ปฐมเหตุเมื่อ “อิสลาม” แยกนิกายเป็น “ซุนนี-ชีอะห์” ไฉนไม่ถูกกัน?

คัมภีร์ อัลกุรอาน ของ ศาสนา อิสลาม มี นิกาย ซุนนี ชีอะห์
คัมภีร์อัลกุรอานของชาวมุสลิม (ภาพโดย Fauzan My ใน Pixabay)

เป็นที่ทราบกันดีว่า โลกอิสลามมี “นิกาย” ทางศาสนาที่สำคัญ ได้แก่ ซุนนี (Sunni) และ ชีอะห์ (Shia) บ่อยครั้งเรามักได้เห็นข้อพิพาทระหว่างสองนิกายแห่งศาสนา อิสลาม ตามหน้าสื่อ ตั้งแต่ระดับกลุ่มคน ไปจนถึงระดับรัฐต่อรัฐ ดังจะเป็นว่า ชาติผู้นำฝ่ายซุนนีอย่างซาอุดีอาระเบียก็มีข่าวระหองระแหงกับชาติผู้นำฝ่ายชีอะห์อย่างอิหร่านอยู่บ่อยครั้ง

การแบ่งแยกนิกาย

มูลเหตุแห่งการแบ่ง “นิกาย” ของชาวมุสลิมนั้น เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ช่วงหลังการจากไปของ นบีมุฮัมหมัด ผู้นำสูงสุดของโลกอิสลาม การเสียศาสดามุฮัมหมัด เมื่อ ค.ศ. 632 นำภาวะกึ่งสุญญากาศทั้งทางโลกและจิตวิญญาณมาสู่ชาวมุสลิม เพราะเมื่อยังมีชีวิต ท่านเป็นผู้นำทั้งทางศาสนา การทหาร การเมืองการปกครอง ครบจบในคนเดียว จึงยากมากที่จะหาใครทดแทนได้

Advertisement

เมื่อศาสดามุฮัมหมัดจากไป ชาวมุสลิมจึงมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการเลือก “ผู้สืบทอด” หรือ คอลีฟะฮ์ (กาหลิบ) ที่จะเป็นผู้นำประชาชาติมุสลิมคนต่อไป เพราะศาสดาไม่มีบุตรชาย และไม่ได้วางตัวทายาทเอาไว้

มุสลิมบางกลุ่มเห็นว่า คอลีฟะฮ์ควรจะเป็นผู้ที่มาจากอันซอร์ หรือผู้อาศัยอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่ท่านศาสดาและชาวมุสลิมคราวอพยพจากเมืองมักกะฮ์ แต่บางพวกเห็นว่า ควรเป็นพวกมุฮาญิรีน หรือผู้ที่อพยพมาพร้อมท่านศาสดา โดยรวมเสียงส่วนใหญ่โน้มเอียงไปในทางที่ว่า ผู้สืบทอดควรมาจากผู้ที่เหมาะสม คู่ควร และได้รับการยอมรับจากประชาชาติอิสลาม หาใช่การเลือกจากเชื้อสายหรือการสืบสันตติวงศ์

แต่มีอีกกลุ่มที่สนับสนุน อะลี เป็นผู้นำ โดยอะลีเป็นลูกพี่ลูกน้องของศาสดามุฮัมหมัด (ลูกของลุง) และเป็นบุตรเขย เนื่องจากได้สมรสกับ “ฟาติมะฮ์” บุตรีคนเล็กของท่านศาสดา ในเรื่องความเหมาะสม กลุ่มผู้สนับสนุนเห็นว่า อะลีเองมีบทบาทสำคัญต่อศาสนาอิสลามเมื่อแรกก่อตั้ง เพราะท่านเป็นผู้ศรัทธาต่อศาสดามุฮัมหมัดตั้งแต่แรก ทั้งเคยยอมเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ด้วยการนอนแทนที่ของศาสดามุฮัมหมัด เพื่อให้ศาสดาหลบหนีจากผู้ประสงค์ร้ายอย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า อะบูบักร์ ผู้มีศักดิ์เป็นพ่อตาและมิตรสหายผู้ใกล้ชิดศาสดามุฮัมหมัดได้เป็นคอลีฟะฮ์คนแรก ส่วนฝ่ายผู้สนับสนุนอะลี ได้แต่เก็บงำความไม่พอใจเอาไว้เงียบ ๆ

ความขัดแย้งทางความคิดยังไม่ปรากฏเด่นชัดตลอดสมัยแห่งการปกครองของคอลีฟะฮ์อะบูบักร์ รวมถึงคนถัดมาอย่าง อุมัร ผู้ติดตามคนสนิทและพ่อตา (อีกคน) ของท่านศาสดา กระทั่งปลายสมัยของคอลีฟะฮ์คนที่ 3 คือ อุษมาน ผู้ติดตามคนสนิทและบุตรเขย (อีกคน) ของท่านศาสดา เค้าลางแห่งความแตกแยกจึงเด่นชัดยิ่งขึ้น

ปลายสมัยคอลีฟะฮ์อุษมาน มีการเคลื่อนไหวเพื่อปลุกระดมมวลชนให้ยอมรับอะลี และปฏิเสธคอลีฟะฮ์คนก่อน ๆ เพราะถือว่าเป็นผู้ช่วงชิงตำแหน่งดังกล่าวไปจากท่านอะลี

ซุนนี ชีอะห์

กลุ่มผู้เคลื่อนไหวผลักดันให้ อะลี เป็นคอลีฟะฮ์ ภายหลังคือกลุ่ม “ชีอะห์” มาจาก “ชีอะห์ตุอะลี” หมายถึง ผู้สนับสนุน (ติดตาม) อะลี

ส่วนอีกกลุ่มที่เห็นว่า คอลีฟะฮ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเชื้อสายของศาสดามุฮัมหมัด แต่เลือกจากผู้ที่เหมาะสมที่สุด คล้ายระบอบคณาธิปไตย ภายหลังคือกลุ่ม “ซุนนี” มาจาก “ซุนนะฮ์” หมายถึง ประเพณี-หลักปฏิบัติ ดังจะเห็นว่า ทั้ง อะบูบักร์ อุมัร และ อุษมาน ล้วนเป็นผู้ติดตาม คนสนิท หรือเครือญาติห่าง ๆ (ผ่านการสมรส) ของศาสดามุฮัมหมัดทั้งสิ้น

แต่สำหรับชาวชีอะห์แล้ว อะลีควรเป็นผู้นำประชาชาติมุสลิมมากกว่าผู้ใด แม้จะปราศจากคำสั่งเสียจากศาสดามุฮัมหมัด แต่พวกเขาเชื่อว่า ท่านศาสดาให้ความไว้วางใจและสนับสนุนอะลีผ่านการกระทำและคำพูดเมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตแล้ว

นอกจากนี้ หลังจากอะลีได้เป็นคอลีฟะฮ์คนที่ 4 ท่านก็ถูกลอบสังหาร จึงมีฐานะเป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนาและเป็นนักบุญสูงสุด ชีอะห์บางกลุ่มถึงขนาดนับถืออะลีเป็นเทพเจ้าหรืออวตารของพระผู้เป็นเจ้าเลยทีเดียว

การแยก “นิกาย” ของ ศานาอิสลาม จึงมีมูลเหตุจากเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งจากท่านศาสดา คือการยอมรับที่แตกต่างกัน ซุนนี ให้การยอมรับคอลีฟะฮ์ทั้ง 4 ได้แก่ อะบูบักร์ อุมัร อุษมาน และอะลี แต่ใน 4 คนนี้ ชีอะห์ ให้การยอมรับเพียง อะลี เท่านั้น

แต่นั่นเพียงพอแล้วหรือสำหรับชนวนเหตุที่ให้สองนิกายไม่ลงรอยกันอย่างที่เป็นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์และสืบเนื่องมาถึงโลกสมัยใหม่?

เชื้อไฟแห่งความร้าวฉานครั้งใหญ่เกิดขึ้นในยุคสมัยของคอลีฟะฮ์อะลี เมื่อท่านปลดเจ้าเมืองด้วยข้อกล่าวหาว่า พวกเขากดขี่ขูดรีดประชาชนโดยมิชอบ อุมาวียะห์ หนึ่งในเจ้าเมืองที่มีคำสั่งปลด เป็นเจ้าผู้ปกครองซีเรียที่มีอำนาจที่สุดในบรรดาเจ้าเมืองทั้งหลาย เขาขัดคำสั่งดังกล่าว เป็นเหตุให้คอลีฟะฮ์อะลีต้องทำสงครามปราบปรามอยู่หลายปี กระทั่งตัวท่านถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 661

หลังสิ้นคอลีฟะฮ์อะลี รูปแบบการปกครองของจักรวรรดิอิสลามและโลกมุสลิมก็เปลี่ยนไป จากระบอบคณาธิปไตย เป็นรูปแบบการสืบสันตติวงศ์ หรือราชวงศ์ หากแต่มิใช่วงศ์วานของศาสดามุฮัมหมัด แต่เป็นของคอลีฟะฮ์อุมาวียะฮ์ ผู้สถาปนาราชวงศ์อุมัยยะห์

ฝ่ายชาวชีอะห์ที่ยึดมั่นต่อหลักการผู้ปกครองประชาชาติมุสลิมต้องมาจากเชื้อสายศาสดามุฮัมหมัด เห็นว่าตำแหน่งผู้นำ หรือ “อิหม่าม” ควรตกแก่ ฮะซัน และฮุสเซน บุตรของท่านอะลี ผู้มีศักดิ์เป็นหลานท่านศาสดา พวกเขาจึงขับเคี่ยวกับราชวงศ์อุมัยยะห์ต่อ

กระทั่ง ค.ศ. 681 ได้เกิดเหตุการณ์ “โศกนาฏกรรม” ของโลกมุสลิม เมื่ออิหม่ามฮุสเซน ผู้สืบทอดตำแหน่งจากฮะซัน ถูกฝ่ายอุมัยยะห์สังหารอย่างโหดเหี้ยมพร้อมสมาชิกครอบครัว ในการปะทะที่คาร์บาลา ศีรษะของฮุสเซนถูกนำไปถวายคอลีฟะฮ์ของชาวซุนนี สร้างความความเคียดแค้นแก่ชาวชีอะห์อย่างมาก

ยุทธการ คาร์บาลา หรือ กัรบะลาอ์ มุสลิม ซุนนี สังหาร อิหม่าม ชีอะห์
ยุทธการที่คาร์บาลา หรือ กัรบะลาอ์, ผลงาน Abbas Al-Musavi (ภาพจาก Brooklyn Museum)

หลังเหตุการณ์นั้น ฝ่ายชีอะห์ถูกปราบปรามและกดขี่จากราชวงศ์อุมัยยะห์อย่างหนัก จนสลายตัวไป ในที่สุด ราชวงศ์อุมัยยะห์ก็ประสบความสำเร็จในการยุติการอ้างสิทธิ์จากเชื้อสายศาสดามุฮัมหมัดเหนือประชาชาติมุสลิม

แม้จะสูญสิ้นอำนาจ แต่ชาวชีอะห์ยังนับถือ “อิหม่าม” สืบต่อกันมา โดยมี 12 อิหม่าม เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดในฐานะวงศ์วานของท่านศาสดาและท่านอะลี โดย อัล-มะห์ดี อิหม่ามคนที่ 12 ที่สาบสูญไปเมื่อ ค.ศ. 881 ถูกเล่าขานในหมู่ชาวชีอะห์ว่า ท่านจะกลับมายังโลกเพื่อนำความยุติธรรมกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ แม้ความเห็นเรื่องความเหมาะสมของผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำประชาชาติมุสลิม จะนำไปสู่การแยกตัวของฝ่ายสนับสนุนอะลี หรือ นิกายชีอะห์ และขัดแย้งกับ นิกายซุนนี ที่เป็นมุสลิมส่วนใหญ่ แต่ไม่มีปราชญ์มุสลิมซุนนีประณามว่า พวกเขาเป็นกาเฟร (คนนอกศาสนา) แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไพศาล แก้วประสม ; อภิรัฐ สะมะแย. สุนหนี่ (Sunni) – ชีอะห์ (Shi’ite). วารสารพัฒนาบริหารศาสตร์. ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม 2531.

Sarah Pruitt. Islam’s Sunni-Shia Divide, Explained. Jan 10, 2022. From https://www.history.com/news/sunni-shia-divide-islam-muslim


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2566