พระราชดำรัส “เราเกิดมาเป็นไพร่” ของรัชกาลที่ 1 มีที่มาจากไหน?

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 คัดเลือก ขุนนางวังหน้า
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

“เราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้าเป็นนายเมื่อเวลาเป็นเบื้องปลายอายุแล้ว…” เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ ดังปรากฏใน เรื่องการโสกันต์แต่ก่อน ใน “ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

เหตุที่มาของพระราชดำรัสข้างต้นนี้ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2331 ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) มีพระชนมายุ 21 พรรษา รัชกาลที่ 1 จึงทรงมีพระราชศรัทธาจะให้พระราชโอรสทรงผนวชถวายเป็นพระราชกุศล

ขณะเดียวกัน พระภาคิไนย (หลาน) ในรัชกาลที่ 1 อีกสองพระองค์ คือ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (พี่สาวของรัชกาลที่ 1) และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พี่สาวของรัชกาลที่ 1) ซึ่งมีพระชนมายุ 30 พรรษาแล้ว ยังไม่ได้ทรงผนวช 

ดังนั้นรัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ทรงผนวชพร้อมกันทั้งสามพระองค์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยให้จัดพระราชพิธีตามแบบแผนโบราณราชประเพณี

เมื่อถึงวันทรงผนวช ขณะที่เจ้าพนักงานเชิญเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้เสด็จเข้าไปทรงผนวชก่อน กลับทำให้เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดีไม่พอพระทัย รับสั่งด้วยพระวาจาร้ายแรง เหตุเพราะเจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดีทรงเห็นว่า ลำดับการทรงผนวชควรเรียงจากผู้ที่มีพระชนมายุมากก่อน

ดังนั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรมีพระชนมายุน้อยที่สุด ควรจะทรงผนวชหลังสุด 

อย่างไรก็ตาม ตามแบบแผนโบราณราชประเพณี พระอิสริยยศของเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรสูงกว่า เพราะเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” คือเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ ส่วนเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ และเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ต่างก็เป็น “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ” คือเป็นพระภาคิไนย (หลาน) ของพระมหากษัตริย์ 

นอกจากนี้ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” เป็นต่างกรมทรงศักดินา 40,000 แต่ “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ” เป็นต่างกรมทรงศักดินาเพียง 15,000 เท่านั้น

ในท้ายที่สุดรัชกาลที่ 1 ทรงให้แก้ไขเรื่องนี้ โดยให้ผู้ที่มีพระชนมายุมากก่อนทรงผนวชก่อน 

เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของพระราชดำรัสว่า “เราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้าเป็นนายเมื่อเวลาเป็นเบื้องปลายอายุแล้ว…”

ใน “ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 4 ทรงบันทึกไว้ดังนี้

“…ครั้นมาเมื่อเวลาทรงผนวช เจ้าพนักงานเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอให้เสด็จเข้าไปทรงขอบรรพชาก่อน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมพระเทพสุดาวดี พระทัยมีทิฐิมานะมาก พระวาจาก็มักร้ายแรง เสด็จอยู่ในฉากใกล้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จประทับอยู่เมื่อทอดพระเนตรออกมานอกฉากเห็นดังนั้นก็ทรงขัดเคืองบ่นด้วยพระวาจาต่าง ๆ เกิน ๆ ไปตามวิสัย 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสดับก็รำคาญพระราชหฤทัย จึงมี พระราชโองการดำรัสซักถามเสนาบดีแลเจ้าพนักงานอกไป ว่าเหตุไฉนจึงมาจัดผู้น้องให้มาออกหน้าผู้พี่ดังนี้เล่า 

จึงเสนาบดีผู้ใหญ่กราบทูลพระกรุณาว่าอย่างธรรมเนียมโบราณเคยทำเคยประพฤติมาอย่างนี้ ซึ่งจะให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอทรงผนวชก่อนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอนั้น เยี่ยงอย่างไม่มี กรมพระเทพสุดาวดีได้ทรงฟังดังนั้น ก็ยิ่งทรงขัดเคือง ก็ทรงบ่นต่าง ๆ มากไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสดับก็ทรงพระโทมนัส จนถึงมีน้ำพระเนตร จึงมีพระราชโองการดำรัสไปว่า ถึงอย่างธรรมเนียมเก่าไม่มี ก็ธรรมเนียมใดที่ท่านทั้งหลายว่าดี ธรรมเนียมนั้นให้ยกเสียเถิดอย่าใช้ จงเอาธรรมเนียมอย่างไพร่ ๆ มาประพฤติเถิด ให้จัดลำดับตามอายุเถิด ใครแก่ให้ไปหน้าใครอ่อนให้ไปหลัง หรือตามลำดับบรรพบุรุษที่นับตามบุตรพี่บุตรน้องนั้นเถิด

เพราะเราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้าเป็นนายเมื่อเวลาเป็นเบื้องปลายอายุแล้ว ด้วยเหตุเมื่อเวลาทรงขอนิสัยแลทรงผนวชเป็นภิกษุ เจ้าพนักงานก็จัดสมเด็จพระเจ้าหลานเธอสององค์ให้เป็นนาคเอก นาครอง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอต้องทรงผนวชต่อภายหลัง…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2567