กองเรือ “เจิ้งเหอ” ขนาดมหึมา สามารถจอดเทียบท่าที่กรุงศรีอยุธยาได้หรือไม่?

เรือมหาสมบัติ เป่าฉวน ของแม่ทัพ เจิ้งเหอ
เรือมหาสมบัติ "เป่าฉวน" (จำลอง) ของแม่ทัพเจิ้งเหอ น่าเชื่อว่ายกมาจอดทอดสมออยู่อ่าวไทยเพื่อสนับสนุนเจ้านายสยามรัฐสุพรรณภูมิยึดอยุธยาจากขอมละโว้ (แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน)

ในการยาตรากองเรือของ “เจิ้งเหอ” ครั้งที่ 2 ราว ค.ศ. 1408 (พ.ศ. 1951) ในครั้งนี้ยังคงมีจุดหมายที่เมืองคาลิคัท (Calicut) เมืองชายฝั่งทางตอนใต้ของอินเดีย โดยมีจุดแวะพักที่สำคัญคือ ราชอาณาจักรเสียนหลอ หรือกรุงศรีอยุธยา

กองเรือของเจิ้งเหอเป็นกองเรือขนาดใหญ่มหึมา จึงเป็นที่สงสัยว่าจะสามารถนำเรือขนาดใหญ่บางส่วน เข้ามาจอดที่ “ราชอาณาจักรเสียนหลอ” หรือ กรุงศรีอยุธยา ได้หรือไม่? ประเด็นนี้ ปริวัฒน์ จันทร อธิบายไว้ในหนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” ว่า

Advertisement

เมื่อกองเรือของเจิ้งเหอมีขนาดใหญ่โตโอฬารถึงเพียงนี้แล้ว จะเข้ามาเทียบท่าในบริเวณดังกล่าวที่อยู่ลึกเข้ามาจากปากอ่าวถึงกว่า 100 กิโลเมตรได้อย่างไร? ปริศนาในข้อนี้ จาก คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม อาจฉายภาพดังกล่าวให้เห็นได้ชัดขึ้นว่า

“ครั้นถึงระดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เป็นมรสุมเทศกาลพวกลูกค้าพานิชสำเภาจีน แลลูกค้าแขกสลุป ลูกค้าฝรั่งกำปั่น ลูกค้าแขก กุศราช แลพวกลูกค้าแขกสุรัต แขกชวามลายู แขกเทศ ฝรั่งเสศ ฝรั่งโลสง โปรตุเกศ วิลันดา อิศปันยอน อังกฤษ แลฝรั่งดำ ฝรั่งเมืองลังกุนี แขกเกาะ เปนพ่อค้าพานิชสลุปกำปันแล่นเข้ามาทอดสมออยู่ท้ายคู ขนสินค้าขึ้นมาไว้บนตึกห้างในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุทธยาตามที่ตนซื้อแลเช่าต่าง ๆ กัน เปิดร้านห้างตึกขายของตามเพศตามภาษา

อนึ่ง เรือใหญ่ท้ายแกว่งชาวเมืองพระพิศณุโลกยฝ่ายเหนือ บันทุกน้ำอ้อย ยาสูบ ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง สินค้าต่าง ๆ ฝ่ายเหนือล่องเรือลงมาจอดขายตั้งแต่น่าวัดกล้วยลงมาจนปากคลองเกาะแก้ว

อนึ่ง เรือระแหงแขวงเมืองตาก แลเรือหางเหยี่ยว เมืองเพชบูรณ์ นายม บันทุกครั่ง กำยาน เหลกหางกุ้ง เหลกล่มเลย เหลกน้ำกี้ ใต้หวายชัน น้ำมันยาง ยาสูบ เขา หนัง หน่องา สรรพสินค้าตามเพศบ้านเพศเมืองมาจอดเรือขายตามแถวปากคลองสวนพลู ตลอดมาจนน่าวัดพระเจ้านางเชิง”

ภาพวาดลายเส้นเรือต้นแบบที่หย่งเล่อทรงนำมาใช้สร้างเรือเป่าฉวน (เรือมหาสมบัติ)

นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. 2541 ได้มีการงมพบโบราณวัตถุจากเรือที่จมอยู่บริเวณใต้ท้องแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดไก่เตี้ยพฤฒารามราษฎร์บำรุง ตําบลบ้านรุน ตรงข้ามกับตำบลเกาะเรียน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพนัญเชิงและตำบลสำเภาล่มลงมาทางใต้ (คนละฟากแม่น้ำ) ราว 5 กิโลเมตร

สันนิษฐานว่าบริเวณนี้ อาจจะใช้เป็นที่จอดเรือสำเภาใหญ่ขนาดเดินทะเลเพื่อจอดและส่งสินค้า

จากการศึกษาของกลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ในรายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ วัดไก่เตี้ยฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใน พ.ศ. 2541 พบว่า แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าวัดไก่เตี้ยฯ มีความกว้างประมาณ 120 เมตร [1] ตลิ่งสองฟากค่อนข้างลาดชันไปจนถึงพื้นดินใต้ท้องน้ำ มีความลึกสูงสุดประมาณ 8.5 เมตร

โบราณวัตถุที่งมพบ มีเครื่องถ้วยจากแหล่งกลุ่มเตาศรีสัชนาลัยและเตาแม่น้ำน้อย เชือกเถาวัลย์ฟั่นเป็นเกลียวจำนวนมาก ดาบ มีด หม้อ หัวกะโหลกคนและช้าง

ที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือ มีการงมพบก้านและปีกของสมอเรือโบราณเป็นจำนวนมาก และสามารถนำมาประกอบเข้ากันได้เป็นสมอขนาดยาว 8.4 เมตร 2 สมอ หนักท่อนละ 9 ตัน และขนาดยาว 4 เมตรเศษอีก 1 สมอ ที่ปลายของปีก (เงี่ยง) สมอมีเหล็กหุ้มเพื่อให้กินผิวดินใต้ท้องน้ำ ที่กลางและหัวสมอมีรูกลมเจาะไว้ มีขนาดความกว้างเท่ากับเกลียวเชือกเถาวัลย์ นอกจากนั้นยังมีท่อนไม้ขนาดใหญ่ยาวราว 10 เมตร สันนิษฐานว่าจะเป็นเสากระโดงของเรือสำเภา ที่ปลายมีรูเจาะไว้ให้ยึดติดกับส่วนของลำเรือ…

กองเรือสำเภาจีน ภาพจาก สารานุกรมพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

แม้ว่าการศึกษาขุดค้นในเบื้องต้นนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสมอเรือและเชือกเถาวัลย์เหล่านี้เป็นไม้ชนิดไหน มีอายุและถิ่นกำเนิดจากที่ใด? เพื่อจะได้ทราบต่อไปว่าเป็นสมอเรือของชนชาติไหน และในเวลาเดียวกันก็ทำให้อดที่จะสร้างมโนภาพต่อไปเสียมิได้ว่า…เมื่อสมอมีขนาดใหญ่เพียงนี้แล้ว? เรือที่ใช้จะใหญ่ถึงปานใด?

จากหลักฐานสมอเรือนี้ก็คงพอชี้ให้เห็นว่า “ราชอาณาจักรเสียนหลอ” หรือกรุงศรีอยุธยา เป็นที่ชุมนุมของเหล่าเรือสินค้าน้อยใหญ่ที่ต่างมาจอดทอดสมอ และก็อาจจะมีเรือบางลำที่สมอเกิดเสียหายขึ้น จึงต้องสละทิ้งลงน้ำไป? และมาถูกขุดค้นพบเข้าในปัจจุบัน หรือมิเช่นนั้นก็อาจมีเรือสำเภาขนาดใหญ่บางลำ มาล่มเสียที่บริเวณในย่านนี้ จนทำให้ได้รับการขนานนามว่าตำบลสำเภาล่ม? กระทั่งมาถูกงมพบในอีกหลายร้อยปีต่อมา?

แม้ว่าคำถามเหล่านี้ยังคงจะต้องรอการศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่จากหลักฐานชิ้นสำคัญของวัดไก่เตี้ยฯ นี้ ก็คงจะทำให้พอไขข้อปริศนาได้บ้างว่า กองเรือเป่าฉวนอันมหึมาของเจิ้งเหอ (บางส่วน)[2] น่าจะได้เข้ามาเทียบท่าที่ราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้จริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] จากการสัมภาษณ์พระเฉลียว แห่งวัดไก่เตี้ยฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2545 ซึ่งท่านเป็นคนพื้นเพอยู่คนละฟากแม่น้ำกับวัดไก่เตี้ยฯ มาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณปู่ เล่ากันมาว่าในสมัยอดีตนั้นยังไม่มีเกาะเรียนงอกขึ้นที่กลางแม่น้ำ ฝั่งของแม่น้ำจึงกว้างมากกว่าปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 100 เมตร จึงสันนิษฐานได้ว่าในครั้งหนึ่งเรือสำเภาอาจจะมาจอดเอาหัวเรือเกยขึ้นที่ฝั่งตรงข้ามของวัดไก่เตี้ยฯ

[2] กล่าวคือ บางส่วนอาจจะจอดที่ “ด่านนอก” ใกล้ปากแม่น้ำ และบางส่วนเข้ามาจอดที่ “ด่านใน” แถว ๆ เกาะเรียน จนถึงบริเวณหน้าวัดพนัญเชิง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2564