เผยแพร่ |
---|
ไอศกรีมแท่ง หรือแบบ “หวานเย็น” ที่คนไทยบางกลุ่มเรียกกัน กลายเป็นของหวานยอดฮิตที่ผู้คนนิยมถ่ายรูป และเช็กอิน ปลุกการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในจีนในช่วงที่ผ่านมา
ช่วงปีที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากต่างโพสต์ภาพถ่ายไอศกรีมที่มีรูปลักษณ์โดดเด่น ซึ่งมองแวบเดียวก็รู้ได้ในทันทีว่าพวกเขากำลังอยู่ที่ไหน โดยการ “เช็กอิน” เช่นนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวที่จีนรอบปีที่ผ่านมา
กระแสดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2021 หลังพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุยเปิดตัวไอศกรีม “หน้ากากสัมฤทธิ์” ที่มีต้นแบบจากหน้ากากสัมฤทธิ์ 2 ชิ้นที่ขุดพบในหลุมบูชายัญซานซิงตุย และได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในโลกอินเทอร์เน็ต
หลังจากนั้น จุดชมวิวหลายแห่งในจีนก็ทยอยเปิดตัวไอศกรีมที่มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ จนการเฟ้นหาไอศกรีมประจำสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสร้างสรรค์เป็นเลิศ กลายมาเป็นหัวข้อยอดฮิตในสื่อสังคมออนไลน์
ในเมืองเย่ว์หยาง มณฑลหูหนานนั้น ไอศกรีมรูปหอเย่ว์หยางและโลมาหัวบาตรหลังเรียบได้รับความนิยมสูงสุด ส่วนมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ก็มีไอศกรีมรูปแพนด้าที่มัดใจชาวเน็ตได้อยู่หมัด มณฑลหูเป่ยก็ไม่น้อยหน้า ชูไอศกรีมหอนกกระเรียนเหลือง มูสกระบี่โกวเจี้ยน (เจ้าผู้ครองแคว้นเย่ว์) และระฆังช็อกโกแลต
ส่วนมณฑลเจียงซีมีไอศกรีมทรงหอเถิงหวังเก๋อ ที่ยังคงเก็บรายละเอียดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไว้ได้อย่างดี เช่นชั้นลอยที่ซ่อนอยู่ระหว่างชั้นต่างๆ แถมยังมีชื่อสถานที่ประดับอยู่ด้านล่างด้วย
ปิดท้ายด้วยหมู่ถ้ำหินโม่เกาของมณฑลกานซู่ ซึ่งนำเสนอไอศกรีมรูปหอ 9 ชั้น รสสตรอว์เบอร์รี ที่หลังรับประทานเสร็จแล้วยังสามารถนำไม้ไอศกรีมไปใช้เป็นที่คั่นหนังสือได้อีกด้วย
“มันน่าทึ่งมาก เพียงแค่กินไอศกรีมนี่คำเดียวเท่านั้น ก็เหมือนได้ลิ้มรสวัฒนธรรมหลายพันปี” ผู้ใช้บัญชีเวยโป๋รายหนึ่งที่ชื่อว่า “ห้องเรียนภาษาและวัฒนธรรมของครูหลิว” กล่าว
หลายปีมานี้ “ความคลั่งไคล้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์” ที่เพิ่มขึ้น ได้ช่วยคืนชีพให้โบราณวัตถุและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์บางรายการได้ความนิยมจน “ฉุดไม่อยู่” บ่อยครั้ง ทั้งยังช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์สินค้าที่แปลกใหม่และน่ารัก แถมช่วยให้สาธารณชนได้สัมผัสกับวัตถุทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
“ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในจีนได้ผสานศาสตร์สาขาต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นถึงพลังที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมนี้” โจวอวิ้นชิง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นกล่าว
การค้นพบวัตถุโบราณ “ซานซิงตุย”
หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มของกระแสดังที่กล่าวข้างต้นว่าเริ่มมาจากการค้นพบโบราณวัตถุที่ขุดพบในหลุมบูชายัญซานซิงตุย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 รายงานข่าวจากสำนักข่าวซินหัวเผยการค้นพบโบราณวัตถุรวมแล้วมากกว่า 500 ชิ้นที่ซากโบราณสถานซานซิงตุย ในเมืองกว่างฮั่น ห่างจากเฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนราว 60 กิโลเมตร
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญในจำนวนนั้น มีหน้ากากทองคำสภาพสมบูรณ์ชิ้นหนึ่งที่มีอายุย้อนไปถึง 3,000 ปี ซึ่งดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก
ขณะที่วัตถุโบราณที่ถูกค้นพบในหลุมบูชายัญแห่งใหม่ 6 หลุมของซากโบราณสถาน เช่น หน้ากากทองคำ สิ่งของที่ทำจากหยกและงาช้าง และเครื่องทองสัมฤทธิ์ต่างๆ ล้วนถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงามและมีรูปลักษณ์เฉพาะตัว
การค้นพบครั้งใหม่ทำให้จำนวนวัตถุที่ถูกค้นพบในซานซิงตุย เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2,000 ชิ้น หลังการขุดค้นหลุมบูชายัญหมายเลข 3 ถึงหมายเลข 8 ที่เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2020
ขณะที่ก่อนหน้านั้นยังค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากจากหลุมหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ในปี 1986 ซึ่งปลุกกระแสความสนใจจากทั่วโลก ต่อมาคณะนักโบราณคดีค้นพบหลุมบูชายัญเพิ่ม 6 หลุม เมื่อเดือนตุลาคม 2019 นำไปสู่การขุดพบโบราณวัตถุสำคัญมากกว่า 1,000 ชิ้น
ซากโบราณสถานซานซิงตุย ถูกค้นพบครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตารางกิโลเมตร และได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของศตวรรษที่ 20 โดยเชื่อกันว่าเป็นซากปรักหักพังของอาณาจักรสู่ที่มีอายุย้อนหลังราว 4,500-3,000 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงใหม่จากเนื้อหาในรายงานของบริการข่าวสารภาษาไทยโดยสำนักข่าวซินหัว เผยแพร่เมื่อ 7 พฤษภาคม 2564 (กำลังฮิต! ชาวจีนแห่เที่ยว ‘ลิ้มรส’ ประวัติศาสตร์ในก้อนหวานเย็น) และ 9 กันยายน 2564 (การค้นพบครั้งใหม่แห่ง ‘ซากปรักหักพังซานซิงตุย’ เผยพลังสรรสร้างยุคจีนโบราณ)
เผยแพร่เนื้อหานี้ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2565