เปิดภาพพ่อค้าขายไอศกรีม ในกรุงเทพฯ เมื่อกว่าร้อยปีก่อน

พ่อค้าหาบเร่กำลังยืนขายไอศกรีมให้กับเด็กๆ ในกรุงเทพฯ ภาพจากไปรษณียบัตรหายากสมัยรัชกาลที่ 5 ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา

ภาพที่เห็นด้านบนมาจากไปรษณียบัตรหายากสมัยรัชกาลที่ 5 ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา ในภาพเป็นพ่อค้าหาบเร่กำลังยืนขายไอศกรีมให้กับเด็กๆ ในกรุงเทพฯ

พ่อค้ารายนี้น่าจะเป็นชาวจีนอพยพที่เข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ภายหลังสัญญาเบาริ่ง พ.ศ. 2398 โดยคุณไกรฤกษ์ ได้กล่าวถึงเหตุที่ชาวจีนอพยพเข้าสยามมากขึ้นหลังการทำสัญญาเบาริ่งว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการคือ

“1. เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายทางการเมืองในจีน มีการแย่งชิงอำนาจระหว่างชาวจีนด้วยกันเองและการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเอิกเกริกของขุนนางราชวงศ์ชิง อีกทั้งจีนเพิ่งพ่ายแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่น ทั้งยังมีการกบฏเกิดขึ้นทุกหัวระแหง (กบฏไต้เผ็ง) ประชาชนพากันอพยพออกนอกประเทศ ประจวบกับ ‘สนธิสัญญาปักกิ่ง’ ภายหลังสงครามฝิ่นยกเลิกคำสั่งที่เคยห้ามชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ

2. เมืองสยามกำลังเนื้อหอม ภายหลังการทำสัญญาเบาริ่งส่งเสริมให้เศรษฐกิจดี ทำมาค้าขึ้น รัฐบาลสยามเปิดประเทศติดต่อค้าขายกับภาคเอกชนทั่วโลกแทนการผูกขาดของภาครัฐ และสยามเองก็ยังขาดแคลนผู้ประกอบการที่จะเป็นคนกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคซึ่งโดยมากเป็นพ่อค้าชาวตะวันตก ชาวจีนจึงเติมเต็มช่องว่างอย่างง่ายดาย

3. เมืองสยามบริโภคข้าวและนับถือพุทธเช่นเดียวกับคนจีน ชาวจีนบางส่วนมีบรรพบุรุษที่เคยอยู่มาก่อนในสยาม ตลอดจนดินฟ้าอากาศก็ไม่แตกต่างจากจีนภาคใต้มากนัก จึงเอื้อต่อการตัดสินใจที่จะเข้ามา

ชาวจีนจึงพากันอพยพเข้ามาเป็นระลอกใหญ่ในระยะสั้น ส่วนมากหลั่งไหลเข้ามายังเมืองบางกอกก่อน เพราะเป็นท่าเรือเมล์สายหลักจากจีน อีกทั้งบางกอกกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของประเทศ มีการสร้างถนน ขุดคลอง และก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ตามพระบรมราโชบายใหม่ของรัชกาลที่ 4”

 


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. (เมษายน 2559). ใครคือชาวต่างชาติหน้าใหม่ที่อพยพเข้ามายังเมืองบางกอกหลังไทยทำสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 6 : หน้า 134-137.)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2559