ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“เจิ้งเหอ” เป็นขันทีมุสลิมแห่งราชวงศ์หมิง ประวัติศาสตร์จีนจารึกความยิ่งใหญ่ไว้ว่า เป็นบุคคลที่นำ “กองเรือมหาสมบัติ” ของจีนออกสำรวจท้องทะเลใต้และตะวันตกถึง 7 ครั้ง สมุทรยาตราไปยังกว่า 30 ดินแดน ภายในระยะเวลา 28 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1405-1433 เผยแผ่อิทธิพลและอำนาจของจีนให้โลกได้รับรู้ พร้อมนำสินค้าและสิ่งของล้ำค่าจากดินแดนต่างๆ ที่เดินทางไปถึงกลับสู่จีน กองเรืออันเกรียงไกรนี้ ประกอบด้วยเรืออะไรบ้าง?

กองเรือมหาสมบัติสุดยิ่งใหญ่
ปริวัฒน์ จันทร เล่าไว้ในหนังสือ “เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที (ซำปอกง)” โดยอิงจากบันทึกของหลอเหมาเติ้ง ในหนังสือเรื่อง “บันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า” (San Bao Tai Jian Xi Yang Tong Su Yan Yi) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ว่า กองเรือมหาสมบัติ ประกอบด้วยกองเรือ 5 ชนิด ได้แก่
เรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” 9 เสากระโดง ความยาวประมาณ 400 ฟุต กว้าง 160 ฟุต จำนวน 4 ลำ
ความยาวของเรือเป่าฉวนอิงกับสัญลักษณ์แห่งความมงคล คือ 444 หมายถึงมีความยาว 44 จั้ง 4 ฉื่อ (1 จั้ง เท่ากับ 10 ฉื่อ ซึ่งฉื่อนี้หมายถึงฟุต ฟุตของจีนที่ใช้ต่อเรือขณะนั้นอยู่ที่ 10.5-11 นิ้วฟุต เรือเป่าฉวนจึงมีความยาว 388-407 ฟุตในปัจจุบัน)
ตัวเลข 444 ยังมีอีก 3 นัย นัยแรก คือ บนพื้นพิภพมี 4 ทิศ ที่กองเรือต้องยาตราไป นัยที่ 2 หมายถึงจีนเป็นศูนย์กลางของโลก ห้อมล้อมไปด้วยมหาสมุทรทั้ง 4 ที่กองเรือต้องยาตราไป และนัยสุดท้าย หมายถึงคุณธรรม 4 ประการของขงจื๊อ ได้แก่ ความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ความชอบธรรม และความถ่อมตน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่คุ้มครองกองเรือให้ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
รองลงมา คือ เรือบรรทุกม้า หรือ “หม่าฉวน” มี 8 เสากระโดง ความยาวราว 339 ฟุต กว้าง 138 ฟุต เป็นพาหนะสำคัญในการขนสินค้าจากเรือไปสู่เมืองท่าต่างๆ ขณะเดียวกันก็บรรทุกเครื่องราชบรรณาการและสินค้าท้องถิ่นในดินแดนที่ไปเยือนไว้ในเรือ
เรือบรรทุกเสบียง เรียกว่า “เหลียงฉวน” มี 7 เสากระโดง ความยาว 257 ฟุต กว้าง 115 ฟุต เป็นเรือบรรทุกคนและสัตว์พาหนะ รวมกันแล้วกว่า 30,000 ชีวิตต่อการเดินทางแต่ละครั้ง
เรือบรรทุกกำลังพล หรือ “จว้อฉวน” มี 6 เสากระโดง ความยาว 220 ฟุต กว้าง 83 ฟุต มีจำนวนมากสุดในกองเรือ
กองเรือรบผู้พิทักษ์ หรือ “จั้นฉวน” มี 5 เสากระโดง ความยาว 165 ฟุต กว้าง 120 ฟุต เป็นเรือที่ใช้คุ้มครองพิทักษ์และข่มขวัญเรือโจรสลัด ที่มีอยู่ในทั่วทุกย่านน้ำ

เจิ้งเหอจัดกระบวนเรืออย่างไร?
การจัดกระบวนเรือเพื่อให้พร้อมสำหรับการสมุทรยาตราเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าจัดไม่ดีก็อาจส่งผลต่อการเดินเรือและความปลอดภัยได้
ปริวัฒน์ระบุว่า เจิ้งเหอออกแบบและบัญชาการกองเรือให้เคลื่อนตัวมุ่งไปข้างหน้า ในลักษณะคล้ายรูปนกนางแอ่นเหินลม
กระบวนเรือจัดแบ่งเป็นกองหน้า มีเรือรบนำหน้า ขนาบด้วยเรือเสบียงและเรือบรรทุกกำลังพล เปรียบเสมือนหัวนก
ปีกขวาและปีกซ้ายเป็นกองเรือรบ เปรียบได้กับปีกทั้งคู่ของนกนางแอ่น
ตอนกลางของกระบวนเรือจะมีเรือเสบียงขนาบด้วยเรือบรรทุกกำลังพล คุ้มครองเรือมหาสมบัติที่อยู่กลางลำตัวนก
ปิดท้ายด้วยกองเรือรบระวังหลัง ดั่งหางของนกนางแอ่นที่เล็กและแหลมเรียว
เรือแต่ละลำในกองเรือของเจิ้งเหอนี้ไม่ธรรมดา เพราะทุกส่วนประกอบของเรือใช้ไม้และวัสดุที่ทนทานมากที่สุด เพื่อให้สามารถทนทานต่อลมแรง พายุ รวมทั้งแรงกระแทกต่างๆ หากต้องชนหินโสโครกหรือแนวปะการัง ที่พบได้ทั่วไปในมหาสมุทร
เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญส่งให้กองเรือของเจิ้งเหอเป็นหนึ่งในกองเรืออันยิ่งใหญ่ของโลก ที่ได้รับการกล่าวขานมาถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- แผนที่โบราณของจีน หลักฐานยืนยัน “เจิ้งเหอ” พบ “อเมริกา” ก่อนโคลัมบัส!?
- กองเรือ “เจิ้งเหอ” ขนาดมหึมา สามารถจอดเทียบท่าที่กรุงศรีอยุธยาได้หรือไม่?
- สมุทรยาตราครั้งสุดท้ายของ “เจิ้งเหอ” แม่ทัพขันทีผู้ยิ่งใหญ่แดนมังกร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปริวัฒน์ จันทร. เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที (ซำปอกง). กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2567