ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ ทายาท “เจิ้งเหอ” แม่ทัพขันทีผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 15

ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ ทายาท เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที
ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ และนางชวงเลียงฦาเกียรติ กับบุตรธิดารวม 10 คน เป็นภาพเดียวกับที่ ปริวัฒน์ จันทร ถ่ายจากหอนิทรรศการ เจิ้งเหอ เมืองคุนหยาง และตีพิมพ์ในหนังสือ “600 ปีสมุทรยาตราเจิ้งเหอฯ” (ถ่ายในวันแซยิด 60 ปีของท่านขุน พ.ศ. 2476)

เจิ้งเหอ เป็นนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ของจีนในศตวรรษที่ 15 “กองเรือมหาสมบัติ” ของเจิ้งเหอออกเดินทางไปหลายน่านน้ำ เผยแผ่ความยิ่งใหญ่ของจีนไปทั่วโลก เจิ้งเหอจึงเป็นหนึ่งในบุคคลระดับตำนานในประวัติศาสตร์จีน และมีเชื้อสายสืบมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี มีผู้สงสัยว่า เจิ้งเหอ แม่ทัพขันทีผู้ยิ่งใหญ่มีทายาทได้อย่างไร ทั้งยังมีเชื้อสายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ของไทยด้วย คือ ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ

แม่ทัพขันที มีทายาทได้อย่างไร

ปริวัฒน์ จันทร ผู้เขียนหนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” (สำนักพิมพ์มติชน) เคยเล่าว่า มีบันทึกบอกไว้ชัดเจนว่า “เจิ้งเหวินหมิง” เป็นลูกชายคนโตของ “หม่าฮาจือ” ซึ่งหม่าฮาจือคือบิดาของเจิ้งเหอ

“มีศิลาจารึกอยู่ที่อุทยานเจิ้งเหอ บนเขาเยว่ซาน เมืองคุนหยาง บอกว่า แม้เจิ้งเหอไม่มีลูก แต่พี่ชายคนโต คือ เจิ้งเหวินหมิง ได้ยกลูกให้เป็นบุตรบุญธรรมของเจิ้งเหอ

ทุกวันนี้แบ่งทายาทออกเป็น 3 สาย สายแรกอยู่ที่อวี้ซี สายที่สองอยู่ที่นานจิง และอีกสายอยู่ที่เชียงใหม่ ทุกวันนี้ที่เมืองจีนน่าจะรุ่นที่ 20-21 แล้ว นี่คือคุณูปการของการบันทึกสาแหรกปูมของตระกูลของคนจีน”

ซำปอกง แม่ทัพขันที ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ
หนังสือเกี่ยวกับเจิ้งเหอ ที่เขียนโดยปริวัฒน์ จันทร

ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ ทายาทเจิ้งเหอสายเชียงใหม่

ผู้นำกองเรือมหาสมบัติมีเชื้อสายสืบต่อมาหลายร้อยปี โดยมีสายหนึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ คือ ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ ทายาทรุ่นที่ 15 ของเจิ้งเหอ เป็นชาวจีนเกิดที่มณฑลยูนนานของจีน เมื่อ พ.ศ. 2416 หรือต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท่านขุนมีชื่อจีนว่า “เจิ้งชงหลิ่ง” (ในภาษาจีนกลางอ่านว่า “เจิ้งฉงหลิน) ต่อมาในปี 2448 ขณะอายุ 32 ปี เจิ้งชงหลิ่งก็คุมคาราวานม้าต่าง 100 ตัวจากยูนนาน ผ่านสิบสองปันนา เชียงตุง เข้าสู่ภาคเหนือของไทย แล้วเดินทางต่อมาที่เชียงใหม่

กองเรือมหาสมบัติ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที เรือเป่าฉวน ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ
เรือมหาสมบัติ “เป่าฉวน” (จำลอง) ของแม่ทัพเจิ้งเหอ น่าเชื่อว่ายกมาจอดทอดสมออยู่อ่าวไทยเพื่อสนับสนุนเจ้านายสยามรัฐสุพรรณภูมิยึดอยุธยาจากขอมละโว้ (แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ไต้หวัน)

การเดินทางค้าขายทำให้เขาพบรักกับ “นพ” สาวเมืองระแหง ทั้งสองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในปี 2450 และย้ายมาสร้างครอบครัวที่เมืองเชียงใหม่

บุตรธิดาของเจิ้งชงหลิ่งกับนพ ใช้นามสกุล “วงศ์ลือเกียรติ” ซึ่งเป็นนามสกุลที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์ที่ 9 ของเชียงใหม่ประทานให้ อย่างไรก็ดี เจิ้งชงหลิ่งมีภรรยาอยู่ก่อนแล้วที่เมืองจีน ต่อมาได้พามาอยู่ด้วยกันที่เมืองไทย ซึ่งบุตรสาว 2 คนที่เกิดจากภรรยาชาวจีน ใช้นามสกุลว่า “เจนตระกูล” (แปลงแซ่เจิ้ง)

ส่วนบรรดาศักดิ์ “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เป็นบำเหน็จความดีความชอบ ที่เจิ้งชงหลิ่งถวายที่ดิน 100 ไร่ ให้ทางการใช้ในการสร้างสนามบินเชียงใหม่

เพราะฉะนั้น ทำไมเจิ้งเหอมีทายาท ก็เพราะพี่ชายคนโตของท่านยกลูกชายให้เป็นลูกบุญธรรม ซึ่งต่อมาได้กระจายออกเป็น 3 สาย หนึ่งในนั้นคือ เจิ้งชงหลิ่ง ที่มาตั้งรกรากที่เชียงใหม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “ทายาท(สายหนึ่ง)ของ ‘เจิ้งเหอ’ ผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติ อยู่เชียงใหม่จริงหรือ?”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2567