เผยแพร่ |
---|
แม้จะมีหลักฐานระบุชัดว่า มีการเล่นกีฬาในลักษณะเดียวกันกับฟุตบอลในหลายมุมโลก แต่ก็ถือได้ว่าอังกฤษเป็นบ่อเกิดกีฬาฟุตบอล ในแง่พัฒนาการต่อเนื่อง และจัดวางกฏเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน กีฬาโบราณที่พอจะอ้างเป็นบรรพบุรุษของฟุตบอลได้ก็คือ ฟุตบอลในโชรฟทิวสเดย์ ซึ่งเป็นการแข่งขันของคนทั้งหมู่บ้าน ใช้กติกาท้องถิ่น ผู้ร่วมแข่งขันอาจได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ฟุตบอลโบราณที่ยังเหลือเค้ามาถึงปัจจุบัน พบเห็นได้ในเมืองแอชเบิร์น มณฑลดาร์บีเชียร์ อาจเรียกได้ว่าเป็นรุ่นโบราณที่สุดที่บันทึกเป็นหลักฐาน
เพราะเริ่มแข่งขันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 โดยมีกองทหารโรมันเป็นผู้นำมาเผยแผ่บนเกาะอังกฤษ ร่องรอยที่หลงเหลือมาจนถึงการเล่นฟุตบอลในปัจจุบันที่เล่นบนเกาะอังกฤษหรืออิตาลี อาจไม่ได้เน้นที่การใช้เท้า (ผู้เล่นอาจคว้าลูกขึ้นมาครองก็ได้) หากแต่เป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวปกป้องรักษาแดนของตน และเคลื่อนย้ายลูกให้เข้าไปในประตูฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในสมัยโบราณหลักประตูอาจเป็นเพียงเขตปักปันระยะห่างกันนับร้อยหลา กีฬาฟุตบอลโบราณทางตะวันออกไกลเน้นที่การใช้เท้าเล่นลูก แต่เป็นการเดาะลูกเสียมากกว่า [ตะกร้อ] ฟุตบอลโบราณในอังกฤษถือเป็นกีฬาระบายความก้าวร้าวที่กักเก็บกดไว้ในใจ
ช่วงนั้นการยอมรับในวงกว้างยังไม่ราบรื่น แต่ก็แหวกพ้นจากการจำกัดแต่เฉพาะในวันก่อนถือศีล ในปี 1314 กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 มีพระราชโองการสั่งห้ามเล่นฟุตบอลในท้องถนนของมหานคร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก กษัตริย์ริชาร์ดที่ 2 ทายาทผู้สืบบัลลังก์ก็มีพระราชโองการในทำนองเดียวกัน เนื่องจากห่วงใยว่าผู้คนในแผ่นดินจะทอดทิ้งการฝึกปรือฝีมือการยิงธนู
ในสกอตแลนด์ก็มีคำสั่งห้ามในลักษณะเดียวกันนี้ ผู้รักษากฎหมายขับไล่ผู้เล่นออกจากท้องถนน ซึ่งถือเป็นสังเวียนที่หล่อหลอมยอดนักเตะหลายต่อหลายคน ในยุคถัดมา รถยนต์ที่แล่นขวักไขว่บนท้องถนนเป็นกรรมการชี้ขาด ห้ามผู้เล่นได้ชะงัดกว่ามือกฎหมาย
ในปี 1581 ริชาร์ด มัลคาสเตอร์ ให้ความเห็นในอีกทางว่า “กีฬาฟุตบอลช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อทั่วเรือนร่าง และเป็นเวชบำบัด ในการขับก้อนนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะและไตได้อย่างชะงัด” (ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า กีฬาฟุตบอลในปัจจุบันจะให้ผลในทางการแพทย์เช่นนี้) ในปี 1583 นักเขียนผู้หนึ่งกล่าวถึงกีฬาฟุตบอลในมิติที่เกี่ยวกับ “ฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย และการหลั่งเลือกโลมดิน”
พระราชโองการสั่งห้ามการเล่นฟุตบอลถูกยกเลิกไปในศตวรรษที่ 17 ทั้งกษัตริย์เจมส์ที่ 1 และชาร์ลสที่ 2 โปรดทอดพระเนตรกีฬาฟุตบอล กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมแพร่หลาย เห็นได้ชัดจากการนำเอาคำว่า “ฟุตบอล” ไปพ่วงกับกีฬาหลายประเภท
แม้จะมีจุดกำเนิดยอดนิยมจากหลายทาง แต่ทว่ากติกากีฬาฟุตบอลในยุคปัจจุบันกลับถือกำเนิดจากฟุตบอลโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องวางกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกันในการแข่งขันระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จนเกิดเป็น “กติการเคมบริด์” ในปี 1848 ได้นำไปปรับใช้ในสโมสรสุภาพบุรุษในลอนดอน และสโมสรในระดับมณฑล จนกลายเป็นกติกา “เชฟฟิลด์” สโมสรฟุตบอลแห่งแรกในเส้นทางคู่ขนานกีฬาฟุตบอลของชนชั้นกลาง ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายทางตอนเหนือก็ต้องวางกติกาให้เป็นที่ยอมรับนับถือทั่วกัน เมื่อรวมกติกา 2 ประเภทเข้าด้วยกัน ก็กลายมาเป็นรากฐานของการเล่นฟุตบอลในยุคปัจจุบัน
ในปี 1871 มีการก่อตั้งสหภาพรักบี้ ซึ่งเป็นการแยกการเล่นใช้เท้ากับมือให้แตกต่างกัน เป็นกีฬา 2 ประเภทที่อยู่ในปัจจุบัน
ช่วง 3 ทศวรรษหลังของศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงแห่งการปรับเปลี่ยนกติกาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีการก่อตั้งสมาคมฟุตบอล ฟุตบอลลีก แชลเลนจ์คัป และสถาบันอื่นๆ สโมสรจากท้องถิ่นที่มีชื่อคุ้นหูเข้ามาสังกัดสมาคมฟุตบอล เช่น แอสตัน วิลลา, แบล็กเบิร์น โรเวอร์, น็อตต์เคาน์ตี้ และเชฟฟิลด์เวนสเดย์
ขณะเดียวกันนั้นวิศวกรชาวอังกฤษ ผู้ประกอบการอิสระ และทหารที่ไปประจำการในต่างแดน ก็นำการเล่นที่มีกติกาวางไว้แน่ชัดแล้วไปเผยแพร่ ปูพื้นฐานวางรากฐานที่จะนำไปสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ กีฬาฟุตบอลก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกเมื่อได้รับการบรรจุให้แข่งขันในกีฬาโอลิมปิกปี 1908 และยืนยันความนิยมได้อีกหลายเท่าทวีคูณด้วยการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก
ในศตวรรษนี้ การปรับเปลี่ยนกติการแข่งขันถือได้ว่ามีน้อยมาก ซึ่งก็สอดคล้องไปกับจุดโดดเด่นของกีฬาฟุตบอลที่ไม่มีกติกาหยุมหยิม ปล่อยให้เกมดำเนินต่อเนื่องไปตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้แสดงศิลปะในการเล่นออกมาเต็มที่
อย่างไรก็ตาม แก่นแท้ของกีฬาฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของสถาบัน หรือสถานะของผู้ร่วมกิจกรรมนี้ ทุกฝ่ายถูกเปลี่ยนโฉมแปลงรูปลักษณ์ด้วยข้อกำหนดเดียวคือเงินตรา ซึ่งจะเห็นได้ชัดในทศวรรษท้ายสุดในอังกฤษและระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าครอบครองกิจการสโมสร การให้เงินสนับสนุนมหาศาลจากผู้ผลิตสินค้า การทุ่มเงินซื้อตัวนักเตะมาสังกัดทีม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงการฟุตบอลที่ปรากฎบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ล้วนแล้วแต่มีส่วนเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกีฬาฟุตบอลทั้งสิ้น
เค้าเดิมของการตะลุมบอนดุเดือดถึงเลือดถึงเนื้อในฟุตบอลโชรฟทิวสเดย์ในยุคกลาง หรือการสวมกางเกงยืดรัดรูปของนักเตะจากคอรินเธียนไม่เหลงเหลืออยู่เลย เมื่อเปรียบเทียบกับเกมการแข่งขันใต้ไฟสนามจัดจ้า เสื้อผ้าที่สวมใส่มีตราสินค้าเบียดตราสโมสรให้เหลือเพียงเล็กจิ๋ว ควบคุมกำกับโดยกรรมการที่ควักใบเหลืองใบแดงออกมาแจกเป็นจักรผัน มีผู้ชมป่าเถื่อนรุมล้อมอยู่ข้างสนามดุร้ายถึงขั้นที่ต้องกั้นรั้วเหล็กแน่นหนา ยืนแออัดยัดเยียดในกล่องที่นั่งของบุคคลระดับบริหารและกล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดสด
วิวัฒนาการปรับเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าหน้าเดิม แต่ในแก่นแท้แล้วก็ยังเป็นสัตว์กีฬาตัวเก่า ประจุด้วยเลือดเนื้อ และวิญญาณที่ไม่เคยเปลี่ยน ผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายและนักอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีควรจะรับฟังคำสะกิดเตือนใจว่า ในขณะนี้ มีผู้นิยมเล่นฟุตบอลและมีแฟนฟุตบอลเพิ่มมากมายมหาศาลเกมเช้าวันเสาร์ก็ยังรุ่งเรืองไม่เสื่อมคลาย… และในฟุตบอลอาชีพ เด็กฝึกงานก็ยังทำทำหน้าที่ขัดรองเท้าเหมือนครั้งอดีตกาล
ข้อมูลจาก :
แกรแฮม ฮาร์ต บรรณาธิการ, นพดล เวชสวัสดิ์ แปล. สารานุกรมฟุตบอล กินเนสส์. สำนักพิมพ์สุริวงศ์บ๊คเซนเตอร์, 2537
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2563