ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เหาะเกินลงกา” เห็นก็รู้ทันทีว่าต้องมีที่มาจากวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” แต่มีความหมายอย่างไร ใครสั่ง ใครเหาะนั้น คงต้องอ่านที่อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ท่านอธิบายไว้เขียนดังนี้
สำนวนเหาะเกินลงกานั้นสะท้อนถึงความแพร่หลายวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ในสังคมไทย
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เรื่องรามเกียรติ์นั้นมีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมไทยมากที่สุดยิ่งกว่าวรรณคดีเรื่องใดๆ ชื่อต่างๆ ในเรื่องรามเกียรติ์ได้มาเป็นชื่อเมืองหลวง พระนามพระมหากษัตริย์ นามราชทินนามข้าราชการ และปรากฏอยู่ในรูปแบบศิลปะในสาขาประติมากรรม สถาปัตยกรรม มหรสพ เช่น โขน หนัง ละคร ฯลฯ
บางส่วนก็นำมาใช้เป็นสำนวนที่ทำให้เกิดความชัดเจนในการสื่อสารและได้รับความนิยมแพร่หลาย ดังเช่นสำนวน “เหาะเกินลงกา” นี้
สำนวนนี้มีที่มาจากตอนที่ “พระราม” มอบหมายให้ “หนุมาน” สืบข่าวและถวายแหวนแก่ “นางสีดา” ที่ “กรุงลงกา” เมื่อไปพักไพร่พลที่เขาเหมติรัน ได้พบนกสัมพาที ช่วยแก้ไขให้มีขนดังเดิม
นกสัมพาทีจึงให้หนุมานขึ้นขี่หลัง บินขึ้นสู่เวหา และเมื่อใกล้เมืองก็ชี้เขานินทกาลา ซึ่งเป็นเขากลางมืองให้เป็นที่หมาย หนุมานจึงเหาะตรงไป เลยไปถึงเขาโสฬสที่ปลายแดน ได้พบและลองเวทวิทยากับพระนารทฤาษี นี่คือที่มาของเหาะเกินลงกา
เมื่อใช้เป็นสำนวนก็หมายถึง “หลงเพราะเชื่อความสามารถของตนเกินไป”
สำหรับพระราม เมื่อหนุมานกลับมาทูลเรื่องราวที่ได้ถวายแหวนและทำอุบายเผากรุงลงกา พะรามก็ตำหนิว่า “ไม่ตามคำการให้เกินกู” จึงมีความหมายว่า “ทำนอกสั่ง” อีกอย่างหนึ่ง
โคลงสุภาษิตปนระจำภาพในพระอุโบสถวัดพระแก้ว อธิบายสำนวนนี้ไว้ดังนี้
“เหาะ รเห็จลิ่วล้ำ ลงกา
เกิน กลับไปกลับมา ไป่รู้
ลง ถามนักสิทธา จึ่งทราบ ทางเฮย
กา- รอะไรถามผู้ แน่แท้ทางดีฯ”
ส่วนที่ว่าสำนวน “เหาะเกินลงกา” จะใช้เทียบกับสถานการณ์ในประเทศนี้ได้อย่างไร ตัวอย่างที่อาจารย์ล้อมท่านยกมานั้น สอดคล้องกับปีที่จัดพิมพ์หนังสือ (2548) ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาตามอัธยาศัย
อ่านเพิ่มเติม :
- ไฉนแรงงานไพร่พลลิงของพระราม ต้อง “จองถนน” หนทางสู่กรุงลงกา ไม่ใช้วิธีอื่น?
- “สะพานพระราม” ในตำนาน “รามายณะ” ถูกสร้างโดยกองทัพวานรเมื่อ 1.75 ล้านปีก่อน?
ข้อมูลจาก :
ล้อม เพ็งแก้ว. เสนาะเสน่ห์สำนวนไทย, สำนักพิมพ์มติชน 2548
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561