ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สี่แผ่นดิน” เป็นวรรณกรรมที่แต่งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อแรกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐในทศวรรษ 2490 ก็ได้รับความนิยมแพร่หลาย คนอ่านต่างเอาใจช่วย “แม่พลอย” ตัวละครเอกในเรื่องกันเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าจอมอาบ เป็นพระภรรยาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น 1 ใน 5 ใน “เจ้าจอมก๊กออ” แห่งสายสกุลบุนนาค ที่ประกอบด้วย เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งเจ้าจอมก๊กออนี้เป็นพี่น้องกันทั้งหมด
อ่านเพิ่มเติม : เจ้าจอมคนโปรดแห่งพระราชสำนักฝ่ายใน กับการชิงดีชิงเด่นผ่าน “เจ้าจอมก๊กออ”
เจ้าจอมอาบเกิดใน พ.ศ. 2424 ถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2504 สิริอายุ 80 ปี เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอู่ ซึ่งเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ขุนนางมากอำนาจเปี่ยมบารมีสมัยรัชกาลที่ 3-4
ด้าน “แม่พลอย” ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน แม้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะไม่ได้เขียนบอกไว้ชัดเจนว่าเป็นคนตระกูลไหน แต่ด้วยพระยาพิพิธฯ บิดาแม่พลอย มีบ้านอยู่คลองบางหลวง และมีประโยคสนทนาในเรื่องที่พูดถึงพระยาพิพิธฯ ว่า “เจ้าคุณนั้นก๊กฟากขะโน้นบ้านบน…” ซึ่งคำว่า “ฟากขะโน้น” ในสมัยรัชกาลที่ 5 รู้กันอย่างกว้างขวางว่า หมายถึง “ตระกูลบุนนาค” ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ฝั่งธนบุรี
ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า แม่พลอย คือหนึ่งในสมาชิกสายสกุลบุนนาค
ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้เขียนวรรณกรรมขึ้นหิ้งเรื่องนี้ ก็มีเชื้อสาย “บุนนาค” ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ (พระนามเดิม คือ ม.จ.คำรบ) กับหม่อมแดง ซึ่งหม่อมแดงเป็นธิดาเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)
สี่แผ่นดินตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐตั้งแต่ พ.ศ. 2494 กระทั่งจบสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2495 รวมระยะเวลา 1 ปีกว่า จากนั้นก็นำต้นฉบับมาตีพิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2496 ตอบรับกระแสผู้อ่านที่ชื่นชอบนวนิยายเรื่องดังกล่าว
หากดูช่วงเวลาที่สี่แผ่นดินออกสู่สายตาคนอ่านครั้งแรกคือ พ.ศ. 2494 ช่วงนั้น เจ้าจอมอาบ มีอายุ 70 ปี เรียกว่าท่านเป็นแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมเรื่องนี้ก็ว่าได้ เพราะท่านรักและเอ็นดูแม่พลอยอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่เมื่อเรื่องดำเนินถึงตอนแม่พลอยท้อง เจ้าจอมอาบถึงขั้นส่งมะม่วงให้แม่พลอยกินแก้แพ้ท้องเลยทีเดียว
เรื่องนี้ไม่ได้พูดลอยๆ เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เล่าเอาไว้ในคำนำเรื่องสี่แผ่นดิน ฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงจำเริญ ประเสริฐศุภกิจ ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ไว้ว่า
“ผมยังจำได้ว่าเมื่อครั้งเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ ยังคงเป็นเรื่องยาววันต่อวันในหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น พอถึงตอนที่แม่พลอยแพ้ท้อง และปรารภกับคุณเปรมผู้เป็นสามี ว่าอยากรับประทานมะม่วงดิบ ก็มีท่านที่นับญาติกับแม่พลอยส่งมะม่วงดิบมาให้ถึงโรงพิมพ์สยามรัฐทันที ทั้งที่ขณะนั้นมิใช่หน้ามะม่วง
“ท่านที่ส่งมะม่วงดิบมาให้แม่พลอยนั้น คือ เจ้าจอมอาบในรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมอาบเป็นคนในสกุลบุนนาค”
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด จะเป็นเพราะเจ้าจอมอาบเห็นว่าแม่พลอยเป็นสายสกุลบุนนาคเหมือนกัน หรือเพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ รังสรรค์ตัวละครแม่พลอยให้เหมือนมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ จนเจ้าจอมอาบรักและเอ็นดูแม่พลอยเหมือนลูกหลาน หรือเพราะบางฉากบางเหตุการณ์สอดคล้องกับประสบการณ์บางช่วงชีวิตของเจ้าจอมอาบ
แต่อย่างน้อยเรื่องนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า “สี่แผ่นดิน” ได้รับความนิยมจากคนอ่านมากแค่ไหน
อ่านเพิ่มเติม :
- “แม่พลอย” ตัวละครเอกใน “สี่แผ่นดิน” มีเชื้อสายสกุลอะไร?
- “เจ้าจอมมารดาอ่อน” แห่งเจ้าจอมก๊กออในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาที่มีอายุยืนยาวสุด
- “เจ้าจอมหม่อมห้าม” คือใคร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. สี่แผ่นดิน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, พิมพ์ครั้งที่ 15, 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤษภาคม 2567