ที่มาของ “ยิลเล็ตต์” ใบมีดโกนชนิดใช้แล้วทิ้ง ตอนแรกคนมองผู้คิดค้นว่า “เพ้อฝัน”

ยิลเล็ตต์ รายละเอียด มีดโกน ใบมีดโกน ยิตเล็ตต์ ใน ใบสิทธิบัตร
(ขวา) นายยิลเล็ตต์ และ (ซ้าย) รายละเอียดของมีดโกน ยิตเล็ตต์ ในใบสิทธิบัตร

ปลายทศวรรษ 1890 คิง ซี. ยิลเล็ตต์ (King C. Gillette) เซลส์แมนขายจุกฝาขวดประจำบริษัท คราวน์คอร์ด แอนด์ ชีล รู้สึกเบื่อหน่ายกับหน้าที่การงาน เขาอยากเป็นเศรษฐีเหมือนคนอื่นบ้าง ด้วยเป็นคนที่ชอบประดิษฐ์โน่นนี่ และเคยจดสิทธิบัตรอยู่หลายใบ แต่ของเหล่านั้นส่วนมาก “จะทำเงินให้คนอื่นๆ” ไม่ใช่นักประดิษฐ์อย่างเขา

ยิลเล็ตต์หวนนึกถึงความสำเร็จครั้งใหญ่ เมื่อมีการประดิษฐ์ฝาจีบ (แบบที่ปิดขวดน้ำอัดลม) ซึ่ง วิลเลียม เพนตอร์ (William Painter) เจ้านายของเขาเคยบอกว่า “ให้ประดิษฐ์สิ่งที่มีประโยชน์ ใช้เสร็จแล้วทิ้ง จากนั้นลูกค้าก็จะกลับมาซื้อใหม่” ด้วยแนวคิดนี้ ฝาจีบจึงทำเงินให้บริษัทปีละไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนเหรียญ

เช้าวันหนึ่งในฤดูร้อน ค.ศ. 1895 ยิลเล็ตต์ในวัย 40 ปี กำลังโกนหนวดด้วยมีดโกนทื่อๆ อยู่นั้น เขาคิดว่าช่างน่าเบื่อเสียจริงที่ต้องนำ “ใบมีดโกน” ไปลับตามร้านขายมีด หรือไม่ก็ร้านตัดผมอีกแล้ว

วินาทีนั้นยิลเล็ตต์ก็เกิดความคิดบรรเจิด ทำไมเราถึงไม่ประดิษฐ์มีดโกนที่ใช้แล้วทิ้งล่ะ จะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งลับให้รำคาญใจ

เมื่อคิดได้ดังนั้น ยิลเล็ตต์ ก็เริ่มมองจุดอ่อนของใบมีดโกนแบบดั้งเดิมซึ่งวางขายตามท้องตลาด ใบมีดโกนเหล่านั้นมีความหนามาก เขาจึงคิดประดิษฐ์ ใบมีดโกน ที่มีความบางกว่านั้นหลายเท่าตัว ใช้เพียง 2-3 ครั้งก็โยนทิ้งได้เลย ตอนแรกทุกคนที่รู้พากันหาว่า ยิลเล็ตต์ ช่างเพ้อฟัน

เพราะการประดิษฐ์โลหะแผ่นบางประกอบกันและมีคมทั้ง 2 ด้าน เอามาประกอบติดด้ามนั้น ดูจะเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติ แต่ในที่สุดยิลเล็ตต์ก็หาวิศวกรที่จะเติมเต็มความฝันของเขาได้สำเร็จ นักเคมีจากเอ็มไอทีตกปากรับคำช่วยประดิษฐ์ด้ามและใบมีดให้

ส่วนนักธุรกิจดาวรุ่ง 3 คนในยุคนั้นก็ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนด้านการเงิน ทำให้โครงการในหัวของยิลเล็ตต์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และได้จดสิทธิบัตรผลงานชิ้นนี้ในปี 1904

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิญญาณนักขาย ยิลเล็ตต์หาวิธีดึงความสนในชองลูกค้า ด้วยการแจกด้ามมีดโกนที่ประดิษฐ์ขึ้นมาก่อน เพื่อจะได้ขายใบมีดโกนตามไป กลยุทธ์นี้นับว่าเสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างเห็นได้ชัด ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อลูกค้าคุ้นเคยกับใบมีดแบบใหม่ของเขา ประกอบกับมีด้ามมีดที่ได้รับแจกมาก่อนหน้านั้น ทำให้ใบมีดโกนยิลเล็ตต์ผงาดขึ้นมาแซงหน้าคู่แข่ง

ในขณะนั้น ยิลเล็ตต์สามารถใช้ชื่อและใบหน้าของตนเองเป็นโลโก้สินค้าได้อย่างภาคภูมิใจ

ยิลเล็ตต์เดินทางไปทั่วโลก เพื่อทำหน้าที่เป็นทูตเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ ใบหน้าของเขากลายเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในโลก ครั้งหนึ่งเมื่อเดินทางไปเยือนอียิปต์ ยิลเล็ตต์พบว่ามีชายหลายสิบคนเข้ามายืนรายล้อมเขาและทำท่าโกนหนวด

กระทั่งจอมเผด็จการของอิตาลี อย่างมุสโสลินี หรือแม้แต่ผู้นำการต่อสู้แบบอหิงสา เช่น มหาตมะ คานธี ก็ยังเป็นแฟนใบมีดโกนยิลเล็ตต์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความ “สิ่งประดิษฐ์ของคนหัวรั้น ของธรรมที่เปลี่ยนโลก (1)” โดย วารยา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565