จุดเริ่มต้น “อิสลาม” ใน “อินโดนีเซีย” ก่อนเป็นชาติที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก

แผนที่โลก บริเวณอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย
แผนที่การค้า บริเวณอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 17, วาดโดย Nicolaes Visscher II (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อินโดนีเซีย ในปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาอิสลามกว่า 87-90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นับเป็นประชากรประมาณ 230 ล้านคน จุดเริ่มต้นของอิสลามในอินโดนีเซียมีที่มาอย่างไร? ก่อนพวกเขาเป็นชาติมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

อินโดนีเซียและศาสนาอิสลาม

แผนที่ อินโดนีเซีย
ภาพประกอบ- Map from the book:A grammar of the Malay tongue, as spoken in the peninsula of Malacca, the islands of Sumatra, Java, Borneo, Pulo Pinang, &c. &c. Compiled from Bowrey’s dictionary, and other authentic documents, manuscript and printed. Embellished with a Map.”

ศาสนาอิสลามถือกำเนิดขึ้นในดินแดนอาหรับช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 และช่วงปลายศตวรรษเดียวกันนี้ ชาวมุสลิมเข้ามายังดินแดนหมู่เกาะอินโดนีเซียจากการขยายตัวทางการค้าในดินแดนแถบนี้ พ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียบุกเบิกเส้นทางการค้าไปตามท่าต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน มีหลักฐานว่า ค.ศ. 684 มีชุมชนมุสลิมตั้งถิ่นฐานบริเวณริมฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา บริเวณท่าเรือเบรุสที่เป็นแหล่งผลิตการบูร 

Advertisement

1 ศตวรรษต่อมา เกิดชุมชนอาหรับมุสลิมขนาดใหญ่กระจายอยู่ตามเมืองท่า ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนหลายแห่งด้วยกัน แต่เดิมชาวมุสลิมเหล่านี้ไม่ได้กระตือรือร้นในการเผยแผ่ศาสนา เพราะเป้าหมายสำคัญในการตั้งถิ่นฐานคือผลประโยชน์ในการทำการค้าเท่านั้น

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 หมู่เกาะอินโดนีเซียมีอาณาจักรสำคัญอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ มัชฌปาหิต (Majapahit) อาณาจักรฮินดู-พุทธที่ยิ่งใหญ่ของหมู่เหมาะอินโดนีเซีย มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวา และ มะละกา (Malacca) อาณาจักรการค้าที่อยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู เจ้าชายปรเมศวร (Parameswara) แห่งอาณาจักรปาเลมบังเสด็จลี้ภัยคุกคามจากอาณาจักรมัชฌปาหิต และเป็นผู้ก่อตั้งมะละกาขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14

เมื่อเจ้าชายปรเมศวรหันไปรับอิสลาม และเป็นที่รู้จักในนาม Iskandar Shah มะละกาจึงกลายเป็นรัฐสุลต่าน และประชากรมุสลิมก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ

การแผ่ขยายของศาสนาอิสลามไปทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซียมีจุดเริ่มต้นที่มะละกานี่เอง

มะละกาเติบโตโดยพัฒนาเป็นเมืองท่านานาชาติที่ดึงดูดพ่อค้านักเดินเรือ พวกเขาอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยการตั้งคลังสินค้าขึ้นมามากมาย แม้ไม่มีสินค้าของตนเอง แต่มะละกาเป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างการค้าจากจีน แอฟริกา และภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งยังสร้างเครือข่ายการค้ากับบรรดาหมู่เกาะอินโดนีเซียด้วย

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 มะละกาสามารถพิชิตดินแดนทั้งสองฝั่งปลายคาบสมุทรที่เป็นแหล่งผลิตอาหาร ดีบุก ทองคำ และพริกไทย ทำให้อาณาจักรมุสลิมแห่งนี้มั่งคั่งและเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก

การเติบโตของมะละกาสวนทางกับมัชฌปาหิตอย่างยิ่ง อาณาจักรฮินดู-พุทธ แห่งนี้ ค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง เพราะก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 นอกจากรัฐต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายูจะกลายเป็นอาณาจักรของชาวมุสลิมแล้ว อิทธิพลทางการเมืองและทางการค้าของอาณาจักรมะละกาที่มีต่อเมืองท่าต่าง ๆ ในเกาะชวายังทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแทนที่มัชฌปาหิตในการเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลของภูมิภาคนี้ไปในที่สุด

เครือข่ายการค้าทางทะเลที่เติบโตในเอเชียตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่นำความมั่งคั่งมาสู่มะละกาและเมืองท่าค้าขายบนฝั่งทะเลภาคเหนือของชวา ยิ่งส่งเสริมการขยายตัวของศาสนาอิสลามให้กระจายไปทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซีย กระทั่งแทนที่ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธอย่างถาวร ยกเว้นเพียงบริเวณหมู่เกาะบาหลีที่ยึดมั่นในศาสนาฮินดูอยู่จนถึงปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่อธิบายว่าเหตุใดศาสนาอิสลามที่พ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียนำเข้ามายังหมู่เกาะอินโดนีเซียตั้งแต่คริศต์ศตวรรษที่ 7 แต่กว่าจะแผ่ขยายอย่างจริงจังก็ล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 15 คือการเกิดรัฐอิสลามทางตะวันตกของอินเดียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 บริเวณคุชราต (Gujarat) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือที่สำคัญและทำการค้ากับดินแดนต่าง ๆ รวมถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน

พ่อค้าคุชราตจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามเมืองท่าของหมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบริเวณเกาะสุมาตรา พ่อค้าเหล่านี้มีการสมรสกับชนพื้นเมือง และเข้าไปเกี่ยวดองกับชนชั้นปกครองด้วย ศาสนาอิสลามจากเกาะสุมาตราจึงเดินทางไปในคาบสมุทรมลายูก่อนการกำเนิดอาณาจักรมะละกาด้วยซ้ำ ก่อนที่อาณาจักรการค้าแห่งนี้จะเป็นตัวเร่งการแพร่กระจายศาสนาอิสลามไปทั่วหมู่เกาะอินโดนีเซียในเวลาต่อมา

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ศาสนาอิสลามได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากเหล่าพ่อค้าในดินแดนหมู่เกาะอินโดนีเซีย เพราะหลักการของศาสนาอิสลามมีส่วนหนึ่งที่ว่าด้วยสมาชิกชุมชนมุสลิมทั่วโลกเป็นพี่น้องกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้เองที่ส่งเสริมอาชีพของพวกเขาซึ่งต้องอพยพจากชุมชนหนึ่งไปยังอีกชุมชนหนึ่งเพื่อค้าขาย

มัสยิดใหญ่แห่งบัยตุรเราะฮ์มาน (อินโดนีเซีย: Masjid Raya Baiturrahman) ภาพ : pixabay

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทวีศักดิ์ เผือกผสม. (2547). อินโดนีเซีย รายา รัฐจารีต สู่ “ชาติ” ในจินตนาการ.  กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

ภูวดล ทองประเสริฐ. (2539). อินโดนีเซีย : อดีตและปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เอลซา ไชนุดิน. (2552). ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาฯ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2565