เรื่องจริงและควันหลงจาก The Dig หนังโบราณคดีเคล้ารัก ขุดพบเรือโบราณพลิกตำราในอังกฤษ

ภาพจาก ภาพยนตร์ The Dig โดย Netflix ภาพจาก YouTube/Netflix UK & Ireland

ไม่บ่อยนักที่สื่อบันเทิงกระแสหลักจะหยิบจับเรื่องราวหรือบรรยากาศในพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดีมาเป็นศูนย์กลางหลักของเรื่องราว หากจะมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ทำให้แวดวงโบราณคดีสนใจได้ คงต้องเอ่ยถึงเรื่อง The Dig ภาพยนตร์ในปี 2021 จากผู้ให้บริการสตรีมมิง “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) มีเนื้อหาอิงจากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีครั้งสำคัญของอังกฤษซึ่งเกิดขึ้นจริงที่มณฑล ซัตตัน ฮู (Sutton Hoo) ในประเทศอังกฤษ

ในแง่ภาพยนตร์กระแสหลัก ภาพการทำงานเชิง “โบราณคดี” คนส่วนใหญ่มักติดกับภาพจำของ “อินเดียน่า โจนส์” (Indiana Jones) ตัวละครโลกแผ่นฟิล์มที่โลดแล่นมาจนถึงปัจจุบัน น้อยครั้งที่จะมีภาพยนตร์ซึ่งหยิบเรื่องราวในแหล่งโบราณคดีจริงมาถ่ายทอดโดยผสมบทรักในจินตนาการเข้าไปเพื่อเพิ่มอรรถรสของเรื่องราว กระทั่งในปี 2021 ภาพยนตร์เรื่อง The Dig เข้าฉายในสตรีมมิง “เน็ตฟลิกซ์” ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อสังเกตและคำถามตามมาในหลายด้าน

Advertisement

ภูมิหลังภาพยนตร์ The Dig 

ก่อนจะเอ่ยเรื่องข้อเท็จจริงไปจนถึงควันหลงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ประการแรกที่ต้องเอ่ยถึงคือเนื้อหาโดยรวมของภาพยนตร์ The Dig เสียก่อน

เรื่องราวในภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกัน ผลงานเขียนโดยจอห์น เพรสตัน (John Preston) เมื่อปี 2007 ขณะที่เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเหตุการณ์บนที่ดินผืนหนึ่งในมณฑลซัตตัน ฮู ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1939 แม้จะมีรายละเอียดบางส่วนถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ แต่โครงเรื่องหลักใหญ่แล้วอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง

เรื่องเริ่มต้นเมื่อเจ้าของที่ดินในภาพยนตร์คืออีดิธ พริตตี้ (Edith Pretty) สุภาพสตรีที่มีตัวตนจริง ว่าจ้างเบซิล บราวน์ (Basil Brown) นักโบราณคดีท้องถิ่นที่เรียนรู้การทำงานสายนี้ด้วยตัวเองให้มาขุดค้นหาพิสูจน์ปริศนาขุมทรัพย์ใต้เนินดินบนผืนดินของเธอ

เมื่อเริ่มขุดค้นสักระยะ บราวน์ จึงพบร่องรอยของหลุมฝังศพโบราณ มีซากเรือ และพบโบราณวัตถุหลายชิ้น ในภาพยนตร์ฉายภาพฉากหลังการค้นพบว่า เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้ปะทุขึ้นเต็มที ภาพยนตร์จึงสอดแทรกรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวละครเพื่อสร้างบรรยากาศ อารมณ์แบบ “โรแมนติก” เพิ่มอรรถรสของเนื้อเรื่องควบคู่ไปกับปัญหาและสภาพหน้างานของการขุดค้นอิงแนวแบบวิชาการเล็กๆ

โครงเรื่องหลักของภาพยนตร์อ้างอิงจากการค้นพบทางโบราณคดีที่เกิดขึ้นจริงในมณฑลซัตตัน ฮู ที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 1939 เป็นการค้นพบเรือแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) ขนาดยาว พร้อมโบราณวัตถุมีค่าหลายชิ้น

ในมุมมองของชาวอังกฤษ การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ในประวัติศาสตร์ของชาติ และพลิกความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของอังกฤษไปโดยปริยาย

เรื่องจริงของการขุดค้นก่อนมาสู่ The Dig 

***เนื้อหาส่วนนี้อาจเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนของภาพยนตร์***

.

ตัวละครหลักของเรื่องอย่างเจ้าของที่ดิน และนักโบราณคดีท้องถิ่นมีตัวตนและใช้ชื่อตามจริง อีดิธ พริตตี้ เริ่มต้นดำเนินการค้นหาผู้ขุดค้นตั้งแต่ปี 1937 บราวน์ ได้รับว่าจ้างในช่วงไล่เลี่ยกัน และเริ่มขุดในเดือนมิถุนายน 1938

กระทั่งในปี 1939 เมื่อเขาขุดค้นเนินดินขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง บราวน์ พบชิ้นเหล็กที่เชื่อว่าเป็นหมุดเรือ หลังจากนั้น บราวน์ และผู้ช่วยที่ประกอบไปด้วยคนสวนของอีดิธ ชื่อจอห์น เจค็อบส์ (John Jacobs) คนดูแลสัตว์ชื่อวิลเลียม สปูนเนอร์ (William Spooner) และคนงานอีกรายชื่อเบิร์ต ฟุลเลอร์ (Bert Fuller) ถึงค้นพบร่องรอยของเรือ และค่อยๆ ขุดดินออกเรื่อยๆ จนเผยให้เห็นโครงเรือที่ถูกฝังไว้ และใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงค้นพบจุดที่เชื่อว่าเป็นหลุมฝัง “ร่างบุคคล”

ในข้อเท็จจริงแล้ว เบซิล เพิ่งได้รับเครดิตว่ามีส่วนในการค้นพบก่อนหน้าภาพยนตร์ออกเผยแพร่ไม่นานนัก

โบราณวัตถุมีค่าที่พบจากการขุดค้นอย่างเช่นอุปกรณ์สำหรับการรบ และอาวุธต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่พลิกความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อังกฤษว่าด้วยชาวแองโกล-แซกซอนยุคแรกที่ปรากฏอยู่ในบริเทนยุคกลาง

แม้ว่าจะไม่พบร่างของผู้ถูกฝัง แต่สิ่งของมีค่าที่ค้นพบนำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่า เจ้าของการฝังครั้งใหญ่ในยุคโบราณอาจเป็นของกษัตริย์แห่งอีสต์แองเกลีย (East Anglia) บางแห่งระบุชื่อว่าเป็น Rædwald ผู้ปกครองอีสต์แองเกลียที่ทรงอำนาจในยุคศตวรรษที่ 7 และเชื่อกันว่า Rædwald เสียชีวิตในปี ค.ศ. 624

บางแห่งเสนอว่า อาจเป็นทายาทรุ่นหลังอย่าง Sigeberht ไปจนถึงชื่อของ Eorpwald แต่เสียงส่วนใหญ่แล้วเทน้ำหนักความเป็นไปได้มาที่ Rædwald มากกว่า

หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว การค้นพบครั้งนั้นดูเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยหากพิจารณาว่า การฝังเรือเกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 7 มันคงอยู่ในจุดที่ฝังนั้นยาวนานไปถึง 13 ศตวรรษ กระทั่งในศตวรรษที่ 20 เบซิล บราวน์ และทีมงานถึงจะมาพบเข้า

อีดิธ พริตตี้ ผู้ว่าจ้างคนมาขุดค้น

เรื่องเล่าที่บอกกันแบบปากต่อปาก เล่ากันอีกว่า อีดิธ พริตตี้ หญิงม่ายเจ้าของที่ดินเชื่อเรื่องทางจิตวิญญาณ เธอได้ยินเรื่องเล่าลือว่าพื้นที่นี้อาจเกี่ยวข้องกับไวกิ้ง ประกอบกับตำนานท้องถิ่นที่บอกเล่ากันถึงสมบัติซึ่งฝังใต้ที่ดินแห่งนี้

พริตตี้ เกิดเมื่อปี 1883 เธอมีบุตรชายชื่อโรเบิร์ต ขณะที่เธออายุ 47 ปี หลังจากบิดาของอีดิธ เสียชีวิตเพียงปีเดียว เธอสมรสกับนายทหารชื่อแฟรงค์ พริตตี้ ในปี 1926 ขณะที่แฟรงค์ มาเสียชีวิตลงในปี 1934

อีดิธ พริตตี้ เป็นนักเดินทางในช่วงวัยรุ่น เดินทางไปชมปอมเปอี และพีระมิดในอียิปต์ บิดาของเธอทำงานขุดค้นมาก่อนซึ่งสันนิษฐานว่ามีส่วนทำให้เธอสนใจอยากขุดค้นเนินดินที่ซัตตัน ฮู รายละเอียดตรงนี้ปรากฏในบทสนทนาในภาพยนตร์เช่นกัน

ในภาพยนตร์ยังนำเสนอรายละเอียดภูมิหลังของบราวน์ ซึ่งถูกนักโบราณคดีอาชีพมองแบบดูแคลนว่า ไม่มีศักยภาพพอจะทำงานระดับนี้ได้ เบซิล บราวน์ เป็นคนท้องถิ่น กำเนิดในหมู่บ้านใกล้อิปสวิช เมื่อปี 1888 เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 12 มาใช้แรงงานในฟาร์มและเป็นเอเยนต์ประกัน

เบซิล บราวน์ นักขุดค้นผู้ศึกษาโบราณคดี-ดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง

บราวน์ สนใจศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองในหลายด้าน ฝึกฝนหลากหลายภาษา ศึกษาศาสตร์ด้านโบราณคดีและดาราศาสตร์ มีผลงานตีพิมพ์เกี่ยวกับดาราศาสตร์และแผนที่ ก่อนจะได้รับว่าจ้างจากพิพิธภัณฑ์อิปสวิช (Ipswich Museum) ในสายงานโบราณคดีในท้องที่ บราวน์ ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการทำงานจริง และเป็นพิพิธภัณธ์แห่งนี้เองที่แนะนำเขาให้กับพริตตี้ ที่หาผู้ขุดค้นที่ดินของเธอ ในภาพยนตร์เขาแต่งงานกับเมย์ บราวน์ (May Brown) ซึ่งตรงกับชีวิตจริงของเขาเช่นกัน

ก่อนหน้าการค้นพบเรือขนาดใหญ่ถึง 90 ฟุต (27.4 เมตร) ในซัตตัน ฮู การขุดค้นพบเรือขนาดใหญ่ที่ถูกฝังเคยเกิดที่นอร์เวย์ เรือที่พบเมื่อปี 1880 มีขนาด 78 ฟุต (23.8 เมตร) บราวน์ รู้ซึ้งถึงข้อมูลการค้นพบก่อนหน้าที่ทำให้เขาได้บทเรียนว่า มันอาจตามมาด้วยการค้นพบจุดที่ฝังสิ่งของมีค่า และเขาก็พบจริงๆ บราวน์ ค้นพบสิ่งที่เขาคิดว่าอาจเป็นจุดฝังอยู่ตรงกลางเรือ

ก่อนที่บราวน์ จะได้สำรวจเพิ่มเติม ข่าวคราวการค้นพบเรือขนาดใหญ่ลอยไปถึงพิพิธภัณฑ์บริติชและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ไม่นานนัก คนจากสถาบันเหล่านี้ก็มาถึง บราวน์ ถูกจัดให้ทำงานเล็กน้อย และภารกิจประเภทใช้แรงงานทั่วไป เนื่องด้วยเขาไม่มีดีกรีเฉพาะด้าน

หลังจากนั้นจึงเริ่มมีทีมโบราณคดีเข้ามาในแหล่งขุดค้น เพ็กกี้ พิกก็อตต์ (Peggy Piggott) หนึ่งในทีมงานจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นผู้ค้นพบชิ้นส่วนทองคำชิ้นแรกตามมาด้วยชิ้นอื่นๆ เพ็กกี้ และสจ๊วร์ต ในภาพยนตร์มีตัวตนจริง โดยเป็นหนึ่งในทีมแรกๆ ที่เข้ามาถึงแหล่งขุดค้น หลังจากผ่านการขุดค้นที่ซัตตัน ฮู เพ็กกี้ ยังทำงานในสายเดิมและมีผลงานโดดเด่นในแวดวงโบราณคดี

รายงานจากเน็ตฟลิกซ์ ให้เกร็ดข้อมูลที่น่าสังเกตอีกว่า จอห์น เพรสตัน ผู้เขียนนิยาย The Dig ค้นข้อมูลตัวละคร เขาพบว่า เพ็กกี้ เป็นญาติของเขา มีศักดิ์เป็น “ป้า” (aunt) ของเขา

ไม่นานนัก พวกเขาก็เริ่มค้นพบสิ่งของมีค่าต่างๆ นานา ในจุดขุดค้น รายงานบางแห่งระบุว่า มีมากกว่า 250 ชิ้น มีตั้งแต่เครื่องประดับ เขาสัตว์สำหรับดื่มน้ำ พิณ คฑา ดาบ หมวกเหล็กพร้อมหน้ากากเต็มใบ หินจากเอเชีย เครื่องเงินจาก Byzantium จนถึงเหรียญจากฝรั่งเศส

ตัวละครที่ปรากฏในภาพยนตร์อย่างกลุ่มนักวิชาการชื่อ ชาร์ลส ฟิลลิป์ส (Charles Phillips) และเจมส์ รีด มัวร์ (James Reid Moir) ที่เพิ่มบริบททางวิชาการของงานขุดค้นในยุคนั้นล้วนมีตัวตนจริง

เจมส์ รีด มัวร์ เป็นประธานพิพิธภัณฑ์อิปสวิช นักโบราณคดีท้องถิ่นผู้นี้ขัดแย้งกับชาร์ลส ฟิลลิปส์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เข้ามาคุมการขุดค้นในช่วงสำคัญ ภาพยนตร์จะเพิ่มเติมสีสันเข้าไปในแง่ บทบาทของนักวิชาการจากสถาบัน ที่ปะทะทางความคิดกับนักวิชาการต่างสถาบัน และ “นักวิชาการ” ที่ไม่ได้ดีกรี อีกทั้งยังแตะข้อถกเถียงกึ่งวิชาการกึ่งกฎหมายว่าด้วย สิทธิในการครอบครองโบราณวัตถุที่ค้นพบอย่างเป็นธรรมเพิ่มเติมเข้ามาให้เป็นประเด็นสำหรับเอ่ยถึงในแวดวงวิชาชีพกันอีกเล็กน้อย

นอกจากตัวบุคคลส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ที่อ้างอิงมาจากเรื่องจริงแล้ว การตกแต่งสถานที่ถ่ายทำยังพยายามอ้างอิงรูปแบบจากพื้นที่จริงตามสภาพที่ปรากฏดังทุกวันนี้

ตามข้อเท็จจริงแล้ว สิ่งของที่ขุดค้นพบต้องตกเป็นสิทธิของอีดิธ พริตตี้ อย่างไรก็ตาม เธอบริจาคโบราณวัตถุทั้งหมดให้พิพิธภัณฑ์บริติช

อีกหนึ่งรายละเอียดที่ปรากฏในช่วงท้ายภาพยนตร์คือ การบอกเล่าสภาพบรรยากาศฉากหลังของการขุดค้นในช่วงหัวโค้งสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังใกล้ปะทุ ก็เป็นเรื่องที่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงเช่นกัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 1939 ของมีค่าจากการขุดค้นถูกนำไปจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ละแวกซัตตัน ฮู ก็ถูกใช้เป็นพื้นที่ฝึกซ้อมยานยนต์สำหรับการรบ เมื่อสงครามจบลงจึงเริ่มศึกษาต่อเพิ่มเติม

สำหรับสิ่งที่เพิ่มเข้ามาจากจินตนาการ ตัวละครหลักตัวเดียวที่ไม่มีจริงคือ รอรี่ (Rory) ช่างภาพที่ถูกเขียนให้มีบทบาทรักกับเพ็กกี้ อันที่จริงแล้ว ข้อเท็จจริงเล็กน้อยในโครงจินตนาการคือ เพ็กกี้ แยกทางกับสจ๊วร์ต จริง แต่แยกทางหลังการขุดค้น และหย่ากันในปี 1956 ส่วนตัวละคร “รอรี่” เป็นอีกส่วนของจินตนาการที่เติมสีสันให้เนื้อเรื่อง

ผลจากการค้นพบทางโบราณคดี สู่ควันหลงของภาพยนตร์ 

ไม่เพียงแค่ของมีค่าจากการขุดค้น นัยอันสำคัญของการค้นพบยังหมายถึงความเข้าใจใหม่ต่อมุมมองเรื่องระยะเวลาในประวัติศาสตร์อังกฤษ โดยเรือและสิ่งของที่พบปรากฏมาจากยุคมืด (Dark Ages) การค้นพบนี้เสมือนแสงที่ฉายลงมาในมุมมืดท่ามกลางปริศนาในช่วงเวลา 4 ทศวรรษ ระหว่างช่วงที่โรมันหมดยุคไป กับช่วงการเข้ามามีอิทธิพลของไวกิ้ง

เดิมทีแล้วเชื่อกันว่า ชาวแองโกล-แซกซอนที่ปรากฏในหลายอาณาจักรในอังกฤษตลอดช่วงเวลานั้นเป็นพวกกลุ่มชนที่ล้าหลัง แต่การค้นพบวัตถุอันสวยงามเหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่ให้คุณค่ากับงานฝีมือและศิลปะ เครื่องดนตรีที่พบบ่งบอกถึงทักษะด้านดนตรี ไปจนถึงเรื่องการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชนกลุ่มอื่นในยุโรป เห็นได้จากหลักฐานการพบโล่แบบสแกนดิเนเวียน

แม้ว่าการค้นพบของเบซิล บราวน์ จะสั่นคลอนหนังสือประวัติศาสตร์อังกฤษมาแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ปรากฏในเรื่องจริงและในภาพยนตร์ก็เอ่ยถึงคือเรื่องเครดิตชื่อของเบซิล บราวน์ เป็นเวลาหลายปีที่ห้องจัดแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งขุดค้นที่ซัตตัน ฮู ในพิพิธภัณฑ์บริติช ไม่ได้จารึกชื่อ “เบซิล บราวน์” จนกระทั่งไม่นานมานี้

ภายหลังการขุดค้น พื้นที่ซัตตัน ฮู อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การอนุรักษ์แห่งชาติ (National Trust) ปัจจุบันมี นิค คอลลิสัน (Nick Collinson) เป็นผู้จัดการองค์การ เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC เมื่อปลายเดือนมกราคม 2021 เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาปกติ ซัตตัน ฮู ดึงดูดผู้เข้าเยี่ยมชมปีละ 1 แสนราย หลายปีที่ผ่านมาซัตตัน ฮู ใช้งบประมาณไปแล้ว 4 ล้านปอนด์เพื่อปรับปรุงหวังช่วยให้ผู้เข้าชมได้รับประสบการณ์เยี่ยมชมที่ดีกว่าเดิม หนึ่งในนั้นคือโครงการสร้างหอคอยชมวิวเพื่อชมจุดกลบฝังจากมุมสูง

เมื่อมาถึงช่วงล็อกดาวน์สืบเนื่องจากมาตรการรับมือไวรัสโควิด-19 ระบาด พื้นที่เปิดให้ผู้เดินชมภายในท้องถิ่นเท่านั้น เขาหวังว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยกระตุ้นกระแสให้ผู้คนสนใจพื้นที่ เพิ่มผู้เข้าชมเป็น 1.4 แสนรายต่อปี

ภายหลังจากภาพยนตร์เผยแพร่ ชุมชนโบราณคดีและแวดวงประวัติศาสตร์ในอังกฤษต่างพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะในแง่การแสดงอันยอดเยี่ยมของนักแสดงที่รับบทตัวละครหลัก แต่อาจเร็วเกินไปที่จะชี้วัดว่า แหล่งขุดค้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ระหว่างนี้กลับมีกระแสวิจารณ์เรื่องการฉายภาพบทบาทนักโบราณคดีหญิงในเรื่องอย่างเพ็กกี้ พิกก็อตต์ ซึ่งมีนักโบราณคดีสตรีในยุคปัจจุบันวิจารณ์ว่า ภาพยนตร์เล่าเรื่องเธอโดยลดบทบาทของเธอเหลือเพียงสถานะแบบ “ผู้ช่วย” (sidekick) ของสามีคือสจ๊วร์ต พิกก็อตต์

อันที่จริงแล้ว เพ็กกี้ ในเวลานั้นมีอายุ 27 อายุน้อยกว่าสามี 2 ปี แต่ในความเห็นของ Rebecca Wragg Sykes นักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงมองว่า เธอมีประสบการณ์มากกว่าสามี แต่ในภาพยนตร์กลับฉายภาพของเธอออกมาเสมือนหนึ่งเธอเป็นผู้ช่วยของสามี อาทิ ฉากที่เธอเหยียบทะลุรูในพื้นที่แหล่งขุดค้น ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่า เธอเป็นมือใหม่ ซุ่มซ่าม

ข้อสังเกตอีกประการในเชิงวิชาการที่น่าสนใจก็ปรากฏขึ้นเช่นกัน โดยมีนักโบราณคดีรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เรือขนาดยาวที่พบในซัตตัน ฮู ปรากฏร่องรอยที่น่าสงสัยว่า อาจผ่านการซ่อมแซมมาแล้วหรือไม่

ดร. ซู บรูนนิง (Sue Brunning) ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ประจำคอลเล็กชั่นยุโรปยุคกลางตอนต้นของพิพิธภัณฑ์บริติช ให้สัมภาษณ์กับ The Express ว่า บางส่วนของเรือที่พบวัสดุซึ่งถูกเพิ่มเข้าไปเสมือนหนึ่งอุดรอยรั่วของเรือ หากพิจารณาตามข้อสังเกตนี้ ย่อมแสดงว่า เรือถูกใช้งานแล้ว และไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประกอบงานศพเท่านั้น

“เรือมีฟังก์ชั่นใช้งาน แต่เราไม่มั่นใจว่ามันจะสามารถลอยแล่นบนมหาสมุทรได้ไหม” เธอกล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะมองการขุดค้นครั้งนี้อย่างไร ภาพยนตร์ The Dig เป็นอีกหนึ่งผลงานที่บอกเล่าเหตุการณ์ทางโบราณคดีครั้งสำคัญในอังกฤษที่น่าสนใจ ชวนให้ขบคิดและติดตามค้นหาข้อเท็จจริงอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยกรรมวิธีที่ไม่ต่างจากสื่อบันเทิงชิ้นอื่นที่อ้างอิงเรื่องราวจากเหตุการณ์จริงและสามารถถ่ายทอดออกมาได้ประทับใจผู้ชม ภาพยนตร์ผสมเรื่องราวความสัมพันธ์ สร้างอารมณ์ความรู้สึกโรแมนติกขึ้นมาแทรกเข้าไปด้วย

คนที่จะตัดสินและแยกแยะข้อเท็จจริงต่างๆ ออกจากจินตนาการย่อมเป็นบทบาทของผู้ชมแล้ว


อ้างอิง:

Neil Armstrong. “The buried ship found on an English estate”. BBC. Online. Published 28 JAN 2021. Access 2 FEB 2021. <https://www.bbc.com/culture/article/20210127-the-buried-ship-found-on-an-english-estate>

“Archaeologist identifies ‘repair’ made to Sutton Hoo ship exposing twist to famous story”. Express. Online. Access 2 FEB 2021. <https://www.express.co.uk/news/uk/1391854/archaeology-news-sutton-hoo-ship-burial-real-story-netflix-the-dig-river-deben-spt>

Lily James’s new Netflix film The Dig is accused of sexism for ‘reducing archaeologist who found 7th-century ship loaded with Anglo-Saxon king’s treasure to a bumbling, deferential, sidekick to her husband’. Daily Mail. Online. Access 2 FEB 2021. <https://www.dailymail.co.uk/news/article-9204521/Netflixs-new-Sutton-Hoo-film-Dig-caught-sexism-row.html>

“Netflix’s ‘The Dig’ True Story: What We Know About Sutton Hoo”. Decider. Online. Access 2 FEB 2021. <https://decider.com/2021/01/30/the-dig-netflix-true-story-sutton-hoo/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564