“เจิ้งเหอ” ขันทีอิสลามชาวจีน เลื่อมใสพุทธศาสนา ถวายพระไตรปิฎกทำบุญวันเกิด?

เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที ผู้บัญชาการ กองเรือมหาสมบัติ ยุค ราชวงศ์หมิง

เจิ้งเหอ (ค.ศ. 1371-1433) มีนามเดิมว่า หม่าเหอ หรือที่บุคคลส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดีในนาม “ซำปอกง” ถือกำเนิดในครอบครัวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในตำบลคุนหยาง นครคุนหมิง แห่งมณฑลยูนนาน มีชื่อตามแบบชาวมุสลิม ที่เป็นภาษาอาหรับว่า “ฮัจญ์ มาห์มุด ซัมซ์” (Hajji Mahmud Shams) [1]…

บรรพบุรุษของเจิ้งเหอนั้นเป็นคนเชื้อสายเปอร์เซียเผ่าเซมูร์ (Semur) ต่อมาได้อพยพย้ายเข้ามาอาศัยในแผ่นดินจีนช่วงสมัยราชวงศ์หยวน และได้ปรับเปลี่ยนชื่อแซ่เป็นแบบธรรมเนียมจีนในเวลาต่อมาโดยใช้หม่า เป็นแซ่ของตระกูล เพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในจีน [2] ส่วนแซ่เจิ้ง เป็นแซ่ที่ได้รับพระราชทานในภายหลัง

ในปีรัชศกหงอู่ที่ 14 (ค.ศ. 1381) รัชสมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ได้ทรงยกทัพมากวาดล้างกองกำลังของมองโกลแห่งราชวงศ์หยวนที่ยังปักหลักอยู่ในแถบยูนนาน โดยมีแม่ทัพฟูโหย่วเต้อ เป็นผู้ควบคุมบัญชาการ ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม เจิ้งเหอที่ขณะนั้นมีวัยเพียง 10 ปี ต้องตกเป็นเชลยศึกของกองทัพหมิง ต่อมาในปี ค.ศ. 1368 ถูกตอนเป็นขันที ทำงานรับใช้ในราชสำนักขององค์ชายจูตี้ ซึ่งต่อมาได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่

เจิ้งเหอถวายงานรับใช้องค์ชายจูตี้ด้วยความจงรักภักดี มีความเชื่อกันว่าเจิ้งเหอมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้องค์ชายจูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิ จนกระทั่งได้รับพระราชทานแซ่เจิ้ง และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าขันที นอกจากนั้นแล้วเจิ้งเหอยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติของราชสำนักหมิงที่เดินทางไปปฏิบัติภารกิจน้อยใหญ่หลายประการ ตามพระราชประสงค์ขององค์จักรพรรดิ การออกสมุทรยาตราทั้ง 2 ครั้งของเจิ้งเหอ ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 28 ปี เดินทางผ่านประเทศต่าง ๆ มากกว่า 30 ประเทศ เป็นระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร [3]

ภาพลายเส้น เรือเป่าฉวน
ภาพวาดลายเส้นเรือต้นแบบที่หย่งเล่อทรงนำมาใช้สร้างเรือเป่าฉวน (เรือมหาสมบัติ)

เจิ้งเหอ เป็นนักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ในราชสำนักหมิง อีกทั้งมีเส้นทางการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจยิ่ง จากครอบครัวมุสลิมที่อาศัยในแถบตะวันตกของจีน ถูกจับเป็นเชลยศึก และถูกเกณฑ์เป็นทาสขันที ต่อมาได้ไต่เต้าจนเป็นมหาขันที กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชากองเรือมหาสมบัติ ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้มีการศึกษาชีวประวัติเจิ้งเหอกันอย่างกว้างขวาง บทความนี้เป็นเพียงภาพสะท้อนความเชื่อในพุทธศาสนาของเจิ้งเหอ ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการกันอย่างแพร่หลาย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของเจิ้งเหอ

เจิ้งเหอเป็นชาวมุสลิมมาแต่กำเนิด บิดาและปู่ของเจิ้งเหอเคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมกกะ [4] ซึ่งย่อมเชื่อได้ว่าครอบครัวของเจิ้งเหอเลื่อมใสศรัทธาในหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด แต่จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่า เจิ้งเหอก็ศรัทธาในเทพเจ้าหรือศาสดาของต่างลัทธิความเชื่อด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อครั้งก่อนออกเดินทางสมุทรยาตราครั้งที่ 7 ในสมัยจักรพรรดิเซวียนจง ปีรัชศกเซวียนเต๋อที่ 6 (ค.ศ. 1431) [5] เจิ้งเหอได้สร้างแผ่นป้ายจารึกสดุดีองค์เจ้าแม่เทียนเฟย ซึ่งแปลว่า พระสนมแห่งท้องนภา ต่อมาเจ้าแม่เทียนเฟยนี้ ได้รับการสถาปนาจากพระจักรพรรดิราชวงศ์ชิงในตำแหน่งพระแม่แห่งสรวงสวรรค์ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเจ้าแม่ทับทิม

เจิ้งเหอเชื่อว่าการเดินทางสมุทรยาตราในทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาได้เป็นไปอย่างราบรื่นปลอดภัยเพราะได้รับการช่วยเหลือจากเทพเจ้าองค์นี้ และมีการบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งเจิ้งเหอในฐานะผู้บัญชาการกองเรือได้เป็นผู้นำในการสักการะขอพรเจ้าแม่เทียนเฟยที่ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาก่อนออกมุ่งหน้าสู่ทะเลตะวันตก [6]

การสักการบูชาเจ้าแม่เทียนเฟยถือเป็นความเชื่อในลัทธิเต๋าที่เจิ้งเหอแสดงออกอย่างเปิดเผยตั้งแต่ตนเองเข้ารับหน้าที่ในการรับสนองพระบรมราชโองการให้จัดกองเรือขนาดใหญ่ออกไปเผยแพร่เกียรติภูมิและความยิ่งใหญ่ของจีนให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง [7]

ทั้งนี้ การที่เจิ้งเหอเคารพบูชาเจ้าแม่เทียนเฟยคงเพราะได้รับแนวคิดความเชื่อดังกล่าวมาจากกลุ่มชาวเรือที่เล่าขานตำนานอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ ผู้เป็นดั่งเทพีแห่งท้องน้ำ และอีกส่วนหนึ่งคงเพราะเจ้าแม่เทียนเฟยได้รับการบูชาจากราชสำนักราชวงศ์ซ่ง สืบต่อกันมาจนถึงราชสำนักราชวงศ์หมิง นั่นยอมแสดงถึงความสำคัญของเจ้าแม่องค์นี้ที่มีมานานหลายศตวรรษ ทั้งในความเชื่อของราชสำนักเองและในส่วนความเชื่อท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้จึงเชื่ออย่างสนิทใจได้ว่า เจิ้งเหอต้องรู้จักเจ้าแม่องค์นี้เป็นอย่างดี ทำให้เจิ้งเหอต้องก้มกราบสักการะต่อเทพเจ้าองค์นี้

นอกจากความเชื่อในลัทธิเต๋าตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว เจิ้งเหอยังมีความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าด้วยเช่นกัน พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยว (ค.ศ. 1335-1418) ฉายาทางธรรมเต้าเหยียน ได้บันทึกไว้ในท้ายเล่มของพระสูตรที่มีชื่อว่า มาริจีโพธิสัตวสูตร [8] เกี่ยวกับการร่วมทำบุญในการจัดพิมพ์พระสูตรดังกล่าวของเจิ้งเหอไว้ดังนี้

ศิษยานุศิษย์ของพระโพธิสัตว์นามเจิ้งเหอ ซึ่งมีฉายาทางธรรมว่า “ฝูซ่าน” ได้ร่วมถวายปัจจัยเพื่อใช้ในการจัดพิมพ์พระสูตรนี้ขึ้น โดยมอบหมายให้กรมกองงานวิศวกรรมเป็นผู้ดูแลจัดพิมพ์ ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ มุ่งประสงค์เพื่อแจกเป็นธรรมทาน บุญที่ได้สร้างในครั้งนี้ยิ่งใหญ่เกินคำบรรยายนัก อาตมาจึงจดบันทึกความปีติยินดีครั้งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ วันที่ 23 เดือน 8 ปีรัชศกหย่งเล่อที่ 9 (ค.ศ. 1403) [9]

อนุสาวรีย์ เจิ้งเหอ
เจิ้งเหอ (Photo by AFP)

การร่วมบุญถวายปัจจัยการจัดพิมพ์พระสูตรในพุทธศาสนาของเจิ้งเหอเป็นการสร้างกุศลก่อนออกเดินทางสมุทรยาตราในครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1405-7) นั่นยอมหมายความว่า เจิ้งเหอศรัทธาในพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งอยู่ในแผ่นดินจีนก่อนแล้ว นอกจากการสนับสนุนการจัดพิมพ์พระสูตรดังกล่าวแล้ว เจิ้งเหอยังเป็นผู้จัดสร้างพิมพ์พระไตรปิฎก เพื่อถวายแด่พระอารามต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 9 พระอาราม [10] ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี (ค.ศ. 1407-29)

……..

พระอารามที่ได้รับมอบพระไตรปิฎกฉบับที่มีเจิ้งเหอเป็นเจ้าภาพในการจัดพิมพ์นั้นกระจายอยู่หลายแห่ง ซึ่งพระอารามในนครนานกิง ได้รับการถวายมากที่สุดถึง 5 พระอาราม และสถานที่อื่น ๆ อีกอย่างละ 1 พระอาราม ความน่าสนใจอยู่ที่การแจกจ่ายพระไตรปิฎกไปยังพระอารามต่าง ๆ นั้น ส่วนหนึ่งจะแจกจ่ายไปยังพระอารามที่อยู่บนเส้นทางการเดินเรือ เช่น พระอารามซานเฟิงถะ (วัดเจดีย์สามองค์) เมืองฉังเล่อ ในมณฑลฮกเกี้ยน และพระอารามจินซาน (วัดภูเขาทอง) เมืองเจิ้นเจียง ในมณฑลเจียงซู เป็นต้น

และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นพระอารามที่อยู่ในเขตเมืองหลวง เช่นที่ พระอารามหวงโฮ่ว (วัดราชินี) ในนครปักกิ่ง รวมถึงพระอารามต่าง ๆ ในนครนานกิง ซึ่งในสมัยต้นราชวงศ์หมิงที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน เป็นไปได้ว่าพระอารามเหล่านี้คงเป็นพระอารามที่เจิ้งเหอมีความคุ้นเคยและผูกพันมาแต่เก่าก่อน เนื่องจากเจิ้งเหอเติบโตในเมืองนานกิง และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่นานที่สุดนั่นเอง

หากแต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ในบันทึกกล่าวไว้ว่า เจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกที่พระอารามอู่หวา (วัดห้าจีน) นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ในปีรัชศกหย่งเล่อที่ 8 (ค.ศ. 1410) ซึ่งในเวลาดังกล่าวนักวิชาการทั่วไปต่างทราบกันดีว่า เจิ้งเหอกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางสมุทรยาตราในครั้งที่ 3 ระหว่างปี ค.ศ. 1409-11 คงเป็นไปไม่ได้ที่เจิ้งเหอเดินทางกลับมายังบ้านเกิดในนครคุนหมิง เพื่อถวายพระไตรปิฎกแก่พระอารามอู่หวา จึงน่าเชื่อได้ว่า เจิ้งเหอได้เตรียมการนี้ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว โดยให้ผู้แทนตนนำไปถวายยังพระอารามดังกล่าวอย่างแน่นอน

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการไปถวายพระไตรปิฎกให้กับวัดวาอารามต่าง ๆ เจิ้งเหออาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถวายด้วยตนเองเสมอไป ซึ่งหยางจวิน ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจี๋หลิน (Jilin University) ยังเชื่อว่า นอกจากเจิ้งเหอไม่ได้นำพระไตรปิฎกไปถวายพระอารามอู่หวา (วัดห้าจีน) ด้วยตนเองแล้ว พระอารามหลิงกู่ (วัดเหวศักดิ์สิทธิ์) ในนครนานกิง กับพระอารามซานเฟิงถะ (วัดเจดีย์สามองค์) ในเมืองฉังเล่อ เจิ้งเหอก็ไม่ได้เดินทางไปถวายด้วยตนเองเช่นกัน [13]

นอกจากนั้นแล้ว ในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีรัชศกเซวียนเต๋อที่ 5 (ค.ศ. 1430) เจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามหวงโฮ่ว (วัดราชินี) ในนครปักกิ่ง และยังนำพระไตรปิฎกไปถวายให้กับพระอารามจีหมิง (วัดไก่ขัน) ในนครนานกิง ในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน นั่นเป็นสิ่งยืนยันว่าการไปถวายพระไตรปิฎกให้พระอารามต่าง ๆ ของเจิ้งเหอนั้น ในบางครั้งคราวต้องมีผู้แทนในการดำเนินการอย่างแน่นอน

ในปี ค.ศ. 1951 มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการถวายพระไตรปิฎกของเจิ้งเหอ ณ พระอารามอู่หวา (วัดห้าจีน) ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ที่ถูกค้นพบในหอสมุดประจำมณฑลยูนนาน กล่าวคือ ขณะที่บรรณารักษ์ห้องสมุดประจำมณฑลยูนนานกำลังรวบรวมและจัดเก็บเอกสารหมวดพระไตรปิฎกโบราณอยู่นั้น ได้พบบันทึกเกี่ยวกับการถวายพระไตรปิฎกที่เจิ้งเหอได้น้อมถวายเป็นพุทธบูชาให้กับพระอารามอู่หวา ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งอยู่ท้ายสามเณรีศีลสูตร เรื่องคำอธิษฐานเกี่ยวกับการอนุโมทนาบุญเพื่อจัดสร้างพระไตรปิฎก ความมีดังนี้

ขุนนางราชสำนักหญิงผู้ศรัทธาในพุทธศาสนานามเจิ้งเหอ ฉายาทางธรรม “ฝูจี๋เสียง” ได้ถวายปัจจัยน้อมบูชาด้วยจิตอันบริสุทธิ์ จัดสร้างพระไตรปิฎกหนึ่งชุด จำนวน 635 เล่ม ถวายให้กับพระอารามอู่หวา เพื่อใช้ในการสืบทอดพระศาสนาต่อไป…ณ วันมงคล เดือน 5 ในปีรัชศกหย่งเล่อที่ 18 (ค.ศ. 1420) [14]

เอกสารที่ค้นพบภายหลังนี้ไม่ตรงกับเอกสารข้างต้น ทั้งวัน-เดือนและปี กล่าวคือ เอกสารชุดแรกเป็นการค้นพบและคัดลอกโดยเติ้งจือเฉิง ในปี ค.ศ. 1947 ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือรวมผลงานของตัวเองในชื่อหนังสือกู๋ต่งสั่วจี้ ที่มีความหมายว่า บันทึกจิปาถะเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โดยเติ้งจือเฉิงบันทึกไว้ว่า เจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามอู่หวา ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีรัชศกหย่งเล่อที่ 8 (ค.ศ. 1410)

ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลใหม่ที่ถูกค้นพบโดยบรรณารักษ์หอสมุดประจำมณฑลยูนนาน ในปี ค.ศ. 1951 ที่จดบันทึกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันมงคล เดือน 5 ในปี รัชศกหย่งเล่อที่ 18 (ค.ศ. 1420) หากนำข้อมูลที่ถูกค้นพบใหม่มาเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการถวายพระไตรปิฎกให้กับวัดวาอารามต่าง ๆ ของเจิ้งเหอ ก็จะพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวกลับตรงกับการถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามที่ 5 กล่าวคือ เป็นช่วงวันเวลาเดียวกันกับการนำพระไตรปิฎกไปถวายให้กับพระอารามจินซาน (วัดภูเขาทอง) ที่เมืองเจิ้นเจียง ในมณฑลเจียงซูนั่นเอง

เรือมหาสมบัติ เป่าฉวน เรือสำเภา
เรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” ขนาด 9 เสากระโดงอันมหึมาของแม่ทัพเจิ้งเหอ แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน)

ทั้งนี้ผู้เขียนขออนุญาตสันนิษฐานว่า เอกสารที่ถูกค้นพบใหม่นั้น น่าจะเป็นข้อมูลที่ทำให้เราทราบว่า เจิ้งเหอเคยนำพระไตรปิฎกไปถวายให้กับพระอารามอู่หวา ในมณฑลยูนนานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 นั่นเอง ต้องเข้าใจว่าพระอารามอู่หวาเป็นพระอารามที่อยู่ในเมืองคุนหมิง ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเจิ้งเหอ และการถวายพระไตรปิฎกซ้ำวัดก็ไม่ผิดหลักศาสนาแต่อย่างไร

นอกจากนั้นแล้วเรายังพบว่า ในการถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามที่ 8 และ 9 ก็เกิดขึ้นในวัน-เดือนและปีเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเหตุผลเพียงพอในการที่จะบอกว่า เจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามอู่หวาทั้งสิ้น 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่งระยะห่างในการถวายพระไตรปิฎกนั้นห่างกันถึง 10 ปี ทั้งนี้ยังมีข้อยืนยันในประเด็นดังกล่าวอยู่ที่ท้ายเล่มอุบาสกศีลสูตร ในบรรพ 7 ที่กล่าวไว้ว่า “ขันที่ราชสำนักหมิงผู้ศรัทธาในพุทธศาสนานามเจิ้งเหอ…ได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกถวายพระอารามต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 10 ชุด” [15]

แต่มีการจดบันทึกชื่อพระอารามต่าง ๆ ไว้เพียง 9 พระอารามเท่านั้น ซึ่งทุกพระอารามจะได้รับมอบพระไตรปิฎกพระอารามละ 1 ชุด ดังนั้น หากข้อสันนิษฐานที่ผู้เขียนได้กล่าวมาถูกต้อง ก็ครบ 10 ชุดตามที่เจิ้งเหอระบุไว้พอดี ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วพระอารามอู่หวาจะเป็นพระอารามเดียว ที่ได้รับพระไตรปิฎกจากเจิ้งเหอจำนวน 2 ชุด

……..

ในส่วนของการถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามอู่หวาในครั้งที่ 2 ที่ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้นั้น ผู้เขียนมองว่าอาจจะเกิดการหลงลืม ไม่ใช่เกิดจากการผิดพลาดในการจดบันทึก ซึ่งต้องเข้าใจว่า ตอนเขียนบันทึกดังกล่าวเจิ้งเหอก็มีอายุได้ 59 ปี (นับตามคติความเชื่อแบบจีนก็จะมีอายุ 60 ปีพอดี) โดยนับจากปีเกิดของเจิ้งเหอจนถึงปีที่มีการบันทึกเกี่ยวกับการถวายพระไตรปิฎกในครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1430…เพราะฉะนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่า เจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามอู่หวา ในนครคุนหมิง จำนวน 2 ครั้งด้วยกันอย่างไม่มีข้อกังขาใด กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 1410 และปี ค.ศ. 1420 ตามลำดับ

……..

เจิ้งเหอมักเลือกวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ในการนำพระไตรปิฎกไปถวายยังพระอารามต่าง ๆ น้อยใหญ่ รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง จากจำนวนทั้งสิ้น 10 ครั้ง เพราะเหตุอันใดเจิ้งเหอจึงต้องเลือกวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ในการทำบุญมหากุศลนี้อย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งในวันดังกล่าวก็ไม่ใช่วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และคงเป็นไปไม่ได้เลยที่หลายพระอารามจากหลายพื้นที่จะจัดงานเฉลิมฉลองพระอารามในวันเดียวกัน และถ้าหากเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องด้วยเพราะเป็นวันเสด็จขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเล่อ เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วก็ควรเปลี่ยนวันเฉลิมฉลองใหม่ แต่เมื่อดูวันเวลาของการถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามต่าง ๆ ในครั้งที่ 7-9 ซึ่งตรงกับสมัยจักรพรรดิเซวียนจง เจิ้งเหอยังคงถวายพระไตรปิฎกในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ตามเดิม

ดังนั้น ควรพิเคราะห์อย่างยิ่งว่า วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญอย่างไร ทำไมเจิ้งเหอถึงได้ให้ความสำคัญกับวันนี้มากที่สุด ทั้งนี้ตามความเชื่อของผู้คนทั่วไปล้วนเชื่อกันว่า วันเวลาที่มีความสำคัญมากที่สุดในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ก็คงเป็นวันคล้ายวันเกิดของคน ๆ นั้น เพราะวันคล้ายวันเกิดถือเป็นวันแห่งการเริ่มต้นของการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ และเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อกันว่าชะตาชีวิตของคน ๆ หนึ่ง จะถูกกำหนดขึ้นจากเวลาตกฟากในวันนี้อีกด้วย จึงเป็นเหตุให้หลายคนมักเข้าวัดทำบุญในวันพิเศษดังกล่าว

หากเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วอาจจะเป็นไปได้ว่า วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ตามปีปฏิทินจีนคงเป็นวันคล้ายวันเกิดของเจิ้งเหอ และการที่เจิ้งเหอเลือกวันดังกล่าวในการทำบุญใหญ่ก็เพราะต้องการทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดนั่นเอง

ผู้เขียนคิดว่าเจิ้งเหออาจมีความเชื่อในเรื่องการทำบุญวันคล้ายวันเกิดอย่างมาก เนื่องจากในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ของปีรัชศกเซวียนเต๋อที่ 5 (ค.ศ. 1430) เจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกให้กับพระอารามหวงโฮ่ว (วัดราชินี) ในนครปักกิ่ง กับพระอารามจีหมิง (วัดไก่ขัน) ในนครนานกิง พร้อมกันถึง 2 พระอาราม ทั้งนี้เพราะว่าในวันดังกล่าวคือ การทำบุญฉลองอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือที่เรียกในภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า วันแซยิดนั่นเอง

ตรงจุดนี้หากย้อนคิดถึงประเด็นการถวายพระไตรปิฎกในปีรัชศกหย่งเล่อที่ 18 (ค.ศ. 1420) ที่ผู้เขียนเสนอว่า เจิ้งเหอถวายให้กับ 2 พระอาราม คือ พระอารามจินซาน กับพระอารามอู่หวานั้นเป็นวันมงคล เดือน 5 ซึ่งวันเวลาดังกล่าวไม่ใช่วันคล้ายวันเกิดของเจิ้งเหอ ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเจิ้งเหอคงหลงลืมได้ง่ายมากกว่า เพราะไม่ใช่เหตุการณ์ในวันคล้ายวันเกิดของตนเอง และที่สำคัญเหตุการณ์การถวายพระไตรปิฎกครั้งนี้ยังไม่ระบุวันถวายอีกด้วย อาจเป็นเพราะหลงลืมก็เป็นได้

ไม่เพียงแต่การทำบุญด้วยการจัดสร้างพระไตรปิฎกแจกวัดวาอารามต่าง ๆ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดแล้ว เจิ้งเหอยังได้เข้าร่วมทำบุญในโอกาสที่ได้เดินทางไปยังศาสนสถานสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา เช่น ในปีรัชศกหย่งเล่อที่ 7 (ค.ศ. 1409) ได้เป็นผู้แทนนำสิ่งของพระราชทานจากจักรพรรดิหมิงไปถวายให้กับพระอารามในศรีลังกา [18] ซึ่งเชื่อว่า เจิ้งเหอในฐานะผู้แทนขององค์จักรพรรดิคงได้ร่วมบุญในครั้งนั้นด้วย เนื่องจากเจิ้งเหอเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสูง ทุกครั้งที่ทำบุญก็มุ่งหวังให้ผลบุญที่ได้สร้างนั้นนำมาซึ่งความสุขความเจริญ ดังปรากฏเป็นตัวอย่างเด่นชัดในคำอธิษฐานเกี่ยวกับการอนุโมทนาบุญเพื่อจัดสร้างพระไตรปิฎก ตอนหนึ่งว่า

ขอให้กุศลแห่งบุญครั้งนี้ ช่วยบันดาลให้ประเทศชาติร่มเย็นเป็นสุข ให้องค์จักรพรรดิทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน พระพุทธคุณแผ่ไพศาล วงล้อแห่งธรรมขับเคลื่อนอย่างปกติสุข ประเทศชาติร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนอยู่ดีกินดี สิ่งเหล่านี้คือความสุขที่มุ่งปรารถนาให้เกิด ทุกครั้งที่ได้รับพระราชโองการให้เดินทางสมุทรยาตรา ผ่านท้องทะเลมหาสมุทรกว้าง มักระลึกถึงคุณแห่งพระไตรรัตน์อยู่เสมอ ๆ [19]

จูหยวนจาง พระเจ้าหมิงไท่จู่
จูหยวนจาง หรือพระเจ้าหมิงไท่จู่

การที่เจิ้งเหอระลึกถึงคุณแห่งพระไตรรัตน์นั้นน่าจะเป็นสิ่งยืนยันถึงการเป็นพุทธมามกะได้บ้าง นอกจากนี้ นักวิชาการจีนยังเชื่อว่าการระลึกถึงคุณแห่งพระไตรรัตน์อยู่เสมอนี้อาจจะเป็นการนำมาซึ่งการตั้งชื่อหรือเรียกขานเจิ้งเหอว่า “ซำปอกง” ก็เป็นได้ [20] และในท้ายที่สุดแล้วร่างของเจิ้งเหอก็ถูกฝังอยู่ในบริเวณพระอารามหนิวโส่ว (วัดหัววัว) นครนานกิง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น

จากเอกสารข้างต้นอาจทำให้สันนิษฐานได้ว่า เจิ้งเหอคือผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยุคต้นราชวงศ์หมิง จักรพรรดิจีนหลายพระองค์ทรงมีความใส่ใจและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยให้มีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งกองงานเพื่อดำเนินการจัดสร้างพระไตรปิฎกขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในพระอารามต่าง ๆ กล่าวคือ ในปีรัชศกหงอู่ที่ 5 (ค.ศ. 1372) จักรพรรดิหมิงไท่จู่ ได้ตั้งกองพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น โดยใช้เวลา 26 ปี (ค.ศ. 1398) จึงจะแล้วเสร็จ

แต่ต่อมาในปีรัชศกหย่งเล่อที่ 6 (ค.ศ. 1408) เกิดเพลิงไหม้พระอารามเจี่ยงซาน ในนครนานกิง ซึ่งเป็นสถานที่ในการแกะบล็อคและจัดพิมพ์ ไฟไหม้ครั้งนั้นทำให้บล็อคพิมพ์ที่แกะสลักจากไม้เสียหายหมดสิ้น [21] จากข้อความที่กล่าวมา ทำให้อาจเชื่อมโยงได้ว่า พระไตรปิฎกที่เจิ้งเหอถวายแด่พระอารามหลิงกู่ (วัดเหวศักดิ์สิทธิ์) ในนครนานกิง คือฉบับหลวงที่ทำขึ้นในจักรพรรดิหมิงไท่จู่ก็เป็นได้ เนื่องจากต้นฉบับหาง่าย บล็อคพิมพ์ก็อยู่ในเมืองหลวง ซึ่งต่อมาจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ได้จัดกองพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา

กล่าวคือในปีหย่งเล่อที่ 10 (ค.ศ. 1412) จัดตั้งกองพิมพ์พระไตรปิฎก โดยใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี (ค.ศ. 1417) จึงแล้วเสร็จ [22] นั่นหมายความว่าหลังปี ค.ศ. 1217 เป็นต้นไป คัมภีร์พระไตรปิฎกที่เจิ้งเหอเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์เพื่อนำไปถวายแด่พระอารามต่าง ๆ น่าจะเป็นฉบับที่จัดทำขึ้นจากบล็อคพิมพ์สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ และพระอารามที่ได้รับพระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นพระอารามแรกก็คือ พระอารามจินซาน (วัดภูเขาทอง) เมืองเจิ้นเจียง มณฑลเจียงซู กับพระอารามอู่หวา (วัดห้าจีน) นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ในปี ค.ศ. 1420

เจิ้งเหอได้เป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับบล็อคพิมพ์สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ หลังจากบล็อคพิมพ์ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 3 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ในปีรัชศกหย่งเล่อที่ 15-17 (ค.ศ. 1417-19) เจิ้งเหอกำลังควบคุมกองเรือมหาสมบัติออกสมุทรยาตราเป็นครั้งที่ 5 อาจเป็นไปได้ว่า ก่อนที่เจิ้งเหอจะออกเดินทางไปสมุทรยาตราครั้งนี้ บล็อคพิมพ์ดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ และเมื่อกลับจากสมุทรยาตราแล้วจึงได้จัดจ้างให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับบล็อคพิมพ์สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อขึ้น เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชายังพระอารามต่าง ๆ

และนี่คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในปี ค.ศ. 1420 เจิ้งเหอได้สั่งให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นจำนวน 2 ชุดด้วยกัน ส่วนช่วงปี ค.ศ. 1408-17 ซึ่งเป็นระยะเวลา 9 ปีที่ยังจัดทำบล็อคพิมพ์สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อไม่แล้วเสร็จ หากแต่ตามบันทึกของเติ้งจือเฉิงในหนังสือกู๋ต่งสั่วจี้กล่าวว่า เจิ้งเหอยังคงถวายพระไตรปิฎกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ. 1410 ได้ถวายแด่พระอารามอู่หวา (วัดห้าจีน) ปี ค.ศ. 1411 ถวายแด่พระอารามเทียนเจี้ย (วัดเขตสวรรค์) และปี ค.ศ. 1415 ถวายแด่พระอารามซานเฟิงถะ (วัดเจดีย์สามองค์) ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ โดยศาสตราจารย์หยางจวินไม่เชื่อว่าเจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกในช่วงเวลาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น [23]

สุสาน เจิ้งเหอ
สุสานเจิ้งเหอ

แต่ในทัศนคติ ส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่า เจิ้งเหอได้ถวายพระไตรปิฎกยังพระอารามต่าง ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน ด้วยเพราะเหตุผลที่ว่า ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เจิ้งเหอต้องเสแสร้งกระทำการต่าง ๆ ที่เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และที่สำคัญการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกก็ไม่จำเป็นจะต้องจัดพิมพ์จำนวนครั้งละ 1 ชุดเท่านั้น นั่นหมายความว่า เจิ้งเหออาจจะสั่งจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งละหลายชุด เพื่อทยอยนำไปถวายยังพระอารามต่าง ๆ ก็เป็นได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า มีหลายพระอารามที่เจิ้งเหอไม่ได้เดินทางไปถวายพระไตรปิฎกด้วยตนเอง หากแต่เป็นการสั่งการให้ผู้แทนนำไปถวาย นั่นย่อมแสดงว่า อาจจะมีการวางแผนการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วนั่นเอง

ผู้ปกครองในยุคต้นราชวงศ์หมิง 2 พระองค์ ได้แก่ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ และจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ล้วนทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทั้งนี้เพราะว่าจักรพรรดิหมิงไท่จู่ทรงเคยออกผนวชเป็นพระสงฆ์ในบวรพุทธศาสนามาก่อนสถาปนาพระองค์เองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ส่วนหมิงเฉิงจู่หรือองค์ชายจูตี้ที่ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิได้นั้น ก็เพราะได้รับความช่วยเหลือจากพระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยว ซึ่งก็เป็นพระสงฆ์ในบวรพุทธศาสนาเช่นกัน ดังนั้น เมื่อทั้ง 2 พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงทรงสนับสนุนและใส่ใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นพิเศษ ทำให้พุทธศาสนาในยุคต้นของราชวงศ์หมิงมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก [24]

พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยวได้รับคัดเลือกเข้าวังในฐานะพระอาจารย์ขององค์ชายจูตี้มาตั้งแต่ปีรัชศกหงอู่ที่ 15 (ค.ศ. 1382) ซึ่งตอนนั้นองค์ชายจูตี้มีพระชนมายุได้ 22 พรรษา ส่วนพระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยวตอนนั้นมีอายุ 47 ปี การที่พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยวได้มีโอกาสเข้าวังรับใช้ จึงทำให้ทั้งสองได้ใกล้ชิดกันมาก และเมื่อองค์ชายจูตี้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้ว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยวเข้าดำรงตำแหน่งขุนนางนอกประจำการที่ “จือซั่นต้าฟู” ผู้ทำหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาข้อราชการ และที่สำคัญยังทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ขององค์ชายอีกด้วย ในยศตำแหน่งที่ “ไท่จื่อเซ่าซือ” [25] จะเห็นได้ว่า พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยวมีบทบาทในราชสำนักอย่างสูง

เจิ้งเหอใช้ชีวิตในวังตั้งแต่ยังเยาว์ โดยถูกคัดเลือกเข้าวังรับใช้องค์ชายจูตี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1383 ซึ่งตอนนั้น เจิ้งเหอมีอายุเพียง 12 ปี หากดูจากปีที่เจิ้งเหอเข้าวังรับใช้องค์ชายจูตี้ กับช่วงเวลาที่พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยวเข้าวัง จะพบว่าห่างกันเพียง 1 ปี กล่าวคือ พระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยวเข้าวังในฐานะพระอาจารย์ขององค์ชายจูตี้ก่อนเจิ้งเหอเพียง 1 ปี จึงสันนิษฐานได้ว่าทั้งองค์ชายจูตี้ ขันทีเจิ้งเหอ และพระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยว น่าจะเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดสนิทกันอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เจิ้งเหอได้ซึมซับและได้ศึกษาพระพุทธศาสนาตามแบบฉบับวังหลวงกับพระอาจารย์เหยาก่วงเซี่ยว จนกระทั่งได้รับฉายาทางธรรมว่า “สุนนฺท” หรือในภาษาจีนคือ “ฝูจี๋เสียง” ดังที่ปรากฏอยู่ในท้ายเล่มอุบาสกศีลสูตร [26] หลักฐานเหล่านี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เจิ้งเหอมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน

เมื่อองค์จักรพรรดิทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยเฉพาะในการสร้างมหากุศลด้วยการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกให้กับพระอารามต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขุนนางน้อยใหญ่ต่างดำเนินรอยตามพระองค์ ซึ่งเจิ้งเหอก็น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินรอยตามพระจริยวัตรแห่งองค์จักรพรรดิด้วยเช่นเดียวกัน

สรุป

แม้ว่าเจิ้งเหอจะถือกำเนิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดสร้างพระไตรปิฎกเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอย่างต่อเนื่อง โดยนำพระไตรปิฎกที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดสร้างนั้นไปถวายยังพระอารามต่าง ๆ มากกว่า 10 ครั้ง จำนวนทั้งสิ้น 9 พระอารามด้วยกัน ซึ่งพระอารามอู่หวา (วัดห้าจีน) ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เป็นพระอารามเดียวที่ได้พระไตรปิฎกจากเจิ้งเหอจำนวน 2 ชุด ทั้งนี้คงเพราะพระอารามดังกล่าวตั้งอยู่ในถิ่นฐานดั้งเดิมของเจิ้งเหอก็เป็นได้ จึงมีความผูกพันมากเป็นพิเศษ

การนำพระไตรปิฎกไปถวายพระอารามต่าง ๆ เจิ้งเหอ ไม่ได้ไปด้วยตนเองทุกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่คงให้ผู้แทนนำไปถวาย ส่วนสาเหตุของการนำพระไตรปิฎกไปถวายให้กับพระอารามต่างๆ นั้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของเจิ้งเหอเอง ซึ่งก็คือในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ตามปีปฏิทินจีน

และสาเหตุที่ทำให้เจิ้งเหอเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานั้น ก็เพราะได้รับอิทธิพลจากการส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาขององค์จักรพรรดิหมิงไท่จู่ และองค์จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของเจิ้งเหอ” เขียนโดย สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2557, ทั้งนี้ในบทความที่คัดลอกมานี้ได้ละตัวสะกดภาษาจีน โปรดดูเพิ่มเติมในนิตยสาร



เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2564