เจ้าจอมคนโปรดแห่งพระราชสำนักฝ่ายใน กับการชิงดีชิงเด่นผ่าน “เจ้าจอมก๊กออ”

จากซ้าย : เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน

“เจ้าจอม” คือบาทบริจาริกาผู้ถวายงานรับใช้พระมหากษัตริย์ มีตำแหน่งเทียบเท่าพระสนม หากเจ้าจอมท่านใดมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาก็จะเรียกว่า “เจ้าจอมมารดา” บรรดาเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เป็นที่รู้จักในหน้าประวัติศาสตร์มากกลุ่มหนึ่งคือ “เจ้าจอมก๊กออ”

เจ้าจอมก๊กออ ประกอบไปด้วยเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมรวม 5 ท่าน เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอู่ ประกอบไปด้วย เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน ด้วยเหตุที่มีชื่อด้วยอักษร อ. อ่าง จึงเรียกเจ้าจอมกลุ่มนี้ว่าเจ้าจอมก๊กออ

เจ้าจอมมารดาอ่อนเข้าสู่พระบรมมหาราชวังถวายงานรับใช้ในตำหนักเจ้าคุณจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์) ก่อนจะได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาอ่อนเป็นท่านเดียวในเจ้าจอมก๊กออที่ประสูติพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา

ส่วนเจ้าจอมท่านอื่นก็เริ่มเข้าวังมาเป็นข้ารับใช้ในตำหนัก ก่อนที่จะถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งล้วนแต่เป็นที่โปรดปรานพระราชหฤทัยทั้งสิ้น

รัชกาลที่ 5 โปรด เจ้าจอมก๊กออ อย่างไร?

เจ้าจอมก๊กออแต่ละท่านมีความสามารถและทำหน้าที่โดดเด่นจนสามารถถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 5 ได้อย่างดีเยี่ยม กล่าวคือ เจ้าจอมมารดาอ่อนทำหน้าที่ช่วยตั้งเครื่องเสวย, เจ้าจอมเอี่ยมทำหน้าที่ช่วยทำเครื่องเสวย และถวายงานนวด, เจ้าจอมเอิบทำหน้าที่ช่วยทำเครื่องเสวย และเป็นผู้ถวายการแต่งพระองค์ เป็นต้น

เจ้าจอมเอี่ยม 

เจ้าจอมเอี่ยมเป็นที่โปรดปรานเพราะทรงเป็น “หมอนวด” ที่ดีที่สุดก็ว่าได้ รัชกาลที่ 5 ทรงปรารภถึงการนวดของเจ้าจอมเอี่ยมว่ามีเรี่ยวแรงเทียบเท่าผู้ชาย 8 คน แรงมากเท่าหมอนวดรวมกัน 16 คน เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป ทรงปวดเมื่อยพระวรกายจนนอนไม่หลับ ทรงกริ้วมหาดเล็กที่ไม่สามารถถวายงานรับใช้ตามพระราชหฤทัย จนมีพระราชประสงค์จะให้โทรเลขตามเจ้าจอมเอี่ยมมานวดให้ถึงยุโรปหรือจะเสด็จกลับกรุงเทพฯ ให้รู้แล้วรู้รอดเลยทีเดียว

เหตุการณ์ในครั้นนั้นยังปรากฏในจดหมายของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรส ว่ามีการเล่าลือกันเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าจอมเอี่ยมได้รับความดีความชอบเป็นอย่างมาก ดังความในจดหมายว่า “แม่เอี่ยมเขาได้รับพระราชหัตถ์ทรงพรรณาคุณความดีในการนวดอยู่ข้างเหวมาก บอกว่าครั้งนี้ตัวได้ชื่อเสียงที่สุด” ประโยคหลังสุดนี้คงจะเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ชัดว่า เจ้าจอมเอี่ยมเป็นที่โปรดของรัชกาลที่ 5 มากเพียงใด

นอกจากนี้ ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ประชวรหนัก เจ้าจอมเอี่ยมก็ได้ถวายงานนวดอยู่เสมอ ในหนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 โดย ราม วชิราวุธ นามปากกาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ประชวรหนัก ผู้ที่จะเข้าเฝ้าถึงห้องพระบรรทมได้ก็เฉพาะแต่ผู้ที่มีพระราชดำรัสให้หาเจาะตัวเท่านั้น เมื่อเจ้าจอมเอี่ยมถวายงานนวดเสร็จก็จะเรียกเจ้าจอมเอิบมาถวายงานนวดแทน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความโปรดปรานพระราชหฤทัยแด่เจ้าจอมทั้งสองได้เป็นอย่างดี

เจ้าจอมเอิบ

เจ้าจอมเอิบเป็นผู้ที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้ถวายงานอยู่รับใช้ข้างพระวรกายอยู่โดยเสมอ อย่างที่คนโบราณเรียกว่า เอาไว้ใช้ติดตัว (กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ, 2558) ครั้นเสด็จประพาสต่างประเทศก็มักจะให้โดยเสด็จด้วยเป็นครั้งคราว แต่เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ไม่ได้มีฝ่ายในตามเสด็จ รัชกาลที่ 5 ทรงห่วงหาเจ้าจอมเอิบและมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแด่เจ้าจอมเอิบว่า ทรงเห็นหน้าเจ้าจอมเอิบมากกว่าผู้ใด และฝันถึงเจ้าจอมเอิบอยู่ร่ำไป

หน้าที่ของเจ้าจอมเอิบที่สำคัญมากนอกจากการถวายงานนวดแล้ว คือการแต่งพระองค์ (แต่งตัว) ให้รัชกาลที่ 5 เมื่อจะเสด็จฯ ที่ใดก็มักให้เจ้าจอมเอิบเป็นผู้แต่งพระองค์ให้เสมอ โดยขณะที่แต่งพระองค์อยู่นั้น รัชกาลที่ 5 ทรงแกล้งเซไปหาเจ้าจอมเอิบ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำราญพระราชหฤทัยมาก นอกจากนี้เจ้าจอมเอิบยังเป็นผู้ทอดปลาทูได้ดีมาก เนื่องจากปลาทูเป็นพระกระยาหารโปรดของรัชกาลที่ 5 จนพระองค์ระบุเจาะจงไว้ว่าจะต้องให้เจ้าจอมเอิบเป็นผู้ทอดปลาทูถวายเท่านั้น

เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ส่วนเจ้าจอมอาบและเจ้าจอมเอื้อนก็เป็นที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 5 ไม่แพ้เจ้าจอมก๊กออท่านอื่น ๆ ในหนังสือ บันทึกความทรงจำ ของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่าไว้ว่า ขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงงานอยู่นั้น จะมีพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงหมอบเขียนตามรับสั่ง ส่วนเจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ เจ้าจอมเอื้อน จะนั่งที่พระเฉลียงคอยรับใช้จนกว่าจะทรงงานเสร็จเรียบร้อย บางครั้งก็ทรงงานดึกจนถึงรุ่งเช้าก็มี

รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นห่วงเป็นใยและมักพระราชทานข้าวของเครื่องใช้ ทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเพชรนิลจินดาให้เจ้าจอมก๊กอออยู่เสมอ เมื่อเสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสด็จประพาสยุโรปก็พระราชทานเครื่องเพชรเป็นสร้อยเพชรและเทียร่าเพชร การเป็นเจ้าจอมที่โปรดมากนี้ยังสะท้อนให้เห็นจากการที่รัชกาลที่ 5 มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักและเรือนพระราชทานให้แก่เจ้าจอมก๊กออทุกท่าน ทั้งในพระราชวังสวนดุสิต สวนสุนันทา บางปะอิน

รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่า เจ้าจอมก๊กออนั้นไม่มีพระราชโอรส จะมีแต่เพียงเจ้าจอมมารดาอ่อนที่มีแต่พระราชธิดา หากพระองค์สวรรคตไปแล้วก็เกรงว่าบั้นปลายชีวิตของเจ้าจอมก๊กออจะลำบาก ดังนั้นจึงพระราชทานที่ดินและเงินทองให้ไว้เป็นทรัพย์ส่วนตัว เช่น ที่ดินบริเวณวัดโบสถ์ เขตสามเสน ถนนสุโขทัย เลียบคลองสามเสน เป็นที่ดินพระราชทานให้เจ้าจอมก๊กอออยู่ติด ๆ กัน

เจ้าจอมก๊กออ กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ

ชีวิตในวังหลวงส่วนพระราชสำนักฝ่ายในย่อมมีเรื่อง “ซุบซิบ” และ “ริษยา” อยู่บ้างตามประสามนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง แต่เรื่องเหล่านี้มิได้มีบันทึกไว้ด้วยถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ภายในพระราชวงศ์ แต่ในหนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกเกี่ยวกับเจ้าจอมก๊กออไว้บางส่วน ทรงเล่าว่า รัชกาลที่ 5 โปรดเมืองเพชรบุรีมากถึงกับตั้งพระราชหฤทัยเมื่อสร้างพระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาทฯ เสร็จแล้วจะเสด็จมาประทับที่เพชรบุรีแล้วย้ายที่นี่ให้เป็นพระราชสำนักประจำ การที่รัชกาลที่ 5 โปรดเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีบ่อยครั้งนั้น เหล่าข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในก็ต้องตามเสด็จมาด้วยเพื่อถวายงาน รวมถึงเจ้าจอมก๊กออ

รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ 5 “ทรงพระเมตตาและทรงเกรงพระหฤทัยเสด็จแม่อยู่มากตลอดกาล” และมีพระราชดำรัสชวนให้เสด็จไปเมืองเพชรบุรีแต่ “เสด็จแม่” หรือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปเพียงแค่ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น โดยทรงให้เหตุผลที่ไม่ตามเสด็จในครั้งหลัง ๆ เนื่องจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดาตามเสด็จไปเมืองเพชรบุรีแล้วประชวร เมื่อกลับสู่กรุงเทพฯ ก็ประชวรจนสิ้นพระชนม์

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในรัชการที่ 5 (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกว่า เหตุผลนั้นทรงยกเป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ เคยรับสั่งกับพระองค์เองว่า “แท้จริงเหตุที่ไม่อยากเสด็จเพ็ชรบุรีนั้น เพราะทรงขวาง ‘ก๊ก อ'” รัชกาลที่ 6 จึงทูลว่าหากไม่ตามเสด็จจะทำให้รัชกาลที่ 5 ไม่พอพระราชหฤทัย และอาจเปิดช่องให้ “ผู้เป็นอมิตร์ฉวยโอกาสกราบบังคมทูลอะไรต่อมิอะไรได้” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ตรัสตอบว่า “อย่างไรๆ เขาก็หาเรื่องทูลอยู่เสมอแล้ว, จะเสด็จไปหรือมิเสด็จก็คงเท่ากัน… จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์นั้น เหลือกำลังละ”

ต่อมาภายหลัง รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสว่า “แม่เล็กเขาเบื่อผัวเสียแล้ว, อยากอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อชมบุญลูกของเขามากกว่า” (แม่เล็กหมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ) รัชกาลที่ 6 จึงนำความขึ้นกราบทูลให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทราบจึงทำให้พระองค์ดาลโทษะ รัชกาลที่ 6 ทรงจำเป็นต้องช่วยกราบทูลแก้ไขให้อยู่นานจนสุดท้ายก็ทรงยอมคล้อยตาม และรับสั่งว่าหากรัชกาลที่ 5 ดำรัสชวนไปอีกก็จะตามเสด็จ แต่จะให้เป็นฝ่ายไปทูลขอตามเสด็จนั้นจะไม่ทำเป็นอันขาด ดังบันทึกความว่า “แต่จะให้ฉันกระเสือกกระสนไปทูลขอตามเสด็จนั้น ฉันทำไม่ได้”

ขัดแย้ง? ชิงดีชิงเด่น?

แม้จะปรากฏเรื่องของเจ้าจอมก๊กออไม่เป็นที่พอพระทัยในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ดังเรื่องที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังปรากฏอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ เจ้าจอมเอิบกล้าทูลขอเข็มขัดต่อหน้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและพระพันปีอย่างตรงไปตรงมา จนสมเด็จพระพันปีทรงขัดไม่ได้ จึงทรงหยิบมาประทานให้กับเจ้าจอมเอิบ (กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ, 2558)

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ อธิบายในหนังสือ การเมืองในราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ทรงมีผู้อยู่ในฐานะ “อมิตร์” ซึ่งได้กระทำการกราบบังคมทูลถึงพระองค์ในแง่ลบแก่รัชกาลที่ 5 อยู่เสมอ “โดยหนุนให้ท่านทรงเกิดความอิจฉา แก่ผู้ที่เคยเปนคู่แข่งเดิมของพระองค์ท่าน” (ราม วชิราวุธ, 2545)

ในหนังสือ ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออในรัชกาลที่ 5 ผู้เขียนซึ่งเป็นหลานของเจ้าจอมเอี่ยมได้เขียนเล่าเรื่องการ “แกล้ง” กันในพระราชสำนักฝ่ายในของเจ้าจอมเอี่ยม กล่าวคือ การถวายงานในรัชกาลที่ 5 จะมีผู้มารอถวายงานต่อกัน หากผู้ที่ถวายงานอยู่ไม่ได้ออกทางประตูก็จะถือว่ายังถวายงานไม่เสร็จ ผู้ที่มารอถวายงานจำเป็นต้องนั่งรอหน้าห้อง ครั้นเมื่อเจ้าจอมเอี่ยมถวายงานนวดให้รัชกาลที่ 5 เสร็จแล้ว ท่านนึกอยากแกล้งโดยไม่กลับออกไปทางประตู แต่จะแอบออกไปทางหน้าต่างแทน ปล่อยให้ผู้ที่ถวายงานต่อรอไปเช่นนั้น เพราะคิดว่าเจ้าจอมเอี่ยมยังนวดไม่เสร็จ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายภาพกับเจ้าจอมเอิบ (ซ้าย) เจ้าจอมเอี่ยม (กลาง) และเจ้าจอมเอื้อน (ขวา)

อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งก็ปรากฏว่า เจ้าจอมก๊กออเป็นที่สนิทสนมกับพระภรรยาเจ้า เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างมาก

เจ้าจอมอาบเป็นผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเครื่องดนตรีทั้งไทยและสากล ท่านไปมาหาสู่กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมาดารชุ่ม จึงมักไปตำหนักของพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภาอยู่เนือง ๆ เนื่องจากที่ตำนักนี้มักมีมโหรี กระทั่งเมื่อบั้นปลายชีวิต เจ้าจอมอาบก็ย้ายไปอาศัยอยู่ที่วังของพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา

บรรดาเจ้าจอมก๊กออนั้นยังสนิทสนมกับพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีความรักใคร่ไปมาหาสู่กันเสมอ โดยปรากฏภาพถ่ายภาพหนึ่งที่เจ้าจอมเอิบผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพมากคนหนึ่งในพระราชสำนัก กำลังตั้งกล้องถ่ายภาพพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (ดูภาพถ่ายในหนังสือ เจ้าจอมก๊กออ เขียนโดย ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ หน้า 411) ขณะที่เจ้าจอมเอี่ยมที่มีฝีมือการทำอาหารอยู่ไม่น้อย ก็เป็นผู้ช่วยพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ทำเครื่องเสวยถวายรัชกาลที่ 5 (ดูภาพถ่ายในหนังสือ เจ้าจอมก๊กออ เขียนโดย ดร. กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ หน้า 310) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างพระภรรยาเจ้ากับเจ้าจอมก๊กออได้ชัดเจน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ภรณ์ แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน ในรัชกาลที่ 5

เจ้าจอมก๊กออถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 5 ด้วยความจงรักภักดีมาโดยตลอด เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ และเจ้าจอมเอื้อน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ส่วนเจ้าจอมอาบได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเพียงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้เป็น “คนโปรด” แต่นั้นย่อมเกิดความหึงหวง อิจฉา ริษยา ชิงดีชิงเด่นเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในพระราชสำนักฝ่ายในก็ไม่ได้ถึงขั้นรุนแรง อาจมีสาเหตุมาจากอุปนิสัยของเหล่าพระภรรยาเจ้าและพระภรรยาซึ่งเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยนมีเมตตา สมกับที่เป็นผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และความจงรักภักดีที่มีต่อรัชกาลที่ 5 จนมิปรารถนาจะก่อเรื่องร้ายแรงให้ระคายเคืองพระราชหฤทัย (ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์, 2561)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. (2558). เจ้าจอมก๊กออ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. (2561). การเมืองในราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ: มติชน.

ราม วชิราวุธ. (2545). ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2562