“ยูนนาน” ที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์ใต้ดิน เป้าหมายสำคัญของนักล่าเมืองขึ้น

กองทัพฝรั่งเศส กำแพงเมืองจีน สงครามตังเกี๋ย
กองทัพฝรั่งเศสบุกทะลวงกำแพงเมืองจีนในสงครามตังเกี๋ยจนได้รับชัยชนะ(ภาพจาก LE JOURNAL ILLUSTRE,1885)

“ยูนนาน” ดินแดนอันมั่งคั่งด้วยทรัพย์ใต้ดิน ลึกเข้าไปตอนในแผ่นดินจีน กลางทวีปเอเชีย เป้าหมายสำคัญนักล่าอาณานิคม

เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ชาติตะวันตกก็ออกเดินทางไปค้นหาแหล่งทรัพยากรเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต พื้นที่หนึ่งที่เป็นเป้าหมายก็คือทวีปเอเชีย และนำมาซึ่งการจัดตั้งอาณานิคม อย่างที่เราทราบกันดี เช่น อินโดนีเซียเป็นของฮอลแลนด์, อินเดีย มลายู และสิงคโปร์ของอังกฤษ, กัมพูชา ลาว เวียดนามของฝรั่งเศส เป็นต้น

Advertisement

โดยมี “ยูนนาน” เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ-ฝรั่งเศส สองผู้นำเจ้าอาณานิคมช่วงชิงกันอยู่

ปกหนังสือสยามรัฐท่ามกลางจักรวรรดินิยม

ยูนนาน ในเวลานั้นเป็นดินแดนเร้นลับ บนเส้นทางสายไหมระหว่างทิเบตกับจีน มีสถานะเป็นเขตปกครองพิเศษของเมืองบริวารรอบนอก ห่างไกลความเจริญ ทุรกันดาร การเดินทางไปมาลำบาก สรุปง่ายสั้น ๆ ว่า เป็นพื้นที่ล้าหลังที่ถูกทอดทิ้ง และไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าใดนักจากราชสำนักชิง

แล้วอะไรทำให้ยูนนานเป็นที่หมายปองของบรรดาเจ้าอานิคม

ไกรฤกษ์ นานา อธิบายไว้อย่างครบถ้วนในผลงาน “สยามรัฐท่ามกลางจักรวรรดินิยม” (สนพ.มติชน, มีนาคม 2563) ว่า ชาติตะวันตกต่างมีข้อมูลเกี่ยวกับยูนนานไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบันทึกของมิชชันนารี, ข้อมูลของนักสำรวจที่รายงานต่อราชสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร ฯลฯ

ความร่ำรวยของยูนนานเป็นที่ประจักษ์ชัดของบรรดาชาติตะวันตก เมื่อจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1861/พ.ศ. 2404) รัฐบาลปักกิ่งต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน 300,000 ตำลึง แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ก็ได้อาศัยทรัพย์ในดินของยูนนานที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ได้แก่ ทอง, เพชรพลอย, เงิน, ทองแดง, ดีบุก, ตะกั่ว, เหล็ก, สังกะสี, ถ่านหิน ฯลฯ มาเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม

นอกจากนี้ ยูนนานยังโดดเด่นในเรื่อง “ชัยภูมิ”

อังกฤษและฝรั่งเศสต่างมองว่า ยูนนานจะเป็นเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจใหม่ จะเป็นศูนย์กลางของทวีปเอเชีย ที่เชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่กับอนุทวีปอินเดียเข้าด้วยกัน มีเจ้าอาณานิคมเป็นตัวแปรสร้างให้ฐานอำนาจใหม่ของซีกโลกตะวันออกเหมือนอนาโตเลียของตุรกีเปลี่ยนมือไปเป็นอาณาจักรไบแซนไทน์ หรือกรุงโรมตะวันออกที่ครอบงำโดยชาวตะวันตก

ภาพวาด ลายเส้น มณฑล ยูนนาน
ดินแดนทุรกันดารโอบล้อมด้วยเทือกเขาก่อนถึงมณฑลยูนนาน

แล้วฝรั่งเศสก็เป็นชาติแรกที่เข้าไปถึงยูนนาน

เมื่อฝรั่งเศสเป็นฝ่ายชนะจีนในสงครามตั๋งเกี๋ย (หรือ Sino-French War 1884-1885) ใน ค.ศ. 1885/พ.ศ 2448 สงครามที่ทำให้ฝรั่งเศสมีอภิสิทธิ์เหนือมหาอำนาจยุโรปในการเข้าถึงยูนนาน อย่างไม่คาดฝัน

ไกรฤกษ์ นานา อธิบายว่า สงครามนี้จีนถือว่าญวนเป็นเมืองขึ้นของตนเองตลอดมา เมื่อฝรั่งเศสมีท่าทีจะผนวกตังเกี๋ย จีนจึงส่งกองทัพเข้าไปปกป้องและได้เกิดรบกันขึ้น เมื่อจีนสู้ไม่ได้ก็เริ่มถอนกำลังออกไปจากตังเกี๋ยและถูกฝรั่งเศสปรับว่าเป็นฝ่ายปราชัยอย่างช่วยไม่ได้ สงครามที่แพ้ชนะอย่างไม่เด็ดขาดนี้ ยุติลงด้วยสนธิสัญญาเทียนสิน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1885 โดยจีนยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสในประเทศญวนทั้งหมดทั้งตังเกี๋ยด้วย”  

นอกจากนี้สนธิสัญญาเทียนสินยังระบุถึงสิทธิพิเศษของฝรั่งเศสในการเปิดเส้นทางการค้าทางบกใน 3 เขตการปกครองของจีน คือ ยูนนาน, กวางสี และกวางตุ้ง ซึ่งฝรั่งเศสจะได้อภิสิทธิ์ทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอสัมปทานเหนือยูนนาน ในฐานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง

แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894-95/พ.ศ. 2437-38) ซึ่งซ้ำเติมสถานการณ์ของจีนให้ย่ำแย่ลงไปอีก ฝรั่งเศสเข้ามาช่วยเจรจาสงบศึกได้ ก็ทวงบุญคุณกับจีนด้วยข้อกำหนด 5 ข้อคือ

1. รัฐบาลจีนยอมยกดินแดนเมิงอูและอูเต๋อให้ขึ้นกับอินโดจีนของฝรั่งเศส

2. รัฐบาลจีนยอมผ่อนปรนเปิดเมืองหลงโจวในกวางซี เมืองเหมิ่งจื้อ เหอโข่ว และซือเมาในยูนนานเป็นเมืองท่าการค้าแห่งใหม่เพื่อเจาะตลาดจีน

3. ในอนาคตเมื่อจีนจะเปิดทําเหมืองแร่ในยูนนาน กวางสี และกวางโจว ตลอด 3 มณฑลนี้ ให้เจรจาตกลงกับผู้แทนการค้าและเหมืองแร่ของฝรั่งเศสก่อน

4. ทางรถไฟต้นทางในเขตญวนตังเกี๋ยหรือที่กําลังก่อสร้าง หรือที่จะสร้างเพิ่มเติมในอนาคตก็ให้รัฐบาลจีนและฝรั่งเศสตกลงกัน เพื่อกําหนดหนทางที่เหมาะสมเพื่อเชื่อมตรงเข้าชายแดนจีน

5. ให้ฝรั่งเศสเชื่อมต่อสายไฟฟ้าผ่านชายแดนเตียน-ญวนและสร้างระบบสาธารณูปโภคครบวงจร

ถึงจุดนี้คงไม่ต้องใช้การคำนวณใด ท่านผู้อ่านก็คงเห็นผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง และความเสียหายของฝ่ายหนึ่ง

ขณะที่มหาอำนาจอย่างอังกฤษ ก็ใช่ว่าจะยอมรามือ รัฐบาลอังกฤษเลือกใช้นโยบายทางการทูตเปิดเจรจาต่อรอง แก้ปัญหาข้อพิพาทและการแย่งชิงดินแดนในตะวันออกไกลและแอฟริกา นำไปสู่ปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ. 1896/พ.ศ.2439 ซึ่งทำให้อังกฤษ-ฝรั่งเศสได้สิทธิพิเศษทางการค้าและการสร้างทางรถไฟในมณฑลยูนนาน และเสฉวนของจีน

โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ในยูนนาน อังกฤษและฝรั่งเศสตกลงกันด้วยดีว่าใน อนาคตไม่ว่าฝ่ายใดได้อำนาจหรือสิทธิพิเศษจากจีน ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสจะต้องแบ่งประโยชน์ร่วมกันอย่างสันติวิธี ในเรื่องสัมปทานทำเหมืองแร่ และการวางทางรถไฟเข้าจีน หนึ่งในความร่วมมือก็คือ บริษัทชิงหลง ของอังกฤษและฝรั่งเศสที่ได้สัมปทานเหมืองแร่ 7 แห่งในยูนนาน

ด้วยความมั่งคั่งของยูนนานนี้เอง ฝรั่งเศสจึงเบี่ยงเบนไปหาเป้าหมายใหญ่ที่มีผลประโยชน์ให้เก็บเกี่ยวมากกว่า ความวิตกกังวลของสยามที่เกรงว่าฝรั่งเศสจะข้ามแม่น้ำโขงมาไทย ในช่วง ร.ศ. 112 จึงไม่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2563