สมุทรยาตราครั้งสุดท้ายของ “เจิ้งเหอ” แม่ทัพขันทีผู้ยิ่งใหญ่แดนมังกร

เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที ผู้บัญชาการ กองเรือมหาสมบัติ ยุค ราชวงศ์หมิง

“เจิ้งเหอ” (ซำปอกง) คือแม่ทัพขันทีมุสลิมแห่งราชวงศ์หมิง มีบทบาทเป็นผู้บัญชาการ “กองเรือมหาสมบัติ” ออกสำรวจทะเลด้านตะวันตกของจีนเมื่อต้นศตวรรษที่ 15 เจิ้งเหอยาตรากองเรือไปยังดินแดนต่างๆ รวมเวลาทั้งหมดแล้วเกือบ 30 ปี ระยะทางกว่า 50,000 กิโลเมตร แต่เมื่อจีนเปลี่ยนนโยบายการส่งกองเรือออกไปสำรวจ เจิ้งเหอจำต้องหยุดการสำรวจทางทะเลไว้ กระทั่งถึงยุค จักรพรรดิซวนเต๋อ พระองค์มีพระราชบัญชาให้เจิ้งเหอออกเดินทางท่องทะเลอีกครั้ง และนั่นคือ “สมุทรยาตราครั้งสุดท้าย” ของแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ และเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์จีน

ปริวัฒน์ จันทร เล่าเรื่องนี้ไว้ใน เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า หลังจาก จักรพรรดิซวนเต๋อ ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา คือ จักรพรรดิหงหวู่ พระองค์ได้หวนกลับมารื้อฟื้นการออก “กองเรือมหาสมบัติ” ที่หยุดชะงักมานานอีกครั้ง

Advertisement

เหตุผลเพราะในปี 1430 จักรพรรดิซวนเต๋อทรงตระหนักว่า เครื่องราชบรรณาการที่ราชทูตต่างแดนนำมาถวายจักรพรรดิจีนลดน้อยถอยลง อาจสั่นสะเทือนอำนาจของจีนและ “โอรสสวรรค์” อย่างพระองค์ ที่มีเหนือดินแดนต่างๆ ได้ นอกจากนี้ เซี่ยหยวนจี เสนาบดีพระคลังที่ไม่เห็นด้วยกับการออกท่องทะเลเพื่อทำการค้า ก็ถึงแก่มรณกรรมแล้ว

จักรพรรดิซวนเต๋อ จึงมีพระราชบัญชาให้ “เจิ้งเหอ” คุมกองเรือมหาสมบัติออกท่องทะเลเป็นครั้งที่ 7

ภารกิจยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เจิ้งเหอและบรรดาลูกเรือต้องใช้เวลาเตรียมการยาวนานกว่าทุกครั้ง เพราะเขาห่างหายจากการออกเดินเรือกว่า 6 ปี อีกทั้งยังเป็นกองเรือขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเรือกว่า 300 ลำ และลูกเรือ 27,550 คน

ความพิเศษของกองเรือนี้อีกอย่างคือ จักรพรรดิซวนเต๋อได้พระราชทานชื่อเรียกเรือแต่ละลำเสียใหม่ อาทิ “ความสมานฉันท์อันนิรันดร์”, “ความราบรื่นอันยืนยาว”, “มิตรภาพอันจีรัง” สะท้อนภารกิจสำคัญอีกอย่างของกองเรือได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การสร้างสันติสุขและสันติภาพให้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์

ปริวัฒน์ เล่าว่า ขณะนั้นเจิ้งเหอมีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 60 เขารู้ตัวดีว่า การออกท่องทะเลในครั้งนี้คงจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต จึงได้จารึกเรื่องราวของความสำเร็จจากการเดินเรือในคราวก่อนๆ ไว้บนแผ่นศิลาขนาดใหญ่ 2 แผ่น

แผ่นแรกลงวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1431 ตั้งไว้ที่บริเวณท่าจอดเรือใกล้ริมฝั่งปากแม่น้ำแยงซี จารึกข้อความสรรเสริญพระคุณของ “เจ้าแม่เทียนเฟย” เทพีแห่งผืนท้องทะเล ที่ช่วยปกปักรักษากองเรือของเขาให้อยู่รอดปลอดภัยมาตลอดการเดินเรือ 6 ครั้ง

ส่วนอีกแผ่นได้จารึกวันเวลาไว้ว่า “เดือนที่ 2 แห่งฤดูเหมันต์ในปีที่ 6 แห่งรัชสมัยซวนเต๋อ” ตั้งไว้ที่เมืองฉางเล่อ ปากแม่น้ำหมินเจียง บนชายฝั่งของมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งที่นี่เจิ้งเหอเคยสร้างเจดีย์สูง 7 ชั้น คือ ซานเฟิงซื่อถ่า (San Feng Si Ta) ไว้เพื่อสังเกตการณ์สภาพภูมิอากาศก่อนการออกเดินเรือ และใช้เป็นจุดหมายตาสำคัญในการนำกองเรือเข้าเทียบท่าที่ชายฝั่งของเมืองฉางเล่อ

จารึกที่เขาสลักลงบนแผ่นศิลาแผ่นที่ 2 บรรยายถึงความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจในการเดินเรือ ที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างแผ่นน้ำกับผืนคาบสมุทร และเป็นความสำเร็จที่เหนือกว่าทุกราชวงศ์ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์จีน เป็นต้น

ปริวัฒน์ ระบุว่า กองเรือมหาสมบัติ ภายใต้การนำของเจิ้งเหอ ออกจากนครนานกิงเมื่อวันที่ 9 มกราคม ปี 1431 แวะรับลูกเรือพร้อมนำสินค้าลงเรือ ที่เมืองท่าในมณฑลเจียงซูและฝูเจี้ยน กระทั่งเคลื่อนออกไปบนผืนมหาสมุทรในอีก 1 ปีถัดมา คือ วันที่ 13 มกราคม ปี 1432

จุดแรกที่กองเรือเจิ้งเหอแวะพักคือ เมืองกวีเญิน บนชายฝั่งของจามปา จากนั้นได้แวะเข้ามาในอยุธยา เพื่อมอบพระบรมราชโองการจากจักรพรรดิซวนเต๋อแก่กษัตริย์อยุธยา ให้ยุติการรุกรานมะละกา พร้อมกับตำหนิพระองค์ที่กักตัวกษัตริย์แห่งมะละกาไว้ ระหว่างเดินทางมาเข้าเฝ้าจักรพรรดิที่กรุงปักกิ่ง

จากอ่าวสยาม กองเรือมหาสมบัติเคลื่อนลงใต้ไปยังเมืองสุราบายา ทางตอนเหนือของเกาะชวา แล้วไปขึ้นฝั่งที่เมืองปาเล็มบังและมะละกา จากนั้นไปเกาะลังกา ขึ้นฝั่งที่เมืองคาลิคัท ชายฝั่งอินเดียตะวันตก

ที่นี่ กองเรือบางส่วนนำโดย หงเป่า แม่ทัพขันที ล่ามอีก 7 คน รวมถึง หม่าฮวน ล่ามในคณะเดินทาง ที่เคยบันทึกถึงกรุงศรีอยุธยา ติดตามกองเรือของราชทูตแห่งเมกกะไปยังคาบสมุทรอาระเบีย ส่วนเจิ้งเหอไม่ได้ไปด้วย สันนิษฐานว่า เขาล้มป่วยที่เมืองคาลิคัท จึงไม่สามารถติดตามกองเรือดังกล่าวไปได้ กระทั่งกองเรือที่แยกเดินทางออกไปนั้นกลับมาที่เมืองคาลิคัท ทั้งหมดจึงมุ่งหน้ากลับสู่จีน

ระหว่างเดินทางกลับ ครอบครัวของเจิ้งเหอเชื่อว่า เจิ้งเหอล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมบนเรือกลางมหาสมุทร ขณะอายุได้ 62 ปี มีการทำพิธีตามหลักศาสนาอิสลาม คือ หันศีรษะไปทางทิศที่ตั้งนครเมกกะ ก่อนปล่อยร่างลงสู่ท้องทะเลลึก อย่างไรก็ตาม มีการตัดปอยผมและนำรองเท้าของเจิ้งเหอกลับสู่ดินแดนจีน เพื่อนำไปฝังไว้ใกล้กับถ้ำทางศาสนาพุทธนอกนครนานกิง ตามคำสั่งเสียของเขาที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธด้วย

ทายาทของ “เจิ้งเหอ” รุ่นที่ 19-21 ที่อาศัยอยู่ในนครนานกิง เชื่อว่า ร่างของแม่ทัพขันทีผู้ยิ่งใหญ่ ถูกฝังไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่ง นอกชายฝั่งเมืองเซมารัง เมืองท่าทางตอนเหนือของเกาะชวา อินโดนีเซีย

ทอดร่างสงบอยู่ใต้ผืนน้ำมหาสมุทร ที่เจิ้งเหอออกโลดแล่นถึงครึ่งชีวิต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปริวัฒน์ จันทร. เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที (ซำปอกง). พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ : มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2567