เจาะลึกวัฒนธรรม “หญิงเป็นใหญ่” ในชาติพันธุ์ “มินังกาเบา” แห่งอินโดนีเซีย

ชุมชนชาว “มินังกาเบา” (Minangkabau) ในปี ค.ศ. 1911 ภาพถ่ายโดย Demmeni Jean (1866-1939)

กลุ่มชาติพันธุ์ มินังกาเบา (Minangkabau) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลาม ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

คำว่า “มินังกาเบา” แปลว่า ควายแห่งชัยชนะ โดยคำว่า มินัง แปลว่า ชัยชนะ ส่วน กาเบา แปลว่าควาย ซึ่งคำดังกล่าวมาจากตำนานที่ชาวมินังกาเบาสามารถเอาชนะชาวชวาได้ โดยตกลงกันว่าจะใช้การชนควายเดิมพันแทนการรบเพื่อไม่ให้เกิดการเสียเลือดเนื้อของทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายชวาเลือกควายตัวเมียที่แข็งแรงมาประลอง ส่วนฝ่ายมินังกาเบาได้ออกอุบายเลือกใช้ลูกควายที่กำลังหิวมากมาทำการประลอง และแอบติดมีดเล็กปลายแหลมไว้ที่เขาของลูกควาย เมื่อถึงการประลอง ด้วยลูกควายนั้นหิวโซจากการอดนมจึงวิ่งเข้าไปดูดนมของควายตัวเมีย ทำให้ปลายมีดที่ติดไว้บริเวณเขาแทงเข้าไปที่ท้องของควายฝั่งชวาจนตาย ฝ่ายมินังกาเบาจึงได้รับชัยชนะในที่สุด ควายจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวมินังกาเบาเห็นได้จากหลังคาบ้านแบบจารีตและชุดพื้นเมืองของชาวมินังกาเบา ที่จะมีลักษณะคล้ายเขาของควาย

การแต่งกายของชาวมินังกาเบา สังเกตเครื่องตกแต่งศีรษะมีลักษณะคล้ายเขาควาย ภาพถ่ายในเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม Minangkabau ปี 2018 (Photo by ADEK BERRY / AFP)

ความน่าสนใจของชาติพันธุ์มินังกาเบา คือ มีวัฒนธรรมหญิงเป็นใหญ่ในศาสนาอิสลาม โดยให้ผู้หญิงมีบทบาทอำนาจทั้งในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องมักตั้งอยู่บนความเห็นชอบของฝ่ายหญิง เมื่อมีการประชุมปรึกษากันในครอบครัว ผู้หญิงได้สิทธิ์ในการตัดสินใจว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไร

ที่เป็นอย่างนี้เนื่องจากชาวมินังกาเบามองว่า ความเป็นอยู่ของพวกเขาคล้ายชีวิตของไก่ ที่ลูกเจี๊ยบจะเดินตามแม่ไก่ ไม่ใช่พ่อไก่ เช่นเดียวกับพวกเขาที่มีความเชื่อว่าสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าแม่ ไม่ใช่พ่อ ซึ่งคำพูดดังกล่าวมาจากการให้สัมภาษณ์ของ มากัน บาแจมบา ชายชาวมินังกาเบาในรายการ Spirit of Asia ตอนเสียงผู้หญิงแห่งมินังกาเบา

การให้ความสำคัญกับการสืบเชื้อสายทางมารดา (Matriarchy) หรือ อาดัต มินังกาเบา (Adat Minangkabau) นั้น เมื่อหญิงชาวมินังกาเบาให้กำเนิดทายาท บุตรที่เกิดมาจะกลายเป็นสมาชิกของตระกูลมารดาอย่างสมบูรณ์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะตกทอดจากผู้เป็นแม่สู่บุตรสาว และเมื่อมีการแต่งงานฝ่ายชายจะต้องย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยา โดยทำหน้าที่ประกอบอาชีพส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว แต่ไม่มีสิทธิ์ในการถือครองมรดกใด ๆ ถึงแม้จะแต่งงานกันแล้วทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็ยังผูกติดกับบ้านเกิดของตนอยู่ คือ สามีหรือซูมันโดจะไปหาภรรยาเฉพาะในตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันเขาจะต้องทำงานให้กับครอบครัวเดิมของตน

เด็กผู้ชายเมื่ออายุ 7 ขวบ ต้องออกจากบ้านไปอยู่สุเหร่า เพื่อศึกษาร่ำเรียนอัลกุรอานและยืดหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง ดังนั้น รูมาห์ กาดัง หรือบ้านแบบจารีตของชาวมินังกาเบาจะไม่มีห้องนอนของลูกชาย เนื่องจากพื้นที่ในชีวิตของผู้ชายส่วนใหญ่ คือ การอุทิศตนให้กับอัลลอฮ์ บ้านจึงเป็นมรดกของลูกสาวที่อาศัยอยู่

ระบบการสืบเชื้อสายฝ่ายมารดาในสังคมมิงนังกาเบานั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย เพียงแต่เป็นระบบสังคมที่กำหนดบ้านเกิด และทรัพย์สินต่าง ๆ ตามเชื้อสายตระกูลฝ่ายมารดา ถึงแม้อิทธิพลศาสนาอิสลามที่เข้ามาจะมีแนวคิดที่แตกต่างจากสังคมแบบจารีตของชาวมินังกาเบา แต่ก็ไม่ได้ทำให้สังคมมินังกาเบานั้นสูญเสียรากฐานวัฒนธรรมเดิม

เนื่องจากชาวมินังกาเบาได้มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของตนเองกับสังคมภายนอก เพื่อให้สังคมเกิดการพัฒนาที่กว้างขึ้น และสามารถดำรงอยู่บนความหลากหลายที่เรียกว่า อาลัม มินังกาเบา ซึ่งหมายถึงโลกที่มีความกลมกลืน ดังคำกล่าวของชาวมินังกาเบาที่ว่า “ประเพณีของเรามีรากฐานมาจากอัลกุรอานอันศักดิ์สิทธิ์ อัลกุรอานกล่าวว่าผู้ชายเป็นผู้นำ แต่ผู้หญิงไม่ได้อยู่ภายใต้ความกดดันของผู้ชาย แม้ว่าผู้ชายจะนำผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะมีความสำคัญน้อยกว่า”

พวกเขาก็มีแนวทางการปฏิบัติตามหลักสามีภรรยาของศาสนาอิสลาม แต่ก็ก็ไม่ได้ละทิ้งจารีตประเพณีดั้งเดิมของตน โดยฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กุมอำนาจการตัดสินใจภายในบ้าน ขณะที่ฝ่ายชายรับบทบาทเป็นหัวหน้าและตัวแทนของครอบครัวที่ฝ่ายหญิงต้องให้การสนับสนุน ทั้งหญิงและชายมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในรูปแบบของการพึ่งพาอาศัย

สังคมที่มีโครงสร้างแบบมาตาธิปไตยของชาวมินังกาเบา คือ การผสมผสานวัฒนธรรมของชาวมินังกาเบาและแสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงมุสลิมมินังกาเบาที่ต่างจากผู้หญิงมุสลิมในสังคมอื่น ที่แม้จะมีการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้งหรือลดบทบาทจารีตแบบดั้งเดิม หากแต่ให้วัฒนธรรมเหล่านั้นอยู่บนพื้นฐานของกันและกัน กล่าวคือ แม้ชาวมินังกาเบาจะรับเอาศาสนาอิสลามที่ให้ความสำคัญกับเพศชายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต แต่พวกเขาก็ไม่ได้ลดบทบาทของผู้หญิงลง พวกเขายังคงให้ความสำคัญกับการสืบเชื้อสายฝ่ายมารดาอยู่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการให้ความเคารพและให้เกียรติแก่เพศหญิงเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นเพศผู้ให้กำเนิดทายาทของเผ่าพันธุ์

นอกจากนี้สตรีชาวมินังกาเบานั้นรู้สึกว่าพวกเธอไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายชายหรือกดขี่ความเป็นเพศชาย พวกเธอเชื่อว่าทั้งหญิงและชายต่างมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน ถึงแม้อำนาจในการตัดสินใจจะตั้งอยู่บนความเห็นชอบของฝ่ายหญิง แต่ผู้ชายก็ยังคงเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ต้องให้ความสนับสนุน จึงไม่ควรมีเพศใดอยู่เหนือกว่ากันหรือถูกกดให้ต่ำกว่า เพราะทุกคนมีบทบาทหน้าที่และสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชินามิ ชิบาตะ. “การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสังคมมินังกาเบาในสุมตราตะวันตก”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543), สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564.

สุพรรษา ฤทธิ์พิพัฒน์. “มินังกาเบา กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมหญิงเป็นใหญ่ใต้ความศรัทธาในศาสนาอิสลาม”, 2564, becommon. สืบค้นวันที่ 5 มิถุนายน 2564, สืบค้นจาก https://becommon.co/culture/minangkabau-women-power/

ไทย พีบีเอส. (23 กุมภาพันธ์ 2563). รายการ Spirit of Asia ตอนเสียงผู้หญิงมินังกาเบา [Video file]. สืบค้นจาก https://youtu.be/huqAqy0s1l8


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2564