ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“เกี๊ยะ” คือ รองเท้าไม้ที่มีมาแต่โบราณของจีน ปัจจุบันความนิยมใช้สอยลดน้อยลงไปบ้าง เนื่องจากเวลาเดินมีเสียงดังก๊อกแก๊กตามจังหวะที่ก้าวเท้าเดิน เพราะวัสดุที่ทำรองเท้าเป็นไม้
เสียงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ ทำให้มีตำนานเรื่องเล่าที่มา หรือกำเนิด “เกี๊ยะ” ดังที่ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล กล่าวไว้ในเทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ (สนพ.มติชน 2557) พอสรุปได้ว่า
ในยุคชุนชิว (227-67 ปีก่อนพุทธศักราช) “จิ้นเสียงกง” ประมุขแคว้นจิ้น เกิดหลงใหลภรรยาน้อย ถึงกับยกบุตรชายของนางเป็นรัชทายาท และสั่งประหารบุตรที่เกิดจากภรรยาเอก
ทว่า บุตรชายภรรยาเอกคนหนึ่งชื่อ “ฉงเอ๋อร์” หนีรอดมาได้ ด้วยการช่วยเหลือของ “เจี้ยจือชุย” และบรรดาคนใกล้ชิดที่ภักดี ระหว่างทางที่ต้องอดมื้อกินมื้อ ทั้งมื้อที่กินก็เป็นผักหญ้าหรือผลไม้ป่าข้างทาง คุณชายตกยากและยังเด็กเช่นฉงเอ๋อร์จึงกินไม่ค่อยลง ความตอนนี้บันทึกในเลียดก๊ก ฉบับภาษาไทยว่า
“…ต๋งนี [ฉงเอ๋อร์]นั้นหยิบชิ้นผักโขมกิน คำหนึ่งกลืนมิสะดวกก็คายคืนออกมาเสีย ไกจือฉุย [เจ้ยจือชุย] ดังนั้นจึงแอบไปในที่ลับ เอากระบี่แล่ล่ำเนื้อแต่ปลายแขนตลอดถึงข้อศอก เชือดเป็นชิ้นใส่หม้อต้มสุก แล้วชักเสื้อปิดแผลเสีย
ต๋งนีหาทันพิจารณาว่า เนื้อสิ่งใด ก็รับมากินโดยกำลังอยากจนหมด แล้วถามไกจือฉุยว่า ท่านได้เนื้อสิ่งใดมาให้เรากิน…ไกจือฉุยว่าเนื้อแขนของข้าพเจ้าเติมให้ท่านกิน”
ฉงเอ๋อร์ร่อนเร่พึ่งพิงแคว้นอื่นๆ ประมาณ 19 ปี ในที่สุดก็สามารถลงหลักปักฐานได้ที่แคว้นฉิน (จิ๋น) และขึ้นเป็นประมุขของแคว้น นามว่า “จิ้นเหวินกง”
จิ้นเหวินกงระลึกถึงบุญคุณของเจี้ยจือชุยเสมอมา แต่การปูนบำเหน็จขุนนางและข้าเก่ากลับไม่มีชื่อของเขาอยู่ในโผ เจี้ยจือชุยจึงพามารดาหนีไปใช้ชีวิตในป่าด้วยความน้อยใจ ภายหลังจิ้นเหวินกงนึกถึงเจี้ยจือชุยขึ้นมา จึงตามไปเพื่อขอโทษ แต่เจี้ยจือชุยไม่ยอมออกมาพบ กลับพามารดาหนีเข้าไปในป่าที่ลึกยิ่งขึ้น แต่บางตำนานว่า เจี้ยจือชุยหนีไปเพราะต้องการชีวิตสมถะไม่ได้สนใจบำเหน็จรางวัล
หากไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด ผลลัพธ์กลับผิดคาดอย่างเลวร้าย ด้วยจิ้นเหวินกงคิดตื้นๆ ว่า เจี้ยจือชุยเป็นคนกตัญญู ถ้าในป่ามีภัยต้องพามารดาหนีออกมาแน่ ตนเองก็จะได้พบเจี้ยจือชุยเพื่อตอบแทนบุญคุณ จึงสั่งให้จุดไฟเผาป่า เจี้ยจือชุยและมารดาหนีจนหมดทางหนี ถูกไฟป่าคลอกตายใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง
จิ้นเหวินกงสั่งให้นำต้นไม้ดังกล่าวมาทำ “เกี๊ยะ” หรือรองเท้าไม้ ด้วยหวังให้เสียงของเกี๊ยะที่เขาสวมเมื่อกระทบกับพื้น เตือนให้ไม่ลืมอดีต
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไล์นครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567