การต่อสู้ของซูการ์โน บุรุษกู้ชาติแห่งอินโดนีเซีย แต่ถูกกลบฝังให้ลืม

ซูการ์โน กล่าว ปราศรัย ท่ามกลาง ฝูงชน จำนวนมาก
ซูการ์โน กล่าวกับผู้ร่วมชุมชนเรียกร้องเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ ภาพถ่ายไม่ปรากฏปี ภาพจาก AFP

ซูการ์โน (Sukarno) เป็นหนึ่งในปัญญาชนคนสำคัญของ “อินโดนีเซีย” ที่มีบทบาทต่อต้านเจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่าง “ฮอลันดา” ที่เข้ามายึดครองอินโดนีเซียอย่างกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ 

ซูการ์โนเกิดเมื่อ พ.ศ. 2444 ในครอบครัวที่ไม่ได้มีความมั่งคั่งมากนัก บิดาเป็นคนชวาซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพเป็นครูประถม ส่วนมารดาเป็นชาวบาหลีนับถือศาสนาฮินดู ทำให้ซูการ์โนได้เรียนรู้วัฒนธรรมถึงสองศาสนามาตั้งแต่เด็ก ในวัยเยาว์ซูการ์โนอาศัยอยู่บ้านนอก เขาเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดและซนอย่างมาก เป็นผู้นำของกลุ่มเพื่อนเพราะมีความเก่งกาจกว่าใครในกลุ่ม จนเพื่อนตั้งสมญาให้ว่า “จาโก้” แปลเป็นภาษาไทยว่า ไก่ชน หรือแชมป์เปี้ยน

วัยเด็กของ “ซูการ์โน” 

แม้ซูการ์โนจะมีความเฉลียวฉลาดแต่ไม่ใช่เรื่องเรียน เพราะเขาเรียนไม่เก่งมากนัก เขาไม่ค่อยสนใจวิชาในชั้นเรียนแต่ชอบเรียนรู้นอกห้องเรียน สิ่งที่ให้ความรู้ซูการ์โนมากๆ คือ “หนังตะลุง” ว่ากันว่าสามารถดูได้ตั้งแต่หัวค่ำยันเช้าตรู่

หนังตะลุงหรือที่ชาวชวาเรียกว่า วายังกูลิต (Wajangkulit) เป็นการแสดงที่ชาวชวานิยมดูเพื่อความบันเทิง หนังตะลุงมักจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเป็นเรื่องพื้นๆ ที่เล่นกันในโอกาสทั่วไป เรื่องมหาภารตยุทธมักเล่นในงานพิธีการใหญ่ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะพิธีของราชสำนักและถือว่าเป็นเรื่องที่มีความขลังมาก การเล่นเรื่องนี้ต้องเล่นให้ดีถ้าเล่นไม่ดีจะมีอันเป็นไป ชาวชวาเชื่อกันว่าเคยมีภูเขาไฟในชวาระเบิดเพราะเล่นเรื่องนี้มาแล้ว

ซูการ์โนได้รับอิทธิพลจากหนังตะลุงอย่างมาก เขาจดจำบทของตัวละครในหนังตะลุงได้ทั้งหมด นามปากกาแรกของเขาเมื่อเป็นนักเขียนก็ใช้ว่า “ภีมะ” (Bima) ซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งในภารตยุทธ

ซูการ์โนเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์ดีมาก สามารถพูดให้คนร้องไห้หรือหัวเราะได้ เขาสามารถพูดได้ถึง 2-3 ชั่วโมงโดยที่คนยังนั่งฟังอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะมักพูดโดยอ้างอิงจากเรื่องหนังตะลุงมาสนับสนุน ทำให้คนอินโดนีเซียโดยเฉพาะคนชวาที่ซาบซึ้งในหนังตะลุงถูกใจอย่างมาก

เมื่ออายุได้ 10 ขวบ ก็เข้าไปเป็นลูกศิษย์และเป็นลูกเลี้ยงของ โจโกรอามิโนโต นักการเมืองชาตินิยมอินโดนีเซีย และเป็นผู้นำปัญญาชนเพื่อเอกราชอินโดนีเซีย โจโกรอามิโนโตตั้งสมาคม “บรรษัทอิสลาม” (Sarekat Islam) เป็นสมาคมทางการเมืองสมาคมแรกของ อินโดนีเซีย มีลักษณะเป็นชาตินิยม มีจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจคือ ต่อต้านพ่อค้าชาวจีนและฮอลันดาที่กุมเศรษฐกิจของอินโดนีเซียไว้

การก่อตั้งสมาคมนี้จึงเริ่มต้นจากพรรคพวกที่เป็นพ่อค้าเท่านั้น ต่อมาสมาคมขยายวงกว้างมากขึ้น มีสมาชิกมากกว่าพวกพ่อค้า มีทั้งหมอ นักกฎหมาย ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ หัวหน้ากรรมกร ทำให้สมาคมขยายตัวและกลายเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านฮอลันดา ดึงดูดให้นักศึกษาเข้ามาร่วมมากขึ้น

โจโกรอามิโนโต จึงเปิดบ้านให้เป็นพื้นที่ถกเฉียงทางการเมืองของเหล่านักศึกษา มีการถกเถียงกันทั้งเรื่องปรัชญาศาสนาอิสลาม ความคิดทางการเมืองต่างๆ ของตะวันตก แนวคิดมาร์กซิสม์ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นทางการเมืองของซูการ์โน ที่ซึมซับเอาความรู้จากบ้านของโจโกรอามิโนโต

แม้ว่าซูการ์โนจะได้รับรู้แนวคิดทางการเมืองจากการถกเถียงกันที่หลากหลาย แต่เขาไม่ได้ยึดเอาแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง เขาเลือกจะผสมผสานแนวคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน ในหลายสุนทรพจน์ของเขาจึงมีการอ้างอิงแนวคิดที่หลากหลาย

แหล่งบ่มเพาะการเมือง

เมื่ออายุได้ 19 ปี ซูการ์โน เรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนในเมืองสุราบายา เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคในเมืองบังดุง ด้านวิศวกรรม ในเมืองบังดุงเต็มไปด้วยปัญญาชนหนุ่มและนักเรียนนอกซึ่งมีความคิดทางการเมืองที่หลากหลายทั้งประชาธิปไตย ลัทธิมาร์กซิสม์ และความคิดต่อต้านลัทธิอาณานิคม นี่จึงเป็นอีกที่ที่บ่มเพาะอุดมการณ์ทางการเมืองของซูการ์โนให้มีความคิดต่อต้านเจ้าอาณานิคมอย่างฮอลันดา จนทำให้เขาถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ฮอลันดา

ในระหว่างที่เขาศึกษา ซูการ์โนแต่งงานกับหญิงสาวซึ่งเป็นลูกสาวของโจโกรอามิโนโต ชีวิตการแต่งงานไม่ราบรื่นมากนัก ทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันไม่เท่าไหร่ก็เป็นอันต้องแยกทางกันไป ต่อมาเขาได้แต่งงานกับเศรษฐินีที่มีอายุมากกว่าเขา ใช้ชีวิตอยู่กินด้วยกันถึง 15 ปี

เมื่ออายุ 24 ปี ซูการ์โนเรียนจบโรงเรียนเทคนิค ซึ่งถือได้ว่าเป็นการศึกษาขั้นสูงที่สุดของเขา และไม่ได้เรียนต่อที่ใดอีกเลย เขาจึงไม่ใช่นักเรียนนอกอย่างปัญญาชนคนอื่นๆ เมื่อเรียนจบมีบริษัทของชาวตะวันตกหลายบริษัทจะจ้างซูการ์โนทำงาน บริษัทน้ำมันเชลล์เสนอเงินเดือนให้เขาถึง 3,000 บาท ในสมัยนั้นถือว่าเป็นจำนวนสูงมาก แต่ซูการ์โนไม่รับ เขาหางานเล็กๆ น้อยๆ ทำ และทุ่มเทกับงานด้านการเมือง

ซูการ์โนตั้งสมาคมเล็กๆ เพื่อถกเถียงปัญหาด้านการเมือง สมาคมนี้ค่อยๆ ขยายตัวจนเติบตัวกลายเป็น พรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย (Indonesian Nationalist Party หรือ PNI) พรรคนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์รวมของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของปัญญาชนอินโดนีเซีย ทั้งนี้ถือได้ว่าซูการ์โนสร้างตัวขึ้นมาด้วยการพูดอย่างมีวาทศิลป์ ทำให้เขาโด่งดังขึ้นมา เขาพูดหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องเอกราช พูดถึงการกดขี่ของฮอลันดาที่มีต่อชาวอินโดนีเซีย เขาใช้คำว่า “ชนชั้นกรรมมาชีพ” แทนคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ ฮอลันดาจับตาดูซูการ์โนมากขึ้น ฮอลันดาห้ามเขาใช้คำว่าชนชั้นกรรมมาชีพ เขาจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า “มาร์เฮิน” (Marhaen) แทน ซึ่งเป็นชื่อชาวนายากจนที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพคนหนึ่งที่เขาเคยพบ

การต่อต้านฮอลันดาและการติดคุก

รัฐบาลฮอลันดาไม่พอใจที่ซูการ์โนแสดงบทบาทชัดเจนในการต่อต้านฮอลันดา ปี 2472 ขณะที่อายุได้ 28 ปี เขาถูกจับเข้าคุก 2 ปี ข้อหาทำลายก่อกวนให้เกิดการจลาจลและมีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ ระหว่างถูกกักขังในคุก ซูการ์โนใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนา เพราะไม่มีหนังสือการเมืองในคุก เขาอ่านอย่างจริงจังทั้งแง่มุมศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม และฮินดู

เมื่อถึงวันออกจากคุก มีประชาชนจำนวนมากมาต้อนรับ ซูการ์โน ได้กล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ ให้ผู้คนที่มาต้อนรับเขาว่า

“ไม่ใช่เป็นการต้อนรับข้าพเจ้านายซูการ์โน แต่เป็นการต้อนรับความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ต่อเอกราชของอินโดนีเซีย ถ้าหากท่านจะให้คนสูงอายุกับข้าพเจ้าสักพันคน ข้าพเจ้ามั่นใจว่าจะโยกเขาพระสุเมรุให้คลอน แต่ถ้าหากท่านให้คนหนุ่มที่คุกรุ่นด้วยความปรารถนาและความรักต่อบ้านเกิดเมืองนอนของเราสักสิบคน ข้าพเจ้าจะสั่นโลกให้สะเทือน”

เมื่อออกจากคุกมาแล้ว ซูการ์โน ได้ดำเนินการทางการเมืองต่อ โดยเน้นไปที่คนหนุ่ม เขาได้ให้นิยามคำว่า “คนหนุ่ม” อย่างกว้างๆ คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 ถึง 66 ปี และมีความตั้งใจทำงานอย่างไม่ย่นย่อ ซูการ์โนใช้คำขวัญว่า “Merdeka Sekarang” (เอกราชเดี๋ยวนี้)

รัฐบาลฮอลันดาเห็นบทบาทของซูการ์โน จึงไม่อาจปล่อยไว้ได้ ซูการ์โนต้องเข้าคุกอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นระยะเวลานานถึง 10 ปี

และเป็นเช่นเดิม ซูการ์โนใช้ชีวิตในคุกด้วยการอ่านหนังสือทุกอย่าง เขาอ่านวรรณคดีเอกของโลก ชักชวนให้นักโทษคนอื่นๆ อ่านวรรณคดี รัฐบาลฮอลันดาให้เขาไปอยู่ตามคุกในเกาะต่างๆ และถูกย้ายอยู่บ่อยๆ การย้ายไปตามเกาะบ่อยครั้งทำให้เขาพบรักกับหญิงสาวอีกคน และได้เป็นภรรยาคนที่ 3 ของซูการ์โน

ในช่วงที่ซูการ์โนอยู่ในคุกเป็นครั้งที่ 2 นี้ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดอินโดจีนจากฝรั่งเศส โจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของอเมริกา ยึดมาเลเซียและสิงคโปร์จากอังกฤษ รวมทั้งเข้ายึดอินโดนีเซียจากฮอลันดาในปี 2485 จากการกระทำของญี่ปุ่นทำให้คนพื้นเมืองภายใต้การปกครองจากเจ้าอาณานิคมมีความเชื่อว่าจะเอาชนะชาวตะวันตกได้ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้หันมาหาความร่วมมือกับผู้นำอินโดนีเซีย ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ซูการ์โนจึงถูกปล่อยตัวออกจากคุกและเขาตัดสินใจร่วมมือกับญี่ปุ่น

ประกาศเอกราช

การที่ซูการ์โนตัดสินใจร่วมมือกับญี่ปุ่น เพราะเขาเชื่อว่าดีกว่าการที่ฮอลันดาปกครอง และเป็นช่องทางที่ดีที่จะประกาศเอกราชให้กับ อินโดนีเซีย แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญญาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการร่วมมือกับญี่ปุ่น เพราะพวกเขาเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการปกครองโดยฮอลันดา

แม้จะมีรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของญี่ปุ่น แต่ซูการ์โนก็ยังคงยืนยันว่าจะร่วมมือกับญี่ปุ่น จนกระทั่งช่วงท้ายของสงครามดูเหมือนว่าญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม ทำให้ซูการ์โนตกอยู่ในสถานะลำบาก หนทางการประกาศเอกราชเริ่มมืดมัว แต่เขาก็ยังพยายามเจรจากับญี่ปุ่นให้ประกาศเอกราชให้อินโดนีเซียโดยเร็ว ซึ่งเรื่องก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ครั้นจะเอากำลังเข้าต่อสู้ ทหารญี่ปุ่นก็ปกครองอยู่เต็มประเทศ

สถานการณ์คับขันเข้ามาทุกที ทำให้กลุ่มคนหนุ่ม ขบวนนักศึกษา พวกยุวชนที่ซูการ์โนจัดตั้งขึ้นมามองว่าการได้เอกราชจากญี่ปุ่นจะทำให้เสียเกียรติภูมิของชาติ พวกเขาจึงจับตัวซูการ์โนและผู้นำบางคน และประกาศว่าหากซูการ์โนไม่ประกาศเอกราช พวกเขาจะทำเสียเอง

เหตุนี้เองทำให้ซูการ์โนลงนามประกาศเอกราชให้กับ อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ปี 2488

การประกาศเอกราชครั้งนี้ฮอลันดาไม่เห็นด้วย ฮอลันดายังต้องการจะกลับมาปกครองอินโดนีเซียดังเดิม เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษจึงยกพลขึ้นอินโดนีเซียเพื่อปลดอาวุธญี่ปุ่น และฮอลันดาก็ตามเข้ามาทำให้อินโดนีเซียต้องทำสงครามกับฮอลันดาเพราะไม่ยอมรับอำนาจกาปกครอง

ทหารฮอลันดาเข้าโจมตีทหารกู้ชาติ เป็นโชคดีของอินโดนีเซียที่อินเดียช่วยประท้วงต่อองค์การสหประชาชาติให้ และมติก็เข้าข้างอินโดนีเซีย ฮอลันดาจึงยอมเจรจาและทำสนธิสัญญาเอกราชที่จัดขึ้น ณ กรุงเฮก เมื่อปลายปี 2492

หลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชแล้ว ซูการ์โน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี บทบาทของเขาเป็นเพียงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ส่วนผู้บริหารประเทศคือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เขาเป็นเพียงประมุขแห่งรัฐที่เป็นรวมศูนย์ความจงรักภักดีของประชาชน ซึ่งเขาพอใจกับตำแหน่งนี้

นอกจากนั้น ซูการ์โนปฏิเสธเข้าร่วมกับพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งนี้ อินโดนีเซียหลังจากได้รับเอกราชได้จัดการปกครองแบบมีรัฐสภา มีพรรคการเมืองแข่งขันกันเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าช่วงนี้การเมืองอินโดนีเซียเบ่งบานอย่างมาก มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย แต่มีอยู่ 4 พรรคใหญ่ที่ได้รับความนิยม ประกอบด้วย พรรค Masjumi พรรค Nahdatul Ulama (NU) พรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย (PNI) และพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI)

ทั้งนี้ ไม่มีพรรคไหนคุมเสียงข้างมากได้ในสภาจึงเกิดรัฐบาลผสม ต่อมาการปกครองไม่ราบรื่นเกิดการขัดแย้งกันระหว่างพรรคการเมืองที่ตกลงกันไม่ได้ รัฐเริ่มไม่มั่นคงเพราะอินโดนีเซียมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย นโยบายของพรรคการเมืองไม่ตอบสนองบางกลุ่มวัฒนธรรม อีกทั้งกองทัพบกมีความเข้มแข็งขึ้นและส่อว่าจะมีการยึดอำนาจ ทำให้ซูการ์โนตัดสินใจหันเข้ามายุ่งกับการเมือง

เขาเสนอให้ปกครองแบบ “ประชาธิปไตยแบบนำวิถี” (Guided Democracy) เขาเริ่มเข้ามายุ่งกับการเมืองเมื่อปี 2502 เสนอให้ตั้งสภาใหม่ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนจากทุกพรรคการเมือง ผู้แทนจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และอยู่ภายใต้การปกครองระบอบของประธานาธิบดี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยตรง

ซูการ์โน เสนอให้มีการตกลงกันแบบ gotongrojong ซึ่งต่างจากการลงคะแนนเสียงแบบตะวันตก (Vote) วิธีของเขาคือ การปรึกษาหารือแบบชาวบ้านและในที่สุดจะหาข้อตกลงกันได้ ดูแล้วเหมือนกับว่าซูการ์โนจะเป็นเผด็จการ แต่เขากำลังพยายามหาความปรองดองให้กับประเทศชาติ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ในที่สุดปี 2508 ทหารบกที่นำโดยนายพลซูฮาร์โต ก็เข้ายึดอำนาจจากซูการ์โน และเขาถูกคุมขังให้อยู่เฉยๆ ในทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งทหารบกเองก็ไม่กล้าทำอะไรกับซูการ์โน มากนักเพราะเขามีอิทธิพลต่อคนอินโดนีเซียอย่างมาก

บั้นปลายชีวิต ซูการ์โน

บั้นปลายชีวิตของซูการ์โน เขาใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาคนที่ 4 ชื่อ ฮาตินี (Hartini) อย่างเงียบๆ ส่วนภรรยาคนที่ 5 และ 6 ยังเป็นสาวอายุน้อยอยู่ ซูการ์โนตกลงให้ทั้งสองหย่ากับเขาเพราะยังสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ดีกว่านี้

ซูการ์โนเสียชีวิตลงเมื่อปี 2513 รัฐบาลทหารห้ามนำศพเข้าไปฝังในสุสานวีรชนชาติ ครอบครัวเขาจึงนำศพไปฝังยังบ้านเกิดที่เมืองบลิตาร์ (Blitar) เมืองซึ่งอยู่ไกลจากเมืองหลวงมาก และมารดาเขาก็ถูกฝังอยู่ที่นี่เช่นกัน ในวันฝังศพมีคนไปร่วมงานจำนวนมากกว่าล้านคน ทั้งๆ ที่ครอบครัวไม่ได้จัดงานใหญ่โต แสดงให้เห็นว่าซูการ์โนเป็นวีรบุรุษในใจของคนอินโดนีเซียอย่างแท้จริง

ในช่วงของรัฐบาลทหารที่นำโดยนายพลซูฮาร์โตปกครอง พยายามประกาศว่ายุคของตนคือ “ระเบียบใหม่” (New Order) มีความพยายามที่จะลบซูการ์โนที่สถาปนาให้เป็นสมัยแห่ง “ระเบียบเก่า” ( Old Order) ออกจากความทรงจำของคนอินโดนีเซีย พยายามกล่าวหาว่าซูการ์โนเป็นพวกคอมมิวนิสต์ บทบาทของซูการ์โนที่ปรากฏในหนังสือเรียนมีน้อยมากหรือไม่กล่าวถึงเลย ลบชื่อสนามบินนานาชาติจาร์กาตาที่ชื่อ “ซูการ์โน-ฮัตตา” ไม่ให้มีหนังสือเกี่ยวกับซูการ์โนวางขาย

พรรคการเมืองของซูการ์โนอย่างพรรคชาตินิยมอินโดนีเซียก็ถูกรวมเข้ากับพรรคเล็กๆ พรรคอื่น ทั้งนี้ความพยายามของรัฐบาลทหารที่พยายามลบซูการ์โนออกไป กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชาวอินโดนีเซียยังคงจดจำเขา มีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับซูการ์โนในด้านบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่หลุมศพเขามีคนไปเคารพอยู่ตลอดไม่ขาดสาย

เมื่อลูกสาวคนโตของซูการ์โนคือ เมกาวตี ซูการ์โนปุตรี เล่นการเมืองและใช้ชื่อบิดาหาเสียงด้วยก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ในทางกลับกัน รัฐบาลทหารของนายพลซูฮาร์โต เริ่มถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเขาออกมาเป็นจำนวนมากเช่นกันแต่เป็นทางลบมากกว่า

แน่นอนว่า ชื่อเสียงของเขาผสมปะปนระหว่างบวกและลบ เขาอาจเป็นทั้งนักพูดผู้เชี่ยวชาญวาทศิลป์ เป็นนักรัก นักปฏิวัติแห่งเอกราชของอินโดนีเซีย ในอีกด้านก็มีคนมองว่า เขาเป็นแต่นักพูด ลงมือทำแล้วไม่สำเร็จ หรือแม้แต่เป็นนักฉวยโอกาส สร้างอำนาจของตัวเอง แต่ไม่ได้ทำให้ชาติเจริญ

ไม่ว่าชื่อของ “ซูการ์โน” จะถูกจดจำอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าความพยายามกลบฝังชื่อของเขาก็ดูเหมือนจะไม่สำเร็จเท่าใดนัก ชื่อของเขาเข้าไปอยู่ในความทรงจำของคนอินโดนีเซียเสมอมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “วีรชนนักกู้ชาติ ซูการ์โน”. ใน วีรชนเอเชีย : ASIAN HEROES. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบรเวณศึกษา 5 ภูมิภาค. น. 22 – 45.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2563