ภูเขาทอง แลเห็น “บันไดตรง” หรือบันไดชัน

ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชุด ภ.WH ไม่มีรายละเอียด เป็นภาพถ่ายทางอากาศโดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์ ฮันท์ (Peter Williams Hunt) นักบินฝ่ายสัมพันธมิตร

แลเห็นบรมบรรพตหรือภูเขาทอง พระวิหาร พระอุโบสถในวัดสระเกศ และบริเวณโดยรอบ เช่น ถนนราชดำเนิน สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานมหาดไทยอุทิศ วัดราชนัดดา วัดเทพธิดา ถนนบำรุงเมือง แม่น้ำเจ้าพระยา และสถานที่สำคัญๆ อีกมากมาย

ขอบล่างของภาพมีวันเดือนปีที่ถ่ายคือ 20 MAR 46 หรือวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ พ.ศ. ๒๔๘๙

จุดที่น่าสนใจของภาพซึ่งตั้งใจจะชี้ชวนให้ชมครั้งนี้คือบันไดแบบตรงทางด้านทิศใต้ของภูเขาทอง ซึ่งไม่ค่อยมีใครถ่าย ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ถ่ายจากเครื่องบินโดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์ ฮันท์ วันที่ ๒๐ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

ภูเขาทองเริ่มสร้างในรูปภูเขาเมื่อสมัย ร.๔ มีบันไดเวียนขึ้นลงสองด้าน ส่วนบันไดตรงนั้นไม่ทราบแน่ว่าสร้างพร้อมบันไดเวียนหรือไม่ เคยพบในเรื่อง “ภูเขาทอง” หนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๖ ร.ศ. ๑๐๙ พ.ศ. ๒๔๓๓ หอสมุดแห่งชาติว่า ในงาน พ.ศ. ๒๔๓๓ นั้น มีการจุดไฟโคม “ปักตามเชิงเขาพื้นล่างที่บันไดเวียน แลบันไดตรงนั้นตามตะเกียงเปนระยะตลอดขึ้นไปจนถึงชั้นบน…” ดูงดงามยิ่งนัก นี่แสดงว่าบันไดตรงมีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัย ร.๕ แล้ว

ผู้เขียนสนใจบันไดตรงก็เพราะดูเหมือนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้หนังสือนิราศบรมบรรพต แต่งโดยพระพินิจหัดถการ (ชื่น เข้าใจว่านามสกุล สาริกบุตร) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ มาเล่มหนึ่ง ในหน้า ๑๐ เขียนถึงบันไดตรงว่า เคยมีคนตกลงมาตาย จึงทำให้อยากรู้อยากเห็นบันไดชันขึ้น กลอนหน้า ๑๐ นั้นกล่าวว่า

“ล่วงหนทางมาถึงหว่างบรรไดเวียน

เปนที่เตียนชั้นกว้างหนทางใหญ่

มีทางแยกที่ตัดลัดขึ้นไป

เปนบรรไดตรงชันชั้นน่ากลัว

ไม่มีใครขึ้นลงที่ตรงนั้น

ที่สำคัญใครดูก็รู้ทั่ว

ต้องเอาไม้ปิดกันกั้นเปนรั้ว

อยู่จนชั่วเดี๋ยวนี้มีจริงๆ

แต่ก่อนนั้นตกตายเปนหลายคน

ตั้งแต่บน ตกตรง ลงมากลิ้ง

มือจะคว้าจับอะไร ไม่ได้จริง

ก็แน่นิ่งพอถึงล่างก็วางวาย

๐ ฉันนิ่งนึกตรึกตรมอารมย์หมอง

ภูเขาทองสูงใหญ่น่าใจหาย

ใครพลั้งแล้วก็คงต้องถึงตาย

อย่านึกหมายว่าจะได้เห็นใจกัน…”

แปลว่าบันไดตรงมีความชันค่อนข้างมาก ผู้เขียนคิดว่าคงคล้ายๆ กับบันไดขึ้นชั้นบนสุดของพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งหากไม่มีราวบันไดให้เกาะ คนทั่วไปก็คงยากที่จะปีนขึ้นลงได้

ได้เคยไปถามพระที่วัดสระเกศดูเมื่อวันศุกร์ที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ท่านว่าเคยมีบันไดตรงจริง แต่ท่านไม่สนใจรายละเอียด ผู้เขียนเองจึงพลอยคิดไปว่าคงถูกรื้อเสียหมดเมื่อคราวซ่อมใหญ่ พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๗ กระมัง จนเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องไปปีนภูเขาทองเพื่อการอ่านภาพเก่าชุดหนึ่ง ขาลงจึงได้สังเกตพบว่าด้านทิศใต้ของภูเขาทอง มีบันไดชันช่วงหนึ่งปรากฏอยู่ราว ๒๐ ขั้น ปลายบนสุดอยู่ตรงศาลาอินทรครรชต ปลายล่างถูกตัดให้ขาดด้วน นี่เชื่อว่าต้องเป็นส่วนที่เหลือของบันไดตรงซึ่งเคยกังขาแน่

ลองเอาภาพถ่ายทางอากาศมาเทียบตำแหน่งดูพบว่าเป็นบันไดตรงจริง แต่บันไดตรงที่สมบูรณ์ต้องสร้างลงไปจนเกือบถึงบันไดเวียนใกล้ระดับพื้นดิน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้บันไดมีความสูงเป็น ๔๐ กว่าขึ้น คือมีระยะไกลมากขึ้น ความจริงบันไดนี้ อ.จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ผู้สนใจเรื่องเก่าบอกแก่ผู้เขียนเมื่อวันเขียนต้นฉบับ วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ว่าท่านเองก็เคยขึ้น มันหวาดเสียวดี ปกติทางวัดเคยเปิด และสมัยก่อนเวลาตักบาตรเทโว พระท่านก็ลงทางนั้น แต่เวลามีงานเทศกาลเช่นงานประจำปี ทางวัดจะปิดทางขึ้นลงเสียเพื่อมิให้คนเบียดเสียดจนพลั้งตก

บันไดตรงถูกตัดทิ้งให้ขาดด้วนเมื่อปีใดยังระบุไม่ได้ หนังสือประวัติวัดสระเกศที่มีในมือก็ไม่มีที่กล่าวถึงเรื่องนี้

ภาพถ่ายบันไดตรงยังมีอีกภาพหนึ่ง ถ่ายโดยฮันท์เช่นกัน เป็นภาพถ่ายใกล้เข้าไปอีกนิดหนึ่ง ทำให้เห็นบันไดชันชัดขึ้น แต่ผู้เขียนไม่มีโอกาสไปขอทำสำเนาจึงนำภาพระยะไกลกว่ามาแสดง


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2561