ข้อมูลใหม่ : ไขปริศนาเมล็ดพืชโบราณ จากแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์

ภาพที่ 1 แหล่งเรือจมพนมสุรินทร์ แหล่งเรือจมโบราณในจังหวัดสมุทรสาคร (ภาพจาก https://db.sac.or.th)

เมื่อพูดถึงโบราณวัตถุที่พบในแหล่งเรือจมโบราณ​ น้อยคนนักที่จะนึกถึงเศษพืชซากสัตว์ในลำเรือ ส่วนมากแล้วคนทั่วไปมักจะจินตนาการเชื่อมโยงแหล่งเรือจมโบราณกับเครื่องถ้วย เหรียญทอง อัญมณีมีค่า หรือศิลปวัตถุโบราณต่างๆ​ แทบจะทั้งหมด ซึ่งมุมมองของสาธารณชนเหล่านี้นับเป็นผลของแนวคิด “โบราณคดีอลังการ” ที่สร้างภาพอันโรแมนติค สวยงาม เหนือจริงให้กับหลักฐานทางโบราณคดี จนกลายเป็นภาพจำและจินตภาพร่วมที่ถูกฉายซ้ำอยู่เสมอในสื่อบันเทิงต่างๆ [4]

แต่แท้ที่จริงแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งเรือจมนั้นไม่ได้มีเฉพาะเครื่องถ้วยหรือศิลปวัตถุอันมีค่าเท่านั้น หลักฐานประเภทอื่นๆ เช่น กระดูกสัตว์ เศษพืชชนิดต่างๆ ก็เป็นหลักฐานที่พบได้ในแหล่งเรือจมโบราณทั่วไป รวมทั้งหลักฐานจำพวกเศษพืชโบราณที่พบในแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์ด้วย

สำหรับเมล็ดพืชที่พบในแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์นั้น ถือเป็นกรณีที่หาได้ยากในประเทศไทยและในแหล่งโบราณคดีแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเศษพืชที่พบนั้นอยู่ในสภาพแช่น้ำ (Waterlogged) จึงทำให้สภาพเมล็ดพืชโบราณที่พบในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีสภาพสมบูรณ์กว่าเมล็ดพืชโบราณที่พบระหว่างการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีทั่วไป

แหล่งเรือจมพนมสุรินทร์

แหล่งเรือจมพนมสุรินทร์ เป็นแหล่งเรือจมโบราณในจังหวัดสมุทรสาครที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลก ตัวเรือใช้วิธีการต่อเรือแบบอาหรับที่มีลักษณะเด่นคือการเย็บไม้กระดานเข้าด้วยกัน [1], [3], [5], [6], [7] จากการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS (Accelerated Mass Spectrometry) ดำเนินการโดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี โดยกำหนดอายุจากอินทรียวัตถุ 3 ตัวอย่าง ที่พบในเรือ คือ เมล็ดหมาก หวาย เชือก ได้ค่าเฉลี่ยอายุในช่วง 1,200-1,300 ปีมาแล้ว หรือในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

ผู้เขียนได้ตรวจสอบค่าอายุดังกล่าว โดยใช้การกำหนดอายุด้วยวิธีเดียวกัน (AMS) เพื่อกำหนดอายุจากก้อนยางไม้ที่พบในเรือ ค่าอายุล่าสุดที่ได้จากยางไม้คือ 1,143-1,177 ปีมาแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นค่าอายุที่ใกล้เคียงกับการกำหนดอายุของสำนักศิลปากรที่ 1 จากค่าอายุดังกล่าวจึงอนุมานได้ว่าค่าอายุของเรือพนมสุรินทร์คงอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 โดยประมาณ

ในแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์นี้ มีเมล็ดพืชปริศนาชนิดหนึ่งสำหรับนักโบราณคดี ปริมาณที่พบจากการขุดค้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2556-58 มีจำนวนมากถึง 224 เมล็ด และเมื่อนำเมล็ดพืชดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับเศษพืชที่พบในแหล่งเรือจมทั่วโลก ก็ไม่พบว่าเมล็ดพืชดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับพืชสินค้าในสมัยโบราณที่พบในแหล่งเรือจมต่างๆ เลย

ภาพที่ 1 : a. เมล็ดพืชจากเรือพนมสุรินทร์ (โบราณ), b. เมล็ดสมอจีน Canarium album (ปัจจุบัน), c. เมล็ดหนำเลี้ยบ Canarium pimela (ปัจจุบัน), d. เมล็ดประคำไก่ Putranjiva roxburghii จากอินเดีย (ปัจจุบัน), e. เมล็ดกัญชง Cannabis sativa (ปัจจุบัน) (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

ปริศนาเมล็ดพืชโบราณ

เมล็ดพืชโบราณที่พบในเรือพนมสุรินทร์นี้ มีขนาดราว 1.5-2 เซนติเมตร เมล็ดมีเปลือกแข็ง สัณฐานมีลักษณะกลมรี หัวท้ายมีปลายแหลม เมล็ดที่อยู่ส่วนขั้วของผลนั้นมีรูกลมเล็กบุ๋ม ส่วนอีกด้านหนึ่งของเมล็ดมีปลายแหลมและมักพบรอยแยก 3 รอยบรรจบกันที่ปลายเมล็ด ภายในเปลือกแข็งมีช่องเดี่ยว สัณฐานกลมรีมีปลายแหลม ด้านในเปลือกแข็งยังปรากฏเยื่อหุ้มเมล็ดที่มีลักษณะบางคล้ายกระดาษอยู่อย่างเห็นได้ชัด เมื่อผ่าตัดเปลือกเมล็ดตามขวาง หน้าตัดค่อนข้างกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 เซนติเมตร (ภาพที่ 1 : a.)

ในการศึกษาระยะแรก มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเมล็ดพืชปริศนาหลายประการ เช่น สันนิษฐานว่าเมล็ดพืชดังกล่าวน่าจะเป็นเมล็ดกัญชง (Cannabis sativa) [1] การศึกษาล่าสุดในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 สันนิษฐานว่า เมล็ดพืชโบราณที่พบในเรือจมพนมสุรินทร์นั้นคล้ายคลึงกับเมล็ดมะกอกเกลื้อน (Canarium subulatum), สมอจีน หรือกาน้า (Canarium album) หนำเลี้ยบ (Canarium pimela) ข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังเชื่อว่าพุดดงป่า หรือเข็มป่า (Kopsia arborea) มีความคล้ายคลึงกับเมล็ดพืชโบราณที่พบอีกด้วย [2]

แต่เมื่อผู้เขียนได้ตรวจสอบลักษณะโครงสร้างของเมล็ดพืชทุกชนิดที่ถูกกล่าวถึงในข้อสันนิษฐานข้างต้นทั้งหมดอย่างละเอียด โดยเทียบลักษณะทางกายภาพของเมล็ดพืชทุกชนิดในข้อสันนิษฐานข้างต้นกับโครงสร้างและลักษณะทางกายภาพของเมล็ดพืชโบราณจากเรือพนมสุรินทร์ตามหลักทางโบราณพฤกษคดี (Archaeobotany/Palaeoethnobotany) ที่อาศัยการจำแนกเมล็ดพืชตามหลักพฤกษศาสตร์เป็นหลัก [9]  โดยพิจารณาถึงลักษณะทางกายภาพพื้นฐาน เช่น ขนาด รูปทรง รวมทั้งโครงสร้างภายในและภายนอกของเมล็ดพืชที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเทียบตัวอย่างพืชจากการขุดค้นกับตัวอย่างอ้างอิงจากสายพันธุ์ในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาถึงกระบวนการทางกายภาพและชีวภาพในอดีต เช่น การเผาไหม้ ที่อาจทำให้เมล็ดพืชหรือเศษพืชมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพไปจากเดิมได้ เช่น พองขึ้น ยุบลง หรือบางส่วนผุกร่อนหายไป ดังนั้น การจำแนกเศษพืชและเมล็ดพืชในสมัยโบราณจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

เมื่อใช้หลักเกณฑ์ข้างต้นในการวิเคราะห์เมล็ดพืชโบราณดังกล่าว พบว่าลักษณะทางกายวิภาคของเมล็ดพืชที่ปรากฏในข้อสันนิษฐาน​ข้างต้นทั้งหมด ไม่มีเมล็ดพืชชนิดใดมีลักษณะทางกายภาพ ขนาด รูปร่างที่คล้ายคลึงกับลักษณะของเมล็ดพืชโบราณที่พบในแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์ได้เลยแม้แต่ชนิดเดียว (ภาพที่ 1)

จากสัณฐานที่ปรากฏในภาพที่ 1 เห็นได้ชัดว่า เมล็ดพืชปริศนาจากเรือพนมสุรินทร์ (a.) มีขนาดและโครงสร้างภายในเมล็ดโดยมีช่องว่างภายในที่บรรจุเนื้อเมล็ด โดยช่องดังกล่าวมีลักษณะกลมรีเพียงช่องเดียว ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากเมล็ดพืชในสกุลมะเกิ้ม (Canarium) [11] ที่ถูกกล่าวถึงในข้อสันนิษฐานที่ 2 อย่างชัดเจน โดยเมล็ดพืชสกุลมะเกิ้มในข้อสันนิษฐานดังกล่าวล้วนแต่มีเปลือกแข็งและมีช่องด้านในเมล็ดจำนวน 3 ช่อง (b, c) เป็นจุดเด่น เปลือกของเมล็ดพืชโบราณยังบางกว่าเปลือกของพืชในสกุลมะเกิ้มอย่างมาก นอกจากนี้เมล็ดพืชโบราณจากเรือพนมสุรินทร์ยังไม่มีลักษณะทางกายภาพใดๆ ที่เทียบเคียงได้กับเมล็ดกัญชง (e.) ในข้อเสนอชุดแรก

ข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า​ เมล็ดพืชโบราณจากเรือพนมสุรินทร์ ไม่ใช่​เมล็ดกัญชง​ ไม่ใช่เมล็ดมะกอกเกลื้อนอย่างแน่นอน​ และเมล็ดพืชโบราณดังกล่าวยังไม่มีความคล้ายคลึงกับเมล็ดเข็มป่า เพราะเมล็ดเข็มป่ามีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดพืชโบราณมาก ทั้งยังมีลักษณะยาวรีและยังไม่มีลักษณะทางกายภาพอื่นใดที่คล้ายคลึงกับเมล็ดพืชโบราณจากเรือพนมสุรินทร์เลยแม้แต่ประการเดียว

หลังจากตามค้นหาเมล็ดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเมล็ดพืชโบราณจากฐานข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ จากการศึกษาพบว่ามีเมล็ดพืชชนิดหนึ่งที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกับเมล็ดพืชปริศนาจากแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์ ซึ่งพืชดังกล่าวคือประคำไก่ หรือ​มะคำไก่ (Putranjiva roxburghii) นั่นเอง

โฉมหน้าเมล็ดพืชโบราณ

ต้นประคำไก่ มะคำไก่ ปุตราชีวก ชีวานปุตรา Child life tree เป็นพืชในวงศ์ยางพารา (Euphorbiaceae) มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น เมื่อโตเต็มที่ลำต้นอาจมีความสูงถึง 12 เมตร โดยพบได้ทั่วไปเขตร้อนแถบเอเชียใต้ เรื่อยมาถึงบริเวณทางตอนใต้ของจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลมีขนาดราว 1.3-2 X 1.5 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดเดี่ยว โดยส่วนต่างๆ ของต้นประคำไก่ ไม่ว่าจะเป็น เปลือกไม้ ราก ใบ เมล็ด สามารถนำมาทำเป็นยาสมุนไพรได้ เมล็ดและใบของต้นประคำไก่เป็นยาสมุนไพรแก้โรครูมาตอยด์ในการแพทย์จีน [11]  เมล็ดประคำไก่สามารถนำมาสกัดน้ำมันที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ [8] ปัจจุบันในประเทศอินเดียมีความเชื่อว่าผงที่ทำจากเมล็ดประคำไก่ หรือชีวานปุตรา มีสรรพคุณที่สามารถทำให้ตั้งท้องลูกชายเพื่อสืบสกุลได้ตามความเชื่อฮินดู ดังความหมายของชื่อสามัญของประคำไก่ในภาษาฮินดี คือ “ชีวานปุตรา” ที่แปลได้ว่า “ชีวิตของบุตรชาย” นั่นเอง [8], [9]

นอกจากต้นประคำไก่จะเป็นยาสมุนไพรแล้วก็ยังเป็นเครื่องรางด้วย โดยชาวอินเดียยังนำเมล็ดประคำไก่มาร้อยเป็นสร้อยประคำเพื่อห้อยคอเด็ก โดยเชื่อว่าสร้อยประคำไก่จะสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ห่างไกลได้ โดยสร้อยประคำจากเมล็ดประคำไก่ หรือชีวานปุตรา ได้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ครุฑะปุราณะ (Garuda purana) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาปุราณะที่เริ่มเขียนในช่วงราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล (ราว 500 ปีก่อนพุทธกาล) [7] ซึ่งการถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ทางศาสนาก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสถานะความศักดิ์สิทธิ์ของพืชชนิดนี้ในศาสนาฮินดูโบราณได้เป็นอย่างดี

สำหรับในเอกสารโบราณของไทยนั้น ประคำไก่ มะคำไก่ ได้ถูกกล่าวถึงในฐานะสมุนไพรชนิดหนึ่งในตำราโอสถพระนารายณ์ ในยา 2 ตำรับ คือ 1. ยาทาพระเส้น โดยใช้ใบมะคำไก่เป็นเครื่องยา 2. น้ำมันภาลาธิไตล ใช้รากประคำไก่เป็นส่วนประกอบในตำรับยา [5]

เมื่อพิจารณาจากบริบททางโบราณคดีแล้ว สรุปได้ว่าเมล็ดประคำไก่โบราณที่พบนี้ มีความเป็นไปได้ 2 ประการ คือ อยู่ในฐานะสมบัติของลูกเรือ หรือสินค้าระหว่างการขนส่ง แต่จะอยู่ในสถานะใดหรือเป็นสินค้าประเภทใด สำหรับคนกลุ่มใดนั้นยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดจากหลักฐานในปัจจุบัน

หากพิจารณาจากลักษณะเมล็ดที่พบสันนิษฐานว่าเมล็ดประคำไก่เหล่านี้มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะถูกขนส่งในรูปแบบเมล็ดแห้ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์กับข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณนาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พืชชนิดนี้ในปัจจุบันที่กล่าวมาข้างต้น พบว่าเมล็ดประคำไก่ในเรือพนมสุรินทร์นั้นอาจมีสถานะเป็นสมุนไพร เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องราง หรือกระทั่งเป็นการนำเข้า/ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืช ก็เป็นข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

จากการตรวจสอบข้อมูลทางโบราณพฤกษคดีจากทั่วโลก เบื้องต้นไม่พบว่ามีการค้นพบเมล็ดประคำไก่จากการขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงการขุดค้นแหล่งเรือจมโบราณ จึงกล่าวได้ว่าการค้นพบเมล็ดประคำไก่จากบริบททางโบราณคดีในเรือพนมสุรินทร์มีความสำคัญจึงมีความสำคัญต่อองค์ความรู้ทางโบราณพฤกษคดีโลกเป็นอย่างมาก การพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสมบูรณ์ดังเช่นที่แหล่งเรือจมพนมสุรินทร์นั้นยังเป็นข้อพิสูจน์ว่า แหล่งเรือจมไม่ได้มีเฉพาะโบราณวัตถุล้ำค่า หรือศิลปวัตถุอลังการเท่านั้น แต่ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีประเภทอื่น เช่น เศษพืช ซากสัตว์ ที่รวมไปถึงไม้กระดานแต่ละแผ่นที่ประกอบขึ้นเป็นลำเรือที่สามารถเล่าถึงปฏิสัมพันธ์ของคนกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในสมัยโบราณ ที่รวมไปถึงการติดต่อแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายสายพันธุ์พืชไปพร้อมกับเส้นทางการค้าและการเคลื่อนย้ายของผู้คนในช่วงปลายพุทธศตววรษที่ 12 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นยุคต้นของสมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทยได้

การค้นพบเศษพืชหลากหลายชนิดในเรือพนมสุรินทร์ นับว่าเป็นการท้าทายภาพจำของการศึกษาแหล่งโบราณคดีในสมัยประวัติศาสตร์โดยเฉพาะแหล่งเรือจมโบราณ รวมทั้งเปิดมุมมองความรู้และความเป็นไปได้ของการศึกษาหลักฐานประเภทอินทรียวัตถุต่างๆ ที่รอการค้นพบในแหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์รวมทั้งแหล่งโบราณคดีสมัยอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ขอขอบคุณ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, กลุ่มงานวิทยาศาสตร์ กรมศิลปากร สำหรับความช่วยเหลือในการเข้าศึกษาตัวอย่างพืชจากแหล่งเรือโบราณพนมสุรินทร์ (อาศัยความตามเอกสารเลขที่ วธ 0411/ 4999 ) Cristina Castillo, Dorian Fuller แห่งสถาบันโบราณคดี University College London และ Mark Nesbitt แห่ง Kew Garden กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


อ้างอิง :

[1] กรมศิลปากร. 2559. แหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : บริษัท บางกอกอินเฮาส์ จำกัด.

[2] จารุวรรณ แย้มพราย. 2563. เมล็ดพืชที่พบในเรือพนมสุรินทร์ จังหวัดสมุทรสาคร : กรณีศึกษา ข้าว หมาก และเมล็ดพืชไม่ทราบชนิด. ใบความรู้เผยแพร่ผ่าน Facebook กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์, กรมศิลปากร, วันที่ 28 ธันวาคม 2563 (accessed 28th December 2020).

[3] ณัฎฐา ชื่นวัฒนา, ปรียานุช จุมพรม, อภิรดา โกมุท. 2562. “ของป่า ข้าว และหมาก : ผลการวิเคราะห์ทางโบราณพฤกษคดีเบื้องต้น จากแหล่งเรือจมพนมสุรินทร์ จังหวัดสมุทรสาคร,” ใน ศิลปากร. 62 (4) : 65-79.

[4] ณัฎฐา ชื่นวัฒนา. 2563. แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น : การเมือง โบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับมื้ออาหารที่หายไป (1). The101.world, 9th Jul 2020 (accessed 27th May 2021).

[5] สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย, กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2555. คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ฉบับใบลาน (ตำราพระโอสถนารายณ์) ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์. โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์.

[6] Jumprom, P. 2014. “The Phanom Surin Shipwreck : New Discovery of an Arab-style Shipwreck in Central Thailand,” in Southeast Asian Ceramics Museum Newsletter. 8 (1) : 1-4.

[7] ______. 2019. Recovery of a Lost Arab-Styled Ship at Phanom-Surin : The Wetland Excavation Site in Central Thailand. In Fine Arts Department (eds.), Ancient Maritime Cross-cultural Exchanges Archaeological Research in Thailand. Bangkok : Rung Silp Printing, pp. 227-247.

[8] Gupta, Shakti M. 2001. Plant Myths and Traditions in India. Munshirm Manoharlal Publisher.

[9] Kumar, M. 2020. Chapter 11 : Phytochemistry and Medicinal Value of Putranjiva roxburghii Wall. In J. K. Patra et. al. (eds.). Advances in Pharmaceutical Biotechnology. Singapore : Springer Nature.

[10] Martin, C. M. and Barkley, William D. 2000. Seed Identification Manual. New Jersey : The Blackburn Press.

[11]  Wu, Z. Y., Raven, P. H. & Hong, D. Y. eds. 2008. Flora of China. Vol. 11 (Oxalidaceae through Aceraceae). Science Press, Beijing, and Missouri Botanical Garden Press, St. Louis.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2566