แผนที่โบราณของจีน หลักฐานยืนยัน “เจิ้งเหอ” พบ “อเมริกา” ก่อนโคลัมบัส!?

แผนที่โบราณของจีน แผนที่ จากยุค เจิ้งเหอ
แผนที่ในความครอบครองของนักสะสมชาวจีน ซึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากต้นฉบับที่เขียนขึ้นในยุคของ "เจิ้งเหอ"

แผนที่โบราณของจีน หลักฐานยืนยันร่องรอย “เจิ้งเหอ” เป็นอีกคนที่เดินทางมาพบดินแดนโลกใหม่ ก่อนหน้า “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” !?

โคลัมบัส นักสำรวจคนแรกที่ค้นพบทวีปอเมริกา (?) 

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาลี ผู้ได้รับการสนับสนุนให้ออกเดินเรือสำรวจจากราชสำนักสเปน ได้เดินทางถึงดินแดนหมู่เกาะบาฮามาส (โดยเข้าใจไปว่านั่นคือญี่ปุ่น) ก่อนพบคิวบา (ซึ่งเขาก็เข้าใจผิดอีกว่าเป็นแผ่นดินจีน) ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสำรวจ (จากโลกเก่า) คนแรกที่ค้นพบทวีปอเมริกา

แต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปดังกล่าว ด้วยเชื่อว่ามีนักเดินทางจากโลกเก่าคนอื่นอีกมากมายที่เคยเดินทางมาถึงทวีปอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัส เช่น ชาวนอร์ส (Norse, ชื่อเรียกชาวสแกนดิเนเวียในยุคกลาง หรือพวกไวกิ้ง) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันการตั้งถิ่นฐานของพวกเขาเมื่อกว่าพันปีก่อน ในดินแดนที่เป็นประเทศแคนาดาในปัจจุบัน

และบางส่วนก็อ้างว่า นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่จากดินแดนตะวันออกไกลอย่าง “เจิ้งเหอ” ก็เป็นอีกคนที่เดินทางมาพบดินแดนโลกใหม่ ก่อนหน้าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส?!

อนุสาวรีย์ เจิ้งเหอ ใน มะละกา (Marcin Konsek, via Wikimedia Commons)
อนุสาวรีย์เจิ้งเหอในมะละกา (Marcin Konsek, via Wikimedia Commons)

เจิ้งเหอ เจอทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส?

“เจิ้งเหอ” เป็นแม่ทัพขันทีมุสลิมแห่งราชวงศ์หมิง ผู้นำกองเรือมหาสมบัติออกสำรวจทะเลด้านตะวันตกของประเทศจีน เมื่อต้นศตวรรษที่ 15 (ออกเดินเรือครั้งแรกใน ค.ศ. 1405 หรือ พ.ศ. 1948) เขาเป็นบุคคลสำคัญที่ถูก “ทำให้ลืม” ไปหลายศตวรรษ เนื่องจากชนชั้นนำจีนยุคถัดมาไม่ได้เห็นชอบกับนโยบายประกาศศักดาทางทะเลของจักรพรรดิหยงเล่อเท่าใดนัก ล่วงเข้าศตวรรษที่ 19 จึงได้มีการรื้อฟื้นวีรกรรมของเขา พร้อมกับการปลุกกระแสชาตินิยมของจีน [1]

นักประวัติศาสตร์กระแสหลักยอมรับว่า เจิ้งเหอคือผู้นำกองเรือมหาสมบัติล่องเรือไปไกลถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา เกือบถึงช่องแคบโมซัมบิก [2] ซึ่งการเดินเรือครั้งนั้นช่วยยกระดับอิทธิพลทางทะเลของจีนอย่างมาก ช่วยฟื้นฟูระบบบรรณาการ และการค้าของจีนให้กลับมามั่งคั่งและมั่นคง ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และนวัตกรรมใหม่ๆ     

เพียงเท่านั้นก็นับได้ว่า เจิ้งเหอถือเป็นนักเดินทางที่ยิ่งใหญ่ ยากที่จะหาใครเทียบได้ในยุคเดียวกัน แต่ กาวิน เมนซีส์ (Gavin Menzies) อดีตผู้บังคับบัญชาเรือดำน้ำแห่งราชนาวีอังกฤษ ดูจะต้องการทำให้เจิ้งเหอมีชื่อเสียงยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ด้วยการออกมาอ้างว่า เจิ้งเหอคือผู้ที่เดินทางไปพบทวีปอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัส ในหนังสือของเขาซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2002

เมนซีส์ อ้างว่า ในการเดินทางครั้งที่ 6 ของเจิ้งเหอ [3] (ค.ศ. 1421-1423) เขาได้เดินทางไปจนถึงดินแดนละตินอเมริกา ทะเลแคริบเบียน และทวีปออสเตรเลีย และเขายังเชื่อว่านักสำรวจคนสำคัญอย่าง โคลัมบัส, เฟอร์ดินันด์ แมกเจลเลน (Ferdinand Magellan นักสำรวจชาวโปรตุเกส ผู้ “เกือบ” เดินทางรอบโลกสำเร็จเป็นคนแรก แต่ถูกคนพื้นเมืองฆ่าตายซะก่อน ลูกเรือของเขาเลยได้เครดิตไปแทน) และเจมส์ คุก (James Cook ทหารเรืออังกฤษผู้สำรวจทวีปออสเตรเลีย) ต่างก็มีแผนที่เตรียมพร้อมก่อนออกเดินทาง ซึ่งแผนที่เหล่านั้นมีต้นแบบมาจาก “แผนที่ของจีน” นั่นเอง

ข้อเสนอของเมนซีส์ ไม่ได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์กระแสหลักที่มองว่าข้อเสนอของเขาเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ความผิดพลาดในระเบียบวิธีวิจัย และขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะหลักฐานขั้นปฐมภูมิ เช่น หลุยส์ ลีวาเธส (Louise Levathes) ที่กล่าวว่า เมนซีส์ ไม่รู้ภาษาจีน จึงเจตนาละเลยหลักฐานภาษาจีนที่รอดพ้นจากการถูกทำลาย ทั้งประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง (Ming Shi) และจดหมายเหตุรายวันราชวงศ์หมิง (Ming Shi Lu) ซึ่งบันทึกรายละเอียดการเดินทางของเจิ้งเหอ และกองเรือมหาสมบัติเอาไว้ แต่กลับมิได้กล่าวถึงทวีปอเมริกาแม้แต่น้อย

แต่ เมนซีส์ ก็มิได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ในปี 2006 หลิว กัง (Liu Gang) นักกฎหมายและนักสะสมแผนที่และภาพวาดชาวจีน ได้ออกมาเผยภาพแผนที่ (ที่อ้างว่า) ทำขึ้นในปี 1763 โดยคัดลอกมาจากแผนที่ดั้งเดิมที่ทำขึ้นในปี “1418” ร่วมสมัยกับยุคของเจิ้งเหอ ซึ่งเขาอ้างว่าได้ซื้อมาจากนายหน้าท้องถิ่นด้วยราคาราว 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2001 และได้ผ่านการตรวจสอบอายุด้วยค่ารังสีคาร์บอนจากห้องวิจัยในนิวซีแลนด์ ยืนยันว่าแผนที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี

แผนที่ฉบับนี้แสดงรายละเอียดของทวีปต่างๆ ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงอย่างน่าทึ่ง รายงานของ The Economist [4] ระบุว่า คำบรรยายประกอบแผนที่ได้พรรณาถึงชนพื้นเมืองฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาไว้ว่า “ผิวของชนในดินแดนนี้เป็นสีดำ-แดง [และพวกเขายัง] สวมขนนกไว้รอบหัวและเอว” และกล่าวถึงชนพื้นเมืองออสเตรเลียว่า “ผิวของคนพื้นเมืองที่นี่ก็เป็นสีดำ พวกเขาทั้งหมดต่างเปลือยกายและห้อยเศษกระดูกไว้รอบเอว”

ารปรากฏขึ้นมาของแผนที่ดังกล่าว กลายเป็นหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีของเมนซีส์ว่า เจิ้งเหอไปพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส (แม้เขาจะบอกตอนแรกว่า เจิ้งเหอไปพบอเมริกาในการเดินทางครั้งที่ 6 ซึ่งต้องเป็นระยะเวลาหลังปี 1421 ไปแล้ว แต่แผนที่ดังกล่าวอ้างว่าคัดลอกมาจากแผนที่ที่ทำขึ้นในปี 1418)

เมนซีส์และผู้ที่เชื่อในทฤษฎีของเขา ต่างออกมายืนยันว่าแผนที่ที่ทำขึ้นในปี 1763 นี้เป็นของจริง และเป็นแผนที่ที่ถ่ายทอดข้อมูลจากแผนที่ต้นฉบับปี 1418 อย่างครบถ้วน (ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีใครเคยเห็นแผนที่ต้นฉบับมาก่อน)

แผนที่ของ อัลเบอร์ติน เดอเวอร์กา
แผนที่ของ อัลเบอร์ติน เดอเวอร์กา

เขาพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการเอาแผนที่ฉบับนี้ไปเทียบกับแผนที่ของ อัลเบอร์ติน เดอเวอร์กา (Albertin de Virga นักวาดแผนที่ชาวโปรตุเกส) เมนซีส์ อ้างว่า เดอเวอร์กา เขียนแผนที่โลกฉบับนี้ขึ้นในปี 1419 โดยมีรายละเอียดของทวีปเอเชียและแอฟริกาที่ครบถ้วน และใกล้เคียงกับแผนที่ฉบับ 1418 อย่างยิ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่า น่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และสรุปว่า นักเขียนแผนที่ชาวโปรตุเกสจะต้องคัดลอกแบบมาจากแผนที่ของ “เจิ้งเหอ” เป็นแน่! [5]

แต่แผนที่ที่ถูกนำมาอ้างฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่หันมาเห็นด้วยกับทฤษฎีของเมนซีส์ (ที่ส่วนใหญ่มักอ้างหลักฐานด้วยการเทียบเคียงแผนที่ฉบับต่างๆ แล้วสรุปเอาเองว่าเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ โดยไม่มีหลักฐานชั้นต้นยืนยัน) และไม่เชื่อว่าแผนที่ฉบับ 1418 มีอยู่จริง (อย่าลืมว่า ฉบับที่หลิวพบเป็นฉบับที่อ้างว่าทำขึ้นในปี 1763 โดย “อ้างว่า” คัดลอกมาจากแผนที่ฉบับปี 1418 อีกที)

จอห์น เฮเบิร์ต (John Hebert) ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ จากแผนกภูมิศาสตร์และแผนที่ของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า แผนที่ที่มีการอ้างกันว่าคัดลอกมาจากแผนที่ปี 1418 มีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับแผนที่ทั่วไปที่ทำขึ้นในยุคราชวงศ์หมิง

“ถ้านี่เป็นแผนที่ในปี 1418 มันก็เป็นแผนที่ที่ต่างจากแผนที่ที่ทำในปี 1418 ที่ผมเคยพบเคยเห็นมา” [6]

จุดสำคัญที่ทำให้ เฮเบิร์ต มองว่าแผนที่ฉบับนี้มีพิรุธ คือการที่มันมิได้วางดินแดนจีนไว้ที่จุดศูนย์กลางของแผนที่ ซึ่งขัดต่อลักษณะของแผนที่โลกในยุคเดียวกัน

“ผมไม่เคยเห็นชาติใดยุคไหน ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือไม่ ที่จะไม่จัดทำแผนที่โดยวางดินแดนของตนเองไว้ที่จุดศูนย์กลาง”

เฮเบิร์ตยังกล่าวว่า การที่แผนที่ฉบับนี้วาดภาพให้พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นรัฐแคลิฟอร์เนียมีลักษณะ “เป็นเกาะ” แยกจากตัวทวีปยังไปคล้ายกับแผนที่โลกของฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 17

ดังนั้น หากแผนที่ฉบับนี้เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นในศตวรรษที่ 18 จริงๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่มันจะได้แบบมาจากแผนที่โลกของฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในศตวรรษก่อนหน้า มากกว่าจะได้แบบมาจากแผนที่ปี 1418 ที่ไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อน

แผนที่โบราณของจีน แผนที่
แผนที่ในความครอบครองของนักสะสมชาวจีน ซึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากต้นฉบับที่เขียนขึ้นในยุคของ “เจิ้งเหอ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

[1] “เจิ้งเหอ ซำปอกง และอุษาคเนย์” โดย พีรยา มหากิตติคุณ, วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 9.

[2] “Zheng He”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 13 Oct. 2016. <https://global.britannica.com/biography/Zheng-He>.

[3] “Gavin Menzies: mad as a snake – or a visionary?”. The Telegraph. <http://www.telegraph.co.uk/culture/books/3557568/Gavin-Menzies-mad-as-a-snake-or-a-visionary.html>

[4] “China beat Columbus to it, perhaps”. The Economist. <http://www.economist.com/node/5381851>

[5] “18 Albertin di Virga’s map and Zheng He’s 1418 map”. Gavin Menzies. <http://www.gavinmenzies.net/Evidence/18-albertin-di-virgas-map-and-zheng-hes-1418-map/>

[6] “‘Chinese Columbus’ Map Likely Fake, Experts Say”. National Geographic. <http://news.nationalgeographic.com/news/2006/01/0123_060123_chinese_map.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2560