เครื่องเพชร “เจ้าจอมสดับ” เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 กับการตั้ง รพ.จุฬาลงกรณ์

เจ้าจอมสดับ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ หวญ 579/2 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ)

เจ้าจอมสดับ เป็นเจ้าจอมคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้พระราชทาน เครื่องเพชร แก่เจ้าจอมสดับ ด้วยทรงเป็นห่วง และเพื่อให้เจ้าจอมสดับได้มีช่องทางหารายได้เลี้ยงชีพ อย่างไรก็ดี เครื่องเพชรที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่เจ้าจอมสดับนั้น ท้ายสุดก็ได้มีส่วนในการก่อตั้ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากทั้งปวง

“เพชร” คืออัญมณีล้ำค่าซึ่งต่างเป็นที่หมายปองของหญิงสาวมาทุกยุคทุกสมัย ในหนังสือ “หอมติดกระดาน” ได้กล่าวถึงเครื่องประดับอัญมณีของเจ้านายฝ่ายในว่ามีการสวมใส่เครื่องประดับอัญมณีมีค่าต่าง ๆ ทั้ง เพชร ทับทิม บุษราคัม มรกต โกเมน นิล เพทาย มุกดาหาร และไพฑูรย์ สำหรับเพชรดูจะเป็นอัญมณีที่โดดเด่นเหนืออัญมณีชิ้นอื่น ๆ

ราชสำนักสยามโดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายในต่างก็นิยมประดับอัญมณีมีค่า เพราะเชื่อว่าอัญมณีจะเสริมสวัสดิมงคลให้แก่ผู้สวมใส่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ทรงมีเครื่องเพชรหลายชุด เช่น ชุดเพชรรูปกลม ชุดเพชรรูปกลมขนาดใหญ่ และชุดเพชรรูปน้ำหยด แต่เชื่อว่าทรงมีเครื่องเพชรมากกว่านี้แต่ไม่ได้บันทึกไว้เพราะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงบรรยายเรื่องเครื่องเพชรของพระอัยยิกา ครั้งประทับที่วังพญาไท ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าจะเสด็จไปในงานใด ข้าหลวงจะต้องเอาเครื่องเพชรของท่านมาถวายทั้งหมดให้ทรงเลือก นอกจากเครื่องใหญ่จริง ๆ จึงไม่มีเก็บไว้ที่พญาไท เพราะเครื่องชุดใหญ่ ๆ นั้นเก็บรักษาไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงกระนั้นเครื่องเพชรย่อย ๆ ของท่านก็ดูคล้าย ๆ กับร้านขายเครื่องเพชรร้านใหญ่ในมหานครหลวงในยุโรป”

เจ้าจอมสดับ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์” จัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี 2547)

อย่างไรก็ตาม เจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่น ๆ ต่างก็มีเครื่องประดับเพชรไว้สวมใส่เช่นกัน อาทิ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ และ เจ้าจอมสดับ

หม่อมราชวงศ์สดับเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 ขณะมีอายุเพียง 16 ปี เจ้าจอมสดับเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จนิวัตพระนครหลังเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ได้พระราชทานเครื่องเพชรจำนวนมากให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ว่ากันว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดบรรยากาศ “วงซุบซิบ” ถึงตัวเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับผู้เป็นที่โปรดปรานตั้งแต่เป็นวัยรุ่น

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เจ้าจอมในสมัยรัชกาลที่ 5 (ไม่ปรากฏแหล่งที่มา)

เหตุผลที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องเพชรให้เจ้าจอมสดับนั้น ทรงเห็นว่าพระองค์ท่านเจริญพระชนมพรรษามากแล้ว ขณะที่เจ้าจอมสดับชันษายังน้อย ทรงเป็นกังวลพระราชหฤทัยจึงฝากฝังให้พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ให้ช่วยดูแลอีกทอดหนึ่ง โดยมีพระราชดำริให้นำเครื่องเพชรไปฝากธนาคารเพื่อปล่อยให้คนเช่า ซึ่งจะเป็นช่องทางหารายได้เลี้ยงชีพให้เจ้าจอมสดับในอนาคต

ภายหลังรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับเกิดปัญหาลำบากใจ ท่านตกเป็นที่เพ่งเล็ง เนื่องจากทรัพย์สมบัติของท่านคือเพชรนิลจินดาเครื่องประดับที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุให้ผู้คนหมายปองใช้เล่ห์กลต่าง ๆ เข้าหา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริจะสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับจึงถวายเครื่องเพชรชุดนี้ให้กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ เพื่อไปขายให้ชาวต่างชาติ แล้วนำเงินมาสมทบทุนก่อสร้าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

ฉัตรชัย ว่องกสิกรณ์. (2543, ตุลาคม). “รักสุดท้ายในรัชกาลที่ 5”. ศิลปวัฒนธรรม.  21(12):49-53.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2562