ที่มาของ “ลิควิด เปเปอร์” สาวหงุดหงิดเรื่องเล็กน้อยตอนทำงาน แต่จุดประกายจนรวย

ลิควิด เปเปอร์
ลิควิด เปเปอร์ หรือผลิตภัณฑ์ลบคำผิด (ภาพจาก Wikimedia Commons/Public Domain)

เบ็ตต์ แคลร์ แมคเมอร์เรย์ (Bette Claire MacMurray) คงไม่เคยคิดฝันว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตและร่ำรวยจากเรื่องเล็กน้อย ๆ ที่เป็นปัญหากวนใจในการทำงาน อันเป็นที่มาของ “ลิควิด เปเปอร์”

แมคเมอร์เรย์ต้องถูกอัปเปหิออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 17 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอได้งานเป็นเลขานุการในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง จากนั้นก็แต่งงานกับสามีคนแรก ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 1 คน แต่หลังจากสามีกลับจากไปรบในสงคราม เธอก็หย่าขาดจากเขา และรับภาระเลี้ยงลูกเพียงลำพัง

Advertisement

หน้าที่การงานของแมคเมอร์เรย์ ทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องพิมพ์ดีด และปัญหาที่ตามมาก็คือเวลาพิมพ์คำผิด ก็ไม่สามารถลบตัวหมึกสีดำนั้นออกไปได้ ทำให้เอกสารดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย

ในที่สุดเหมือนสวรรค์มาโปรด เมื่อไอบีเอ็ม (บริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำในปัจจุบัน) เปิดตัวเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าที่มาพร้อมแถบลบคำผิด ทว่าไม่นานเธอก็พบว่่าแถบลบคำผิดของไอบีเอ็มจะทิ้งคราบเป็นปื้นสีดำ ซึ่งทำให้เอกสารดูสกปรกไปกันใหญ่

วันหนึ่งขณะที่ เบ็ตต์ แคลร์ แมคเมอร์เรย์ กำลังหาลำไพ่พิเศษด้วยการรับจ้างตกแต่งสถานที่ต้อนรับวันคริสต์มาส เธอสังเกตเห็นช่างทาสีแก้ไขด้วยการใช้สีทาทับ เวลาพวกเขาเขียนคำผิด

หลังจากนั้นแมคเมอร์เรย์ก็พกขวดใส่สีขาว (ชนิดน้ำ) และพู่กันไปที่ทำงาน และใช้อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อพิมพ์คำผิด เธอทำเช่นนี้ตลอดระยะเวลา 5 ปี จนเพื่อนร่วมงานขอให้แมคเมอร์เรย์ทำอุปกรณ์ลบคำผิดแบบนี้ให้บ้าง

ในที่สุดเธอก็นึกขึ้นได้ว่าควรทำอะไรสักอย่างกับของดีที่มีอยู่ในมือ เธอปรึกษากับครูวิชาเคมีของบุตรชาย และคนผลิตสีในท้องถิ่นที่รู้จักมักคุ้นก็สอนวิธีบดและผสมสีให้ แมคเมอร์เรย์ใช้ห้องครัวเป็นห้องปฏิบัติการขนาดย่อม และใช้โรงรถเป็นโรงงานผลิต จากนั้นก็รวบรวมเงินจำนวน 200 เหรียญ จ้างนักเคมีทำน้ำยาที่ใช้ผสมกับสีเพื่อให้แห้งเร็วและไม่เหลือคราบทิ้งไว้

ในระยะเริ่มแรก แมคเมอร์เรย์ขอแรงจากลูกชายและเพื่อน ๆ ช่วยกันกรอกน้ำยาใส่ขวด (เธอตั้งชื่อน้ำยาลบคำผิดนั้นว่า มิสเทค เอาท์ (Mistake Out) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ลิควิด เปเปอร์ (Liquid Paper) ในเวลาต่อมา และยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใน ค.ศ. 1956 แมคเมอร์เรย์พยายามขายสิ่งประดิษฐ์ให้ไอบีเอ็ม แต่บริษัทยักษ์ใหญ่กลับมองไม่เห็นคุณค่าของสินค้าชิ้นนี้

กระทั่งเมื่อเธอแต่งงานกับ บ๊อบ เกรแฮม (Bob Graham) เซลส์แมนผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ทั้งคู่จึงช่วยกันสร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายและร้านค้าสำนักงานกระทั่งทำรายได้ถึงปีละ 38 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 1979 แล้วจึงขายกิจการให้กับ บริษัท ยิลเลตต์ คอร์ปอเรชั่น ในปีเดียวกัน

จวบจนปัจจุบันนี้ ลิควิด เปเปอร์ กลายเป็นเครื่องใช้สำนักงานที่ขาดเสียไม่ได้ แม้คอมพิวเตอร์จะเข้ามาแทนที่เครื่องพิมพ์ดีด แต่ตราบใดที่เรายังสื่อสารกันด้วยการเขียน ลิควิด เปเปอร์ก็ยังมีความสำคัญต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สิ่งประดิษฐ์ของคนหัวรั้น ของธรรมดาที่เปลี่ยนโลก” เขียนโดย วารยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2562