“ภูเขาทอง” กองอิฐใหญ่ที่ถูกทิ้งร้าง มูลเหตุการขุด “คลองผดุงกรุงเกษม” ป้องกันพระนคร

ภูเขาทอง วัดสระเกศ
ภูเขาทอง วัดสระเกศ (ภาพจาก หนังสือ ประชุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริให้สร้าง “ภูเขาทอง” ที่ วัดสระเกศ ให้สร้างเป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่อย่างภูเขาทองที่อยุธยา แต่เนื่องด้วยชั้นดินอ่อนตัว รับน้ำหนักจำนวนมหาศาลของพระปรางค์ไม่ได้ กระทั่งทรุดลง จึงหยุดก่อสร้างค้างอยู่เพียงฐาน ถูกปล่อยให้รกร้าง กลายเป็นกองอิฐขนาดใหญ่นอกกำแพงพระนคร

ตำแหน่งที่ตั้งของภูเขาทองนั้น นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของพระนคร เพราะตั้งอยู่ริมคลองมหานาคเชื่อมต่อกับคลองรอบกรุงและคลองหลอด (คลองหลอดวัดราชนัดดาฯ) และอยู่เยื้องกับป้อมมหากาฬ เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริถึงภูเขาทองว่า หากข้าศึกศัตรูเข้ายึดภูเขาทองได้ อาจนำปืนไปตั้งบนภูเขาทอง แล้วยิงเข้าสู่พระนคร ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง ตามที่มีบันทึกไว้ว่า

“…อนึ่งพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นที่วัดสระเกษ การไม่สำเร็จตลอดไป ทิ้งรกอยู่เป็นกองอิฐใหญ่ ราษฎรเรียกกันว่า ภูเขาทอง ถ้ามีข้าศึกศัตรูเอาปืนขึ้นไปตั้งบนภูเขาทองนั้น ยิงระดมสาดเข้ามาในพระนคร ก็เห็นว่าจะรักษาได้เป็นอันยาก (รัชกาลที่ 4 – ผู้เขียน) จึงโปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นคูพระนครชั้นนอก ดังได้รับพระราชทานพรรณาความมาแล้ว แล้วจึงโปรดให้สร้างป้อมรายเป็นระยะตามฝั่งคลองส่วนในพระนคร ตั้งแต่ปากคลองข้างเหนือไปถึงปากคลองข้างใต้…”

คลองรอบกรุง และ ภูเขาทอง วัดสระเกศ
คลองรอบกรุงและภูเขาทอง วัดสระเกศ ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 (จากหนังสือ แม่น้ำลำคลอง)

ความข้างต้นเป็นพระธรรมเทศนาของกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเดิมเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้เรียบเรียงพระราชประวัติรัชกาลที่ 4 แล้วพระราชทานแด่กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ทรงนำไปเรียบเรียงเป็นพระธรรมเทศนาถวายที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในการพระราชกุศลถวายแด่รัชกาลที่ 4 คราวฉลองสมโภชพระนครครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2425

ด้วยเหตุที่ภูเขาทองเป็นกองอิฐใหญ่รกร้างนี้เอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งในการก่อสร้าง คลองผดุงกรุงเกษม ให้เป็นแนวป้องกันพระนครอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกศัตรูเข้ายึดภูเขาทอง

นอกจากนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์อธิบายไว้ว่า สมัยรัชกาลที่ 4 ประชาชนออกไปตั้งบ้านเรือนนอกกำแพงพระนครกันมากขึ้น ตัวเมืองก็ขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น รัชกาลที่ 4 จึงทรงหวังพระทัยว่า การก่อสร้างคลองผดุงกรุงเกษมจะช่วยป้องกันข้าศึกศัตรู

“…จะได้เป็นที่อุ่นใจแก่ไพร่บ้านพลเมืองซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงพระนคร กับประการหนึ่งลูกค้านานาประเทศเข้ามาค้าขาย เห็นบ้านเมืองป้อมคูมั่นคงก็จะไม่เป็นที่หมิ่นประมาทได้…”

คลองรอบกรุงผ่านตำบลบางลำพู สมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเรือนตั้งเรียงรายสองฝากคลอง (ภาพจากหนังสือชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ)

คลองผดุงกรุงเกษมเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2394 มีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขณะเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่พระสมุหกลาโหม เป็นแม่กองก่อสร้าง ขุดคลองกว้าง 10 วา ลึก 6 ศอก ยาว 137 เส้น 10 วา เท่ากับกว้าง 20 เมตร ลึก 3 เมตร ยาว 5,500 เมตร

และยังได้สร้างป้อมขึ้นอีกจำนวน 8 ป้อม อันมีนามว่า ป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมปิดปัจจนึก ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ป้อมผลาญไพรีราบ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ป้อมทำลายปรปักษ์ ป้อมหักกำลังดัษกร และป้อมมหานครรักษา หากเกิดศึกสงครามก็จะใช้ไม้แก่นหรือไม้ลำปักเป็นแนวกำแพงเชื่อมแต่ละป้อมเข้าด้วยกัน

อนึ่ง ป้อมป้องปัจจามิตรนี้ เป็นป้อมเดียวในทั้งหมด 8 ป้อม ที่ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองสาน เป็นป้อมคู่กับป้อมปิดปัจจนึก ที่ตั้งอยู่ฝั่งพระนคร บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้

ภูเขาทองยังถูกปล่อยให้รกร้างต่อไประยะหนึ่ง จวบถึงช่วงปลายรัชกาล รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างภูเขาทองขึ้นอีกครั้ง โปรดให้ก่อเป็นภูเขาขนาดใหญ่ แล้วสร้างพระเจดีย์ไว้ด้านบน ดำเนินการวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2408 พระราชทานนามว่า “บรมบรรพต” แต่มาก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5

คลองผดุงกรุงเกษม บริเวณสะพานเจริญสวัสดิ์ ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 (จากหนังสือ แม่น้ำลำคลอง)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (ออนไลน์). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ณ วัดประยูรวงศาวาส. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, จาก เว็บไซต์ห้องสมุดวชิรญาณ.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. (2525). เฉลิมพระเกียรติ พระบรมราชจักรีวงศ์. กรุงเทพฯ : บำรุงนุกูลกิจ

เอนก นาวิกมูล. (2549). หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 6. กรุงเทพฯ : คอมแพคท์พริ้นท์.

ส. พลายน้อย. (2555). แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ : มติชน.

กรมศิลปากร. (2548). ประชุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2563