เรือโบราณแห่งคลองท่อม “เรือผูก” เก่าแก่ที่สุดในไทย

ซาก เรือโบราณ ที่ คลองท่อม
ซากเรือโบราณที่คลองท่อม (ภาพจาก นิตยสารศิลปากร ปีที่ 63 ฉบับที่ 5)

เรือผูก แบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันว่า เรือแบบ “Lashed-Lug” เป็น เรือโบราณ ที่ใช้เทคนิคการต่อเรือด้วยเชือกรัดชิ้นส่วนของเรือเข้าด้วยกัน พบทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย พบหลักฐานต่อเนื่องตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9-23

การต่อเรือแบบ “Lashed-Lug” จะทำโดยการขึ้นโครงเปลือกเรือก่อน เริ่มด้วยการกำหนดไม้กระดานเรือแผ่นกลาง เปรียบได้กับกระดูกงูของเรือ แล้วนำไม้กระดานแผ่นอื่น ๆ มาเรียงต่อกัน โดยเจาะรูตรงสันไม้ และยึดแผ่นไม้ด้วยการร้อยเชือกเข้าด้วยกัน ซึ่งเชือกทำจากเส้นใยต้นปาล์ม “Arenga Pinnata” และเมื่อโครงสร้างเปลือกเรือแล้วเสร็จ จึงเสริมความแข็งแรงด้วยกงเรือ เปรียบได้กับซี่โครงพยุงเรือ

Advertisement

ส่วนการยึดโครงสร้างเรือทั้งหมดไว้ด้วยกันจะทำโดยการแกะสลักแผ่นไม้ด้านในให้เป็นสันนูน แล้วเจาะรูให้ทะลุ ก่อนจะใช้เชือกร้อยเข้าด้วยกัน ลักษณะนี้เองจึงเรียกเทคนิคนี้ว่า “Lashed-Lug” หมายถึง เทคนิคที่ใช้เชือกร้อยยึดกับสันรูเจาะ

รอยเชือกที่ใช้ในการยึดแผ่นไม้กระดานเปลือกเรือ ของเรือโบราณที่ คลองท่อม (ภาพจาก นิตยสารศิลปากร ปีที่ 63 ฉบับที่ 5)

ในประเทศไทยพบ เรือโบราณ นี้เช่นที่ แหล่งเรือจมคลองท่อม (ควนลูกปัด) อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 พบหลักฐานการยึดแผ่นกระดานเปลือกเรือด้วยเชือก, แหล่งเรือจมบ้านคลองยวน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 พบหลักฐานการยึดแผ่นไม้กระดานเปลือกเรือด้วยเชือกและลูกประสัก แหล่งเรือจมปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง เป็นต้น

สำหรับการค้นพบเรือโบราณที่แหล่งเรือจมคลองท่อมนี้ จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ได้พบชิ้นส่วนตัวเรือจำนวน 12 ชิ้น เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นเรือที่ใช้เทคนิคต่อเรือแบบผูกยึดกับสันรูเจาะ หรือ “Lashed-Lug” เมื่อนำตรวจสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ประมาณการว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 หรือประมาณ 1,800 ปีมาแล้ว นับเป็นการค้นพบที่สำคัญ เป็นการค้นพบ เรือผูก ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เก่ากว่าแหล่งเรือจมปอนเตียน (Pontian) รัฐปะหัง ประเทศมาเลเซีย (ซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดมาก่อน) กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือเมื่อกว่า 1,500 ปีมาแล้ว

การค้นพบเรือโบราณที่แหล่งเรือจมคลองท่อม ตรงกับช่วงอายุของแหล่งโบราณคดีคลองท่อม สะท้อนการติดต่อระหว่างผู้คนจากอินเดียสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองการค้าขายของดินแดนแถบนี้ได้เป็นอย่างดี

ส่วนที่คาดว่าเป็นกงเรือ ถูกรัดเข้ากับไม้กระดานเปลือกเรือ เสริมความแข็งแรงด้วยการตอกลิ่มสอด ของเรือโบราณที่ คลองท่อม (ภาพจาก นิตยสารศิลปากร ปีที่ 63 ฉบับที่ 5)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ณภัทร ภิรมย์รักษ์. (กันยายน-ตุลาคม, 2563). ซากเรือคลองท่อม : หลักฐานเรือผูกยุคแรกเริ่มที่พบในประเทศไทย. ศิลปากร. ปีที่ 63 ฉบับที่ 5.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2564