ผู้เขียน | รัชตะ จึงวิวัฒน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ย้อนรอยการก่อตัวของฟุตบอลอังกฤษ-สเปน สู่มหาอำนาจยุโรป พลิกโฉมลูกหนังยุคใหม่
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวกับกีฬา ฟุตบอลคือชนิดกีฬาที่ได้รับความนิยมและมีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ มีหัวหอกจากทวีปยุโรปอันเต็มไปด้วยสโมสรยักษ์ใหญ่มากอิทธิพล พวกเขาล้วนมีความเป็นมายาวนาน และร่วมแข่งขันกันภายในทวีปมาไม่ต่ำกว่า 5 ทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2021 ถือเป็นช่วงเวลาที่ฟุตบอลยุโรปประสบปัญหารุมเร้ามากที่สุดอีกครั้ง
บรรยากาศของชุมชนฟุตบอลในทวีปยุโรปปี 2021 อาจถูกบันทึกในประวัติศาสตร์กีฬาลูกหนังอีกหน้าหนึ่งในฐานะช่วงแห่งความปั่นป่วนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจและการเงินสืบเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดทั่วโลก มาจนถึงการงัดข้อครั้งใหญ่เมื่อสโมสรใหญ่จากอังกฤษ 6 ทีม จับมือกับสโมสรดังอีกหลายแห่งในยุโรปอีก 6 ทีม รวมแล้วเป็น 12 สโมสร (ทั้ง 12 ทีมนิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้ก่อตั้ง”) ร่วมกันประกาศตั้งยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก (European Super League) รายการแข่งขันของตัวเองขึ้นมาเพราะไม่พอใจอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่รายการเดิมซึ่งองค์กรลูกหนังดูแลจัดการแข่งขันระดับทวีปจัดสรรให้
อัปเดตเมื่อ ก.ค. 2021 : ข้อเสนอตั้ง “ซูเปอร์ลีก” ถูกพับเก็บไปแล้ว
บรรยากาศเวลานี้กลายเป็น “ความแตกแยก” ครั้งใหญ่ในโลกลูกหนังทวีปยุโรป แม้แต่ผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ และฝรั่งเศสก็ต้องลงมาสอดส่อง
ฟุตบอลอังกฤษ
ในข้อเท็จจริงแล้ว อังกฤษ (ไปจนถึงหลายแห่งในเครือสหราชอาณาจักร) เป็นที่ยอมรับกันจากแง่มุม “บ่อเกิด” ของกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ สืบเนื่องมาจากบทบาทในการวางกฎเกณฑ์กติกาการเล่นแบบสากลที่พัฒนาต่อเนื่องกลายมาเป็นกติกาฟุตบอลที่เล่นกันจนถึงวันนี้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การเล่นกีฬาลักษณะแบบ “ฟุตบอล” มีหลักฐานว่าการเล่นชนิดนี้แพร่กระจายปรากฏในหลายมุมโลก
สำหรับบทบาทการก่อตัวของฟุตบอลในอังกฤษนั้น เชื่อกันว่า ยุคแรกเริ่มถือกำเนิดจากฟุตบอลโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องวางกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกันในการแข่งขันระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จนเกิดเป็น “กติกาเคมบริดจ์” ในปี ค.ศ. 1848 หลังจากนั้นก็ถูกนำไปปรับใช้ในสโมสรระดับมณฑลและสโมสรสุภาพบุรุษในลอนดอนแล้วค่อยๆ พัฒนากลายมาเป็นรากฐานของการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่มาจนถึงวันนี้
ในช่วงศตวรรษที่ 19 โรงเรียนรัฐอย่างอีตัน (Eton), แฮร์โรว์ (Harrow), ชาร์เตอร์เฮาส์ (Charterhouse) และรักบี้ (Rugby) แต่ละโรงเรียนต่างแข่งขันกันภายใต้กติกาที่แตกต่างกันจนต้องตกลงกติการ่วมให้ใช้แบบเดียวกัน (แม้ว่ายังมีบางโรงเรียนต้องการใช้กติกาของตัวเอง หรือใช้ลูกบอลทรงแปลกๆ อยู่) จากนั้นจึงค่อยปรากฏการก่อตั้งสมาคมฟุตบอล (Football Association) หรือที่เรียกกันว่าเอฟเอ เมื่อปีค.ศ. 1863
ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลในรูปแบบลีก (League) เกิดขึ้นตามมาในช่วง 3 ทศวรรษหลังของศตวรรษที่ 19 โดยลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษในปัจจุบันถูกเรียกว่า “พรีเมียร์ลีก” (Premier League) ซึ่งถูกรีแบรนด์เมื่อปี 1992 อันเป็นการแยกตัวออกจาก “ลีกฟุตบอลอังกฤษ” (English Football League-EFL) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1888 โดยฤดูกาล 1888-89 อันเป็นปีแรกของการแข่งขันลีก เพรสตัน นอร์ธ เอนด์ (Preston North End) เป็นแชมป์ทีมแรก
ช่วงเวลานั้นต้องยอมรับว่า ฟุตบอลในอังกฤษไปจนถึงแถบสกอตก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง พวกเขาแข่งขันกัน และเริ่มมีนักเตะสกอตเข้ามาเล่นให้ทีมในอังกฤษราวช่วงทศวรรษ 1880s กันมากขึ้น สกอตแลนด์เป็นแหล่งผลิตนักฟุตบอลฝีเท้าดีในยุคนั้น นักฟุตบอลสกอตมักเติบโตมาในช่วงยุคอุตสาหกรรมกำลังเติบโตขณะที่บรรยากาศชุมชนอุตสาหกรรมกลับมีสภาพอันแร้นแค้น ในช่วงสมัยวิกตอเรียน แมตช์ลงแข่งวันเสาร์คือช่วงเวลาหลีกหนี ปลดปล่อยตัวเองจากการทำงานเหมือง โรงงาน และอู่ต่อเรืออันแสนเหนื่อยยาก
ทศวรรษ 1900s ความนิยมของฟุตบอลเริ่มกระจายตัวไปในระดับประเทศ เซอร์ทิม ดีไวน์ นักประวัติศาสตร์สกอตแลนด์ที่มีชื่อเสียงอีกรายให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ระบุว่า 1 ใน 4 ของชายอายุระหว่าง 15-29 ปีที่อาศัยทางตอนกลางของสกอตแลนด์จะต้องมีสโมสรต้นสังกัดเลยทีเดียว และแน่นอนว่า สำหรับนักฟุตบอลที่เพลงแข้งยอดเยี่ยม ผลงานในสนามย่อมเป็นบันไดไปสู่ชื่อเสียงและทรัพย์สิน
ฟุตบอลอังกฤษในสังคมลูกหนังยุโรป
หากมองออกไปนอกแดนอังกฤษและสกอตแลนด์ ในทศวรรษ 1900s หลายประเทศในยุโรปปรากฏการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลกันมากขึ้น เรอัล มาดริด (Real Madrid) จากสเปน และบาเยิร์น มิวนิก (Bayern Munich) ในเยอรมนี ต่างก่อตั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้เอง
ในรอบ 5 ทศวรรษระหว่าง 1900-1950 ฟุตบอลในยุโรปค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมา ระหว่างทางก็เริ่มมีรายการที่นำแชมป์แต่ละประเทศในภูมิภาคมาแข่งขันกันอยู่เรื่อยๆ อาทิ รายการ Mitropa Cup รายการระดับเมเจอร์สำหรับสโมสรฟุตบอลในยุโรปตอนกลาง แข่งแมตช์แรกเมื่อปี 1927 และยกเลิกไปเมื่อปี 1992
ในปี 1954 สหพันธ์ฟุตบอลแห่งทวีปยุโรป (Union of European Football Associations : UEFA) ถือกำเนิดขึ้น ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นและความสำเร็จจากการแข่งขันแบบกระชับมิตรกันในภูมิภาค โดยเฉพาะความสำเร็จของทีมจากอังกฤษอย่างสโมสรวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส (Wolverhampton Wanderers) เดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง Gabriel Hanot บก.ของ L’Equipe สื่อสิ่งพิมพ์สายกีฬาในฝรั่งเศสเสนอให้จัดการแข่งขันระหว่างสโมสรในภูมิภาคยุโรปแก่ FIFA ซึ่ง UEFA ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นก็ได้กลายมาเป็นผู้รับเริ่มจัดการแข่งที่ใช้ชื่อว่า European Champion Clubs’ Cup เริ่มแข่งในเดือนกันยายน 1955 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
รายการ European Champion Clubs’ Cup ครั้งแรกเริ่มต้นในฤดูกาล 1955-56 เชิญทีมแชมป์จากลีกแต่ละประเทศในยุโรปมาชิงชัยแย่งชิงเกียรติยศของผู้ชนะในฐานะทีมที่ยอดเยี่ยมที่สุดในทวีป เกมแรกของรายการคือแมตช์ระหว่าง สปอร์ติ้ง ลิสบอน (Sporting Lisbon) กับ ปาร์ติซาน เบลเกรด (Partizan Belgrade) รายการดังกล่าวเป็นที่รับรู้ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และเป็นรายการมาตรฐานสำหรับการท้าทายศักยภาพของสโมสรในยุโรปที่กำลังเบ่งบาน
ถึงจะจุดติดอย่างรวดเร็ว แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงภาพในอนาคตของรายการนี้ว่า จะพัฒนาจากทีมเข้าร่วมแค่ 16 ทีม เมื่อผ่านไป 60 ปี จะมีผู้เข้าร่วมแข่งรวมทั้งหมดทุกรอบได้มากถึง 70 สโมสรจากยุโรป และกลายเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดสำหรับระดับสโมสรของยุโรปทั้งในแง่เกียรติยศและความภาคภูมิใจ (ปัจจุบันใช้ชื่อ UEFA Champions League)
ตามความเห็นของ Rab MacWilliam นักเขียนและสื่อมวลชนสายกีฬาที่เขียนในหนังสือ Life in La Liga เขามองว่า หลังจากรายการก่อตัวได้สักพัก ภาพของสโมสรฟุตบอลในระดับยุโรปในหมู่ชาวอังกฤษที่คลุกคลีกับฟุตบอลมายาวนานยังคงไม่กระจ่างชัดนักแม้เวลาจะผ่านมาถึงยุค 60s แล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด ชาวอังกฤษและสกอตเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า พวกเขาไม่ใช่ปรมาจารย์ที่ยากหาใครมาล้มพวกเขาได้
ตัวอย่างเกี่ยวกับความเข้าใจผิดต่อฟุตบอลในหมู่ชาวอังกฤษในแง่พวกเขาเป็น “เจ้าพ่อ” ของเกมปรากฏขึ้นตั้งแต่รายการ European Champion Clubs’ Cup ฤดูกาล 1959-60 บาร์เซโลน่า (Barcelona) แชมป์ลีกสเปนฤดูกาลก่อนหน้านี้บดขยี้วูล์ฟแฮมป์ตันฯ สโมสรจากอังกฤษซึ่งสื่อในประเทศของพวกเขาเคยยกย่องว่าเป็น “ทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก” ในรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยสกอร์รวม 9-2 (Rab MacWilliam, 2019)
ขณะที่แชมป์สกอตอย่างเรนเจอร์ส (Rangers) ก็ตกอยู่ในสภาพใกล้เคียงกัน พวกเขาโดนไอน์ทรักต์ แฟรงค์เฟิร์ต (Eintracht Frankfurt) จากเยอรมนีบดขยี้ในรอบรองชนะเลิศด้วยสกอร์รวม 12-4
สภาพของทีมจาก “แดนผู้ดี” ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็น “บ้านเกิด” ของฟุตบอล ขณะที่เหล่าทีมจากบริเทนล้วนมีศักยภาพสูงส่งถูกท้าทายอย่างหนัก
(ฟุตบอล)สเปนแนะนำตัวสู่ยุโรป
ขณะเดียวกัน สิ่งที่คนในสหราชอาณาจักรและอีกหลายประเทศในยุโรปไม่ได้มองถึงคือการเข้ามาประกาศศักดาของทีมจากสเปนอย่างเรอัล มาดริด (Real Madrid) ซึ่งกวาดแชมป์รายการนี้ไป 5 สมัยติดต่อกัน (1955-1960) ทั้งที่สเปนเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น ยังเป็นประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการของนายพลฟรังโก
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สหประชาชาติ (United Nations) บังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่อสเปน ในปี 1946 สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสถอนทูตจากสเปนและไม่ยอมรับอำนาจนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) มาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 1948 ก็ไม่ได้รวมชื่อสเปนเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 50s สเปนเริ่มปรับตัวมาใช้นโยบายที่เข้มงวดน้อยลงกว่าเดิม แม้ว่าฝ่ายปกครองจะยังถือว่าตัวเองใช้ระบบปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเพื่อเป็นเครื่องมือรับใช้ชาติในการไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศก็ตาม ในสเปนปรากฏรูปแบบของเครื่องมือของรัฐแบบสมัยใหม่ นายพลฟรังโก และคณะฝ่ายปกครองของเขาเริ่มได้รับการโน้มน้าวทีละน้อยว่าสเปนที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเพื่อนบ้านในยุโรปทั้งแง่นโยบายทางเศรษฐกิจและการทูต สเปนก่อตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวเมื่อปี 1951 ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่ปีต่อมา
ในขณะเดียวกันนี้ บรรยากาศของสงครามเย็นที่ก่อตัวขึ้นทำให้สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจซึ่งเคยมีท่าทีปฏิปักษ์ต่อสเปนเริ่มหันเหนโยบายต่อสเปนต่างจากเดิม แต่สิ่งที่ Rab MacWilliam มองว่าเหตุผลที่แท้จริงซึ่งทำให้สหรัฐฯ พลิกหัวกลับคือ ภูมิศาสตร์สำคัญของสเปนในแถบเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้ และนโยบายแข็งกร้าวต่อคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงของฟรังโก สหรัฐฯ ส่งทูตไปประจำที่มาดริดอีกครั้ง และเซ็นสัญญา Pact of Madrid ในปี 1953 ซึ่งอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพอากาศในสเปน แลกกับการยอมรับและการันตีทางการเงินของสเปน
ในปี 1955 สเปนได้รับเชิญให้เข้าร่วมสหประชาชาติ ตามมาด้วยการยอมรับของธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สำหรับรายหลังนี้เองเป็นผลให้คณะการปกครองของนายพลฟรังโก ต้องเปิดมาตรการใหม่ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางพึ่งพาตัวเองที่ยึดมั่นมายาวนานร่วม 20 ปี แล้วมุ่งไปในเรื่องการค้าในทางเศรษฐกิจ พร้อมกับโครงการทางสังคมหลายด้าน อาทิ สวัสดิการสังคม ที่อยู่อาศัยราคาถูก ขยายการศึกษาและการผลิต ไปจนถึงการส่งออกสินค้า
เมื่อมาถึงปี 1960 สเปนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ 4 ล้านคนต่อปี พุ่งทะยานไปถึง 18 ล้านคนในปี 1966 และแน่นอนว่า ฟุตบอลเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่นำเสนอ “สเปนใหม่” สู่สายตาคนภายนอก MacWilliam ชี้ว่าความสำเร็จของนโยบายโฆษณาชวนเชื่อแบบไม่เป็นทางการอย่างหนึ่งของนายพลฟรังโก คือสโมสรเรอัล มาดริด การเล่นของทีมชุดขาวได้รับคำชื่นชมจากแฟนบอลหลายล้านคนในสนามและทางบ้านก่อนจะแพร่กระจายความนิยมไปถึงระดับภูมิภาค
นายพลฟรังโก ทราบดีถึงอิทธิพลของเกมกีฬาที่มีต่อพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ความบันเทิงและความสนุกสนานเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องแง่ลบหลายด้าน
ดังนั้น นายพลฟรังโกพลิกฟื้นกระทรวงการกีฬาขึ้นมาใหม่ภายใต้ร่มเงาของฝ่ายชาตินิยมที่จงรักภักดี สโมสรฟุตบอลในสเปนได้รับการสนับสนุนให้สร้างผู้เล่นและสร้างเสริมสนามขึ้นใหม่ ยุคนี้สโมสรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของฟรังโก ทุกสโมสรต้องมีสมาชิกบอร์ดอย่างน้อย 2 รายมาจากกลุ่ม Falange อันเป็นกลุ่มการเมืองชาตินิยมสุดโต่ง หลายสโมสรเปลี่ยนชื่อมาใช้คำแบบ “คริสเตียน” คาสติเลียน (Castilian) ตัวอย่างของมาดริดคือ ทีมมาดริด เอฟซี (Madrid FC) เปลี่ยนชื่อเป็น “เรอัล มาดริด” (Real Madrid Club de Fútbol)
เมื่อยุโรปอ้าแขนต้อนรับสเปน กลับคืนมา ฟุตบอลกลายเป็นสินทรัพย์สำคัญอย่างหนึ่งของแดนแห่งนี้ไปโดยปริยาย และแน่นอนว่า อิทธิพลดังกล่าวลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน แม้สโมสรใหญ่อย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ในวันนี้ยังประสบปัญหาการเงินรุมเร้า แต่ความสำเร็จในสนามเป็นเรื่องที่แฟนบอลปฏิเสธไม่ได้ พวกเขามีแฟนบอลมหาศาลจากทั่วโลก
เมื่อเรอัล มาดริด พร้อมแอตเลติโก มาดริด ร่วมด้วยกับบาร์เซโลน่า และอีก 6 สโมสรใหญ่จากอังกฤษ (อีก 3 ทีมที่เหลือคือยูเวนตุส, เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน จากอิตาลี) พวกเขาย่อมมีเสียงดังพอในการออกมาเคลื่อนไหวเขย่าลูกหนังยุโรปดังที่แฟนบอลหรือแม้แต่คนทั่วไปพบเห็นความเคลื่อนไหวได้จากทุกพื้นที่ข้อมูลข่าวสาร
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเป็นมาของ “ฟุตบอล” กีฬายอดฮิต ที่แรกเริ่มดุเดือด เลือดพล่าน
- จุดพลิกโฉมฟุตบอลอังกฤษ เรื่องจริงของทีมแรงงานงัดคนฐานะดีในซีรีส์ The English Game
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
McKenna, Kevin. “Who gave English football its mass appeal? The ‘Scotch Professors’”. The Guardian. Online. Published 8 MAR 2020. Access 19 MAR 2020. <https://www.theguardian.com/uk-news/2020/mar/08/the-english-game-football-mass-appeal-netflix-scotch-professors-fergus-suter-julian-fellowes>
MacWilliam, Rab. Life in La Liga. Edinburgh : Arena Post, 2019.
Youngs, Ian. “The English Game: Netflix replays the birth of modern football”. BBC. Online. Published 18 MAR 2020. Access 19 MAR 2020. <https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-51574065>
“1955/56: Madrid claim first crown”. UEFA. Online. Access 20 APR 2021. <https://www.uefa.com/uefachampionsleague/news/0258-0e6a0359223b-d180c4119f8e-1000–1955-56-madrid-claim-first-crown/?iv=true>
“ความเป็นมาของ “ฟุตบอล” กีฬายอดฮิต ที่แรกเริ่มดุเดือด เลือดพล่าน”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 8 มกราคม 2563. เข้าถึงเมื่อ 20 เมษายน 2564. <https://www.silpa-mag.com/history/article_43806>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2564