“สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี” พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงได้รับการกล่าวขานว่า “ขี้หึงเหมือนเสือ”

รัชกาลที่ 1 พระสวามี ท่านผู้หญิงนาค สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 (ภาพลายเส้นบนธนบัตรใบละ 500 บาท พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2539)

“สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี” พระนามเดิม คือ “นาค” เป็นพระบรมราชินี ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ทรงอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับรัชกาลที่ 1 มาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา และทรงได้รับพระฉายานามว่า “คุณเสือ” และหลายคนก็มองว่าทรงเป็น “มเหสีขี้หึงเหมือนเสือ”

ความ “ขี้หึง” ของ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เมื่อครั้งยังทรงเป็น “ท่านผู้หญิงนาค” ภริยาของ “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” (ต่อมาคือรัชกาลที่ 1) เป็นที่กล่าวขานของคนสมัยนั้นมาจนถึงสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “คุณนวล” น้องสาวของท่าน (อ่านต่อได้ที่นี่) หรือเหตุการณ์ที่เล่าให้ฟังในบทความนี้ ที่นอกจากจะทำให้เห็นถึงความขี้หึงของท่านแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธมากที่สุดอีกด้วย

หลังจากสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีกรุงเวียงจันทน์ได้สำเร็จ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมายังกรุงธนบุรีได้เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้นางเชลยสาวชาวเวียงจันทน์ นามว่า “แว่น” มาเป็นอนุภรรยาด้วยอีกคนหนึ่ง และได้รับความโปรดปรานมาก ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ และท่านผู้หญิงนาคเกิดปากเสียงกันอยู่บ่อยครั้ง

วันหนึ่ง ท่านผู้หญิงจึงไปดักคอยในที่มืดนอกชานเรือนพร้อมถือดุ้นแสมไว้ พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีเข้าที่หัวของคุณแว่น จนคุณแว่นร้องว่า “เจ้าคุณเจ้าขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน”

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทราบก็โกรธเป็นฟืนไฟ คว้าดาบออกจากเรือนหมายจะฟันท่านผู้หญิง จน “คุณฉิม” ผู้เป็นโอรส (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ต้องมาช่วยมารดาหลบหนีออกจากบ้าน ไปอยู่ที่พระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 

ต่อมา ท่านผู้หญิงนาคก็กลับมาที่ทำเนียบ แต่ก็ไม่ได้คืนดีกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ต่างคนต่างอยู่ 

แม้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจะเถลิงอำนาจเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนาราชวงศ์ใหม่ ทรงสร้างกรุงเทพฯ ขึ้น และทรงสถาปนาท่านผู้หญิงนาค ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ ตำแหน่งพระอรรคมเหสี แต่ก็ไม่ได้ทรงกลับมามีความสัมพันธ์ดังเดิมอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ ที่ 23 ธันวาคม พุทธศักราช 2538. [ม.ป.ท.]:บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2538. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:183533.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567