ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ย้อนกลับไปกว่าห้าร้อยปีก่อน ในยุคที่อารยธรรมโบราณยังคงเผชิญหน้าและทำความรู้จักกับสรรพสัตว์ต่างๆ รวมถึง “ยีราฟ” หลายอารยธรรมต่างมีมุมมองต่อสัตว์ร่างผอมขนาดสูงยาวแตกต่างกัน ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15 จูตี้ ผู้ครองแคว้นเยี่ยนที่ภายหลังมาเป็นจักรพรรดิ ตะวันตกเรียกว่ารัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่อารยธรรมจีนพบเจอกับยีราฟ
ในรัชสมัยหย่งเล่อ อีกหนึ่งยุคสมัยที่ว่ากันว่าเป็นยุคทองของการออกสำรวจและการเดินทาง มีบันทึกไว้ว่า กองเรือมหาสมบัติของ เจิ้งเหอ (Zheng He) นำสิ่งของมากมายกลับมาด้วย หนึ่งในนั้นคือ ยีราฟ ซาราห์ ไซลินสกี้ คอลัมนิสต์เขียนบทความในเว็บ Science News เล่าว่า เจิ้งเหอพบกับทูตจากเบงเกอล ในมาลินดี (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเคนย่า) ทูตจากมาลินดีนำสิ่งของมามอบให้ และมียีราฟอยู่ด้วย พวกเขามอบยีราฟส่วนหนึ่งให้กับคณะที่มาจากจีน และคณะนั้นก็นำมันเดินทางกลับประเทศไปด้วยในปี 1414 จากนั้นยีราฟจากเบงกอลก็ถูกนำมาถวายต่อจักรพรรดิจีน
สำหรับจักรพรรดิผู้ปกครองแล้ว พระองค์ยินดีรับสัตว์แปลกตาต่างๆ ซึ่งเป็นของขวัญจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นนก ช้าง แรดจากจัมปา หมีจากสยาม นกแก้วและนกยูงจากชวา และนกกระจอกเทศจากเอเดน
เขตพระราชฐานของจักรพรรดิในนานกิงก็มีพื้นที่พิเศษสำหรับเลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างแดน เป็นที่รู้จักในชื่อ ทุ่ง/สวนต้องห้าม (jin-yuan) แซลลี่ เค เชิร์ช (Sally K. Church) นักประวัติศาสตร์รายหนึ่งเล่าว่า เมื่อคณะเดินทางมาถึงจีนแล้ว ยีราฟ คือสัตว์ที่จักรพรรดิรับสั่งให้นักเขียนวาดภาพเหมือนของมัน ซึ่งน่าจะสะท้อนความพิเศษของเจ้าสัตว์ชนิดนี้ที่แตกต่างจากสัตว์แปลกที่บรรดาจักรพรรดิชื่นชอบสะสม
เชิร์ช บรรยายว่า ราชสำนักจีนสมัยนั้นรับรู้ยีราฟ ในฐานะ “กิเลน” หรือ Qilin สัตว์ในตำนานของโลกตะวันออก ซึ่งอาจพอเปรียบได้กับยูนิคอร์นจากตะวันตก หากพิจารณาจากลักษณะในภาพวาดแล้ว อาจพอบ่งชี้ลักษณะได้ว่าลักษณะส่วนหนึ่งคลับคล้ายกับกิเลนบ้าง อาทิ ลำตัวคล้ายกวาง และมีกีบเท้าที่แยกจากกัน สีผิวสว่าง แต่เชื่อว่า องค์จักรพรรดิคงไม่ปักใจเชื่อว่ามันเป็น “กิเลน” ที่ได้มาจากต่างชาติ และที่สำคัญพระองค์ยังยึดถือคติความเชื่อดั้งเดิมแบบขงจื้อที่ให้ความสำคัญเรื่องการปกครองที่ดีมาก่อนเรื่องเหนือธรรมชาติทั้งหลาย
หลักฐานเรื่องยีราฟในราชสำนักจีนยังบ่งชี้เรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเบงกอลกับจีนในช่วงยุคแห่งการสำรวจระหว่าง ค.ศ. 1405-1433 หลังจากจักรพรรดิหย่งเล่อสิ้นพระชนม์ การสำรวจก็สิ้นสุดลงไปด้วย และนโยบายการต่างประเทศจีนก็กลับมาสู่ช่วงแยกตัวออกห่างอีกครั้ง ส่วนยีราฟที่คณะนำกลับมาในรัชสมัยหย่งเล่อนั้น ไม่พบหลักฐานเอ่ยถึงในภายหลัง
ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อ ที่ว่าเป็นยุคแห่งการสำรวจและเดินทางในช่วงศตวรรษที่ 15 กองเรือของจีนเป็นที่รับทราบในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า มีแสนยานุภาพเกรียงไกรทั้งเรือเดินสมุทร เรือรบ และเรือขนาดต่างๆ รวมแล้วหลักพันลำ นโยบายของจีนที่ต้องใช้กองเรือมากมายขนาดนั้น นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันได้หลากหลายสันนิษฐาน ไม่่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายอำนาจนิยมของจักรพรรดิหย่งเล่อที่ชื่นชอบการสงคราม การสร้างทัพเรือที่เข้มแข็งช่วยรักษาสถานะ ความสัมพันธ์ และผลประโยชน์ทางการค้าในระบบบรรณาการได้
หรืออาจเป็นเรื่องการตามล่าอดีตจักรพรรดิเจี้ยนเหวิน พระนัดดาของจูตี้ (จักรพรรดิหย่งเล่อ) ซึ่งถูกจักรพรรดิหย่งเล่อชิงราชบัลลังก์มา โดยจักรพรรดิเจี้ยนเหวินหลบหนีไปได้ และคาดว่าหลบหนีไปทางทะเล กรณีนี้ถูกมองว่าอาจเป็นเหตุผลการเดินเรือที่อยู่เบื้องหลังเรื่องทางการค้าก็เป็นได้
สำหรับทริปที่ได้ยีราฟมานั้น เป็นการเดินเรือครั้งที่ 4 ของเจิ้งเหอ ขันทีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งทางการทหารระดับสูง รับผิดชอบเรือรวมทั้งหมด 1,622 ลำนับรวมตลอดอายุขัย
ในการเดินทางครั้งที่ 4 ออกเดินเรือล่าช้ากว่ากำหนดการที่วางไว้ เจิ้งเหอได้รับคำสั่งให้ออกเรือ 18 ธันวาคม ปี 1412 แต่กว่าจะออกเดินเรือได้ก็ต้องเป็นช่วงมกราคม ปี 1414 เนื่องจากต้องเตรียมการอย่างมากเพราะเป็นการเดินทางไปถึงอ่าวเปอร์เซีย
กองเรือเดินทางไปมีเรือ 63 ลำ กำลังพลร่วม 28,000 คนออกเดินทางไปจนถึงเมืองฮอร์มุส ริมอ่าวเปอร์เซีย ขากลับแวะที่สุมาตรา จากนั้นแบ่งเป็นกองเรือย่อยๆ ส่วนหนึ่งแวะเบงกอลด้วย ขบวนเรือเดินทางกลับจีนเมื่อ สิงหาคม ปี 1415 มีกษัตริย์และคณะทูต 19 ประเทศติดตามมาเฝ้าจักรพรรดิหย่งเล่อ กองเรือนำสิ่งของต่างๆ กลับมาหลายอย่าง และมีสัตว์แปลกๆ ดังที่กล่าว นอกจากยีราฟ ยังมีสิงโต เสือดาว ม้าลาย และกวางแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม ในยุคก่อนหน้านั้น ช่วงศตวรรษที่ 8 มีนักสำรวจชื่อ Tu-Huan บันทึกเกี่ยวกับมิลินดี และสัตว์จำพวกยีราฟ ไว้ และบันทึกเมื่อช่วงปี 1226 โดย Zhao Rugua ผู้ตรวจการสินค้าบรรยายเกี่ยวกับสัตว์ชนิดหนึ่งว่า มีลักษณะสูง 10 ฟุต ลำคอยาว 9 ฟุต มีกีบเท้าแบบวัว และขนพรางคล้ายเสือดาว
อ่านเพิ่มเติม :
- กองเรือเจิ้งเหอถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น “การทูตเรือปืน”
- แผนที่โบราณของจีน หลักฐานยืนยัน “เจิ้งเหอ” พบ “อเมริกา” ก่อนโคลัมบัส!?
- “ฮ่องเต้หย่งเล่อ” ขู่กษัตริย์อยุธยาให้ส่งตัวราชทูตจัมปาคืนเมือง
อ้างอิง :
สืบแสง พรหมบุญ. เจิ้งเหอ ซำปอกง และอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
“The Giraffes Malindi Gave to China in 1414”. Owaahh. Online. Published 15 DEC 2015. Access 30 JAN 2020. <https://owaahh.com/the-giraffes-malindi-gave-to-china-in-1414/>
Kat Eschner. “The Peculiar Story of Giraffes in 1400s China”. Smithsonian. Online. Published 21 JUN 2017. Access 30 JAN 2020. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/peculiar-story-giraffes-medieval-china-180963737/>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2563