ทำไมจีนส่งกองเรือสำรวจทะเลอย่างยิ่งใหญ่ และหยุดไปแบบหน้าตาเฉย

ภาพวาดลายเส้น ต้นแบบ เรือเป่าฉวน เจิ้งเหอ
ภาพวาดลายเส้นเรือต้นแบบที่หย่งเล่อทรงนำมาใช้สร้างเรือเป่าฉวน (เรือมหาสมบัติ)

ก่อนหน้านี้เมื่อกล่าวถึงการสำรวจทางทะเล รายชื่อของนักเดินเรือชาวตะวันตกคงปรากฏขึ้นในความคิด แต่ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีชื่อนักเดินเรือชาวตะวันออกอย่าง “เจิ้งเหอ” แทรกขึ้นมาในลำดับต้นของทำเนียบนักเดินเรือ ด้วยกองเรือที่ยิ่งใหญ่ และผลงานการค้นพบดินแดนต่างๆ ก่อนหน้าชาวตะวันตก ทำให้ชื่อของกองเรือจากราชสำนักจีน และเจิ้งเหอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

แล้วอะไรจุดประกายให้จีนออกสำรวจทะเลอย่างจริงจังอยู่เกือบ 30 ปี ก่อนจะหยุดลงเสียเฉยๆ นี่เป็นคำถามที่นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายฉงน

รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์ ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ในการเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ “เมื่อประวัติศาสตร์เกือบเปลี่ยนโฉมหน้า การสำรวจทางทะเลของจีน สมัยต้นราชวงศ์หมิง (Ming)” (การสัมมนาวิชาการ 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปีซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและอุษาคเนย์ 25 พฤศจิกายน 2548) พอสรุปได้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

คำอธิบายตามที่หลักฐานของจีนให้ไว้ คือ ประการแรกเพื่อติดตามจักรพรรดิที่หลบหนีไป ซึ่งอาจอยู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประการที่ 2 เพื่อ “อวดธง” “ทำให้ประชาชนในภาคใต้โพ้นทะเลประทับใจในอำนาจและความมั่นคงของราชวงศ์หมิง” และ “นำชาติทั้งหลายนับร้อยนับพันให้มาถวายบรรณาการแก่อาณาจักรกลาง (จีน)”

เหตุผลทั้ง 2 ประการดังกล่าวนี้ ประการแรกเป็นเรื่องที่จักรพรรดิหย่งเล่อทรงปริวิตกมาก [หย่งเล่อชิงราชบัลลังก์จากนัดดาตนเอง] เพราะไม่พบพระศพของจักรพรรดิเฉียนเหวินที่เป็นนัดดาของพระองค์ในพระราชวังที่เมืองหนานจิง และมีคำเล่าลือกันต่างๆ นานาเกี่ยวกับจักรพรรดิเฉียนเหวิน

เรื่องหนึ่งที่มีคนเชื่อกันมากคือ จักรพรรดิเฉียนเหวินปลอมตัวเป็นพระภิกษุแล้วจาริกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น จักรพรรดิหย่งเล่อจึงทรงให้ส่งกองเรือออกติดตามจับจักรพรรดิเฉียนเหวินให้ได้ เพราะจักรพรรดิเฉียนเหวินเคยประกาศว่าจะกลับมายึดอำนาจคืน เรื่องเล่าลือนี้ยังคงมีอยู่ต่อมาแม้หลังสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ จนเป็นเหตุให้มีผู้คนถูกประหารชีวิตเพราะอ้างว่าคือจักรพรรดิเฉียนเหวิน

ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ดังเช่น หลี่ (Dun J. Li) เห็นว่าเหตุผลข้อนี้ถ้าจะมีความสำคัญต่อการสำรวจทางทะเล ก็คงเพียงเฉพาะการสำรวจเที่ยวแรกเท่านั้น สำหรับเที่ยวต่อๆ มา คงไม่จริง เพราะกองเรือเดินทางไปไกลมากถึงตะวันออกกลาง อันเป็นดินแดนของผู้นับถือศาสนาอิสลาม และในทัศนะของผู้ศึกษาช่วงเวลานี้โดยเฉพาะ เช่น เดรเยอร์ (Edward L.Dreyer) และ ฮก-ลัม ฉาน (Hok-Lam Chan) ต่างมีความเห็นว่า

เหตุผลในประการที่ 2 มีความสำคัญมากกว่า และมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการสำรวจทางทะเลเที่ยวหลังๆ นั้นคือ จักรพรรดิหย่งเล่อเห็นผลประโยชน์ทางการทูต การค้า และการเดินเรือ

จักรพรรดิหย่งเล่อเติบโตขึ้นมาในช่วงที่ราชวงศ์หมิงมีการติดต่อค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างขวาง ได้เห็นทูตต่างแดนนำบรรณาการพร้อมของแปลกๆ มาถวาย ความสนพระทัยต่อของแปลกๆ สัตว์ประหลาดมีอยู่ชั่วชีวิตของพระองค์ แต่ในตอนปลายของของจักรพรรดิหงอู่ นโยบายของจีนเปลี่ยนไปหันมาเก็บตัวมากขึ้น จักรพรรดิหย่งเล่อจึงกลับไปใช้นโยบายเดิมที่จะนำชาติทั้งหลายยอมรับความยิ่งใหญ่ อำนาจ ความมั่งคั่งของจีน

นอกจากนี้ การสำรวจทางทะเลยังเป็นการแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยจากต่างแดน ดังชื่อเรือของ เจิ้งเหอ (Zheng He) คือ เป่าฉวน ซึ่งแปลว่า “เรือสมบัติ” อีกทั้งเป็นการศึกษาแผนการของพวกมองโกล ซึ่งยังมีอำนาจอยู่ทางตะวันตกของเอเชีย ดังนั้น ในเหตุผลข้อ 2 นี้ จักรพรรดิหย่งเล่อซึ่งถือว่าตนเป็นโอรสแห่งสวรรค์ (เทียนจื่อ) จึงปรารถนาที่จะทำให้ผู้คนทั้งหลายในพิภพนี้มาอยู่ “ใต้ฟ้า” หรือ “ใต้สวรรค์” (เทียนเซี่ย) คือ อยู่ภายใต้อำนาจของจีนซึ่งเป็นอาณาจักรกลาง…

การสำรวจทางทะเลในต้นราชวงศ์หมิงทั้งหมด 7 ครั้งอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1405-1433 (พ.ศ. 1948-1976) ดำเนินไปภายใต้การนำของนายพลเรือเจิ้งเหอ (ค.ศ. 1371-1434, พ.ศ. 1914-1977) ผู้เป็นขันทีและนับถือศาสนาอิสลาม…

เมื่อจักรพรรดิหย่งเล่อทรงจัดกองเรือเพื่อสำรวจทางทะเล จึงทรงเลือกเจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการกองเรือเพราะ “มีบุคลิกดี เฉลียวฉลาด ไม่มีขันทีคนไหนเทียบเขาได้” ผู้ช่วยที่สำคัญของเจิ้งเหอ 2 คน คือ หวางจึงหง (หรือ หวางกุ้ยถง ถึงแก่กรรมประมาณ ค.ศ. 1434, พ.ศ. 1977) และฮั่งเซียนก็เป็นขันทีเช่นกัน

สมควรกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ขันทีเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นราชสำนักจีน เพราะก่อให้ปัญหามากมายในราชสำนักและการปกครองของจีน จักรพรรดิหงอู่เคยทรงเตือนให้ระมัดระวังพวกขันที โดยสร้างป้ายเหล็กสูง 3 ฟุตไว้ในวัง จารึกว่า “พวกขันทีต้องไม่เกี่ยวข้องกับการปกครอง”

ในกรณีของเจิ้งเหอและพวกในการสำรวจทางทะเล แม้ว่าจะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการปกครอง แต่พวกขุนนางที่เป็นผู้คงแก่เรียนก็ไม่พอใจ จนเป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การสิ้นสุดของการสำรวจทางทะเล

หลังจากการเดินทางครั้งที่ 7 เจิ้งเหอซึ่งมีอายุได้ 62 ปี ได้รับตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหาร” (โซ่เป่ย) ที่หนานจิงเป็นเกียรติยศ ปีต่อมาเจิ้งเหอก็ถึงแก่กรรม และกล่าวได้ว่ากองเรือของเจิ้งเหอก็สิ้นสุดลงพร้อมๆ กับชีวิตของเจิ้งเหอด้วย จักรพรรดิที่ครองต่อจากชวนเต๋อไม่ให้การสนับสนุน และออกคำสั่งห้ามการต่อเรือใหม่ พวกขุนนางที่เป็นนักปราชญ์ผู้ดีก็คัดค้าน เพื่อไม่ให้การสำรวจทางทะเลฟื้นขึ้นมาใหม่ จึงปลดลูกเรือทั้งหลายให้แยกย้ายกันไป แผนที่การเดินเรือถูกเผาโดยหลิวต้าเซี่ย (Liu Daxia) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เรือทั้งหลายถูกปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลาใน ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) ได้ค้นพบหางเสือเรือทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ใกล้ๆ กับอู่ต่อเรือที่เมืองหนานจิง การสิ้นสุดกองเรือของเจิ้งเหอเป็นการสิ้นสุดอำนาจทางทะเลของจีน และในไม่ช้าชายฝั่งทะเลของจีนก็ถูกรบกวนด้วยโจรสลัดญี่ปุ่น

อะไรทำให้การสำรวจทางทะเลสิ้นสุดลง คำอธิบายในเรื่องนี้ คือ เป็นการสำรวจที่เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ในเวลาเดียวกันนั้นรัฐบาลยังต้องใช้จ่ายในด้านอื่นมาก โดยเฉพาะการสร้างพระราชวังที่นครหลวงแห่งใหม่-เป่ยจิง พระราชวัง “นครต้องห้าม” ที่จักรพรรดิหย่งเล่อทรงสร้างมีห้องมากกว่า 9,000 ห้อง ใช้ช่างมากกว่า 100,000 คนและคนงานมากกว่า 1,000,000 คน

กองเรือของเจิ้งเหอถูกตำหนิว่าเป็นการผจญภัยที่ฟุ่มเฟือย ไม่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นมรรคเป็นผล นอกจากนิทานและสัตว์ประหลาด ความไม่พอใจของขุนนางที่เป็นผู้ดีนักปราชญ์ต่อขันที ซึ่งเป็นความรู้สึกเหยียดหยามพวกขันทีที่มีตลอดมาในประวัติศาสตร์จีน พวกผู้ดีนักปราชญ์ได้กล่าวหาว่าการสำรวจทางทะเลนี้เป็น “ธุรกิจของพวกขันที” การดูแคลนเหยียดหยามพวกขันที จึงทำให้พฤติกรรมของเจิ้งเหอได้รับความสนใจน้อยในประวัติศาสตร์จีน พวกมองโกลเริ่มคุกคามจีนอีก ทำให้จักรพรรดิต้องแบ่งความสนพระทัยไปให้เรื่องที่เป็นความอยู่รอดของจีนมากกว่า

การยุติการสำรวจทางทะเล ถือเป็นความล้มเหลวได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบลำบาก เพราะจะมีความเห็นหลากหลาย แต่ถ้าพิจารณาตามสาเหตุที่นำไปสู่การสำรวจทางทะเล ในประการแรกที่เป็นการติดตามจักรพรรดิที่เป็นนัดดาที่หลบหนีไปนั้น กองเรือไม่สามารถติดตามจนพบตัวได้

ส่วนในประการที่ 2 ที่เป็นผลประโยชน์ทางการทูตการค้า การเดินเรือ และ “อวดธง” ในด้านนี้ จะปรากฏผลชัดเจนกว่า หม่าฮวน (Ma Huan) ซึ่งเคยเดินทางกับกองเรือของเจิ้งเหอด้วย ได้บันทึกไว้ว่า “พระบรมราชโองการของจักรพรรดิได้รับการแซ่ซ้อง จากดินแดนทุกๆ แห่งที่ไปเยือน” และในช่วงเวลา 28 ปีของการสำรวจทางทะเล มีกษัตริย์ 4 องค์ ทูตมากกว่า 30 อาณาจักร ได้เดินทางไปจีน เพื่อแสดงความจงรักภักดี และนำเครื่องราชบรรณาการไปถวาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2564