“ไอศกรีม-ไอติม” 2 คำนี้ แท้จริงแล้วมีความหมายไม่เหมือนกัน

ไอศกรีม-ไอติม
ไอศกรีม-ไอติม (ภาพจาก : pixabay)

เชื่อว่าหลายคนเวลาพูดถึง “ไอศกรีม-ไอติม” คงคิดว่าสองคำนี้หมายถึงของหวานรสสัมผัสเย็นแบบเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วมีความแตกต่างกันอยู่…

หลังจากไอศกรีมเริ่มแพร่หลายในสังคมไทย คนไทยก็รับเอาคำศัพท์ภาษาอังกฤษ อย่าง “ice cream” มาใช้ ซึ่งแต่เดิมจะใช้เรียกไอศกรีมแบบดั้งเดิมของชาวตะวันตกที่มีความข้นผสมครีมหรือนม

ส่วนคำว่า “ไอติม” เป็นภาษาปากที่คนไทยนิยมใช้เพราะเรียกง่ายและเป็นคำท้องถิ่นที่มาจาก “ไอศกรีม” อีกทีหนึ่ง ทำให้หลายคนคิดว่าน่าจะใช้เรียกแทนไอศกรีมของต่างชาติได้เช่นกัน (ซึ่งปัจจุบันก็เรียกแทนกันอยู่) 

แต่ที่จริงแล้ว สมัยก่อน คำว่า “ไอติม” มีไว้เรียก “ไอศกรีม” แบบไม่ใส่ครีมหรือนม

หลักฐานที่สามารถยืนยันแนวคิดนี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “มรดกไทย” (พ.ศ. 2536) ของ ลาวัณย์ โชตามระ นักเขียนสารคดี ซึ่งอธิบายการใช้คำนี้ในบ้านเมืองไทยว่า

“คนนั่งรถยนต์ก็กินไอศกรีม คนเดินถนนก็กินไอติม แล้วต่างกันอย่างไรล่ะ สองไอนี่น่ะ อ๋อ! ไอศกรีมก็เนื้อข้นเป็นก้อน แต่ไอติมน่ะเหลวเป็นน้ำแล้วไอติมน่ะ กรรมวิธีเป็นอย่างไร ไอศกรีมหลวงท่านใช้น้ำมะพร้าวอ่อน ไอศกรีมราษฎร์ที่ขายกัน ขืนเจริญรอยบ้างมีหวังได้ล้มละลายขายตัวเท่านั้น ก็ใช้เพียงน้ำตาลทรายละลายน้ำใส่น้ำมะพร้าวน้ำหอมไปสักผลสองผลก็พอจะแทนกันได้

ส่วนเนื้อมะพร้าวใครเขาจะทิ้งไปให้เสียเปล่า ก็หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในส่วนผสมของไอติมในถังน้ำแข็งมีอยู่แล้วก็ทุบใส่ลงในถังไม้ นอกถังสังกะสีเอาเกลือเมล็ดโรยลงไปบนน้ำแข็ง โรยน้ำแข็งกับเกลือสลับกัน เป็นชั้น ๆ แล้วก็เขย่าจนน้ำไอติมในถังเริ่มจับเป็นเกล็ดข้าง ๆ แล้วก็เอากระสอบหนา ๆ มาคลุกฝาถังไอติมไปจนถึงน้ำแข็งและเกลือชั้นบน เป็นการบ่มไอติมให้ได้ที่เร็วเข้า”

นอกจากนี้ สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 ยังพูดถึงเรื่องนี้ในหนังสือ “เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง” (พ.ศ. 2545) อีกด้วย ว่า…

“ผู้เขียนชอบกินไอติมมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเรียกไอติมมาจนติดปาก ส่วนไอศกรีมนั้นมารู้จักและเรียกให้เป็นคนทันสมัยต่อภายหลัง… ไอติมสมัย 50 กว่าปีมาแล้ว เท่าที่จำได้มีอยู่ 3 อย่างคือ ไอติมแท่งหรือไอติมหลอด… (และ) ก็มีไอติมตักใส่แก้ว ไอติมแบบนี้มี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นไอติมน้ำมะพร้าว คือใส่น้ำแข็งผสมกับน้ำตาลทรายและน้ำมะพร้าวเหยาะน้ำนมแมวพอให้หอม ๆ เป็นไอติมราคาถูกที่ทำขายตามบ้านนอก

อีกชนิดหนึ่งเป็นไอติมกะทิ อย่างนี้ข้นเป็นสีขาวอร่อยกว่าอย่างแรก บางทีมีถั่วลิสงโรยหน้าอีกด้วย… (ส่วน) ไอติมที่เรียกกันอย่างเต็มยศว่าไอศกรีมนั้นกล่าวกันว่า เริ่มมีตามภัตตาคารใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ก่อน เพราะมีราคาแพง เหตุที่แพง ชื่อเสียงก็บอกอยู่ในตัวแล้ว… เป็นไอศกรีมชนิดที่ใส่นมหรือปรุงอย่างดีเลิศ น่ากินกว่าไอติมธรรมดา”

จากข้อมูลดังกล่าวคงทำให้เราเห็นความต่างของคำว่า “ไอศกรีม-ไอติม” ได้อยู่ไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ณัฐธนนท์ ศุขสุขทอง และชนกพร ชูติกมลธรรม. “‘จะปั้นน้ำเป็นตัวอย่างไรได้’ : การนำเข้าและการบริโภคน้ำแข็งสยามระหว่างพุทธทศวรรษที่ 2400-2460.” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2567