ทำไมรัชกาลที่ 5 เกือบต้องรับสั่งให้โทรเลขตาม“เจ้าจอมเอี่ยม”ไปยุโรป

เจ้าจอมเอี่ยม หนึ่งในเจ้าจอมก๊ก อ.

บรรดากุลสตรีที่ถวายตัวเข้ารับราชการในราชสำนักฝ่ายในนั้น จะนับว่าเป็นผู้มีฐานะมั่นคงได้ เมื่อเลื่อนตำแหน่งเป็น “เจ้าจอมมารดา” เพราะพระเจ้าลูกเธอจะทรงเป็นเครื่องผูกพันพระทัยพระบรมราชชนกได้อย่างดียิ่ง

แต่เงื่อนไขดังกล่าวใช้ไม่ได้กับ “เจ้าจอมเอี่ยม” ที่เป็นหนึ่งในบรรดา “คนโปรด”

Advertisement

เจ้าจอมเอี่ยม เป็นหนึ่งในเจ้าจอมก๊ก อ. เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) เกิดแต่ท่านผู้หญิงอู่ ถวายตัวเข้ารับราชการในพระราชสำนักฝ่ายในพร้อมพี่สาวน้องสาว มีเจ้าจอมมารดา อ่อน เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเจ้าจอมเอี่ยมมีความสามารถใน “การนวด” ที่ยากจะหาใครเปรียบได้ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองทรงมีพระอาการปวดเมื่อยพระวรกาย ต้องมีพนักงานถวายงานนวดเวลาบรรทม

ฝีมือนวดของเจ้าจอมเอี่ยมเป็นที่พอพระราชหฤทัยและโปรดปรานเพียงใด ปรากฏหลักฐานเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 ที่ทรงอึดอัดพระทัยเกี่ยวกับผู้ถวายงานนวดนั้น ทําให้ทรงคิดปัญหาเปรียบเปรยข้าราชบริพารชายผู้ทําหน้าที่นวดในระหว่างเสด็จว่า

“…นวดมันไม่ได้ดี เป็นปัญหาที่ได้ถามกันในโต๊ะว่าบรรดาสัตว์โลกอะไรมีกําลังมาก ตอบกันว่ามดตามแบบ ถามต่อไปว่า อะไรมี กําลังน้อย ตอบกันว่าช้าง พ่อว่าไม่ใช่ บุรุษที่เป็นหมอนวด เฉพาะแต่ผู้ชาย มันช่างเป็นพ่อถนิมสร้อยทุกๆ คน หาแรงสักครึ่งผู้หญิงไม่ได้ อะไรก็สบาย ร้ายแต่นวดได้ความเดือดร้อนเป็นที่ล้นพ้น…”

การที่ทรงมีพระราชปรารภว่า “หาแรงสักครึ่งผู้หญิงไม่ได้” ก็เพราะว่าเมื่อพระองค์ประทับอยู่ในพระราชฐาน ทรงมีคุณจอมเอี่ยม ทําหน้าที่ถวายงานนวดด้วยหลักวิธีที่ถูกต้อง และฝีมือที่ดีเลิศ เป็นที่พอพระราชหฤทัย

เมื่อทรงไม่สมพระทัยในฝีมือนวดของเหล่าข้าราชบริพารชาย ทรงนึกถึงฝีมือการนวดของคุณจอมเอี่ยม จนถึงกับมีพระราชดําริจะให้คุณจอมเอี่ยมตามเสด็จเพื่อถวายงานนวด แม้ทรงรู้ว่าเสี่ยงต่อการถูกนินทาว่าร้าย ดังที่ทรงกล่าวไว้ในพระราชเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จฯกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ความน่า

“…ในเวลามานี้ความสุขทุกข์ในส่วนตัวว่าโดยย่อวันแรกดีมาก ต่อมาดูลงรูปกับเมื่ออยู่บางกอกในเวลาสบาย ได้ความเดือดร้อนแต่เวลานอน ตาสัมพาหะแกหัดอ้ายลบ ให้นวดงอก่อเหมือนแก ดูอาการราวกับจะยกเขาพระสุเมรุ เหน็ดเหนื่อยนี่กระไร แต่เราวางมือไม่ได้ ต้องเป็นครูหมอนวด หลับช้าทุกวันๆ นี้ออกจะเป็นปตฆาฎ คิดถึงนางเอี่ยมกับนางเหมเต็มที เรี่ยวแรงถ้าจะเทียบเท่าผู้ชายชนิดนี้ 8 คน เท่าแรงหมอนวดแท้ 16 คน การมันประหลาดเช่นนี้ จะเชื่อว่าผู้หญิงแรงกว่าผู้ชายฤไม่ก็ตามแต่จะเห็น…”

และอีกฉบับหนึ่งมีเนื้อความทํานองเดียวกัน คือทรงพระราช ปรารภเกี่ยวกับเรื่องการนวดของมหาดเล็ก และคิดถึงฝีมือนวดของ คุณจอมเอี่ยม ความว่า

“…จะไม่ใคร่จะสนุกมาคราวนี้ เพราะฉันนอนไม่หลับเต็มที่ การปฏิบัติไม่ถึงใจ กล่าวคือนวดไม่ได้เลย แลขี้เกียจนอนกันเป็นกําลัง…มหาดเล็กพูดอะไรก็ไม่เข้าใจ เรียกเอาอะไรไม่ได้ จนลงเสี่ยงทายเมื่อคืนนี้ ว่าถ้านอนไม่หลับจะต้องทนเสียเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ โทรเลขเข้าไปให้ส่งนางเอี่ยมออกมา ให้เขาลือว่าเป็นบ้ากาม ฤาเสด็จกลับเข้าไปบางกอกให้เขาลือว่าจวนตายแล้ว ดีกว่าไปตายจริงๆ เดือดร้อนเต็มที่ ไม่มีความสุขเลย ถ้ากลับมามีเมียแหม่มเข้ามา ด้วยอย่าได้เข้าใจว่าไปเกิดคิดเคลิ้มคลั่งขึ้นทั้งแก่ ขอให้เข้าใจว่าเป็นเนิสอย่างมิสเตอสโตเบล…”

จากพระราชหัตถเลขาทั้ง 2 ฉบับนี้ทําให้แจ้งชัดถึงคุณสมบัติ อันโดดเด่นเฉพาะตัวและความสำคัญของคุณจอมเอี่ยม อันเป็นเหตุให้ทรงโปรดปรานจนตลอดพระชนมายุ

นอกจากมีพระราชปรารภกับผู้อื่นแล้ว ในส่วนคุณจอมเอี่ยมก็ได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขา ทรงบอกถึงความคิดถึงและยกย่องความดีของคุณจอมในด้านถวายงานนวดอย่างมากมาย เรื่องนี้นําความปลาบปลื้มมาสู่คุณจอมเอี่ยมเป็นที่สุด ดังจะเห็นได้จาก พระหัตถเลขาของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี ซึ่งทรงถึงพระราชโอรสที่ตามเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า

“แม่ได้ยินเขาโจทย์กันถึงพระราชโทรเลขถึงกรมดํารงว่า ไม่ทรงสบายแลกริ้วมหาดเล็ก มีความวิตกอยู่เป็นอันมาก ไหนจะวิตกเกรงพระอาการอื่นจะกําเริบ ไหนจะกลัวลูกถูกกริ้วด้วย แต่เมื่อทราบตามหนังสือของลูกก็คลายวิตกไปส่วนหนึ่ง แม่เอี่ยมเขาได้รับพระราชหัตถ์ทรงพรรณาคุณความดีในการนวดอยู่ข้างเหวมาก บอกว่าครั้งนี้ตัวได้ชื่อเสียงที่สุด

เจ้าจอมเอี่ยม(นั่ง) และเจ้าจอมเอิบ(ยืน)

คุณจอมเอี่ยมรับใช้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความซื่อตรงจงรักภักดีและขยันหมั่นเพียร เป็นเหตุให้ทรงมีพระเมตตาและมีน้ำพระทัยผูกพัน ถึงกับทรงมีพระกังวลเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตของคุณจอมเลี่ยม เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว ปรากฎหลักฐานเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ลงวันที่ 11 สิงหาคม ร.ศ. 123 ความตอนหนึ่งว่า

“…ฉันมีความในใจอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการในส่วนตัวแท้ จะพูดกับใครก็มีความละอาย ได้เคยพูดแต่กับกรมสมมติ แต่ยังไม่เป็นการตกลงแน่นอนกันอย่างไร คือบรรดาเจ้าจอมที่เป็นคนโปรดปราน ของฉันมีลูกหมดทุกคน การภายหน้าของคนเหล่านั้นคิดประกอบกันกับลูกก็พอเห็นทางที่จะทําไปไม่ยาก แต่มามีไม่มีลูกอยู่ ๒ คน นางเอียมกับนางเอิบ…

ความกังวลอันเกิดแต่ความห่วงใยของพระองค์ เกิดจากพระเมตตาที่ทรงมีต่อเจ้าคุณจอมเอี่ยมอย่างแท้จริง ดังที่ทรงบรรยาย ในพระราชหัตถเลขาว่า “…ข้อที่จะคิดว่าให้เป็นพนักงานต่อไปนั้น คนที่เคยโตเสียมากเช่นนี้ เห็นจะทนไปนั่งกับพนักงานไม่ได้ ผลประโยชน์ที่เจ้าแผ่นดินจะสามารถให้แก่พนักงานก็คงไม่พอกิน…” และ “…ถ้าลงจนตองตอยไปเที่ยวเป็นข้าเจ้านาย เขาใช้เลวๆ ก็เป็นที่น่าสงสาร ใจหายเต็มที…”

นอกจากความห่วงใยแล้วยังทรงมีความห่วงหาอาลัยเจืออยู่ด้วย แม้จะทรงปรารภว่า “…นางเอี่ยมอยู่มากับฉันถึง 20 ปีแล้ว  ถ้าอีก 14 ปีฉันตาย อายุเขาถึง 46…อยู่ข้างจะเกินควรอยู่บ้าง ถ้าทอดธุระเสียว่าเขาคงหาผัวได้ ถ้าเขาหาไม่ได้ ฤาเขาไม่หา เป็นอันเราทำความลำบากให้เขาเมื่อภายแก่…”

หลังจากทรงมีพระราชดําริรอบคอบแล้ว จึงจะโปรดให้สร้างบ้านขึ้นที่เพชรบุรีเพื่อให้เป็นที่อยู่ของคุณจอมเอี่ยม ดังที่มีพระราชปรารภ เรื่องนี้กับสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ความว่า

“…ครั้นเกิดคิดทำบ้านต้นขึ้นคราวนี้ จึงนึกว่าถ้าหาบ้านต้นไว้ที่เพชรบุรีสักแห่งหนึ่งก็จะดี เอาเล็กขนาดบ้านคนธรรมดาที่จะปกครองได้ เวลาไปเที่ยวเตร่อยู่ก็รักษาไว้เป็นบ้านต้น เมื่อจะยกให้เมื่อใดก็จะยกให้ได้ ถึงจะพลาดพลั้งเขาก็มีลูกตัวไปก็จะไม่สู้น่าอาย เหมือนก่อสร้างตึกรามอะไรไว้ในบางกอก ให้คนไปตอมกันสู้ๆ ซ่า ไปตอมกันบ้านนอกคอกนาจะเสียพระเกียรติยศน้อยลง ถ้าเขาชื่อตรงอยู่ก็เป็นอันได้ให้บําเหน็จรางวัลเลี้ยงตลอดชีวิตสมความที่รักใคร่ เมื่ออยู่ไมได้ เขาจะย้ายมาบางกอกก็ย้าย เป็นอันฉันได้ให้แล้ว…”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต คุณจอมเอี่ยมก็ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงความจงรักภักดี และการรักศักดิ์ศรีและเกียรติยศของความเป็นคุณจอมคนโปรดไว้อเป็นอย่างดี โดยในบั้นปลายชีวิต คุณจอมเอี่ยมใช้ชีวิตเรียบง่ายร่วมกับพี่น้องเจ้าจอมก๊ก อ. ด้วยกัน ในวังสวนสุนันทา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2562