อิสลามไม่มีนักบวช แล้ว “อิหม่าม” คือใคร ทำไมเรียก “โต๊ะอิหม่าม” ?

อิหม่าม ละหมาด ไคโร
อิหม่าม ผู้นำการละหมาด ณ กรุงไคโร ปี 1865, ผลงานของ Jean-Léon Gérôme (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ในบรรดาศาสนาหลัก ๆ ของโลก “อิสลาม” เป็นศาสนาที่ไม่มี “นักบวช” ต่างจากศาสนาพุทธ คริสต์ หรือพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งมีนักบวชเป็นผู้แทนพระเป็นเจ้าบ้าง เผยแผ่พระธรรมคำสอนบ้าง ประกอบพิธีกรรมหรือเป็นสื่อกลางระหว่างพระเป็นเจ้ากับมนุษย์บ้าง แต่เราก็มักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า ศาสนาอิสลาม มีผู้ที่ถูกเรียกว่า “อิหม่าม” หรือบ้างก็เรียก “โต๊ะอิหม่าม” อยู่

หากไม่มี “นักบวช” แล้วอิหม่ามคือใคร มีหน้าที่อะไรบ้าง? แน่นอนว่า เรื่องนี้พี่น้องชาวไทยมุสลิมคงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับชาวไทยพุทธอาจมีบางส่วนยังสงสัยอยู่

ขอเริ่มด้วยการแปลความหมายของคำว่าอิหม่าม (Imam) เสียก่อน อิหม่าม หรือ อิมาม (إمام) ในภาษาอาหรับ แปลว่า “ผู้นำ” ซึ่งก็เรียกตามบทบาทหน้าที่หลัก ๆ ของผู้เป็นอิหม่าม นั่นคือเป็นผู้นำในการทำละหมาด ตลอดจนเป็นผู้นำชุมชน อิหม่ามยังเป็นที่เคารพนับถือในฐานะผู้มีความรู้และคุณธรรมด้วย

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่าอิหม่าม ดังนี้

“คำเรียกผู้นำในศาสนาอิสลาม, ผู้นำในการทำละหมาด, ตำแหน่งสำคัญของคณะกรรมการบริหารมัสยิด, โต๊ะอิหม่าม ก็เรียก. (อ. imam).”

ทั้งนี้ “โต๊ะอิหม่าม” เป็นภาษาท้องถิ่น มาจากการรวมคำในภาษาอาหรับ (อิมาม) กับภาษามลายู คือ “โต๊ะ” (Tok) ซึ่งแปลว่า “คนเฒ่าคนแก่” หรือผู้อาวุโส จะเห็นว่า โต๊ะ ในที่นี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องใช้หรือเฟอร์นิเจอร์แต่อย่างใด

อิหม่ามจึงเป็น “ฆราวาส” หรือผู้ครองเรือนดี ๆ นี่เอง โดยเป็นผู้นำคล้าย ๆ มัคนายกในวิถีพุทธ แต่มัคนายกจะมุ่งเน้นกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก ส่วนอิหม่ามนั้นแทบจะอยู่ในทุกกิจกรรมทางสังคมของชุมชน เพราะชาวมุสลิมจะถือเอา “อิสลาม” เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วย หลักคิด วิถีปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาจึงแทรกอยู่ในทุกกิจกรรมของผู้คน

นอกจากการ “นำ” ละหมาดแล้ว เราจะเห็นอิหม่ามเป็น “ผู้นำ” หรือทำหน้าที่เป็นประธานของกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ตั้งแต่พิธีเกี่ยวกับการเกิด พิธีสมรส ไปจนถึงพิธีศพ เป็นผู้ชี้นำคำสอน ชี้แนะหลักศาสนาอิสลาม รวมทั้งนำพาการพัฒนาหรือนำความเจริญมาสู่มัสยิดและคอมมูนิตีของชาวมุสลิม

ตำแหน่งอิหม่ามจึงเหมือนมีทั้ง มัคนายก ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน อยู่ในคนคนเดียว

อีกตำแหน่งที่คล้ายคลึงกันคือ “โต๊ะครู” หรือ โต๊ะฆูรู ซึ่งเป็นครูสอนศาสนา ผู้รอบรู้ นักวิชาการ หรือ “นักปราชญ์ (scholars) ความหมายเดียวกันกับ อุลามาอ์ (Ulama – علماء) ในภาษาอาหรับ

แต่ที่กล่าวมาข้างต้นคืออิหม่ามในศาสนาอิสลามนิกายซุนนี (Sunni) เพราะในนิกายชีอะห์ (Shia) อิหม่ามยังหมายถึงผู้นำสูงสุดที่ปกครองประชาคมชีอะห์ด้วยอำนาจชี้ขาดตามหลักศาสนา เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ ประมุขของรัฐและศาสนา คือเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางจิตวิญญาณ ความเชื่อเรื่องอิหม่ามยังทำให้นิกายชีอะห์แตกออกเป็นนิกายย่อยอีกหลายนิกาย ได้แก่ นิกาย 4 อิหม่าม นิกาย 7 อิหม่าม นิกาย 12 อิหม่าม

อย่างนิกาย 12 อิหม่าม ปัจจุบันคือศาสนาประจำชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งชาติอิหร่าน โดยเชื่อว่ามีอิหม่าม 12 คนปกครองโลก จากนั้นจะเป็นวันแห่งการพิพากษา หรือวันสิ้นโลก

เรื่องของเรื่องคือ ฮาซัน อัล อัสกะรีย์ (Hasan al-Askari) อิหม่ามลำดับที่ 11 สิ้นชีพไปตั้งแต่ฮิจเราะห์ศักราช 260 (ค.ศ. 874) เพราะความขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างนิกายชีอะห์กับนิกายซุนนีที่นำโดยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ ทำให้อิหม่ามฮาซันจากโลกไปโดยไม่มีทายาทสืบทอดตำแหน่ง ชาวชีอะห์จึงไร้อิหม่ามลำดับที่ 12 มาจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี (Ayatollah Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่านคนปัจจุบัน ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นอิหม่ามคนหนึ่ง ก็ไม่ใช่อิหม่ามลำดับที่ 12 ตามคำทำนาย แต่เป็นผู้แทนอิหม่ามลำดับที่ 12 ที่มาปกครองและนำทางชาวชีอะห์เท่านั้น

พวกเขายังเชื่อว่า เชื้อสายของอิหม่ามฮาซันได้หลีกเร้นอยู่ตามโพรงถ้ำ และจะปรากฏตัวอีกครั้งเมื่อวันอวสานโลกใกล้มาถึง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. (2552). ทักษะวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ส่องโลกมุสลิม. “อิหม่าม” หมายถึงอะไร ?. 24 ธันวาคม 2561. (ออนไลน์)

อัชชีอะฮ์. ชีวประวัติอิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์ (อ.). 3 พฤศจิกายน 2561. (ออนไลน์)

I.M.A.M. Imam Hasan al-Askari (p). Retrieved May 2, 2024. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567