กำเนิดจักรเย็บผ้า “ซิงเกอร์” ที่เกือบไม่ได้เกิด คนประดิษฐ์เคยคิดว่าเป็นของชั่วร้าย

จักรเย็บผ้า ซิงเกอร์
จักรเย็บผ้า "ซิงเกอร์"

จากที่ไม่มีเงินในกระเป๋าสักแดงเดียวตอนที่อายุ 40 ปี แต่หลังจากนั้น 4 ปี ไอแซค เมอร์ริตต์ ซิงเกอร์ (Isaac Merrit Singer) นักแสดงละครเร่ชาวนิวยอร์ก ก็กลายเป็นเศรษฐีจากการขาย จักรเย็บผ้า สิ่งประดิษฐ์ที่เขาเคยมองว่าเป็น “เครื่องชั่วร้าย” ซึ่งเป็นตัวทำลายวิถีการเย็บปักถักร้อยที่อยู่คู่ผู้หญิงมายาวนาน

ซิงเกอร์มีความใฝ่ฝันอยากตั้งคณะละคร ทว่าระหว่างที่รอแจ้งเกิดในอาชีพนักแสดงนั้น เขาต้องทำงานสารพัดอย่างเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว ด้วยการเป็นกรรมกรขุดคลองอิลลินนอยส์-มิชิแกน ระหว่างนั้นซิงเกอร์ใช้ความรู้ทางด้านการช่างประดิษฐ์เครื่องเจาะหิน และสามารถขายลิขสิทธิ์เป็นเงิน 2,000 เหรียญ ดังนั้นซิงเกอร์จึงใช้ทุนรอนที่ได้มาทำตามความฝัน โดยตั้งคณะละครเร่ชื่อ เดอะ เมอร์ริต์ เพลเยอร์ โดยมีตัวเขา และ แมรี่ แอนน์ สปอนเลอร์ (Mary Anne Sponsler) ภรรยาคนที่ 2 เป็นนักแสดงนำ

ซิงเกอร์ตระเวนแสดงละครเร่เป็นเวลาถึง 5 ปี จากนั้นจึงหวนกลับมาทำงานด้านการช่างอีกครั้ง เขาย้ายไปอยู่เมืองพิตส์เบิร์กใน ค.ศ. 1846 และตั้งโรงงานแกะตัวหนังสือและป้ายไม้ โดยเขาได้จดสิทธิบัตร “เครื่องแกะสลักไม้และโลหะ” ในอีก 3 ปีต่อมา

หลังจากเริ่มตั้งตัวได้ ซิงเกอร์ก็พาภรรยาทั้ง 2 คน พร้อมกับลูกๆ 8 คน ย้ายกลับไปนิวยอร์กอีกครั้ง และได้รับเงินทุนล่วงหน้าก้อนหนึ่งให้สร้างเครื่องแกะสลักไม้และโลหะต้นแบบ ทว่าโชคร้ายก็มาเยือนเมื่อหม้อไอน้ำในโรงงานเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เครื่องต้นแบบของเขาเสียหาย และคร่าชีวิตคนไปกว่า 60 ชีวิต มิหนำซ้ำเครื่องแกะสลักฯ รุ่นที่ 2 ที่ซิงเกอร์ประดิษฐ์กลับไม่มีใครให้ความสนใจ

ตอนนั้นชีวิตของซิงเกอร์ย่ำแย่มาก เขาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ขนาด 2 ห้อง พร้อมภรรยาและลูกๆ และมีงานทำพอประทังชีวิตไปวันๆ อย่างไรก็ตาม ชะตาชีวิตของซิงเกอร์ก็พลิกผันเมื่อเขาได้พบกับ ออร์สัน เฟลป์ส (Orson Phelps) เจ้าของโรงงานผลิตจักรเย็บผ้าลีโรว์และบลอดเจตต์

ตอนที่ซิงเกอร์พบกับเฟลป์สในปี 1850 นั้น จักรเย็บผ้าไม่ใช่ของใหม่

เพราะมีผู้ผลิตออกมาใช้ในท้องตลาด 4 รุ่นแล้ว ทว่ายังใช้งานยากและไม่ได้รับความนิยมมากนัก สองนักประดิษฐ์ที่สร้างจักรเย็บผ้าต้นแบบที่ใช้ในยุคนั้น คือ วอเตอร์ ฮันต์ (Walter Hunt) และ เอเลียส ฮาว (Elias Howe) จักรเย็บผ้าของทั้ง 2 คนเกือบประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ทว่าพวกเขายังขาดไหวพริบ ความเชี่ยวชาญทางการตลาด และความทะเยอทะยานอันแรงกล้าดังเช่นซิงเกอร์

เฟลป์สกำลังปลุกปล้ำกับจักรเย็บผ้าที่ออกแบบมาผิดพลาด จึงของร้องให้ซิงเกอร์ช่วยดูแบบให้ และโน้มน้าวให้เขาหันมาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ แม้ตอนแรกซิงเกอร์จะไม่สนใจ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเสี่ยงดวง ซิงเกอร์-นักประดิษฐ์, เฟลป์ส-ช่างเทคนิค และจอร์จ ซีเบอร์ (George Zieber)-นักลงทุน จึงร่วมกันพัฒนาจักรเย็บผ้าแบบใหม่ขึ้น เพียงไม่นานซิงเกอร์ก็พบว่า จักรเย็บผ้าจะทำงานได้ดีขึ้นหากทำให้กระสวยเดินเป็นเส้นตรงแทนที่จะเดินเป็นวง และใช้เข็มตรงแทนเข็มโค้ง พร้อมทั้งปรับด้ายที่เย็บให้หย่อนนิดหน่อย

จักรเย็บผ้าของซิงเกอร์จดสิทธิบัตรในปี 1851 และจัดจำหน่ายตัวละ 100 เหรียญ โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “เจนนี ลินด์” ตามชื่อนักร้องชาวสวีเดนในยุคนั้น ทว่าคนส่วนใหญ่กลับเรียกว่า “จักรซิงเกอร์” ตามชื่อนักประดิษฐ์

แต่จักรเย็บผ้าอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวก กลับถูกช่างเย็บผ้าและบรรดาหญิงสาวในยุคนั้นต่อต้าน “จักรเย็บผ้า” อย่างมาก เนื่องจากกลัวว่าจักรเย็บผ้าจะตัดช่องทางทำมาหากิน เพราะใครๆ ก็สามารถใช้เครื่องจักรชนิดนี้ได้

ซิงเกอร์จึงใช้วิธีนำจักรของเขาไปแสดงตามงานต่างๆ โดยจ้างหญิงสาวหน้าตาดีมาสาธิตวิธีการใช้งาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าจักรเย็บผ้าของเขาเหมาะสำหรับสุภาพสตรีผู้มีเกียรติ และยิ่งคนที่มีทักษะทางด้านเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งสามารถใช้จักรได้ง่ายขึ้น สามารถทุ่นแรง อีกทั้งประหยัดเวลามากว่าเดิม เขาโปรโมทสินค้าด้วยการขายจักรในราคาเพียงครึ่งเดียวให้กับชมรมเย็บปักถักร้อยตามโบสถ์ต่างๆ และนำเสนอว่าจักรเย็บผ้ายังสามารถจัดวางให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปี 1856 ได้เกิดคดีฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์จักเย็บผ้าระหว่างผู้ผลิตทั้งหลาย คือ โกรเวอร์, เบเกอร์, ซิงเกอร์, วีลเลอร์ และวิลสัน ซึ่งต่างก็ฟ้องร้องฝ่ายอื่นๆ ว่าเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์

ในที่สุด ทุกบริษัทก็ตกลงกันว่า แทนที่จะฟ้องร้องกันจนสินเนื้อประดาตัว ควรเอาลิขสิทธิ์ที่แต่ละคนมีอยู่มารวมกันเป็น “ลิขสิทธิ์กองรวม” (Patent pool) จะดีกว่า ซึ่งการกระทำเช่นนี้เอื้อให้มีการพัฒนาเครื่องจักรที่ซับซ้อนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ คู่ความทั้งหมดจึงจัดตั้งบริษัทสหการจักรเย็บผ้า และสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นตัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “สิ่งประดิษฐ์ของคนหัวรั้น…ของธรรมดาที่เปลี่ยนโลก (ตอนที่ 2)” เขียนโดย วารยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565