“หม่าฮวน” ล่ามในคณะเดินทางของ “เจิ้งเหอ” บันทึกถึงกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างไรบ้าง?

ภาพเขียน อยุธยา ชาวดัตช์
ภาพเขียนกรุงศรีอยุธยาโดยชาวดัตช์

“หม่าฮวน” ล่ามในคณะเดินทางของ “เจิ้งเหอ” บันทึกถึง “กรุงศรีอยุธยา” ไว้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ผู้หญิงเป็นใหญ่เหนือชาย มีอำนาจตัดสินใจมาก, ผู้ชายมีการ ‘ฝังมุก’ ด้วยลูกปัดทำจากดีบุก, ไม้มีค่า เช่น ไม้ฝาก เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอาณาจักร, กษัตริย์มักส่งกองทัพบุกโจมตีเพื่อนบ้านเป็นประจำ ฯลฯ

โดยบทความนี้ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม คัดเนื้อหามาจากบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543 นายท่องสื่อ ถอดความจาก Ying-Yai Sheng-Lan ของ Ma Huan ตอน The Cpuntry of Hsien Lo (J. V. G. Mills แปลเป็นภาษาอังกฤษจากต้นฉบับภาษาจีนชำระโดย Feng Ch’eng-Chün) รายละเอียดมีดังนี้

Advertisement

 

เดินทางจากเมืองจามปามาทางตะวันตกเฉียงใต้เจ็ดวันเจ็ดคืนด้วยลมดี เรือก็มาถึงปากอ่าวที่หอประตูใหม่ [1] และเข้าท่าทอดสมอ จากนั้นจึงถึงราชธานี

ประเทศนี้มีอาณาโดยรอบพันลี้ ภูเขารอบนอกสูงชันและขรุขระ แผ่นดินภายในแฉะชื้นและเป็นหนองเป็นบึง ผืนดินไม่อุดม แลที่เหมาะแก่การเพาะปลูกก็มีน้อย [2] ดินฟ้าอากาศปรวนแปร บางทีก็ร้อน บางทีก็หนาว

พระราชวังที่ประทับพระมหากษัตริย์นั้นอยู่ข้างโอ่อ่าประณีต และสะอาดสะอ้าน [3] เรือนราษฎร สร้างแบบยกพื้น ข้างบนเรือนพวกเขาหาได้ตีไม้กระดานติดกัน (เป็นพื้น) ไม่ หากใช้ต้นหมากผ่าออกเป็นแผ่นยาวๆ อย่างซีกไม้ไผ่ เอามาเรียงชิดกันแล้วผูกอย่างแน่นหนาด้วยหวาย ปูทับด้วยเสื่อหวายและเครื่องปูลาดทําจากไม้ไผ่ และบนนี้แหละพวกเขาใช้เป็นที่นั่ง ที่นอน ที่กิน และที่พักผ่อนหย่อนใจ

สําหรับเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์นั้นคือ พระองค์ทรงใช้ผ้าขาวโพกพระเศียร พระวรกายท่อนบนมิได้ทรงอาภรณ์ใด พระวรกายท่อนล่างทรงนุ่งผ้าไหมปัก กับมีผ้าเคียนบั้นพระองค์เป็นผ้าไหมโปร่งทอยกลาย เวลาเสด็จพระราชดําเนินไปที่ใดจะประทับบนหลังช้าง หรือมิฉะนั้นก็ประทับเกี้ยว มีคนถือร่มคันทองทําจากใบ chiao-chang [4] งามเป็นสง่ายิ่งนัก พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสุริยวงศ์ [5] และทรงเป็นพุทธศาสนิกที่แน่นแฟ้น

ในประเทศนี้ ผู้คนไปบวชเป็นพระหรือชีกันมากเหลือคณานับ วัตรปฏิบัติของพระหรือชีก็ค่อนข้างจะเป็นอย่างเดียวกับในแผ่นดินจีน แลพวกเหล่านี้ก็พํานักอยู่ในสํานักชีหรือวัดอย่างกับของเราเช่นกัน เฝ้าถือศีลกินเพลและบําเพ็ญภาวนา

ธรรมเนียมของเขาถือกันว่า กิจการทั้งปวงให้ภรรยาดูแลจัดการ ทั้งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองประเทศ ทั้งราษฎรสามัญ ถ้ามีเรื่องราวที่จําต้องใช้หัวคิดและการตัดสินใจแล้วไม่ว่าจะการลงโทษหนักเบา การค้าขายใหญ่น้อย พวกเขาทั้งหลายก็จะทําไปตามการตัดสินใจของภรรยา ด้วยว่าความสามารถในทางความคิดจิตใจของพวกภรรยานั้นเด่นกว่าของพวกผู้ชายโดยแท้

หากหญิงที่มีสามีแล้วมาใกล้ชิดสนิทสนมกับใครคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเราที่มาจากแผ่นดินจีน ก็จะจัดหาสุรา อาหาร แล้วพวกเขาก็จะดื่ม แลนั่งคุย และนอนด้วยกัน ผู้เป็นสามีก็เฉยดีแท้ จะคัดค้านอะไรก็เปล่า เขาว่าเลยแหละว่า “เมียข้าสวย และผู้ชายจากเมืองจีนก็สําราญบานใจกับนาง” พวกผู้ชายทําผมเป็นมวยจุก และใช้ผ้าโพกสีขาวพันรอบศีรษะ บนร่างกายก็สวมผ้ายาว ผู้หญิงก็เกล้าผมแลสวมผ้ายาวเช่นกัน

พอชายมีอายุได้ยี่สิบปี พวกเขาจะดึงหนังหุ้มองคชาตออกมา แล้วใช้มีดคมบางรูปร่างอย่างใบหอมกรีดผ่าผิว และยัดลูกปัดดีบุกโหลหนึ่งเข้าไปใต้ผิวหนัง ปิดมันไว้ แล้วเยียวยาด้วยสมุนไพร รอกระทั่งแผลหายสนิทดี พวกเขาจึงเดินไปไหนมาไหน (ลูกปัดดีบุกเหล่านั้น) มองๆ ดูก็เหมือนอย่างกับพวงลูกองุ่น มีคนหมู่หนึ่งที่เป็นผู้รับจ้างทําการผ่าตัดเช่นนี้ พวกนี้มีความชํานาญในการฝังและหล่อเชื่อมลูกปัดดีบุกให้กับผู้คน เขาทํากันอย่างถือเอาเป็นอาชีวะอย่างหนึ่งที่เดียว

หากว่าเป็นพระมหากษัตริย์หรือขุนนางใหญ่หรือคนมั่งมี พวกเขาจะใช้ทองคําทําเป็นเม็ดกลวง ในนั้นใส่เม็ดทราย แล้วเอาฝัง ไปไหนก็ส่งเสียงกรุ๋งกริ๋ง แลถือกันว่างามนัก ผู้ชายที่ไม่มีลูกปัดฝังคือพวกคนชั้นต่ำ [6] นี่เป็นเรื่องที่พิลึกพิสดารเหลือหลาย

ทิวทัศน์บริเวณวัดพนัญเชิง อยุธยา

เมื่อชายหญิงแต่งงาน ก่อนอื่นใดพวกเขาจะนิมนต์พระในศาสนาพุทธมานําเจ้าบ่าวไปบ้านฝ่ายเจ้าสาว แล้วจากนั้นพวกเขาก็จะพาพระไปเอาเลือดพรหมจรรย์ของเจ้าสาวออกและเจิมเลือดนั้นลงบนหน้าผากชาย พิธีนี้เรียกว่า Ii shi [7] หลังจากนั้นจึงร่วมประเวณีกัน สามวันให้หลังพวกเขาจะนิมนต์พระรูปหนึ่งกับเชิญบรรดาญาติมิตรอีกครั้ง และด้วยเรือที่ประดับประดาตกแต่ง มีหมากและข้าวของอื่นๆ จําพวกเดียวกันนั้น ก็จะพาคู่สามีภรรยากลับไปส่งบ้านฝ่ายสามี ซึ่งที่นั่นก็จะได้จัดเตรียมสุรา ประโคมดนตรี แลเลี้ยงดูเหล่าญาติมิตร

ในเรื่องประเพณีทําศพนั้น เมื่อคนรวยและมีอํานาจวาสนาตายลง พวกเขาเอาปรอทกรอกใส่ท้องแล้วฝัง เวลาที่พวกคนจนๆ ตาย พวกเขาหามศพไปยังป่าริมทะเล แล้ววางศพไว้บนชายหาด ไม่ช้าไม่นานนกสีทองตัวใหญ่เท่าห่านกว่าสามสิบหรือห้าสิบตัวก็บินเป็นฝูงมาบนฟ้า พวกมันร่อนลง ทึ้งเนื้อศพ และกลืนกินจนเกลี้ยงเกลา แล้วก็บินจากไป คนของครอบครัวคนตายจะร้องไห้คร่ำครวญกับกระดูกซึ่งเหลืออยู่ จากนั้นก็เอากระดูกทิ้งน้ำ แล้วก็กลับคืนเหย้าเรือน พวกเขาเรียกวิธีเช่นนี้ว่า ‘ปลงด้วยนก’ พวกเขายังได้นิมนต์พระในศาสนาพุทธมาสวดมนต์ บูชาพระพุทธด้วย และทั้งหมดก็มีแค่นี้

เมื่อเดินทางจากราชธานีขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราวกว่าสองร้อยลี้สักหน่อย มีเมืองการค้าเรียกว่า ต้นน้ำ [8] จากนี้เราสามารถผ่านไปสู่ยูนนานได้โดยทางด้านหลัง ที่เมืองนี้มีคนต่างด้าวอยู่ห้าหรือหกร้อยครอบครัว สินค้าต่างด้าวทุกอย่างมีขาย หิน ma-ssu-k’en-li [9] สีแดงมีขายเป็นจํานวนมากที่นี่ หินพวกนี้ด้อยกว่า ya-ku [10] แดง ความสุกใสของมันคล้ายกับเมล็ดลูกทับทิม เวลาเรือสินค้าของจีนมาสยาม ผู้คนของเราก็ยังใช้เรือเล็กขึ้นไปขายของ (ที่ต้นน้ำ) ด้วย

ประเทศนี้ผลิตกํายานเหลือง กํายานละโว้ กฤษณา ไม้พะยูง กระวาน เมล็ดกระเบา ยางไม้ ไม้ฝาง ดีบุก งาช้าง ขนนกกระเต็น แลของมีค่าอื่นๆ ประเภทนี้ ไม้ฝางนั้นมีมากอย่างกะไม้ฟืน แลสีสันนั้นเล่าก็กล่าวได้ว่าเด่นกว่าของประเทศอื่นๆ สัตว์แปลกๆ ก็มี ช้างเผือก สิงโต [11] แมว และ หนูเผือก พรรณผักก็เหมือนกับที่มีในเมืองจาม ในส่วนสุรานั้น พวกเขามีสุราทําจากข้าวและสุราทําจากมะพร้าว ทั้งสองอย่างนี้เป็นสุราต้มกลั่น ราคาถูกอย่างยิ่ง วัว แพะ ไก่ เป็ด และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ทั้งหมดนี้พวกเขามี

ภาษาของประเทศนี้ อยู่ข้างคล้ายคลึงกับภาษาถิ่นบ้านนอกที่พูดจากันในกวางตุ้ง ธรรมเนียมประเพณีของคนในประเทศนี้อึกทึกครึกโครมและสําส่อน พวกเขาชอบหัดการต่อสู้ทางน้ำ พระมหากษัตริย์ของพวกเขาทรงส่งแม่ทัพไปกำราบประเทศเพื่อนบ้านอยู่เป็นนิตย์

ในการค้าขาย พวกเขาใช้เปลือกหอยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยน นอกจากหอยเบี้ยแล้ว ทอง เงิน แลอีแปะทองแดง ก็อาจใช้แลกเปลี่ยนได้ทั่วไป แต่อีแปะทองแดงของพระราชวงศ์ต่างๆ ที่ได้ปกครองแผ่นดินจีนสืบเนื่องมานั้นหาได้มีใช้กันไม่

พวกเขาส่งขุนนางนําไม้ฝาง ไม้หอม และของมีค่าจำพวกนี้มาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการยังแผ่นดินจีนโดยสม่ำเสมอ


คํานําของผู้แปล

บันทึกเกี่ยวกับดินแดนและผู้คนสยามดังปรากฏต่อไปนี้ เป็นบทหนึ่งจากงานเขียนเรื่อง YING-YAI SHENG-LAN (ท่องชมทัศนียภาพฝั่งมหานที) ของหม่าฮวน ผู้เป็นล่ามในคณะเดินทางสํารวจของเจิงเหอ (ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางของเจิ้งเหอนั้น ท่านที่สนใจอาจหาอ่านได้จากบทความของหวางเหวิน เหลียงเรื่อง “เจิ้งเหอล่องทะเลตะวันตก” แปลโดย “วารุณี” ลงพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 ประจําเดือนกุมภาพันธ์ 2531.)

บันทึกของหม่าฮวนชิ้นนี้มิได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก ข้อความรู้หลายประการที่เขาบันทึกไว้ก็เป็นข้อความรู้อันน่าสนใจอย่างยิ่ง และพวกเราไม่ได้รับทราบกันมาก่อนแน่นอน บันทึกชิ้นนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับบันทึกของนักเดินทางท่านอื่นๆ ทั้งก่อนหน้าและภายหลังจากนั้น กล่าวคือ ข้อมูลที่ผู้บันทึกให้ไว้มิได้ถูกต้องไปเสียทุกประการ และข้อทัศนะของเขาก็อาจเจือไปด้วยอคติหรือความไม่เข้าใจบ้าง กระนั้นก็ดี ประโยชน์ของบันทึกนี้ก็มีอยู่มาก และเราก็ไม่อาจจะปฏิเสธคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ของมันได้ หน้าที่ของเราคือพินิจพิเคราะห์และสอบค้นเทียบเคียงต่อไป

ต้นฉบับที่ใช้ในการถอดความมาเป็นพากย์ไทยในคราวนี้เป็นต้นฉบับภาษาอังกฤษ แปลจากภาษาจีนโดยนาย J. V. G. Mills, ในชื่อ YING-YAI SHENG-LAN ‘The Overall Survey of the Ocean’s Shore’ (สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จัดพิมพ์ให้กับ Hakluyt Society ในปี 1950) ต้นฉบับภาษาจีนนั้นพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1451 กล่าวคือก่อนที่หม่าฮวนผู้เขียนจะถึงแก่กรรมราว 9 ปี ฉบับพิมพ์ครั้งแรกดังกล่าวนี้ได้หายสูญไปนานแล้ว ฉบับพิมพ์ที่ตกทอดมาในชั้นหลังเป็นฉบับพิมพ์คราวต่อๆ มาในสมัยราชวงศ์หมิงนั้นเอง ซึ่งถูกผู้คัดลอกตัดทอนบ้าง ย่อบ้าง เก็บความมาเรียบเรียงใหม่บ้าง หรือมีบางฉบับกระทั่งเรียบเรียงเสียใหม่ทั้งหมดด้วยเห็นว่าสํานวนภาษาของหม่าฮวนไม่ไพเราะพอ ต้นฉบับที่นายมิลล์ได้ใช้แปลออกเป็นภาษาอังกฤษ เป็นฉบับพิมพ์ที่ได้ตรวจสอบชําระโดย Feng Cheng-Chun (Ying-yai sheng-lan chiao-chu, Shanghai, 1935)

ในการแปลออกเป็นภาษาไทยนี้ยกเว้นคําที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เช่น คําว่า กวางตุ้ง การถ่ายทอดเสียงจีนทั้งหมดใช้ตามเสียงจีนกลาง อนึ่งการใช้อักษรไทยเทียบเสียงจีนกลางนั้นไม่อาจทําให้ตรงได้เสมอไป เพราะมีบางเสียงที่ไม่มีในระบบเสียงของภาษาไทย

สําหรับเชิงอรรถประกอบงานชิ้นนี้ ผู้แปลมิได้แปลโดยตรงจากของเดิมที่ J. V. G. Mills ทําไว้ ซึ่งค่อนข้างละเอียด (ไม่ว่าจะเป็นการเทียบเคียงชื่อเฉพาะในภาษาอื่นๆ ถ้อยคําสํานวนในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษฉบับอื่นๆ หรือชื่อพืชพันธุ์ว่านยาในดินแดนอื่นๆ เป็นต้น หากเก็บความมาทําขึ้นใหม่เฉพาะเท่าที่เห็นว่าจะพอสมควรในที่นี้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็ได้ใช้ข้อความรู้จากนายมิลล์นั้นเอง


ประวัติย่อของหม่าฮวน-ผู้เขียน

ประวัติของหม่าฮวน เท่าที่รู้กันนั้นมีแต่เพียงเล็กน้อย เขาเป็นชาวเมืองเซ่าซิง ซึ่งอยู่ห่างจากอ่าวหังโจวอันเป็นท่าเรือสําคัญแห่งหนึ่งของสมัยนั้นราว 7 ไมล์ ปีเกิดของเขาก็ไม่ปรากฏแน่นอน แต่นายมิลล์ผู้เป็นคนหนึ่งที่ได้แปลงานของเขาเป็นภาษาอังกฤษ ประมาณเอาว่าน่าจะเป็นราวปี 1380 การประมาณนั้นถือเอาว่าในการเดินทางครั้งแรกของเขาใน ค.ศ. 1413 นั้น เขาควรจะมีอายุมากกว่า 25 และมีอายุย่างเข้าปีที่ 80 เมื่อเขาจัดพิมพ์บันทึกของเขาขึ้นมาในปี ค.ศ. 1451

ในงานเขียนของเขา หม่าฮวนเรียกตัวเองว่า “คนตัดฟืนบนเขา” แม้เราจะไม่อาจถือเอาคํานี้เป็นจริงจังเกินกว่าคําถ่อมตนได้ก็จริง แต่อย่างน้อยก็แสดงว่าวงศ์สกุลของเขามิได้มีฐานะทางสังคมนัก จากงานเขียนของเขาแม้ว่าสํานวนภาษาจะมิได้เป็นอย่างถึงขั้นปราชญ์ กระนั้นก็แสดงว่าเขามีความรู้ทางหนังสืออยู่พอสมควร ทั้งในตําราฝ่ายขงจือและฝ่ายพุทธ และคุ้นเคยดีกับงานบันทึกเกี่ยวกับดินแดนต่างๆ ของคนรุ่นก่อนหน้าเขา จะเป็นปีใดไม่ปรากฏ หม่าฮวนได้ละทิ้งความเชื่อเดิม และหันมานับถือศาสนาอิสลาม

เรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” ขนาด 9 เสากระโดงอันมหึมาของแม่ทัพเจิ้งเหอ แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน)

การเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามทําให้เขาได้เรียนภาษาอาหรับ (หรือไม่ก็เปอร์เซีย) จนมีความรู้ดียิ่งผู้หนึ่งในภาษานั้น เพราะเหตุนี้เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นล่ามมากับคณะเดินทางของเจิ้งเหอในปี ค.ศ. 1431 ในการเดินทางครั้งนี้เขาได้จดบันทึกสิ่งที่เขาพบเห็นไปตลอดทาง ซึ่งเมื่อกลับถึงจีนในปี 1415 ก็เริ่มเรียบเรียงเป็นเล่มหนังสือขึ้นจนสําเร็จในปีถัดมา นี่นับเป็นบันทึกชิ้นแรกเกี่ยวกับการเดินทางที่จัดทําขึ้นโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของเจิ้งเหอ

ด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่มีผู้ใดทราบ หม่าฮวน มิได้ร่วมมากับการเดินทางสํารวจคราวต่อมาอันเป็นคราวที่ 5 ของเจิ้งเหอ หากมาอีกครั้งในการเดินทางครั้งที่ 6 (ระหว่างปี 1421 – 1422) และ 7 (ระหว่างปี 1431 – 1433) อันเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอ ในคราวสุดท้ายนี้ หม่าฮวนเป็น 1 ใน 7 ตัวแทนของคณะที่ขึ้นไปถึงเมืองมักกะฮด้วย ซึ่งสําหรับตัวเขาเองในฐานะมุสลิม ต้องถือเป็นเรื่องสําคัญอย่างยิ่ง

ในการเดินทางแต่ละครั้งนั้น เมื่อกลับมาเขาก็ได้เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับดินแดนใหม่ๆ ลงในหนังสือของเขาทุกคราวไป งานเขียนเรื่อง YING-YAI SHENG-LAN จึงมาสําเร็จบริบูรณ์ในราวปี 1436 เมื่อเขาเขียนจบแล้วนั้น ในชั้นแรกก็เพียงแต่มีการคัดลอกไว้อ่านกันระหว่างมิตรสหายเท่านั้น จนกระทั่งปี 1451 นั่นแหละจึงได้มีการจัดพิมพ์ขึ้น ปัจจุบันฉบับพิมพ์ครั้งนี้ได้สาบสูญไปแล้ว

สันนิษฐานกันว่า หม่าฮวน ถึงแก่กรรมในราวปี 1460 ในสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ เขาก็ไม่มีชื่อเสียงอะไร งานของเขาก็ไม่มีคนอ่านสักกี่คน เมื่อถึงแก่กรรมแล้วคนก็ลืมเลือนเขาไปจนหมดสิ้น จนกระทั่งเมื่อมีการสร้างหอพระสมุดหลวงในรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลงในอีกหลายร้อยปีต่อมา ชื่อของเขาถูกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] J. V. G. Mills ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คําว่า New Strait Tower จากคําว่า Hsin men t’ai (หอประตูใหม่), โดยระบุด้วยว่าในต้นฉบับภาษาจีนเล่มหนึ่งเป็น Lung men Wu (บ้านประตูมังกร), นายมิลล์สันนิษฐานว่าเป็นปากแม่น้ำแม่กลอง, สุจิตต์ วงษ์เทศเห็นว่าน่าจะเป็นแม่น้ำท่าจีน.

[2] ข้อนี้นายมิลล์ระบุว่าผิดแน่ แม้ก่งเจิน (Kung Chen) ซึ่งเดินทางมากับเจิ้งเหอเช่นกันจะกล่าวแบบเดียวกันในงานบันทึกของเขา. ผู้บันทึกอีกคนหนึ่งคือ เฟ่ยสวิ้น (Fei Hsin) กล่าวเป็นตรงกันข้าม, โดยว่า ทุ่งนานั้นอุดมสมบูรณ์มาก.

[3] แม้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเขามาสยามในการเดินทางครั้งไหน แต่พระมหากษัตริย์อยุธยาในสมัยที่หม่าฮวนเดินทางมาสยาม ถ้ามิใช่ สมเด็จพระอินทราชา (ค.ศ. 1408/พ.ศ. 1951 – ค.ศ. 1424/พ.ศ. 1967) ก็ต้องเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (ค.ศ. 1424/พ.ศ. 1967 – ค.ศ. 1448/พ.ศ. 1991).

[4] นายมิลล์อธิบายในเชิงอรรถของเขาว่า ที่เรียกว่า ใบ chiao-chang นั้น ตรงกับภาษาจามว่า Kajan, ภาษามลายูและชวาว่า Kajang ซึ่งหมายถึงเครื่องบังแดดบังฝนทําจากใบไม้จําพวกเตย. ในภาษาไทยเราใช้ว่า “กระแชง” ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน

[5] ฉบับภาษาอังกฤษทับศัพท์จากเสียงจีนว่า So-li ซึ่งเป็นคําที่หม่าฮวนมักใช้อย่างหลวมๆ. บางทีใช้เรียกวงศ์กษัตริย์ทั้งของสยามและจามปา, ในบางที คํานี้หมายถึงโจละ. นายมิลล์เห็นว่าในที่นี้หม่าฮวนคงหมายเพียงว่าพระมหากษัตริย์ทรงสืบเชื้อสายจากอินเดีย.

[6] ในเรื่องนี้นายมิลล์ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ก่งเจินบันทึกว่า “ชายทั้งปวง ไม่ว่าจะสูงหรือชั้นต่ำ ใช้ลูกปัดทองหรือเงินฝังหนังหุ้มองคชาตเป็นอย่างเครื่องประดับ”, ส่วนเฟ่ยสวิ้นไม่ได้บันทึกไว้. ธรรมเนียมเช่นนี้ในภูมิภาคแถบนี้ มีนักเดินทางชาวยุโรปบันทึกไว้เหมือนกัน, เช่น Conti-อังวะ, Barbosa และคนอื่นๆ-พะโค, Pigafetta-ชวา และ Galvao-ไทย.

[7] ก่งเจินระบุว่าเจิมทั้งหน้าผากของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว และว่าเป็นประเพณีที่น่าหัวร่อเหลือหลาย. นักวิชาการชาวญี่ปุ่น-H. Iwai-ได้สอบค้นเกี่ยวกับประเพณีเช่นนี้อย่างกว้างขวางในบทความเรื่อง “The Buddhist Priest and the Ceremony of attaining Womanhood during the Yuan Dynasty”, Memoirs of the Research Department of the Toyo Bunko, no. VII (1935).

คําว่า li shi นั้นแปลตามตัวว่า “ธุรกิจทํากําไร”. นายมิลล์ผู้แปลเป็นอังกฤษอ้างตาม H. Iwai ว่า ประเพณีเช่นนี้มีชื่อเรียกกันอย่างนี้ เพราะคํานี้หมายไปถึงธรรมเนียมการให้ของในพิธีแต่งงาน (ทํานองสินสอดทองหมั้น) อย่างที่ถือปฏิบัติกันในจีนภาคใต้.

ประเพณีการเบิกพรหมจรรย์ที่ปฏิบัติกันในกัมพูชานั้น มีกล่าวในบันทึกของโจวต้ากวน (คุณเฉลิม ยงค์บุญเกิด แปลเป็นไทยแล้ว)

[8] ในภาษาอังกฤษใช้คําว่า Upper Water ซึ่งแปลมาจากภาษาจีนว่า Shang Shui (ต้นน้ำ), นายมิลล์สันนิษฐานว่า ถ้าถือว่าระยะทางที่หม่าฮวนให้ไว้ถูกต้องโดยประมาณ ก็น่าจะเป็นลพบุรี, สุจิตต์ วงษ์เทศว่าน่าจะเป็นนครสวรรค์. (ระยะทาง 200 ลี้ ตกประมาณ 37 ไมล์).

[9] คํานี้เป็นคําที่อธิบายกันไม่ได้; ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่านี้เป็นคําทับศัพท์จากภาษาเปอร์เซีย-mazgandi.

[10] คํานี้ก็ว่ามาจากภาษาเปอร์เซียเช่นกัน คือ yakut.

[11] ฉบับภาษาอังกฤษใช้คําว่า lion นายมิลล์เห็นเป็นสองทางคือ ถ้าเป็นสิงโตจริงก็น่าจะเป็นสัตว์ที่นํามาจากต่างประเทศ หรือมิฉะนั้นหม่าฮวนก็เหมือนกับมาร์โคโปโล คือในที่ที่บันทึกว่า lion นั้นล้วนหมายถึงเสือ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2563