“หลอดสี” สิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ของ “จอห์น จี. แรนด์” ปฏิวัติวงการศิลปะ “อิมเพรสชันนิสม์”

หลอดสี ศิลปะอิมเพรสชันนิสม์
Monet - Impression, Sunrise

เมื่อพูดถึง “หลอดสี” หรือสีน้ำแบบหลอด หลายคนคงคิดว่ามันเป็นแค่เพียงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่เหล่าจิตรกรทั้งหลายขาดไม่ได้ เพราะมีหน้าที่เป็นตัวกลางถ่ายทอดสิ่งที่ผู้วาดต้องการนำเสนอให้ไปถึงผู้ที่รับชม ทว่าหากย้อนไปเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน หลังจาก “จอห์น จี. แรนด์” ได้ประดิษฐ์มันขึ้นมา หน้าที่ของหลอดสีกลับมีมากกว่านั้น เพราะมันเป็นอุปกรณ์สำคัญที่พลิกหน้าวงการศิลปะ และมีส่วนช่วยให้เกิด “ศิลปะอิมเพรสชันนิสม์”

ย้อนไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 ขณะที่บ้านเมืองกำลังเฟื่องฟูด้วยศิลปะยุคโรแมนติก บรรดานักวาดภาพทั้งหลายต่างต้องเลือกเม็ดสีหลากสีสันในร้านค้า ก่อนจะนำมาผสมกับน้ำมันให้ได้สีน้ำที่มีคุณภาพดี จากนั้นนำไปเก็บรักษาไว้ในหลอดขวดแก้วมีฝาเกลียว หรือเก็บไว้ในกระเพาะหมู เพื่อรังสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ของตนเอง 

ทว่าการใช้สีจากภาชนะดังกล่าวก็สร้างความลำบากให้แก่จิตรกรทั่วฟ้าเหลือคณานับ เพราะเมื่อผสมสีเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะหมูแล้ว เมื่อต้องใช้จะต้องแทงด้วยเข็มฉีดยาเพื่อให้สีหลั่งไหลออกมา หรือหากเก็บในหลอดขวดแก้วก็ต้องใช้กระบอกฉีดยาดูดดึงของเหลวออกมาใช้งาน 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้จิตรกรหน้าใหม่ชาวอเมริกันอย่าง “จอห์น จี. แรนด์” (John G. Rand) เริ่มต้นคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยเสิร์ฟความต้องการให้เหล่านักวาดจำนวนมาก โดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเองทั้งหมด ประจวบเหมาะกับความรู้ด้านเคมีในช่วงนั้นพัฒนาขึ้นมาก จึงทำให้แรนด์ผลิต “หลอดสี” ของตนเองขึ้นมาได้สำเร็จ

หลอดสีของแรนด์ทำมาจากดีบุกแบบยืดหยุ่นได้ ว่ากันว่าคุณสมบัติของมันไม่ทำปฏิกิริยากับสีที่บรรจุด้านใน ทำให้เมื่อเปิดใช้งานจากฝาเกลียวก็ไม่ต้องกังวลว่าเม็ดสีจะเสื่อมคุณภาพเร็วเหมือนที่ผ่าน ๆ มา 

ด้วยคุณลักษณะอันตอบโจทย์จิตรกรทั่วไป ทำให้ไม่นานนัก หลอดสีของแรนด์ก็เป็นที่นิยมในหมู่นักวาดรูปมากมาย จนสหรัฐอเมริกาออกสิทธิบัตรให้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ และในที่สุดหลอดสีแสนพกพาง่ายก็กลายมาเป็นอุปกรณ์ปฏิวัติวงการศิลปะ!

เนื่องด้วยสมัยก่อน การที่ศิลปินจะสร้างผลงานของตนเองหนึ่งชิ้น จะต้องใช้เวลาอุดอู้อยู่ในสตูดิโอเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าต้องการควบคุมแสง และทำให้ภาพสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ อีกเหตุผลหนึ่ง เพราะว่าการนำสีติดตัวไปด้านนอกเป็นเรื่องยาก จึงทำให้จิตรกรต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องแคบ ๆ

แต่เมื่อมีหลอดสีที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็พกติดตัวได้ตลอด จึงทำให้นักวาดต่างเสาะหาสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อรังสรรค์งานของตนเอง เช่น ไปนั่งอยู่บริเวณริมแม่น้ำ เดินเข้าไปในป่าเขา แล้วถ่ายทอดความสวยงามตรงหน้าแต่งแต้มลงบนกระดาษ จนเกิดภาพวาดใหม่ ๆ ที่ถ่ายทอดความประทับใจกับสิ่งที่แต่ละคนประสบพบเจอมา หรือที่เราเรียกกันว่า “ศิลปะอิมเพรสชันนิสม์”

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่านวัตกรรม “หลอดสี” ของจอห์น จี. แรนด์ เป็นส่วนช่วยสำคัญที่ก่อให้เกิดศิลปะ “อิมเพรสชันนิสม์” ถึงขนาดที่ ฌ็อง เรอนัวร์ ลูกชายของ ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ จิตรกรชื่อดังยุคนั้น ถึงกับกล่าวว่า 

“สีในหลอดทั้งหลาย ง่ายต่อการพกพาไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราสามารถออกไปทำงานกับธรรมชาติ และอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง หากปราศจากหลอดสีพวกนี้ ก็คงไม่มีศิลปินอย่าง เซซานน์ โมเนต์ ปีซาร์โร และศิลปะอิมเพรสชันนิสม์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.lindahall.org/about/news/scientist-of-the-day/john-goffe-rand

https://thecultural.me/john-goffe-rand-pigs-bladders-paint-tubes-and-impressionism-812335


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2566