กองเรือเจิ้งเหอถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น “การทูตเรือปืน”

เรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” ขนาด 9 เสากระโดงอันมหึมาของแม่ทัพเจิ้งเหอ แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน)

กองเรือเจิ้งเหอถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น “การทูตเรือปืน” ทุกครั้งมีทหารนับหมื่นนายร่วมเดินทาง และหลายกรณีใช้กำลังทหารเข้าจัดการชุมนุมเมืองต่างๆ

ขณะที่นักวิชาการและนักเขียนส่วนหนึ่งมักพูดถึงกองเรือของเจิ้งเหอ-ขันทีจีน สมัยราชวงศ์หมิง ผู้คุมกองเรือจีนเดินทางมาตลอดคาบสมุทรอุษาคเนย์ ในศตวรรษที่ 15 ว่าเป็นทูตแห่งมิตรภาพ

เจฟ เวด (Geoff Wade) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กลับเห็นต่างออกไป

หุ่นขี้ผึ้งเจิ้งเหอในพิพิธภัณฑ์ทางทะเลกวนโจว (ภาพจากwikipedia.org)

เวดเสนอว่า “การเดินทางสำรวจคาบสมุทรทางทิศตะวันตก” ของเจิ้งเหอ เป็นส่วนหนึ่งของการแผ่อำนาจของจีนลงไปยังทิศใต้ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ.1403-24)  ที่พยายามใช้กำลังเพื่อสร้าง “ความสันติราบคาบภายใต้ราชวงศ์หมิง” (pax Ming) ในอาณาบริเวณทางทะเลของเอเชีย โดยมีมะละกา, ปาเลมบัง, และสมุทรา เป็นจุดสำคัญของยุทธศาสตร์

ก่อนที่จะกล่าวถึงการเดินทางทะเลของเจิ้งเหอ คงต้องทำความเข้าใจกับบริบททางสังคมขณะนั้น เมื่อแสนยานุภาพทางทหารของจักรพรรดิหยงเล่อ แผ่ลงทางด้านใต้และไม่ได้หยุดแค่ที่หนางจิง แต่ความต้องการของจักรพรรดิหยงเล่อ คือ ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะมีแผ่นดินต่อไป และตั้งจุดหมายไว้ 3 ข้อด้วยกัน

1.การยึดครองชุมชนการเมืองชาวไตในหยุนหนาน ตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิจูหยวนจาง และปฏิบัติการที่เข้มแข็งขึ้นในรัชกาลหยงเล่อ 2.การส่งทหารจีนเข้ารุกรานไดเวียด (หรือเวียดนาม) ตั้งแต่ ค.ศ. 1406  3.การเดินทางของเจิ้งเหอและต้น เค้าของการล่าอาณานิคมภาคพื้นทะเลในสมัยราชวงซ์หมิง

ลักษณะการเดินเรือสมัยจักรพรรดิหยงเล่อต่างไปจากรัชกาลก่อนๆ ตรงที่ผู้บัญชาการเรือล้วนเป็นขันที และ “ตัวแทนพระองค์” จุดประสงค์ของการปฏิบัติการเช่นเดียวกับการส่งทัพเข้าสู่ หยุนหยานและไดเวียด เพื่อรวบรวมความมั่งคั่งทั้งหลายเข้าสู่ราชสำนักจีน

เพื่อให้บรรลุต่อจุดประสงค์เหล่านี้ การต่อเรือเริ่มต้นขึ้นทันทีที่จักรพรรดิหยงเล่อขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1403 กองบัญชาการทหารประจำมณฑลฝูเจี้ยน ได้รับบัญชาให้ต่อเรือเดินสมุทร 137 ลำ ขณะที่หน่วยงานทหารอื่นๆ ได้รับคำบัญชาให้สร้างเรือหลายขนาดขึ้นเป็นจำนวน 400 ลำ ถึง ค.ศ.1405 หลังจากที่เจิ้งเหอออกเรือครั้งแรก เจ๋อเจียง (Zhe- jiang) และหน่วยทหารประจำหลายมณฑลได้รับคำสั่งให้ต่อเรือเดินสมุทรอีก 1,180 ลำทันที

เส้นทางเดินเรือของเจิ้งเหอ (ภาพจาก wikipidea.org)

การออกเดินเรือแต่ละครั้งจะมีเรือร่วมขบวนจำนวน 5-250 ลำ กองเรือออกเดินทางแต่ละครั้งใช้เวลาหลายปี ส่วนจำนวนคนในกองเรือแต่ละครั้งนั้น มีจำนวนแตกต่างกัน หากเป็นการปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่สุด ก็มีจำนวนพล 27,000-30,000 คน ในระบบปฏิบัติการพื้นฐานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ชั้นสูงที่เป็นทูตานุทูตหลายระดับจํานวน 100 นาย ผู้บัญชาการทหารชั้นสูง 93 นาย ผู้กอง 104 นาย และรองผู้กองอีก 104 นาย นอกไปจากนี้ก็จะมีบุคลากรทางการแพทย์ และนักดาราศาสตร์อีกจํานวนหนึ่ง

พงศาวดารหมิงสื่อลู่ประจําปี 1427 ระบุจํานวนทหารชํานาญรบ 10,000 นาย ถูกส่งออกไปกับการเดินทางทางทะเลในคาบสมุทรด้านตะวันตก และยังมีนัยชี้ให้เห็นว่า บุคลากรในกองเรือนี้โดยสัดส่วนแล้วเป็นทหารเสียส่วนใหญ่ อีกทั้งน่าจะติดอาวุธปืนไฟที่ดี และก้าวหน้าที่สุดในโลกขณะนั้น

เพื่ออํานวยความสะดวกต่อการเดินเรือได้ตลอดทั่วทั้งมหาสมุทรอินเดียจนถึงทวีปอาฟริกา จึงมีความจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้งฐานอันมั่นคง ตลอดบริเวณที่ปัจจุบันคือภูมิภาคอุษาคเนย์ จุดแวะพัก (กวนฉาง guan-chang) อันจะประกอบด้วยคลังสมบัติ (สินค้า) ที่มีทหารประจํายามถูกจัดตั้งขึ้นที่เมืองมะละกาและส่วนปลายสุดของช่องแคบมะละกาใกล้ๆ กับชุมชนการเมืองสมุทรา (Samudera) บนฝั่งด้านสุมาตรา

แสนยานุภาพดังที่กล่าวนั้น ย่อมมีบทบาทสําคัญกระตุ้นให้บรรดาผู้ปกครองต่างถิ่นเหล่านี้พากันวิ่งเข้าไปหาจีน อย่างไรก็ตามมีอยู่บางกรณีที่การปรากฏตัวของกองทหารจีน ก็ยังไม่ได้ผลและทําให้ต้องมีการใช้ความรุนแรงอย่างแท้จริง ดังกรณีที่เจิ้งเหอได้ สังให้มีปฏิบัติการทางทหารดังต่อไปนี้

การโจมตีท่าเรือเก่าในสุมาตราเมื่อ ค.ศ. 1407 เจิ้งเหอเดินทางกลับจากปฏิบัติการทางทะเลครั้งแรก และนําเอา “โจรสลัด” ชื่อเฉินซูยี (Chen Zu-yi) ซึ่งถูกจับได้ที่ “ท่าเรือเก่า” (Old Port) เหล่าโจรถูกฆ่าตายไป 5,000 คน เรือ 10 ลําถูกเผาทําลาย และแต่งตั้งผู้ดูแลความสงบมีฐานะเป็นผู้ปกครองท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของราชวงศ์หมิงของจีน

เหตุอันรุนแรงในชวา เมื่อ ค.ศ. 1407 กองเรือของเจิ้งเหอขึ้นฝั่งที่ชวา และปะทะกันอย่างรุนแรง กับกองกําลังท้องถิ่น ทําให้ทหารจีน ตายไป 170 คน กองกําลังท้องถิ่น บันทึกของฝ่ายจีนกล่าวว่า ทหารของจีน “ได้ขึ้นฝั่ง เพื่อทําการค้า” “ณ ที่ที่กษัตริย์ตะวันออกทรงปกครอง” จีนโต้ตอบโดยเรียกร้องให้กษัตริย์ชวาตะวันตกชดเชย “จะต้องจ่ายทองจํานวน 60,000 เหลียง (liang) เพื่อชดเชยต่อชีวิตเหล่านั้น และต่ออาชญากรรมที่ท่านได้ก่อขึ้น หากละเว้นที่ไม่กระทําตามนี้ (จีน)ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องส่งกองกําลังทหารเข้าลงโทษต่ออาชญากรรม ของท่านดังตัวอย่างที่ปรากฏมาแล้วในกรณีของอันนัม”

การกดดันข่มขู่พม่าใน ค.ศ. 1400 จักรพรรดิหยงเล่อค่อนข้างกังวลต่อชุมชนการเมืองมู่ปาง (แสนหวี) ขณะเดียวกับที่ต้องแข่งกับอังวะ (พม่า) เพื่อจะมีอิทธิพลเหนือหยุนหนาน ทรงไม่พอพระทัยเจ้าครองนครอังวะที่ชื่อ Nallou-la ว่าฮึกเหิมเกินตัว และกระทําการอย่างผิดพลาด หากผู้นำอังวะไม่เปลี่ยนแปลงท่าที พระองค์จะสั่งให้กองทหารเข้าโจมตีทางทะเลและทางบก ในกรณีนี้ ทําให้เห็นธาตุแท้ของการเดินทางทะเลของจีนที่มีลักษณะทางทหารและการข่มขวัญ สร้าง แรงกดดันโดยแท้

การโจมตีศรีลังกาใน ค.ศ. 1411 แสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้ของกองเรือจีน เมื่อเจิ้งเหอบุกเข้าวังหลวงจับเจ้าครองนครของศรีลังกานําตัวกลับไปยังราชสํานักจีนที่หนางจิง

โจมตีและจับกุมซู-กาน-ลา (Su-Garn-La) “หัวหน้าโจรแห่งสมุทรา” ถูกจับที่สุมาตรา และนําตัวไปจีนโดยเจิ้งเหอ เมื่อ กองทัพของเจิ้งเหอเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในสงครามภายในของเมืองทางตอนเหนือของสุมาตรา โดยเข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อจีนทําการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม

นั้นคือตัวอย่างบางส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า กองกําลังทางเรือของจีนที่ส่งออกไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 นั้น มุ่งหมายที่จะให้ชุมชนการเมืองตลอดย่านน้ำ ยอมรับในฐานะอันเหนือกว่าของจีนภายใต้ราชวงศ์หมิง

การใช้กําลังทําให้บรรลุถึงเจตจํานงของภารกิจนี้ คือการเข้าควบคุมเมืองท่าและเส้นทางในการเดินเรือต่างๆ เป็นการควบคุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจเหนือจุดตัดเชิงพื้นที่ เป็นการเข้าควบคุมจุดเชื่อมโยง และเครือข่ายต่างๆ โดยอาศัยการ เข้าคุมท่าเรือและเส้นทางการค้า ซึ่งเป็นเงื่อนไขสําคัญที่สุดในการรวบรวมความมั่งคั่ง (เข้าสู่ประเทศจีน) การปฏิบัติการทางเรือของจีนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ต้นแบบของการล่าอาณานิคมภาคพื้นทะเล” ชุมชนการเมืองชายทะเลสําคัญๆ ทั้งหลาย ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทาง และเครือข่ายการค้าทางทะเลระหว่างตะวันออกและตะวันตก และคาบสมุทรต่างๆ ได้ถูกเข้าควบคุมโดยจีน ทําให้จีนได้รับผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย

การเดินเรือของเจิ้งเหอที่กล่าวมาข้างอาจสรุปได้ว่าไม่ต่างจากการล่าอาณานิคมทางภาคพื้นทะเลที่ของโปรตุเกสในศตวรรษที่ 15 และ 16 นัก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เจฟ เวด เขียน. (ทรงยศ แววหงษ์ แปล) “เจิ้งเหอกับการทูตแบบสันถวไมตรีหรือเพื่อกดขี่บีทา”, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง 30 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์ 25 พฤศจิกายน 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2561