จุดพลิกโฉมฟุตบอลอังกฤษ เรื่องจริงของทีมแรงงานงัดคนฐานะดีในซีรีส์ The English Game

(ซ้าย) ภาพการแข่งขันฟุตบอลจากซีรีส์ The English Games ภาพจาก YouTube/Netflix (ขวา) เฟอร์กัส ซูเทอร์ นักฟุุตบอลสกอต ถ่ายช่วง 1880-89 ภาพจาก The Cottontown digitisation project / Wikimedia Commons - Public Domain

ทุกครั้งที่เอ่ยถึง “ฟุตบอล” อังกฤษจะกลายเป็นอีกหนึ่งชื่อที่ต้องพูดถึงก่อนเสมอ เนื่องจากหลักฐานว่าด้วยเรื่องการออกแบบกติกาการเล่นที่เป็นแบบแผนดังปัจจุบันนั้นก็ปรากฏกันมาว่า เริ่มต้นขึ้นในอังกฤษ ภายหลังจากนั้นจึงพัฒนามาสู่ฟุตบอลอาชีพ แต่ในระหว่างทางนั้นย่อมเจออุปสรรคและเรื่องราวที่น่าสนใจดังเช่นสภาพสถานการณ์ลูกหนังอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ซึ่งถูกหยิบยกมาสร้างเป็นซีรีส์เผยแพร่ทางสตรีมมิงของ Netflix

ช่างเป็นเวลาที่เหมาะเจาะอย่างบังเอิญในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งฟุตบอลแทบทุกแห่งในยุโรปต่างต้องปรับเปลี่ยนโปรแกรมแข่งสืบเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด 2019 (COVID-19) สุดสัปดาห์กลางเดือนมีนาคมนี้ แมตช์ฟุตบอลอาจน้อยลง

เวลาว่างที่เกิดขึ้นสามารถนำมาใช้ชมฟุตบอลในรูปแบบสื่อบันเทิงได้ผ่านซีรีส์ “ดิ อิงลิช เกมส์” (The English Game) ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านในบริบทการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษอันเกิดจากบทบาทของชนชั้นแรงงาน

กีฬาที่เรียกกันว่า “ฟุตบอล” ปรากฏการเล่นลักษณะคล้ายกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่หากเอ่ยถึงพัฒนาการที่นำมาสู่ฟุตบอลสมัยใหม่ดังเช่นปัจจุบัน ย่อมต้องยกให้ดินแดนอังกฤษเป็นแหล่งวางมาตรฐานและกฎเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันดังที่กล่าวข้างต้น โดยเชื่อกันว่า ยุคแรกนั้นถือกำเนิดจากฟุตบอลโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องวางกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกันในการแข่งขันระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จนเกิดเป็น “กติกาเคมบริดจ์” ในปี ค.ศ. 1848

ภายหลังถูกนำไปปรับใช้ในสโมสรระดับมณฑลและสโมสรสุภาพบุรุษในลอนดอน ต่อมาก็พัฒนากลายเป็นรากฐานของการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่มาจนถึงวันนี้ ขณะที่ฟุตบอลลีก เกิดขึ้นตามหลังมาในช่วง 3 ทศวรรษหลังของศตวรรษที่ 19

ขณะที่ลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษในปัจจุบันถูกเรียกว่า “พรีเมียร์ลีก” (Premier League) ซึ่งถูกรีแบรนด์เมื่อปี 1992 โดยเป็นการแยกตัวออกจาก “ลีกฟุตบอลอังกฤษ” (English Football League-EFL) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1888 ฤดูกาล 1888-89 อันเป็นปีแรกของการแข่งขันในลีก เพรสตัน นอร์ธ เอนด์ (Preston North End) เป็นแชมป์ทีมแรก

นั่นคือเส้นทางความเป็นมาแบบคร่าวๆ คราวนี้ย้อนกลับมาพูดถึงฟุตบอลในช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นห้วงเวลาที่เกี่ยวพันกับซีรีส์ The English Game ระหว่างศตวรรษนั้น เป็นช่วงที่โรงเรียนรัฐอย่างอีตัน (Eton), แฮร์โรว์ (Harrow), ชาร์เตอร์เฮาส์ (Charterhouse) และรักบี้ (Rugby) แต่ละโรงเรียนต่างแข่งขันกัน และยังใช้กติกาที่แตกต่างกันจนต้องตกลงกติการ่วมให้ใช้แบบเดียวกัน (แม้ว่ายังมีบางโรงเรียนต้องการใช้กติกาของตัวเอง หรือใช้ลูกบอลทรงแปลกๆ อยู่) จากนั้นจึงค่อยปรากฏการก่อตั้งสมาคมฟุตบอล (Football Association) หรือที่เรียกกันว่าเอฟเอ เมื่อปี 1863

แทคติกของแต่ละทีมในยุคนั้น บางทีมยังวางระบบเหมือนกับเล่นรักบี้อยู่ การเล่นฟุตบอลในสมัยใหม่ ผู้ชมคุ้นเคยกับระบบการเล่นแบบ 4-4-2 หรือ 4-5-1 แต่กรณีของทีมอีตัน ในช่วงศตวรรษที่ 19 ไมค์ เดลานีย์ (Mike Delaney) อดีตนักฟุตบอลอาชีพซึ่งเล่นในลีกดิวิชั่น 3 ของเยอรมนี และผู้เล่นทีมฟุตซอลทีมชาติอังกฤษ อธิบายว่า นักกีฬาจากรั้วอีตันยุคนั้นใช้ระบบ 1-1-8 ในการลงแข่งรายการฟุตบอลยุคแรกๆ ของอังกฤษ (หลังจากนั้นไม่นานนักก็พัฒนามาเป็น “เอฟเอ คัพ” รายการฟุตบอลเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก)

ที่ผ่านมา ไมค์ ยังทำงานเป็นนักออกแบบกำกับท่าการเล่นฟุตบอลให้กับทีมถ่ายทำสื่อต่างๆ เพื่อให้ภาพบนหน้าจอออกมาดูสมจริงมากที่สุด เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเกี่ยวกับรูปแบบการเล่นฟุตบอลเมื่อ 137 ปีก่อนว่า ระบบ 1-1-8 หากมองในสายตาของคนปัจจุบันย่อมต้องมองว่ามันเป็นเรื่องบ้ามากๆ แน่นอน

เดลานีย์ เล่าว่า ผู้เล่น 8 คนจะเกาะกลุ่มเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน และผ่านบอลกันในระยะสั้นๆ เคลื่อนที่ให้รวดเร็วเข้าไปถึงเขตประตูของฝั่งตรงข้าม ซึ่งผู้เล่นอีตัน ในยุคนั้นก็มักเป็นผู้เล่นรูปร่างใหญ่ แข็งแรงกำยำ เพื่อปกป้องลูกบอลขณะเคลื่อนที่ไปในแดนฝ่ายตรงข้าม รูปแบบการเคลื่อนที่คล้ายคลึงกับการตั้งสกรัม (Scrum) ในรักบี้ (นึกภาพเทียบเคียงกับรักบี้ที่มียืนเรียงกันเป็นกลุ่ม เข้าปะทะกับแถวของคู่แข่งแล้วเอาเท้าเขี่ยแย่งลูกมาที่ฝั่งตัวเอง)

โดยรวมแล้วอาจมองได้ว่า สภาพรูปแบบเกมคงเหมือนเป็นลูกผสมระหว่างฟุตบอลกับรักบี้ ทีมโรงเรียนรัฐแห่งอื่นก็ล้วนมีลักษณะการเล่นคล้ายกัน

กระทั่งมีชาวสกอตเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ชายหนุ่มหนึ่งในนั้นที่ถูกมองว่าส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นฟุตบอลในเวลาต่อมามีนามว่า เฟอร์กัส ซูเทอร์ (Fergus Suter) เฟอร์กัส กำเนิดในกลาสโกว์ และย้ายมา Lancashire ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1870s ในซีรีส์ The English Game มีเควิน กัธรี (Kevin Guthrie) รับบทเป็นซูเทอร์ นั่นเอง

ไมค์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี กล่าวว่า รูปแบบการเล่นฟุตบอลที่ใช้การ “ส่งบอล” ซึ่งพบเห็นกันเป็นปกติในปัจจุบัน ไมค์ เชื่อว่า เป็นซูเทอร์ ที่นำไอเดียนี้เข้ามาใช้

ในยุคนั้น นักฟุตบอลสกอตได้รับการขนานนามว่า “ศาสตราจารย์สกอต” เนื่องมาจากวิธีที่พวกเขานำมาใช้แก้ทางทีมที่ครองความสำเร็จในเวลานั้น (แชมป์ลีกฤดูกาลแรกเมื่อ 1888-89 ที่ว่าเป็นทีมเพรสตัน นอร์ธ เอนด์ ก็มีผู้เล่นชาวสกอตในทีม 7 ราย)

นักฟุตบอลสกอตรู้ว่าไม่สามารถสู้ความแข็งแกร่งของผู้เล่นโรงเรียนแบบอีตันได้ จึงใช้วิธีเคลื่อนที่เร็ว และกลยุทธ์การผ่านบอลเข้ามาในเกมฟุตบอลอังกฤษ

พวกเขาสามารถผ่านบอลไปรอบๆ การวางตำแหน่งแบบ “สกรัม” ของทีมตรงข้ามที่กำลังเคลื่อนที่ เพราะรู้ดีว่าสู้พละกำลังและความแข็งแกร่งของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ขณะเดียวกันรูปแบบการเล่นนี้ก็ทำให้เกิดเกมที่สนุกสนานดึงดูดผู้ชมจนผู้เล่นชาวสกอตได้รับความนิยม กีฬาฟุตบอลก็ฮิตขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้เห็นโอกาสทางการค้า

ซูเทอร์ เล่นให้ทีมแพทริค (Patrick) ในกลาสโกว์ ก่อนจะย้ายไปร่วมทีมดาร์เวน (Darwen) ในปี 1878 และแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส (Blackburn Rovers) ในปี 1880 เขาเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลชาวสกอตซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในฟุตบอลอังกฤษยุคนั้น

จูเลียน เฟลโลว์ส (Julian Fellowes) ผู้สร้างซีรีส์คนดังที่นั่งแท่นผู้ร่วมสร้างซีรีส์ The English Games เผยว่า ในขณะที่ความนิยมของฟุตบอลกระจายตัว จากเดิมที่มักเป็นพวกทีมอีตัน (สโมสรจริงชื่อ โอลด์ เอโตเนียนส์ หรือ Old Etonians) เกมฟุตบอลเริ่มถ่ายเทน้ำหนักมาอยู่กับทีมจากโซนอุตสาหกรรมฝั่งมิดแลนด์และทางตอนเหนือ สโมสรในอังกฤษจึงเริ่มส่งเอเยนต์ขึ้นเหนือเพื่อหวังดึงตัวเหล่านักเตะสกอต เมื่อคนท้องถิ่นได้ยินข่าวว่ามีเอเยนต์อังกฤษมาจ้องๆ มองๆ เลียบเคียงในละแวก เอเยนต์เหล่านี้จึงมักเจอกระแสต่อต้าน และมักต้องเผ่นกลับบ้านเสมอ

เซอร์ทิม ดีไวน์ นักประวัติศาสตร์สกอตแลนด์ที่มีชื่อเสียงอีกรายให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน (The Guardian) อธิบายถึงปัจจัยซึ่งทำให้ดินแดนสกอตแลนด์เป็นแหล่งผลิตนักเตะฝีเท้าดีในยุคนั้นว่า เหล่านักฟุตบอลนั้นเติบโตมาจากยุคอุตสาหกรรมกำลังเติบโตแต่ในชุมชนอุตสาหกรรมกลับมีสภาพอันแร้นแค้นช่วงสมัยวิกตอเรียน แมตช์ลงแข่งวันเสาร์คือช่วงเวลาหลีกหนี ปลดปล่อยตัวเองจากการทำงานเหมือง โรงงาน และอู่ต่อเรืออันแสนเหนื่อยยาก

ทศวรรษ 1880s ฟุตบอลเป็นเสมือนภาพตัวอย่างของเกมกีฬาสำหรับแรงงานสกอตในยุคนั้น กระทั่งมาถึงยุค 1900s ความนิยมของฟุตบอลเริ่มกระจายตัวไปในระดับประเทศ เซอร์ทิม ระบุว่า 1 ใน 4 ของชายอายุระหว่าง 15-29 ปีที่อาศัยทางตอนกลางของสกอตแลนด์จะต้องมีสโมสรต้นสังกัดเลยทีเดียว และแน่นอนว่า สำหรับนักฟุตบอลที่เพลงแข้งยอดเยี่ยม ผลงานในสนามย่อมเป็นบันไดไปสู่ชื่อเสียงและทรัพย์สิน

ตัวอย่างหนึ่งที่ซีรีส์ฉายให้เห็นถึงเกมเอฟเอ คัพ นัดชิงชนะเลิศเมื่อปี 1883 ระหว่าง แบล็คเบิร์น โอลิมปิก กับ โอลด์ เอโตเนียนส์ ถือเป็นตัวแทนของการปะทะกันระหว่างกลุ่มแรงงานในโรงงาน (แบล็คเบิร์น) กับศิษย์เก่าของโรงเรียนอีตัน (รับรู้กันว่าเป็นโรงเรียนของคนมีฐานะดี) และยังเป็นหลักไมล์แรกว่า สองนักกีฬาสกอตจาก Lancashire เป็นนักบอลสกอตกลุ่มแรกที่ได้รับเงินค่าจ้างจากการลงเล่นในยุคที่โรงเรียนรัฐยังพยายามจำกัดให้การแข่งเป็นเกมสำหรับสายสมัครเล่น

เฟอร์กัส ซูเทอร์ (Fergus Suter) ชาวสกอต ภาพจาก The Cottontown digitisation project / Wikimedia Commons – Public Domain

อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงแล้ว ซูเทอร์ ไม่เคยอยู่ในสังกัดของแบล็คเบิร์น โอลิมปิก ดังที่กล่าวแล้วว่าซูเทอร์ เล่นให้กับแบล็คเบิร์น โรเวิร์ส (คู่ปรับของแบล็คเบิร์น โอลิมปิก) แต่ในซีรีส์ ผู้สร้างรวมทั้งสองสโมสรเข้าด้วยกัน และใช้ชื่อว่า “แบล็คเบิร์น” 

ฝั่งโอลด์ เอโตเนียนส์ มีผู้เล่นซึ่งถูกบันทึกในประวัติศาสตร์อย่างอาร์เธอร์ คินนาร์ด (Arthur Kinnaird) กัปตันทีมผู้เกรียงไกร ในบทบาทนักฟุตบอล เขาลงเล่นในเกมชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ ถึง 9 สมัย กับสโมสรวันเดอเรอร์ และโอลด์ เอโตเนียนส์ รวมกัน ซึ่งอาร์เธอร์ ก็มีบทบาทในซีรีส์ The English Games ด้วย (แสดงโดย Edward Holcroft)

อาร์เธอร์ ถือกำเนิดจากครอบครัวมีฐานะ บิดาเป็นนายธนาคารและคลุกคลีในแวดวงการเมือง เขารับการศึกษาจากรั้วอีตัน จากนั้นมาทำงานในธนาคารของครอบครัว ธนาคารแห่งนี้ภายหลังรวมตัวกับหลายเจ้าในปี 1896 และกลายเป็น “บาร์เคลย์ส แบงก์” (Barclays Bank) ซึ่งเขานั่งเก้าอี้บอร์ดจนวาระสุดท้าย

ส่วนในบทบาทนักฟุตบอล จากบันทึกสถิติแล้ว เขามีผลงานที่ยอดเยี่ยม เข้ารอบชิงเอฟเอ คัพ ถึง 9 ครั้ง มีรายงานว่าเขาเล่นได้ทุกตำแหน่งตั้งแต่ผู้รักษาประตูยันกองหน้า และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ดำรงตำแหน่งประธานในยุคแรกๆ

แม้ว่าข้อมูลด้านสโมสรจะไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงเสียทีเดียว แต่รายงานของบีบีซี แสดงความคิดเห็นว่า บรรยากาศที่ซีรีส์ฉายภาพออกมานั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงซึ่งในยุคนั้น ทีมโรงเรียนรัฐเป็นกลุ่มที่ครองบัลลังก์ในเอฟเอ คัพ ยุคแรกๆ เมื่อเหล่าสโมสรแบล็คเบิร์น ฉายแววขึ้นมาพร้อมกับแทคติกใหม่ๆ ทีมจากมิดแลนด์และทางตอนเหนือก็เริ่มเบียดขึ้นมาครองความสำเร็จบ้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยุคสมัยของฟุตบอลแบบอีตันก็หมดลง รูปแบบการเล่นฉบับอีตันถึงกับเสื่อมสลายไป แทบไม่มีผู้ใช้ในเกมอาชีพระดับสูงให้พบเห็นอีกจนถึงวันนี้

หากมองในด้านหนึ่งแล้ว รูปแบบการเล่นทั้งของทีมจากรั้วอีตัน หรือแบบของสกอต ล้วนเป็นวิวัฒนาการของการเล่นฟุตบอล ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำให้เห็นว่า ทั้งสองวิธีก็เป็นรูปแบบแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นกำเนิด และลักษณะการใช้งาน ส่วนสิ่งที่หลงเหลือหลังจากนั้น ประวัติศาสตร์ก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวในตัวมันเองให้คนรุ่นหลังได้รับทราบกันต่อไป


อ้างอิง:

McKenna, Kevin. “Who gave English football its mass appeal? The ‘Scotch Professors’”. The Guardian. Online. Published 8 MAR 2020. Access 19 MAR 2020. <https://www.theguardian.com/uk-news/2020/mar/08/the-english-game-football-mass-appeal-netflix-scotch-professors-fergus-suter-julian-fellowes>

Youngs, Ian. “The English Game: Netflix replays the birth of modern football”. BBC. Online. Published 18 MAR 2020. Access 19 MAR 2020. <https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-51574065>

https://en.wikipedia.org/wiki/1883_FA_Cup_Final

https://en.wikipedia.org/wiki/FA_Cup

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Football_Association


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 15 ธันวาคม 2563