พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีผู้อาภัพ เหตุสืบเชื้อสายจาก “บ้านฟากข้างโน้น”

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี

การจะดำรงพระราชบัลลังก์ให้มั่นคงนั้น สิ่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับพระมหากษัตริย์คือต้องกระทำการเสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์รวมไปถึงสตรีสูงศักดิ์จากตระกูลใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงกระทำเช่นเดียวกัน และพระภรรยาเจ้าที่สำคัญพระองค์หนึ่งคือ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี หรือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งมีเชื้อสายจากสกุล “บ้านฟากข้างโน้น” หรือ “บุนนาค”

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระนางเจ้า พระราชเทวี” ในรัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะที่พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี นั้น ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 5 เป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ไปรเวตสิเกรตารี” ทรงมีหน้าที่คัดพระกระแสรับสั่งราชการเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

แม้จะทรงเป็นพระราชเทวีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 ให้ถวายงานรับใช้ใกล้เบื้องพระยุคลบาท และยังทรงเป็นที่เคารพนับถือทั้งราชสำนักฝ่ายหน้าและฝ่ายใน แต่พระองค์ก็ทรงมักได้รับความทุกข์ ทรงมีจดหมายตัดพ้อชีวิตของพระองค์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรส ความว่า

“…แม่ขอบอกแก่พ่อผู้เป็นลูกที่รักแลที่หวังความสุขของแม่ให้ทราบว่าตัวแม่นี้เปนมนุษย์ที่อาภัพ มักจะได้รับแต่ความทุกข์อยู่เป็นนิจ แม่มิได้มีอันใดซึ่งจะเปนเครื่องเจริญตาเจริญใจที่จะดับทุกข์ นอกจากลูก…”

จากซ้าย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิง), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

ถึงแม้ว่าพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี จะทรงได้รับพระเมตตาจากรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก แต่ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ส่งผลกระทบถึงพระองค์ผู้เป็นเชื้อสายสกุลบุนนาคอยู่ไม่น้อย (ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์, 2561)

ในเรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าได้ส่งผลกระทบถึงตำแหน่งหรือพระอิสริยยศของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซึ่งพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศแค่ชั้นพระราชเทวีเท่านั้น ขณะที่พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์อื่น ๆ ก็ได้รับสถาปนาอิสริยยศชั้นพระอัครมเหสีเป็น “สมเด็จ” ทั้งสิ้น เช่น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็นต้น

สาเหตุที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศด้อยกว่าพระมเหสีพระองค์อื่นนั้น อาจเป็นเพราะทรงสืบเชื้อสายจากสกุลบุนนาคทางฝั่งพระมารดา กล่าวคือ เจ้าคุณจอมมารดาสำลี พระมารดา เป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ขุนนางผู้ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่งของตระกูลบุนนาคในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4

เรื่องนี้มีปรากฏในจดหมายที่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ประทานแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในโอกาสการให้โอวาทแด่พระราชโอรส ขณะที่ทรงศึกษาในต่างประเทศ ความว่า

“…เพราะแม่รู้อยู่เต็มใจว่าชาวฟากข้างโน้นนั้นเปนที่รังเกียจของเจ้านายเปนอันมาก เพราะผู้ใหญ่บางคนทำยุ่งเหยิงไว้ ความชั่วจึงเลยมาแปดเปื้อนแก่พวกลูกหลานต่อมา แลพวกเหล่านั้นกองพันโตหนักด้วย…” 

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงดำรงพระอิสริยยศชั้นพระราชเทวีเรื่อยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 6 กระทั่งพระองค์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในต้นรัชกาลที่ 7 ดังนั้นจึงได้ทรงดำรงพระอิสริยยศชั้นพระอัครมเหสีอย่างสมพระเกียรติยศสูงสุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. (2548). พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. (2561). การเมืองในราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2562