เดวี ซูการ์โน จากสาวทำงานในคลับ สู่สตรีหมายเลข 1 อินโดนีเซีย

เดวี ซูการ์โน
เดวี ซูการ์โน, ปี 1970 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เรื่องราวของผู้หญิงธรรมดาที่พบรักกับ “เจ้าชาย” จนชีวิตพลิกผันดั่งเทพนิยายปรากฏให้เห็นมากมายแทบทุกมุมโลก ทว่าเรื่องราวของ เดวี ซูการ์โน หรือชื่อเต็มว่า “รัตนา ซารี เดวี ซูการ์โน” (Ratna Sari Dewi Sukarno) เจ้าของฉายา “ซินเดอเรลล่าแห่งเอเชีย” เห็นทีจะไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายนัก เพราะเส้นทางรักระหว่างเธอกับรัฐบุรุษจากดินแดนอิเหนากลับมีจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์กันที่ “คลับ VIP เลานจ์สุดหรู” ใจกลางเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นจึงเป็นสถานที่ที่เปลี่ยนชีวิตของเด็กสาวยากจนคนหนึ่งให้ก้าวมาสู่การเป็นภรรยาของผู้นำประเทศที่ได้มาโลดแล่นอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงไปตลอดกาล

เปิดเส้นทางชีวิตทำงานในคลับหรู

เดวีเป็นภรรยาคนที่ 5 ของ ซูการ์โน (Sukarno) ประธานาธิบดีคนแรกแห่งอินโดนีเซีย มีพื้นเพเป็นคนโตเกียวโดยกำเนิด มีนามเดิมว่า นาโอโกะ เนโมโตะ (Naoko Nemoto) เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483 ถึงแม้ว่าครอบครัวจะมีฐานะยากจน แต่ก็มีความฝันที่ว่าสักวันหนึ่งเธอจะต้องเป็นนักร้องโอเปร่าหรือไม่ก็นักเขียนชื่อดัง

เธอมีความสามารถที่หลากหลาย รวมถึงได้รับรางวัลชนะเลิศมากมายจากการแข่งขันวาดรูปในโรงเรียน จนกระทั่งบิดาต้องมาจากไปขณะที่เธอเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมต้น เดวีจึงต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงแม่และน้องชายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อถึงจุดนี้เธอมองว่า “จิตรกรที่มีชื่อเสียงมักตายไปเพราะความยากจน” หญิงสาวจึงตัดสินใจเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิตโดยฝันไว้ว่า อนาคตจะต้องเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงให้ได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเริ่มต้นด้วยการเป็นนักแสดงละครเวทีในโรงเรียน

เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย เดวีได้เข้าทำงานที่บริษัทประกันชื่อ Chiyoda Life Insurance พอตกกลางคืนก็จะไปเรียนนาฏศิลป์ วิธีการชงชา และการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นที่ Mita Senior School เพื่อนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดสู่ความฝันการเป็นนักแสดงในอนาคต ทว่าการเรียนรู้ที่ว่าต้องมีค่าใช้จ่าย เธอจึงตัดสินใจไปทำงานเป็นพนักงานต้อนรับและดูแลแขกที่ Kokusai Club คลับหรูในย่านอากาซากะ (Akasaka) ใจกลางกรุงโตเกียว 1 คืนต่อสัปดาห์

เดวีย้อนความหลังเมื่อครั้งทำงานที่ Kokusai Club ให้สื่อญี่ปุ่นฟังว่า

“เมื่อเพื่อนที่เป็นนักร้องชาวฟิลิปปินส์พาฉันไปที่นั่น ฉันแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ฉันเคยเห็นแต่ภาพผู้หญิงญี่ปุ่นแต่งตัวขะมุกขะมอมตามท้องถนน แต่พอมาอยู่ที่นี่ ฉันเห็นเด็กสาวญี่ปุ่นหลายคนกำลังสวมใส่เฟอร์ ขับรถเป็น และพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งทั้งหมดนี้มันเหมือนออกมาจากนิตยสารโว้ก (Vogue) ฉันจึงบอกกับตัวเองว่า นั่นแหละ.. คือสิ่งที่ฉันต้องการ!!!”

Kokusai Club เป็นคลับที่รับแขกวีไอพีต่างชาติ ทำให้เธอมีโอกาสพบปะบรรดามหาเศรษฐีรวมไปถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติมากมาย เช่น จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แฟรงก์ ซินาตรา นักร้องชาวอเมริกันชื่อดังแห่งยุค

เดวีเคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวการเป็นพนักงานคลับหรูแห่งนี้ไว้ว่า“ฉันได้เงิน 6,000 เยนต่อคืน ซึ่งเงินจำนวนนี้มันสามารถใช้จ่ายได้ทั้งเดือนในย่านชิโยดะ (Chiyoda)” ซึ่งรายได้ที่สูงทำให้เดวีมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีเงินเหลือไว้ไปซื้อผ้าสวยๆ มาใส่อีกด้วย

คืนแห่งโชคชะตาของ “เดวี ซูการ์โน” 

ในที่สุดวันแห่งโชคชะตาของเดวีก็มาถึง เมื่อ ซูการ์โน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย วัย 57 ปี เดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2502 แม้ว่าจะมาทำภารกิจเพื่อชาติ แต่เขาก็หาเวลามาพักผ่อนหย่อนใจเพื่อคลายเครียดในคลับหรู Kokusai Club อันเป็นสถานที่ทำงานของเดวี ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุได้เพียง 19 ปีเท่านั้น

ทันทีที่ซูการ์โนพบหน้าหญิงงาม เขาไม่อาจละสายตาไปจากสาวญี่ปุ่นคนนี้ได้ เธอมีใบหน้าที่งดงาม ดวงตากลมโต จมูกโด่งรับกับริมฝีปากที่บาง แถมมีกริยามารยาทที่อ่อนหวานตามแบบฉบับสาวญี่ปุ่น ซูการ์โนตกหลุมรักเธอทันทีเมื่อแรกเห็น คืนนั้นเขาได้ชวนเธอมานั่งร่วมโต๊ะทานน้ำชาด้วยกัน พร้อมกับทูตอินโดนีเซียและภรรยา เดวีได้เล่าถึงอดีตอันแสนหวานในคืนนั้นไว้ว่า

“เขาเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉันฟังแล้วรู้สึกประทับใจในประวัติศาสตร์ของชาติเราจากเขามาก ประวัติศาสตร์โลกช่างกว้างใหญ่ มันไม่ยากเลยที่จะทำให้ฉันหลงเสน่ห์”

หลังจากซูการ์โนกลับประเทศไปได้ 3 เดือน เขาก็ชวนเดวีไปเที่ยวอินโดนีเซียเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่ปฏิเสธคำเชิญจากผู้นำประเทศอย่างเขาไปได้ ระหว่างที่เดวีมาเที่ยวพักผ่อนที่อินโดนีเซีย บ่ายวันหนึ่งขณะที่เธอและซูการ์โนกำลังพำนักอยู่ที่เกาะบาหลี ท่ามกลางบรรยากาศที่แสนจะโรแมนติกโดยมีดวงอาทิตย์กลมโตดวงใหญ่สีแดงเข้มบนขอบฟ้าและมีบรรดาต้นมะพร้าวเป็นเงาอยู่ฉากหลัง ทั้งคู่ยืนอยู่ริมระเบียง ทันใดนั้นซูการ์โนได้ถามเดวีขึ้นมาว่า “โปรดมาเป็นแรงบันดาลใจให้ผม เป็นพละกำลังของผม และเป็นความหรรษาในชีวิตผมได้ไหม ?” 

เมื่อได้ฟังประโยคนั้น เดวีครุ่นคิดกับตัวเองว่า ถึงแม้เธอจะสามารถมีชีวิตยืนยาวอยู่ได้เป็น 100 ปี แต่เธอก็จะไม่มีวันที่จะได้ยินประโยคนี้จากชายใดอีก

“ถ้าเขาเลือกฉัน ฉันก็จะอุทิศชีวิตให้กับเขา ถ้างานของเขาที่ทำเพื่อชาติจะถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์ให้กับเขาฉันใด บางทีฉันก็จะเป็นส่วนหนึ่งของมัน และถ้าฉันจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอินโดนีเซียกับญี่ปุ่น ฉันตระหนักดีกว่าชีวิตของฉันต้องจะเป็นเช่นนั้น”

เส้นทางสู่สตรีหมายเลข 1

ทั้งคู่เข้าพิธีสมรสกันในปี 2505 ซูการ์โนได้เปลี่ยนชื่อให้เดวีจากเดิม นาโอโกะ เนโมโตะ มาเป็นชื่อ รัตนา ซารี เดวี ซูการ์โน ซึ่งแปลว่า เทวีผู้เป็นเนื้อแท้แห่งอัญมณี และแน่นอนว่าเธอต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่อินโดนีเซียเป็นการถาวรในฐานะภรรยาของผู้นำประเทศ ทว่าการย้ายมาอยู่ที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอต้องปรับตัวอย่างมาก เรียกได้ว่าปรับเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิต

เดวีต้องเปลี่ยนศาสนา ต้องเรียนภาษาชวาและมลายู พร้อมทั้งรับมือกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอินโดนีเซีย รวมถึงกระแสความเกลียดชังในเชื้อชาติของเธอ ที่ยังคงฝังอยู่ในความแค้นของชาวอินโดนีเซีย สืบเนื่องจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2

เดวีต้องใช้ความอดทนและอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ไปให้ได้ ขณะเดียวกันก็พยายามแสดงให้เห็นว่าเธอได้อุทิศทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อเป็นคนอินโดนีเซียอย่างเต็มภาคภูมิ หนึ่งในนั้นคือการสวมใส่ชุดพื้นเมืองของอินโดนีเซียออกงานเสมอ

ถึงแม้ว่าซูการ์โนจะมีภรรยาหลายคนตามหลักศาสนาอิสลาม แต่สตรีที่อยู่เคียงข้างเขาและคอยช่วยเหลือเขาในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่เป็นสตรีหมายเลข 1 ของประเทศ ก็คือเดวี สตรีที่เขารักตั้งแต่แรกเห็นในคลับหรูที่ญี่ปุ่นคืนนั้น เดวีเป็นสตรีที่ฉลาด มีความมาดมั่น สนใจประวัติศาสตร์ และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี

ก่อนออกไปทำงานทุกครั้งซูการ์โนมักเขียนถ้อยคำหวานๆ ไว้ให้เดวีเสมอ เช่น “ถึงต้องไปประชุมกับคณะรัฐมนตรี แต่หัวใจของผมกลับอยู่ที่คุณ” และ “ความรักที่ผมมอบให้คุณ ยาวกว่าเส้นผมอันนุ่มสลวยของคุณเสียอีก”

ถึงปัจจุบันเธอก็ยังคงเก็บข้อความเหล่านั้นซึ่งมีจำนวนกว่า 500 ชิ้น เพื่อย้ำเตือนความทรงจำอันแสนหวานของเธอกับสามีผู้เป็นที่รักอยู่เสมอ

ต่อมาไม่นาน ซูการ์โนแต่งตั้งให้เดวีเป็นที่ปรึกษาพิเศษของเขา นำมาซึ่งข้อกังขาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอินโดนีเซียอย่างมาก ที่ประธานาธิบดีผู้เปี่ยมล้นไปด้วยประสบการณ์ในแวดวงการเมืองมาหลายสิบปี อีกทั้งจบการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรม แต่ต้องมาขอรับคำปรึกษาว่าราชการแผ่นดินจากสตรีชาวต่างชาติที่จบเพียงมัธยมปลายอย่างนั้นหรือ?

หลังจากทั้งสองใช้ชีวิตคู่อันแสนสุขได้ราว 5 ปี ในปี 2510 นายพลซูฮาร์โต (Suharto) ลูกน้องคนสนิทของซูการ์โนได้ทำรัฐประหาร ดูเหมือนว่าซูการ์โนจะล่วงรู้ชะตากรรมของตนดี เพราะก่อนหน้านี้เขาได้ตัดสินใจส่งเดวีที่ท้องแก่ใกล้คลอดกลับไปอยู่ญี่ปุ่น ส่วนซูการ์โนอาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ต้าต่อไป

ใครจะคาดคิดว่าการจากลาของเขากับเดวีครั้งนั้นจะเป็นการพบหน้าครั้งสุดท้ายไปตลอดกาล แม้แต่บุตรสาวที่เพิ่งคลอดออกมาก็ไม่มีวันได้เห็นหน้าผู้เป็นพ่อ เพราะในปี 2513 ซูการ์โนได้ถึงแก่กรรม เดวีจึงกลายเป็นภรรยาม่ายของอดีตประธานาธิบดีที่ต้องลี้ภัยการเมืองมาอยู่ญี่ปุ่น เดวีต้องต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อหยัดยืนในโชคชะตาชีวิตโดยไร้สามีเคียงข้าง จากนั้นเธอได้ย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกหลายประเทศ ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

คดีอื้อฉาว : เมื่อ เดวี ซูการ์โน ถูกสาวไฮโซดูถูกภูมิหลัง

วีรกรรมสุดแสบที่เรียกได้ว่าเป็นที่โจษจันอย่างมากในสังคมยุคนั้น เห็นทีจะไม่พ้นเรื่องเล่าจากเหตุการณ์ในคืนวันที่ 2 มกราคม ปี 2535 ซึ่งเป็นงานปาร์ตี้ปีใหม่สุดหรูของเหล่าไฮโซ จัดขึ้นที่ Aspen Club Lounge รัฐโคโรราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา มีเหล่าคนดังเข้าร่วมงานมากมาย อาทิ อิวานา ทรัมป์ ( Ivana Trump) อดีตนางแบบสาวสวยผู้เป็นภรรยาของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในขณะนั้น  เดวิด โคค (David Koch) มหาเศรษฐีนักธุรกิจค้าน้ำมัน รวมถึงเดวี ซึ่งตอนนั้นอยู่ในสถานะภรรยาของอดีตประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียผู้ล่วงลับไปแล้ว

บรรยากาศในงานดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งสาวไฮโซนามว่า มินนี่ โอสเมญญา (Minnie Osmeña) หลานสาวของ เซร์ฮิโอ โอสเมญญา (Sergio Osmeña) อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่เปิดประเด็นกอสซิปในวงสนทนา พูดถึงเรื่องราวของสาวคลับบาร์ในญี่ปุ่นนางหนึ่งที่วาสนาดีตกถังข้าวสารจนได้มาเป็นภรรยาของผู้นำประเทศ แน่นอนว่าใครที่ได้ฟังย่อมรู้ดีว่า หญิงสาวที่มินนี่กำลังพูดถึงคือเดวีนั่นเอง

แม้ว่าขณะนั้นเดวีจะมีอายุ 52 ปีแล้ว แต่ความสวยที่มาพร้อมกับความมั่นในตัวก็มิได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด เมื่อนิทานที่มินนี่เล่าในงานนั้นเข้าหูเธอ เดวีผู้ยึดมั่นในศักดิ์ศรี “ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้” จึงเดินไปตบหน้ามินนี่ด้วยแก้วไวน์ที่อยู่ในมือ แรงตบผสมด้วยแรงแค้นทำให้แก้วไวน์ใบนั้นแตก พร้อมกับเศษแก้วขนาด 2 นิ้ว ที่ปักอยู่บนใบหน้าของมินนี่

ผลปรากฏว่ามินนี่ต้องเย็บแผลไปถึง 37 เข็ม ส่วนเดวีถูกจำคุกข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเวลา 34 วัน พร้อมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 750 ดอลลาร์ กระนั้นความเปรี้ยวของเดวีก็ยังไม่ลดละ จนถูกเพิ่มโทษขยายเวลาจำคุกเป็น 60 วัน หลังออกมาจากคุกเดวีได้ให้สัมภาษณ์อย่างไม่แคร์สื่ออีกด้วยว่า “ตอนอยู่ในคุกก็มีความสุขดีนะ!!!”

ปัจจุบันเดวีในวัย 80 กว่าปี ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงในญี่ปุ่น รวมถึงออกงานสาธารณกุศลระดมทุนช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากมาโดยตลอด เพราะความทรงจำในวัยเด็กที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบาก ทำให้เดวีเข้าใจถึงหัวอกของผู้คนเหล่านี้ ขณะเดียวกันเธอก็ไม่อายที่จะยอมรับว่าในอดีตเคยทำงานในคลับวีไอพีมาก่อน

เดวีรักและเทิดทูนซูการ์โนผู้เป็นสามีที่ช่วยชุบชีวิตเด็กยากจนให้กลายมาเป็นภรรยาของรัฐบุรุษเคียงคู่เขา และเธอยังคงจดจำภาพความประทับใจในดินแดนอินโดนีเซีย ในฐานะที่เคยเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภาพความงดงามเหล่านั้นต้องแลกมาด้วยความขมขื่น และเดวีก็ไม่เคยลืมบรรดาผู้คนที่เคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเธอและครอบครัว เดวีจึงตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ในชีวิตนี้ไว้ว่า “ฉันจะมีชีวิตอยู่จนกว่าศัตรูของฉันจะตายหมด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง

https://www.japantimes.co.jp/community/2002/01/06/general/dewi-sukarno-miss-ambition-whos-done-it-her-way/

https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1993-01-23-mn-1617-story.html

www.nytimes.com/1998/02/17/world/jakarta-journal-weighty-past-pins-the-wings-of-a-social-butterfly.html

https://thepeople.co/ratna-sari-dewi-sukarno/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2564