เคยมีคนตก “บันไดตรง” ที่ “ภูเขาทอง” จนตาย จริงหรือ?

ภูเขาทอง วัดสระเกศ
ภูเขาทอง วัดสระเกศ (ภาพจาก หนังสือ ประชุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

“ภูเขาทอง” ในวัดสระเกศ นอกจากจะมีบันไดเวียนขึ้นลงสองด้านแล้ว ยังมี “บันไดตรง” อยู่ทางด้านทิศใต้

บันไดตรงนี้สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างน้อย ลักษณะสูงชันมาก และเคยมีคนตกลงมาตาย!

ถ่ายจากเครื่องบินโดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์ ฮันท์ วันที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

ในหนังสือ “นิราศบรมบรรพต” ประจำ พ.ศ. 2466 เขียนโดย “พระพินิจหัดถการ” โรงพิมพ์บุญช่วยเจริญ พิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2467 พระพินิจฯ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“ล่วงหนทางมาถึงหว่างบรรไดเวียน

เปนที่เตียนชั้นกว้างหนทางใหญ่

มีทางแยกที่ตัดลัดขึ้นไป

เปนบรรไดตรงชนชั้นน่ากลัว

ไม่มีใครขึ้นลงที่ตรงนั้น

ที่สำคัญใครดูก็รู้ทั่ว

ต้องเอาไม้บิดกันกั้นเปนรั้ว

อยู่จนชั่วเดี๋ยวนี้มีจริง ๆ

แต่ก่อนนั้นตกตายเปนหลายคน

ตั้งแต่บนตกตรงลงมากลิ้ง

มือจะคว้าจับอะไรไม่ได้จริง

ก็แน่นิ่งพอถึงล่างก็วางวาย

ฉันนิ่งนึกตรึกตรมอารมย์หมอง

ภูเขาทองสูงใหญ่น่าใจหาย

ใครพลั้งลงแล้วก็คงต้องถึงตาย

อย่านึกหมายว่าจะได้เห็นใจทัน”

ภูเขาทอง บันไดตรง

นอกจากนี้ ในหนังสือพิมพ์ “ไทย” ฉบับวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ปลายรัชกาลที่ 5 ลงข่าวเรื่องคนเมาตกภูเขาทองเพราะปีนขึ้นไปทางบันไดตรงว่า 

“ตกภูเขาทอง เมื่อคืนวันที่ 7 เดือนนี้ มีชายผู้หนึ่ง อายุกลางคน ดูท่าทางจะมีดีกรีจัดสักหน่อย ไปเที่ยวในการรื่นเริงที่งานบรมบรรพตบรมบรรพต ชายนั้นได้ขึ้นไปบนภูเขาทางบรรไดชั้นตรง แล้วปาฏิหารพลัดตกลงมามีความเจ็บช้ำมาก พลตระเวรได้นำตัวคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล อาการน่ากลัวจะไม่รอดเสียมาก นั่นเพราะความประมาทจนเกินส่วนไม่ใช่หรือ?”

เอนก นาวิกมูล สันนิษฐานว่า บันไดตรงถูกรื้อเมื่อคราวซ่อมใหญ่ พ.ศ. 2493-2497

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. (มีนาคม, 2542). ภูเขาทอง แลเห็น “บันไดตรง” หรือบันไดชัน. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 20 : ฉบับที่ 5.

________. (เมษายน, 2544). ความรู้สั้น ๆ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 22 : ฉบับที่ 6.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2564