังกฤษพบว่า “ฝิ่น” เป็นสินค้าที่นาจะขายดีที่สุด เพราะตลาดลูกค้าฝิ่นครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้นตั้งแต่เจ้านายชั้นสูงลงมาถึงประชาชนเดินดิน ถ้าสามารถปลุกกระแสนิยมฝิ่นให้เติบโตได้ในจีน ลูกค้าฝิ่นเมื่อเสพติดแล้วก็จะขวนขวายเสาะหา มาบำบัดความอยากของตนเองจนได้ โดยที่พ่อค้าฝิ่น (คือคนอังกฤษ) แทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงให้มากเรื่องกับกฎเกณฑ์อันเข้มงวดของรัฐบาลจีนต่อพ่อค้าต่างชาติอีกต่อไป

…การปรับนโยบายเชิงรุกของอังกฤษโดยใช้ “ฝิ่น” เป็นเครื่องมือสร้างความไม่พอใจให้ทางการจีนอย่างยิ่งที่อังกฤษมามอมเมาให้คนจีนติดฝิ่น ซึ่งเท่ากับทำลายเศรษฐกิจและกำลังคนของจีน รัฐบาลจีนต้องการเปิดเจรจาให้อังกฤษหยุดขายฝิ่นตามอำเภอใจ แต่อังกฤษก็ไม่ยอมรับฟังเพราะได้กำไรมาก และต้องการแก้เผ็ดคนจีนที่ขัดขืนไม่ยอมเปิดเสรีการค้ากับอังกฤษ

ในระยะที่อังกฤษโหมบุกเมืองจีนอย่างหนักนี้ อังกฤษได้ครอบครองอินเดียไว้แล้ว และใช้ดินแดนของอินเดียเป็นที่ปลูกฝิ่นเอาไว้ไปขายที่จีน การค้าฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีนมีปริมาณมากขึ้นทุกที

บริษัทอีสต์อินเดีย (The East India Company) ของอังกฤษเข้าควบคุมการค้าฝิ่นในอินเดียทั้งหมด แล้วแบ่งพื้นให้พ่อค้าเอกชนของอังกฤษนำไปขายในประเทศจีนในระยะแรกราว ค.ศ. 1729 อังกฤษขายฝิ่นให้จีนเพียง 200 หีบเท่านั้น แต่ต่อมาไม่ช้าคนจีนก็ติดฝิ่นกันทั่วไป ไม่ใช้ฝิ่นเป็นยาเสียแล้ว แต่นอนสูบกล้องที่เผาฝิ่นกันทั้งวันทั้งคืน พอถึงราว ค.ศ. 1767 การนำเข้าฝิ่นที่เพิ่มขึ้นถึง 1,000 หีบ ใน ค.ศ. 1800 นำเข้าถึง 4,500 หีบ ใน ค.ศ. 1838 นำเข้าถึง 40,000 หีบ…”

นี่คือ เส้นทางสงครามฝิ่นแผนยึดเมืองจีนของอังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :


ข้อมูลจาก :

ไกรฤกษ์ นานา. “ฉากหลัง เซอร์จอห์น  เบาริ่ง ตอนที่ 1 แผนยึดเมืองจีน โดยใช้ฝิ่นคอรบงำ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2564