เมื่อร.1 ทรงหลั่งน้ำพระเนตร สู่พระราชโองการ “เอาธรรมเนียมอย่างไพร่ มาประพฤติเถิด”

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๑

“เกร็ด” ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ มักทำให้เรื่องราวแห้ง ๆ ซึ่งบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารนั้น กระจ่างชัด สนุก ตื่นเต้น และเป็นชีวิตชีวามากขึ้น

อย่างเช่น เรื่องการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งเป็นกรมหลวงอิศรสุนทรนั้น ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ บันทึกไว้เพียงสั้น ๆ ว่า รงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่

ครั้นมาถึง ณ เดือนแปด ในปีวอกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทอน พระชนมายุได้ยิสิบเอ็ดพรรษา ควรจะบรรพชาอุปสมบท แต่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ ทั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศร สองพระองค์พระชนมายุเกินอุปสมบทแล้ว ยังหาได้ทรงเปนภิกษุไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตให้ออกทรงผนวชครั้น ณ วันอาทิตย เดือนแปด ขึ้นค่ำหนึ่ง เวลาเช้าสามโมง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จพระราชดำเนิร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ แลพระราชวงษานุวงษ ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลาย สโฒสรสันนิบาตโดยอันดับ จึงเสนาบดีปฤกษาให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงผนวชก่อน ถึงอ่อนพระชนมพรรษา ก็เป็นลูกหลวงเอก มีบันดาศักดิ์สูงกว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์นั้น เปนโอรสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระชนม์แก่กว่าก็จริง แต่บันดาศักดิ์ต่ำกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอให้ทรงผนวชทีหลัง

ครั้นเสร็จการอุปสมบทแล้วก็ประทับอยู่ในอุโบสถ เวลาบ่ายพระสงฆ์ราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าพระสงฆ์ฉัน เปนการฉลองเสร็จแล้ว ก็ตั้งขบวนแห่กรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นไปประทับอยู่วัดสมอราย

เรื่องราวดูเหมือนจะเรียบร้อยเป็นปกติดี แต่ “เกร็ด” ที่ได้มาจากหนังสือชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับทำให้เราทราบว่า เหตุการณ์วันนั้น เกิด “ความ” ขึ้น ชนิดที่ถึงกับทำให้ ร.1 ต้องทรงหลั่งน้ำพระเนตรมาแล้ว! และผลลงเอยของเรื่องนี้ ก็มิได้เป็นอย่างที่พระราชพงศาวดารบอกไว้

เรื่องของพี่ ๆ น้อง ๆ

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ ซึ่งทรงร่วมผนวชในคราวเดียวกันนั้น ได้แก่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมหลวงนรินทร์รณเรศร (ต้นราชสกุลนรินทรรางกูร) ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระเทพสุดาวดี หรือที่เรียกกันว่า พระองค์ใหญ่ตำหนักเขียวบ้าง เจ้าคุณพระตำหนักใหญ่บ้าง ส่วนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ (ต้นราชสกุลเทพหัสดิน) เป็นโอรสในสมเด็จพระพี่นางเธอ กรมพระศรีสุดารักษ์ พระองค์น้อยตำหนักแดง หรือเจ้าคุณพระตำหนักแดง และต้นเหตุของเรื่องนี้ ก็เกิดจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระเทพสุดาวดี เจ้าคุณพระตำหนักใหญ่นั่นเอง

เนื่องจากการทรงผนวชคราวนั้น ถือเป็นการทรงผนวชของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ครั้งแรกในแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ บรรดาเสนาบดีผู้ใหญ่จึงปรึกษากันจะจัดให้ถูกต้องตามราชประเพณีแต่ครั้งแรกก่อน และให้ต้องตามศักดินาซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าเป็นต่างกรมทรงศักดินา 40,000 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ทรงศักดินาน้อยกว่าเพียง 15,000 ดังนั้น ถึงแม้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอจะมีพระชนมายุอ่อนกว่า แต่ด้วยศักดินาที่สูงกว่า จึงต้องทรงเป็นนาคเอกออกหน้า และให้ทรงผนวชเป็นลำดับแรก

เสียง “ทรงบ่น” จากหลังฉาก

ครั้นถึงเวลาทรงผนวช เจ้าพนักงานได้เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงบรรพชาก่อน เจ้าคุณพระตำหนักใหญ่ ที่เสด็จอยู่ในฉากใกล้ที่ประทับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทอดพระเนตรออกมานอกฉากเห็นเข้า ก็ทรงขัดเคือง บ่นว่าต่าง ๆ นานา ทรงไม่ยินยอมให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งถือว่าเป็นน้อง จะได้ทรงผนวชก่อนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ที่ถือว่าเป็นพี่

เสียง “ทรงบ่น” นี้ เข้าถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ประทับอยู่ใกล้ ๆ ทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงมีพระราชดำรัสตรัสถามเหล่าขุนนางที่จัดพระราชพิธีว่า เหตุใดจึงจัดให้น้องออกนอกหน้าพี่แบบนี้ เสนาบดีผู้ใหญ่ก็กราบทูลว่า ที่จัดดังนี้ถูกต้องแล้วตามพระราชประเพณี ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอทรงผนวชก่อนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ไม่เคยมีเยี่ยงอย่าง

กรมพระเทพสุดาวดี เจ้าคุณพระตำหนักใหญ่ ทรงได้ฟังก็ยิ่งขัดเคือง ทรงบ่นว่าด้วยพระวาจาซึ่งคงจะรุนแรงทีเดียว (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงกรมพระเทพสุดาวดีว่า ทรงมีทิฐิมานะมาก และวาจาก็มักจะร้ายแรง)

“จงเอาธรรมเนียมอย่างไพร่ ๆ มาประพฤติเถิด”

พระวาจาทรงบ่นของกรมพระเทพสุดาวดี ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ทรงสดับอยู่ ทรงพระโทมนัสจนถึงกับมีน้ำพระเนตรและมีพระราชโองการ ความว่า

“จงเอาธรรมเนียมอย่างไพร่ ๆ มาประพฤติเถิด ให้จัดลำดับตามอายุเกิด ใครแก่ให้ไปหน้า ใครอ่อนให้ไปหลัง หรือตามลำดับบรรพบุรุษที่นับตามบุตรพี่บุตรน้องนั้นเถิด เพราะเราเกิดมาเป็นไพร่ ได้มาเป็นเจ้านายเมื่อเวลาเป็นเบื้องปลายอายุแล้ว”

ในที่สุด เจ้าพนักงานก็ต้องจัดให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอสองพระองค์ เป็นนาคเอก นาครอง ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอต้องทรงผนวชเป็นพระองค์สุดท้าย

เห็นไหมครับว่า “เกร็ด” สนุกกว่าพระราชพงศาวดารเป็นกอง

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2561