6 มีนาคม 2433 วันเกิด “เจ้าจอมสดับ” เจ้าจอมใน ร.5 ผู้ยึดมั่นรัก

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ หวญ 579/2 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ)

เจ้าจอมสดับ เดิมมีนามว่า หม่อมราชวงศ์สั้น ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์ เป็นเจ้าจอมคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมสดับ ก็ยังคงยึดมั่นในรักไม่เสื่อมคลาย

เมื่อคราวถึงเวลาหม่อมเจ้าเพิ่มได้ย้ายที่อยู่ไปตั้งรกรากที่จังหวัดราชบุรี จึงนำหม่อมราชวงศ์สั้นไปถวายตัวแด่ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระชายาในรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ศึกษาศิลปวิทยาการในราชสำนัก ซึ่งเวลานั้นพระตำหนักของพระอัครชายาเธอฯ เป็นสถานที่ปรุงเครื่องเสวย งานดอกไม้ งานปักผ้า เลื่องลือว่าเด่นที่สุดยิ่งกว่าสำนักใด

หม่อมราชวงศ์สั้นได้ฝึกหัดร้องเพลงไทยกับวงมโหรีของวังหลวง จนครูผู้ฝึกร้องเห็นว่าเป็นผู้มีแก้วเสียงดีร้องเพลงได้ไพเราะ เมื่อเข้าสู่เจริญวัยจึงให้ร้องเพลงประจำขับกล่อมในราชสำนัก ทั้งเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จลงเสวยพระกระยาหาร หรือในงานหลวงต่าง ๆ

ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร พระราชธิดาพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนนามให้ใหม่ว่า “สดับ” มีความหมายว่าผู้มีเสียงไพเราะเหมาะแก่การรับฟัง

เมื่อหม่อมราชวงศ์สดับอายุได้ 16 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยในความน่าเอ็นดูของหม่อมราชวงศ์สดับ จึงได้ทรงขอต่อพระอัครชายาเธอฯ เพื่อชุบเลี้ยงเป็นพระสนมในตำแหน่งเจ้าจอม และได้ทรงแต่งตั้งไว้ในลำดับที่ 62

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์” จัดพิมพ์โดย สำนักนายกรัฐมนตรี 2547)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนชื่นชมน้ำเสียงอันไพเราะของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับไว้ดังนี้

แม่เสียงเพราะเอย

น้ำเสียงเจ้าเสนาะ   เหมือนหนึ่งใจพี่จะขาด

เจ้าร้องลำนำ   ยิ่งซ้ำพิศวาส

พี่ไม่วายหมายมาด   รักแม่เสียงเพราะเอย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาต่อเจ้าจอมสดับเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีรับสั่งให้ช่างฝรั่งประดิษฐ์กำไลทองคำเนื้อเก้าบริสุทธิ์ ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมแบนราบ หัวและท้ายเป็นรูปตาปูสองดอกไขว้เกี่ยวกันไว้ มีความหมายให้มองเป็นสัญลักษณ์ทั้งสองด้าน

ถ้ามองด้านซ้ายจะคล้ายอักษรโรมันตัว C อันเป็นอักษรย่อของพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์” ถ้ามองด้านขวาจะคล้ายตัว S ซึ่งเป็นอักษรย่อของนามว่า “สดับ” มีจารึกพระปรมาภิไธยลงบนกำไลไว้เป็นหลักฐาน และทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนจิ๋วสลักไว้รอบกำไลตาปูทองมีความตามอักขระภาษาไทยสมัยนั้นดังนี้

กำไลมาศชาติ์นพคุณแท้

ไม่ปรวนแปรเปนอื่นย่อมยืนสี

เหมือนใจปลงตรงคงคำร่ำพาที

จะร้ายดีขอให้เห็นเปนเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก

ตรึงความรักรับไว้อย่าให้หาย

แม้นรักร่วมสรวมไว้ให้ติดกาย

เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึ่งถอดเอย

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ขณะนั้น เจ้าจอมสดับ มีอายุ 20 ปี ยังคงยึดมั่นสัญญาที่สลักอยู่บนกำไลตาปูที่มีความหมายว่า ถ้ายังมีใจรักอยู่ให้สวมกำไลนี้ไว้ติดตัวตลอดไป แต่ถ้าเมื่อใดหมดรักกันแล้วก็ขอให้ถอดกำไลนี้ออกเสีย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เจ้าจอมสดับ จึงตัดสินใจใช้ชีวิตในเขตพระราชฐานฝ่ายในที่ยากต่อการพบปะบุคคลภายนอกได้ โดยใช้ชีวิตอย่างสันโดษ และถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีวันเสื่อมคลาย

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เป็นเจ้าจอมท่านท้ายๆ ในรัชกาลที่ 5 ท่านใช้ชีวิตในเขตพระราชฐาน อายุยืนยาว 5 แผ่นดิน ถึงสมัยรัชกาลที่ 9 และเสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2526

หมายเหตุ : ในหนังสือ “จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย” โดยเจฟฟรี่ ไฟน์สโตน ระบุไว้ว่า เจ้าจอมสดับ ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม เมื่อ พ.ศ. 2449 เป็นสมาชิกในราชวงศ์จักรีที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งเจ้าจอมเป็นคนสุดท้าย ทั้งนี้ในหนังสือได้ระบุ พ.ศ. 2451 มีผู้ที่ถวายตัวรับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม คือ เจ้าจอมแถม ธิดาของพระสัจจาภิรมย์ แห่งสกุลบุนนาค

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“รักสุดท้ายในรัชกาลที่ 5”. โดย ฉัตรชัย ว่องกสิกรณ์. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2543.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อเมื่อ 6 มีนาคม 2561