ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ที่เราได้ชมกันก็เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น ในกระบวนเรือจะมี “เรือเสือ” ถือเป็น “เรือพิฆาต” อยู่ในขบวนหน้า แล้วเรือเสือทำหน้าที่อะไร ใช้ป้องกันข้าศึกศัตรูหรือไม่
ชื่อ “เรือเสือ” ได้มาจากการเขียนลวดลายเป็นรูปหัวเสือไว้ที่หัวเรือ ซึ่งมีช่องให้ปืนใหญ่ยื่นออกมา ปรากฏหลักฐานเรือนี้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีตำแหน่งอยู่ในขบวนนอกหน้า ซึ่งเป็นขบวนหน้าสุดของ “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค”
หน้าที่ของเรือเสือ คือ คอยเก็บซากสัตว์ที่ลอยน้ำมา ไม่ให้ผ่านล่วงเข้าไปถึงกระบวนเรือพระที่นั่ง ดังปรากฏหลักฐานใน “โครงพยุหยาตราเพชรพวง” ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเมื่อ พ.ศ. 2340 ว่า
“เรือเสือต่ำเตี้ยหน้า ซอนซบ
เก็บซากลอยอรรณพ กลิ่นกล้า
พนักงานนครบาลพบ พานล่อง ลอยนา
แมวหนูสุนัขคว้า ใส่สึ้งเรือเอง”
ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดให้สร้าง “เรือพิฆาต” ขึ้น 6 คู่ โดยมีเรือเสืออยู่ด้วย 1 คู่ คือ “เรือเสือทยานชล” และ “เรือเสือคำรณสินธุ์” โดยเรือเสือทยานชลแล่นส่ายนอกด้านขวา ส่วนเรือเสือคำรณสินธุ์แล่นส่ายนอกด้านซ้าย
อ่านเพิ่มเติม :
- เรือโบราณแห่งคลองท่อม “เรือผูก” เก่าแก่ที่สุดในไทย
- กองเรือ “เจิ้งเหอ” ขนาดมหึมา สามารถจอดเทียบท่าที่กรุงศรีอยุธยาได้หรือไม่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ส. พลายน้อย. เกิดในเรือ บันทึกความทรงจำของ ส. พลายน้อย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.
“โคลงพยุหยาตราเพชรพวง”. เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
“เรือเสือคำรณสินธุ์”. เว็บไซต์กองทัพเรือ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2567